นิทานเวตาล เรื่องที่ 17
พระเจ้าตริวิกรมเสนต้องจำพระทัยเสด็จย้อนกลับไปที่เก่า ถึงต้นอโศก ก็จับตัวเวตาลมาเกาะที่พระอังสาตามเดิม เมื่อเสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง เวตาลก็พูดออกมาจากย่ามที่พระราชาทรงคล้องไว้ที่พระอังสาว่า “ฟังนี่แน่ะราชะ เพื่อไม่ให้เกิดการเดินทางที่ไร้รสชาติ ข้ามีเรื่องสนุกจะเล่าถวาย ดังต่อไปนี้
มีนครหนึ่งชื่อกนกนคร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาอันเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ความบาปความชั่วหาอาจเข้าถึงไม่ ในนครนี้มีพระราชาองค์หนึ่งทรงนามว่า พระเจ้ายโศธน ผู้มีความแข็งแกร่งประดุจหินผาริมฝั่งทะเลที่คอยกั้นขวางมิให้แผ่นดินต้องถล่มทลายลง พระราชาถึงแม้จะไม่ชำนิชำนาญในการเข่นฆ่าศัตรูในดินแดนใกล้เคียง แต่ก็ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปศาสตร์แทบทุกสาขา บรรดาไพร่ฟ้าประชากรต่างสดุดีพระองค์ว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมและเกรงกลัวต่อบาป ไม่ทรงเบียดเบียนก้าวก่ายละเมิดต่อภรรยาของผู้อื่น พระองค์มีแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความรัก
ในพระนครของพระราชาองค์นี้ มีวาณิชมหาศาลอยู่คนหนึ่ง มีบุตรหญิงที่ยังมิได้แต่งงานชื่อ อุนมาทินี ผู้ซึ่งใครก็ตามถ้าได้ยลโฉมนางก็จะพิศวงงงงวยเคลิบเคลิ้มเสียสติไปทุกราย เพราะนางนั้นงามนัก แม้พระกามเทพเอง ถ้าได้เห็นนางก็คงจะเผลอไผลอารมณ์หลงรูปของนางอย่างแน่นอน ต่อมานางเจริญวัยขึ้นเป็นสาวเต็มตัว พ่อค้าผู้เป็นบิดาของนางเป็นคนหัวใส แลเห็นว่านางจะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ตน จึงพานางไปเผ้าพระราชายโศธนและกราบทูลว่า “โอ้พระนรบดี ข้ามีธิดาคนหนึ่งสมควรแก่การจะออกเรือนแล้ว นางเปรียบประดุจดวงมุกดาของทั้งสามโลก ข้ามิอาจจะยกนางให้แก่ชายใดได้ โดยมิได้กราบทูลให้พระองค์ทรงทราบก่อน โอ นฤเบศร บรรดามณีรัตน์ทั่วไปในแหล่งหล้าล้วนเป็นของพระองค์ทั้งสิ้น ธิดาของข้าก็เช่นเดียวกัน เป็นมณีดวงหนึ่งในแหล่งหล้านี้ ข้าจึงขอถวายนางให้แก่พระองค์ จะทรงรับไว้ หรือจะทรงปฏิเสธก็สุดแต่พระวินิจฉัยของพระองค์เถิด”
เมื่อพระราชาได้ฟังดังนั้น ก็ทรงส่งพราหมณ์คณะหนึ่งของพระองค์ออกไปตรวจดูว่า นางอุนมาทินีเป็นผู้มีบุณยลักษณะของกัลยาณีครบถ้วนหรือเปล่า คณะพราหมณ์เดินทางไปถึงคฤหาสน์ของพ่อค้า ได้แลเห็นโฉมนางอุนมาทินีผู้มียอดมงกุฏของนางงามในไตรโลก ก็เกิดความคลั่งไคล้ไหลหลงเหมือนคนบ้าไปชั่วขณะ ในที่สุดรวบรวมสติได้ก็รำพึงว่า “ถ้าพระราชาของเราได้ทอดพระเนตรเห็นหญิงผู้นี้แล้วไซร้ พระราชอาณาจักของพระองค์คงถึงความวินาศเป็นแน่เท้ เพราะพระหฤทัยของพระงอค์คงจะปั่นป่วนวุ่นวายหาความสงบมิได้ เมื่อเป็นดังนี้พระองค์จะปกครองแว่นแคว้นต่อไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะไม่กราบทูลพระราชาว่าหญิงนี้มีสิริอันควรแก่การยกย่องแต่อย่างใด” เมื่อได้สดับถ้อยคำของคณะพราหมณ์ พระราชาก็มีพระทัยเอนเอียงไปตามคำเพ็ดทูลนั้น และไม่ไยดีต่อนางอีก
และโดยพระราชโองการของพระราชา อนุญาตให้นางอนุมาทินีแต่งงานกับคนอื่นได้ บิดาของนางจึงให้นางแต่งงานกับเสนาบดี (แม่ทัพ) ของแว่นแคว้นผู้มีชื่อว่า พลธร นางอยู่กับสามีด้วยความสุขในบ้านของนางมาช้านาน แต่นางก็ไม่วายผู้ใจเจ็บพระราชาที่ไม่ไยดีต่อนาง ด้วยเหตุผลว่านางเป็นคนไม่มีสิริ นางจะต้องให้พระราชาสำนึกในวันหนึ่งในให้จงได้
แล้วเวลาก็ผ่านไป ในที่สุดสีหราชแห่งฤดูวสันต์ก็เข้ามาเยือน ฆ่าคชสารแห่งฤดูเหมันต์ผู้มีงาอันขาวนวลคือเถามะลิเลื้อย และเป็นผู้เหยียบย่ำกอบัวให้แหลกลาญด้วยงวงของมัน (ช้างเหยียบย่ำกอบัวแหลกลาญ หมายความว่าในฤดูหนาวนั้น ดอกบัวต่างก็เหี่ยวเฉาตายไปเป็นอันมาก ท่านจึงว่าฤดูหนาวเป็นศัตรูอันร้ายกาจของบัว ในข้อความนี้มีการเปรียบฤดูหนาวเหมือนช้าง ซึ่งเป็นผู้ทำลายกอบัวเช่นเดียวกัน) และในวนารัญอันไพศาลนั้นแล พญาสีหราชก็เล่นสนุกระเริงตนอย่างเต็มที่ มันมีสร้อยคอยาวสวยคือลัดามาลีที่แกว่งไกวไปมาตามกระแสลม และมันมีอุ้งเท้าคือช่อมะม่วงอันเป็นพุ่มพวงทุกกิ่งก้านของพฤกษา ในฤดูแห่งความบันเทิงเบิกบานนี้แล พระราชายโศธนก็เสด็จมาทอดพระเนตรการฉลองฤดูในพระนครตามปกติเช่นที่กระทำมา พระองค์เสด็จทรงพระคชาธารตัวประเสริฐ ทอดพระเนตรสถานที่ต่าง ๆ ด้วยความเพลิดเพลินพระทัย ระหว่างที่เสด็จไปนั้น พนักงานนำเสด็จก็ตีกลองชนะเป็นสัญญาณให้ผู้คนในถนนหลบหลีกไปให้พ้นทางเสด็จ ราวกับว่าการจ้องดูพระสิริโฉมของพระองค์ย่อมนำมาซึ่งความพินาศ
เมื่อนางอุนมาทินีได้ยินเสียงกลองนำเสด็จมาตามทาง นางก็รู้ว่าพระราชากำลังจะเสด็จผ่านมาทางบ้านของนาง จึงรีบขึ้นไปปรากฏตัวบนดาดฟ้าของคฤหาสน์ที่นางอยู่เพื่อให้พระเจ้าแผ่นดินแลเห็น นางจ้องดูขบวนเสด็จอย่างใจจดใจจ่อด้วยความพยาบาท เพราะพระราชาเคยปฏิเสธไม่ยอมรับนางในครั้งก่อน โดยอ้างว่านางไร้สิริมงคล นางรออยู่มินานกระบวนเสด็จก็ผ่านมาถึง พระราชาทอดพระเนตรขึ้นไปบนดาดฟ้า แลเห็นนางอุนมาทินีก็สะดุ้งพระทัยเหมือนถูกศรชัยของกามเทพเสียบพระทัย มีความรู้สึกเหมือนถูกไฟแผดเผาให้ร้อนรุ่มมิรู้คลาย ถึงแม้ลมอ่อนแห่งฤดูวสันต์ที่โชยมาจากภูเขามลยะ ก็มิได้ช่วยให้เย็นพระทัยขึ้นเลยขบวนเสด็จเคลื่อนต่อไปจนรอบพระนครแล้วกลับเข้าสู่พระราชวัง