คำไทยใช้ให้เป็น......ทัศนคติ ทัศนวิสัย วิสัยทัศน์ และ โลกทัศน์
คำที่ยกมาเป็นหัวข้อนี้ ล้วนประกอบขึ้นจากคำว่า ทัศน, ทัศนา ซึ่งหมายถึง ความเห็น การมองเห็น เมื่อนำมาประกอบกับคำอื่นๆ เช่น คติ วิสัย โลก ก็จะเกิดเป็นคำใหม่ๆ บางคำก็มีความหมายคล้ายคำเดิม ในขณะที่หลายคำก็มีความหมายต่างไปจากเดิม ดังนี้
"ทัศนคติ" หมายถึง แนวความคิดเห็น เช่น รัฐบาลสำรวจทัศนคติของประชาชนที่มีต่อผลงานของรัฐบาล โปรดสังเกตว่าถึงแม้จะมี "คติ" มาต่อท้าย แต่ "ทัศนคติ" ก็ยังให้ความหมายเหมือนกับคำว่า "ทัศนะ" หรือ "ทรรศนะ" ซึ่งหมายถึงความคิดเห็นนั่นเอง
"ทัศนวิสัย" เป็นคำศัพท์ทางภูมิศาสตร์ หมายถึง ระยะไกลที่สุดซึ่งสามารถมองเห็นวัตถุด้วยตาเปล่า และบอกได้ว่าวัตถุนั้นเป็นอะไร เช่น พายุฝนฟ้าคะนองทำให้ทัศนวิสัยลดลง คำว่า "วิสัย" หมายถึง ขอบเขต ดังนั้น "ทัศนวิสัย" จึงหมายถึง ขอบเขตการมองเห็นนั่นเอง
"วิสัยทัศน์" คำนี้แม้จะประกอบขึ้นจากคำว่า "วิสัย" แต่ก็ไม่ได้หมายถึงขอบเขตการมองเห็น "วิสัยทัศน์" จึงหมายถึง การมองการณ์ไกล หรือความสามารถในการมองหรือคิดไปได้ไกลเพียงใด เช่น การศึกษาในระบบใหม่ สร้างคนให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ปัจจุบันเรานิยมใช้คำว่า "วิสัยทัศน์" โดยไม่ต้องมีคำขยาย ก็หมายถึง มีวิสัยทัศน์กว้างและไกลด้วย เช่น ผู้บริหารขององค์กรควรเป็นคนมีวิสัยทัศน์ เป็นต้น
"โลกทัศน์" หมายถึง การมองโลก การรู้จักโลก ทัศนะ หรือความคิดของผู้ใดผู้หนึ่งเกี่ยวกับโลกและสังคมของประชากรโลก เช่น ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้โลกทัศน์ของเขาเกี่ยวกับคนในชุมชนแออัดเปลี่ยนไป เป็นต้น "โลกทัศน์" มักใช้กับคำขยาย "กว้างไกล" หรือ "คับแคบ" ในขณะที่ "วิสัยทัศน์ ใช้กับคำกริยา "มี" หรือ "ขาด" โดยไม่ต้องมีคำขยาย ก็ได้
ที่มา www.nationejobs.com/citylife/index.php