อาชีพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย สำคัญที่สุดและปฏิเสธไม่ได้ คือ ต้องทำหน้าที่สอนนักศึกษา หรือผลิตบัณฑิต โดยมีหน้าที่หลักที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อน ไปกว่ากันอีกอย่างหนึ่ง คือ การทำงานวิจัย รวมถึงการเผยแพร่ผลงานวิจัย การให้บริการวิชาการ แก่สังคม บางส่วนถูกนำไปสู่การใช้งานจริงใน ด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ เช่นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการคิดค้นวิจัยสิ่งใหม่ ๆ เพื่อมนุษย์ทุกคน
และนี่คืออีก 1 ตัวอย่างในหลาย ๆ ตัวอย่างอันเป็นผลงานวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้ค้นพบศักยภาพในการต้านมะเร็ง จาก "ใบติ้ว" ผักพื้นบ้านชาวอีสาน โดย รศ. ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ได้ค้นพบจากงานวิจัยเรื่อง "การศึกษาคุณค่าของสารสกัดสมุนไพร จากพืชในพื้นที่โคกภูตากา อ.ภูเวียง ต่อการป้องกันโรคมะเร็ง"
สำหรับโครงการวิจัยนี้เป็นการวิจัยย่อย ของศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยศึกษาวิจัยสำรวจศักยภาพของ พืชในพื้นที่โคกภูตากา อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น พบว่า มีพืชบางชนิดมีฤทธิ์ในการ ต้านออกซิเดชัน และ มีผลต้านการก่อกลายพันธุ์ รวมทั้งมีรายงาน พบความสัมพันธ์ของฤทธิ์ต้านออกซิเดชันกับ การเกิดโรคมะเร็งมาก่อน จึงได้มีการนำไปขยายผลศึกษาต่อในด้านการป้องกันโรคมะเร็ง
จากสาเหตุนี้ นักวิจัยจึงนำพืช 14 ชนิด ในพื้นที่โคกภูตากา มาศึกษาศักยภาพเบื้องต้นในการป้องกันโรคมะเร็ง ด้วยวิธีการทางด้านเคมี โดยการนำสาร สกัดจากพืชเหล่านั้นมาศึกษาในแบบจำลองเซลล์ มะเร็งเพาะเลี้ยง โดยนำสารสกัดจากพืชมาเลี้ยงกับเซลล์มะเร็ง เพื่อสังเกตว่า สารสกัดจากพืชสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็ง หรือไม่ และมีการศึกษาเปรียบเทียบกับเซลล์ปกติ ที่เพาะเลี้ยงไว้ ว่ามีผลต่อเซลล์ปกติหรือไม่
จากพืชทั้ง 14 ชนิดที่ทำการทดลองตรวจกรองฤทธิ์เบื้องต้น พบว่า "ใบติ้ว" ผักพื้นบ้านของภาคอีสาน มีผลดีในการยับยั้งป้องกัน การเจริญเติบโตของมะเร็งตับ โดยที่ไม่พบว่าสารสกัดจาก "ใบติ้ว" มีผลต่อเซลล์ปกติอย่างไร ซึ่ง "ใบติ้ว" หรือ "ผักติ้ว" คนอีสานนิยมนำ มารับประทานเป็นเครื่องเคียงอาหารประเภทลาบ ก้อยอยู่แล้ว ถือว่าคนอีสานโชคดีที่มีผักพื้นบ้าน หาทานง่าย และมีศักยภาพในการเป็นสมุนไพรยับยั้งโรคร้าย อย่างมะเร็งตับ
อย่างไรก็ตาม การนำผลการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ไปใช้ได้จริงมากน้อยแค่ไหนนั้น ผู้วิจัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองเพื่อหาสารสำคัญ และศึกษากลไกที่ชัดเจนของพืช ซึ่ง "ใบติ้ว" ถือเป็นผัก พื้นบ้าน ซึ่งชาวบ้านกินกันเป็นประจำอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ทราบสรรพคุณ หรือศักยภาพของ พืชเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเราอาจจะนำองค์ความรู้ จากการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ มายืนยันถึงสรรพคุณ ของ "ใบติ้ว" ว่ากินแล้วดี มีประโยชน์ สามารถ ต้านมะเร็งตับได้ แต่ในด้านการรักษานั้น ยังอยู่ในขั้นตอน ของการทดลองให้แน่ชัดอีกครั้งหนึ่งว่ามีผล อย่างไรบ้าง
การศึกษาค้นคว้า และวิจัย ถือเป็นเรื่องดีต่อมวลมนุษยโลก ซึ่งบางโรคยังไม่มียารักษาให้ หายขาด แต่ต้องรอดูในอนาคตข้างหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าการวิจัยจะค้นพบประโยชน์ในด้านใดบ้าง.
ที่มา : เดลินิวส์