พระราชาผู้ทรงหลงใหลและดื่มด่ำในรสเสน่หาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เรียกมนตรีและคณะพราหมณ์เข้ามาสอบถาม ว่าหญิงที่อยู่บนดาดฟ้าของบ้านพ่อค้าใหญ่ คือธิดาของพ่อค้าที่เคยคิดจนำนางมาถวายพระองค์ แต่พระองค์ปฏิเสธนางไปใช่หรือไม่ ด้วยเหตุที่นางไร้สิริมงคล พรรรคพวกที่ถูกไต่สวนก็ยอมรับว่าจริง พระราชาทรงพระพิโรธยิ่งนัก สั่งให้เนรเทศคนเหล่านั้นออกจากราชอาณาจักรโดยทันที เมื่อเนครเทศคนต้นเหตุไปแล้ว พระราชาก็เก็บพระองค์อยู่ตามลำพังเงียบ ๆ เฝ้าคิดถึงนางผู้เป็นยอดพิสมัยทุกค่ำคืน และรำพันว่า “อา ทำไมจิตวิญญาณของข้าจึงมืดทึบนัก และพระจันทร์เล่าก็หายางอายมิได้ พยายามที่จะขึ้นมาสะเออะอวดโฉม ทั้ง ๆ ที่นางผู้พิมลพักตร์ของข้าก็อยู่แค่นี้เอง ใครจะเปรียบกับนางผู้เป็นมิ่งขวัญของข้าได้เล่า” ดำริในพระทัยเช่นนี้แล้ว พระราชาผู้ถูกไฟรักเผาผลาญก็ปลีกพระองค์ห่างจากคนทั้งหลาย หลบลี้อยู่แต่พระองค์เดียว วันแล้ววันเล่าไม่ยอมพบใคร ๆ แต่ในที่สุด ด้วยความความละอายพระทัยพระองค์ทรงเรียกมหาดเล็กคนสนิทให้เข้ามาเฝ้า ตรัสถามว่าพระองค์จะทำอย่างไรดีในสถานการณ์เช่นนี้ เสวกคตนสนิทก็กราบทูลแนะว่า “ข้าแต่พระนรบดีไฉนพระองค์ทรงวิตกเช่นนี้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร พระองค์เป็นเจ้าแผ่นดิน ทุกอย่างเป็นของพระองค์ เมื่อมีพระประสงค์ในตัวนางก็พานางมาสิพระเจ้าข้า นางจะขัดขืนได้อย่างไร ถ้าพระองค์มีบัญชา” พระราชาทรงเป็นผู้ทรงคุณธรรม ได้ฟังคำแนะนำดังนั้น เห็นผิดระบอบชอบธรรม ก็ไม่อาจจะทำตามได้ จึงทรงนิ่งเสีย
ฝ่ายพลธรอัครเสนาบดีได้ทราบข่าวที่แพร่ออกมาดังนี้ ก็ไม่มีความสบายใจ เพราะเขาเป็นผู้จงรักภักดีและยินยอมสละทุกอย่างเพื่อพระเจ้าแผ่นดินอย่างแท้จริง ก็รีบเข้าเฝ้าพระราชาโดยทอดตัวเองลงแทบพระบาทและกราบทูลว่า “โอ้พระนฤบดินทร์ ขอพระองค์ทรงรับนางทาสผู้นี้ไว้เถิด โดยทรงคิดเสียว่า นางเป็นทาสของพระองค์มิใช่เป็นเมียของเสนาบดีอย่างข้าพระบาทหรือของใคร ๆ และข้าขอถวายนางต่อพระองค์ด้วยความเต็มใจ โปรดทรงรับนางไว้เถิด หรือมิฉะนั้นข้าจะสละนางให้เป็นเทพทาสีในเทวาลัย อันจะทำให้นางเป็นอิสระมิได้เป็นของชายใดโดยเฉพาะ และด้วยประการฉะนี้ พระองค์จะได้ไม่ต้องทรงคิดต่อไปว่านางเป็นเมียของคนอื่น” เมื่ออัครเสนาบดีกราบทูลวิงวอนดังนี้ พระราชาก็กล่าวตอบอย่างทรงพิโรธว่า “ข้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ข้าจะทำสิ่งที่ไร้คุณธรรมเช่นนั้นได้อย่างไร ถ้าข้าจะละทิ้งความชอบธรรมเสียแล้ว ใครเล่าจะซื่อสัตย์ต่อนห้าที่ของตนต่อไปอีก และสำรหับตัวเจ้าผู้มีความจงรักภักดีต่อข้า ทำไมมายุให้ข้าทำบาปเช่นนี้ ซึ่งแน่ละมันอาจจะให้ความบันเทิง สุขชั่วแล่น แต่ข้าจะมีความผิดมหันต์ จะต้องชดใช้กรรมในปรโลก และถ้าเจ้ายังคิดที่สละเมียให้แก่ข้าอีก ข้าก็จะไม่ปล่อยให้เจ้าลอยนวลต่อไปโดยไม่ถูกลงโทษ เพราะใครก็ตามที่อยู่ในฐานะอย่างข้าจะทนทานต่อความไร้ศีลธรรมได้หรือ เพราะฉะนั้นข้าว่าความตายเท่านั้นที่สมควรแก่ข้าในภาวะเช่นนี้”
