การจัดการเรียนร่วมให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้เข้าเรียนในโรงเรียนปกติเป็นการส่งเสริมโอกาสหรือเป็นการสร้างปมด้อย
Thesis : การจัดการเรียนร่วมเป็นการส่งเสริมโอกาส
การเรียนร่วมหมายถึงการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ได้แก่
เด็กพิการประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิการทางด้านร่างกาย สมอง หรือการเรียนรู้ ได้เรียนร่วมกับเด็กปกติ โดยคำนึงถึงความสามารถของแต่ละบุคคลเพื่อส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้และดำรงอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข
ประเด็นสำคัญที่สถานศึกษาได้ดำเนินการจัดการศึกษาให้เด็กที่มีความต้องการ
พิเศษเข้าเรียนในโรงเรียนปกติมี ๒ ประเด็น คือ
๑. พระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๓ ระบุให้รัฐจัดการศึกษา
ระดับประถมศึกษาเป็นการศึกษาภาคบังคับให้เด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ ๘ ถึงอายุย่างเข้าปีที่ ๑๕ อย่างทั่วถึงทุกคนรวมทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยและในปัจจุบันก็กำหนดในนโยบายของรัฐบาล
๒. วิธีที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษคือการให้เด็กเหล่านั้นได้มี
โอกาสอยู่ร่วมในสังคมปกติให้มากที่สุด
จากปรัชญาของการเรียนร่วม ว่าคนทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ต้องอยู่เกี่ยวข้องกัน ต้องมีเพื่อนเล่น เพื่อนเรียน เพื่อนร่วมกิจกรรม เพื่อนคู่คิด พึ่งพาอาศัยกัน คนพิการก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เขาก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างคนธรรมดาทั่วไป คือความเห็นใจ ความเข้าใจ ความช่วยเหลือและการพัฒนาโดยเท่าเทียมกับคนปกติ
ดังนั้นโรงเรียนประถมศึกษาจึงได้รับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียน
ร่วมกับนักเรียนปกติมาจนถึงปัจจุบันและส่งต่อสู่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาจำนวนมากขึ้นทุกปี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ส่วนที่ ๘ ว่าด้วยสิทธิ
และเสรีภาพในการศึกษา มาตรา ๔๙ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า สิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการ หรือ
ทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง และการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคลอื่น การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือ
เอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมและตามนโยบายการศึกษาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กล่าวคือ จัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี ๑๕ ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้งผู้ยากไร้ ผู้พิการ หรือทุพพลภาพ ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ผู้บกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา และชนต่างวัฒนธรรม รวมทั้งยกระดับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กชุมชน
หากพิจารณาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งกรอบนโยบายของ
รัฐบาลแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่า การจัดการเรียนร่วม เป็นการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษในการที่จะอยู่ร่วมกับสังคมปกติ แม้จะเป็นการยุ่งยาก ที่โรงเรียนต้องรับผิดชอบทั้งเด็กปกติและเด็กที่มี ความต้องการพิเศษ
Antithesis : การจัดการเรียนร่วมเป็นการสร้างปมด้อย
จากสภาพจริงในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษของโรงเรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ตามที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยเหนือ ผลของการจัดการศึกษาพบว่า นักเรียน
ที่เป็นเด็กพิเศษเรียนร่วมที่เข้าเรียนในโรงเรียนบางคนมีปัญหาด้านการเรียน การเข้ากับเพื่อน การเข้ากับครู บางคนมาทำให้ระบบของโรงเรียนเสียก็มี เช่น เป็นข้ออ้างของเด็กปกติที่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเด็กพิเศษก็ถือโอกาสเกเร หลบเรียน หนีเรียน บางครั้งบางโอกาส เห็นความพิเศษของครูกับเด็กพิเศษก็เกิดอารมณ์อิจฉา
แต่มีบางส่วนเด็กพิเศษสามารถใช้ชีวิตร่วมกับเด็กปกติได้อย่างมีความสุข แม้พัฒนาการอื่น ๆ อาจจะไม่ทันเพื่อน ๆ ปกติก็ตาม แต่จากสถิติที่พบในระดับโรงเรียนพบว่า ขาดการยอมรับจากครู จากเพื่อน แทนที่จะมีปมเด่น หรือไม่มีปมด้อยก็กลับมีมากขึ้นเพราะถูกเพื่อนล้อเลียน หรือดูถูก หรืออิจฉา เป็นต้น
เด็กพิเศษบางคนถึงกับเสียคนเพราะรับไม่ได้กับปมด้อยของตนเอง ทั้ง ๆ ที่ครูและเพื่อนไม่ได้ถือว่าเป็นปมด้อยของเด็กนั้น เช่นเด็กคนหนึ่งที่โรงเรียนรับเข้าเรียนร่วม เป็นเด็ก
อ้วนมาก ๆ อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ชอบวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจแต่ภาพที่วาดได้ยังมีฝีมือไม่เท่าเด็กอนุบาลที่เข้าเรียนใหม่ ๆ ด้วยซ้ำ แต่พอถึงเวลาชั่วโมงเรียนก็ไม่ยอมเข้าเรียน สอบถามก็จะไม่ยอมพูด หรือพูดเสียงเบามากจนแทบไม่ได้ยิน คุณครูที่ดูแลพิเศษเด็กคนนี้แม้จะเอาใจใส่ต่อเขา ชวนให้เข้าห้องเรียน หาอุปกรณ์การเรียนให้ ร่วมแก้ไขข้อบกพร่องการเรียนรู้ให้ แต่ก็ขาดความสนใจจากเด็ก เขากลับบอกง่าย ๆ ว่า “เบื่อ” บางครั้งครูต้องยอมให้เขาเล่นอยู่ข้างล่างที่สนามกับเพื่อน ๆ เกเรคนอื่น ๆ ที่ไม่ยอมเข้าเรียนนั่นเอง
Synthesis : คนพิการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยมีจำนวนไม่น้อย
หากเราสามารถจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้ก็เป็นการให้ การช่วยเหลือให้เขาได้รับการพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย และความบกพร่องของเขา
จุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กพิการได้อยู่ร่วมกับพ่อแม่ของตนโดยเข้าเรียนร่วมกับ
นักเรียนปกติในโรงเรียนใกล้บ้าน และจะได้เป็นแม่แบบในการพัฒนาตนเองทุกด้าน รวมทั้ง การยอมรับของสังคม และเข้าใจคนพิการจนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ทั้งในโรงเรียนและในโอกาสต่อ ๆ ไปมากยิ่งขึ้น โดยมีแนวทางในการจัดการเรียนร่วม ดังนี้
๑. ควรเรียนเมื่ออายุยังน้อย
๒. ต้องให้โอกาส และเตรียมความพร้อมครูผู้สอน
๓. โรงเรียนที่เปิดรับการเรียนร่วมต้องมีความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนอุปกรณ์อันจำเป็นในการสอนอย่างเหมาะสม
๔. ควรชี้แจงให้เข้าใจร่วมกันทุกฝ่าย
๕. เน้นวิธีสอนรายบุคคล
๖. ศึกษาข้อบกพร่องและปรับปรุงการจัดการเรียนร่วมให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
หากบุคลากรทุกฝ่ายรู้ปัญหา หาแนวทางในการแก้ไข ให้การช่วยเหลือ เปิดโอกาส และให้โอกาส เอาใจใส่มากขึ้นเป็นพิเศษ ก็จะทำให้สังคม ประเทศชาติ และโลกใบเล็กนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น และคนที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ก็จะอยู่ในโลกใบเล็กนี้อย่างมีความสุข ไม่เป็นภาระของครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน หรือประเทศชาติ