เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์หรือเด็กทีมีปัญหาทางพฤติกรรมหมายถึงเด็กทีมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากปกติเป็นอย่างมาก ปัญหาทางพฤติกรรมนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คือพฤติกรรมนั้นไม่หายไปอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมนั้นไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมหรือทางวัฒนธรรม พฤติกรรมที่เป็นปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กเองและของผู้อื่นอันอาจเกิด ขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างเด็กกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก และความขัดแย้งที่เกิดจากภายในตัวเด็กเอง
ลักษณะพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
1. ความก้าวร้าวทีแสดงออก เช่น ทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตนเอง ทำลายข้าวของ ขู่ คุกคามผู้อื่น
2. การปรับตัวทางสังคมมีปัญหา เช่น ลักขโมย ชกต่อย ทะเลาะเบาะแว้งทำลายสาธารณสมบัติ ทำผิดกฎระเบียบ หนีเรียน ทำผิดกฎหมาย
3. การแยกตัวจากสังคม เช่น ไม่พูดคุยหรือพบปะกับเพื่อนหรือผู้ใกล้ชิด
4. ผลการเรียนต่ำลง
5. ความวิตกกังวลมีมาก ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ร้องไห้บ่อยมาก
6. การเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น อยู่นิ่งไม่ได้ มีการเคลื่อนไหวแปลกๆและซ้ำๆ
การสอนเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์หรือเด็กมีปัญหาทางพฤติกรรมนั้น ครูจำเป็นต้องหากลวิธีในการปรับพฤติกรรมมาใช้กับเด็ก เพื่อเปลี่ยนแปลงให้เด็กมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์และในขณะเดียวกันครูจำเป็นต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เด็กมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเรียน จัดให้เด็กมีโอกาสฝึกและพัฒนาทักษะทางสังคม เช่นการทำงานร่วมกัน การผูกมิตรและการรักษามิตรภาพ การรอคอย เป็นต้น
การสอนเด็กประเภทนี้ อาจทำได้ในลักษณะชั้นเรียนพิเศษหรือเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ ครูจะต้องการแก้ไขพฤติกรรมของเด็กโดยใช้ทักษะในการแก้ปัญหาเช่นทักษะในการวางแผน การแก้ปัญหา การขจัดความเครียด ความก้าวร้าวของตนเอง
กรณีตัวอย่างที่ 1 ด.ช.แบ๊งค์
พฤติกรรม ด.ช.แบ๊งค์ เป็นนักเรียนที่ไม่พูดมาก เมื่อมีเรื่องชกต่อยกับนักเรียนคนอื่นจะสู้ไม่ถอย ไม่ยอม และสุดท้ายจะร้องไห้ครั้งละนานๆ ใครปลอบอย่างไรก็ไม่หยุด
ประวัติส่วนตัว ด.ช.แบ๊งค์อาศัยอยู่กับปู่และย่า พ่อแม่เสียชีวิต ทำให้ด.ช.แบ๊งค์เป็นเด็กเงียบขรึม
วิธีที่ใช้แก้ไขพฤติกรรม ด.ช.แบ๊งค์จะมีความสามารถทางด้านการวาดภาพครูประจำชั้นก็ส่งเสริมให้วาดภาพประกวด ด.ช.แบ๊งค์วาดได้อย่างสวยงาม ได้ไปแข่งทักษะวิชาการต่างๆ
พฤติกรรมปัจจุบัน เป็นนักเรียนปกติไม่แสดงพฤติกรรมร้องไห้และทะเลาะกับเพื่อนอีกเลย