สาเหตุหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทก็เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายผิดวิธี ไม่ว่าจะเป็นท่าทางการนอน การนั่ง หรือการยืน และเพื่อเป็นการป้องกันอาการปวดหลังที่ลุกลามไปสู่แขนและขา คุณผู้อ่านควรปรับท่าทางต่าง ๆ ให้มีลักษณะดังต่อไปนี้
เริ่มจากท่านอน หากนอนหงาย ควรงอสะโพกและเข่า ให้มีหมอนรองใต้โคนเข่า บริเวณแผ่นหลังจะต้องเหยียดราบติดที่นอน ส่วนการนอนตะแคงข้างนั้น เข่าจะต้องงอ และต้องกอดหมอนข้าง
ส่วนท่าทางการนั่ง ให้นั่งจนเต็มที่รองก้น กรณีที่รองก้นยาวให้นั่งแล้วข้อพับขาชิดกับที่นั่งได้พอดี ส่วนหลังต้องตั้งตรงและพิงพนัก ความสูงของเก้าอี้ที่เลือกนั่งจะต้องให้ผู้นั่งสามารถวางฝ่าเท้าขนานกับพื้นได้ทั้งฝ่าเท้า พนักพิงต้องสูงถึงสะบัก แต่ทำมุมเอียงไม่เกิน 100 องศากับส่วนรองก้น
สำหรับท่านั่งขณะขับรถ ยิ่งถ้าเป็นการขับในระยะไกล ไม่ควรเลื่อนเบาะให้ไกลเกินไป เพราะจะทำให้หลังงอ โดยจะต้องนั่งให้หลังส่วนล่างชิดกับเบาะ พนักพิงไม่เอียงเกิน 30 องศา ทั้งนี้เบาะนั่งควรยกด้านหน้าให้สูงกว่าด้านหลังเล็กน้อย ที่สำคัญควรพักทุก ๆ 1 ชั่วโมง และอย่ายกของหนักทันทีที่หยุดขับ
ถ้าเป็นการนั่งอ่านหรือเขียนหนังสือ ต้องสามารถวางแขนและข้อศอกบนโต๊ะได้อย่างสบาย ช่วยลดความเมื่อยล้า เก้าอี้ที่นั่งควรมีระดับความสูงที่พอเหมาะกับการวางแขน และควรมีที่วางเท้ากว้าง ๆ ให้เท้าสามารถเคลื่อนไหวได้
มาถึงท่ายืน ให้น้ำหนักตัวค่อนมาทางส้นเท้า แขม่วท้องอกผายไหล่ผึ่ง จะทำให้หน้าอกยื่นไปข้างหน้า แต่บริเวณสะโพกจะแอ่นน้อยที่สุด กรณีที่ยืนเป็นเวลานาน ให้ลงน้ำหนักที่ขาข้างใดข้างหนึ่งและสลับกันไป หรือวางพักเท้าบนที่สูงราว 1 คืบ
การสะพายกระเป๋าเป้ ควรจัดให้สายเป้ตึงกระชับกับหลัง และควรเลือกแบบที่มีสายรัดส่วนเอวช่วยถ่ายเทน้ำหนัก โดยไม่บรรจุของจนกระเป๋ามีน้ำหนักมากเกินไป
สุดท้ายเป็นการก้มเก็บของหรือยกของหนัก จะต้องย่อตัวและงอเข่าทั้งสองข้าง โดยใช้แรงขาช่วยยกของขึ้น ขณะลุกขึ้นให้ลุกด้วยกำลังของขาสองข้าง หลังเหยียดตรงตลอดเวลา
หากปรับอิริยาบถตามคำแนะนำร่วมกับการจัดสรรเวลาในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าคุณจะนอน นั่ง หรือยืนอย่างไร คุณก็จะไม่ต้องพบกับปัญหากวนตัวอย่างอาการปวดหลังอีกต่อไป.
ขอบคุณที่มา
takecareDD@gmail.com