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ที่คัดค้ามิให้พระราชายอมรับข้อเสนอของแม่ทัพได้ เพราะทรงถือว่าเกิดเป็นผู้มีเกียรติแล้ว สู้ยอมตายเสียดีกว่าจะอยู่อย่างไร้เกียรติ การตัดสินพระทัยอย่างเด็ดขาดของพระราชาเช่นนี้ ทำให้ทุกคนตระหนักว่าจะทูลเสนอเรื่องทำนองนี้สักเท่าใดก็จะมีผลอย่างเดียวกัน คือถูกปฏิเสธ
เมื่อเหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้ ก็ไม่มีทางจะเยียวยาอีก พระราชาซูบผอมลงทุกวัน บรรทมแซ่วอยู่บนพระที่ ถูกทรมานด้วยไฟเสน่หาอันมีความรุนแรงเผาไหม้อยู่ตลอดวันตลอดคืน คงเหลือแต่พระนามและพระเกียรติเท่านั้นทียังคงอยู่มิได้สิ้นสูญไปตามกำลังความร้อน แต่อัครเสนาบดีพลธรผู้ซื่อสัตย์และภักดีต่อพระราชาของตน ไม่อาจจะปล่อยให้พระราชาต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป อันจะนำความพินาศมาสู่พระองค์ในที่สุด ดังนั้นเขาจึงเข้ากองไฟเผาตัวเองจนสิ้นชีวิต ในฐานที่เป็นจอมทัพผู้ไม่มีความสามารถจะช่วยเหลือเจ้านายของตนเองให้รอดพ้นจากความตาย
เมื่อเวตาลซึ่งนั่งอยู่บนอังสาของพระเจ้าตริวิกรมเสนเล่าเรื่องจบ่ลงก็ทูลถามพระเจ้าแผ่นดินว่า “โปรดทรงตัดสินด้วยเถิดราชัน ในระหว่างบุคคลทั้งสองในเรื่องนี้ ใครเป็นคนสัตย์ซื่อยิ่งกว่ากัน จอมพล หรือพระราชา แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะทรงตอบ โปรดรำลึกไว้ด้วยว่า เรามีข้อตกลงกันว่าอย่างไร ข้ายังถือสัญญานั้นอยู่นะพระเจ้าข้า” เมื่อเวตาลกล่าวดังนี้ พระราชาก็ทรงนิ่งไปครู่หนึ่งแต่จะไม่ตอบปัญหาก็ทนอยู่ไม่ได้จึงตรัสว่า “ในระหว่างบุคคลทั้งสองนั้น ข้าว่าพระเจ้าแผ่นดินนั่นแหละซื่อสัตย์ที่สุด” เมื่อเวตาลได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวต่อพระราชาเชิงตำหนิว่า “ทรงเฉลยมาสิว่าเหตุใดพระองค์จึงเห็นว่าพระราชาเหนือกว่าแม่ทัพในกรณีนี้ เพราะถ้าจะพูดอย่างยุติธรรมจริง ๆ แล้ว อัครเสนาบดีควรจะมีความสัตย์ซื่อเหนือกว่า ชายผู้นี้รู้จักเสน่ห์อันลึกซึ้งของหญิงผู้เป็นภรรยาของเขาอยู่เต็มอกในฐานะที่อยู่กินกันมาช้านาน เขารักนางเพียงไรใคร ๆ ก็รู้ แต่แม้กระนั้นเขาก็ยังเสียสละ โดยถวายนางให้แก่พระราชา เพราะเขารักพระองค์มากกว่า และเมื่อพระราชาสิ้นชีวิตแล้วเขาก็ยอมตายตามพระองค์โดยเข้าสู่กองไฟ แต่พระราชานั่นสิมิได้รับรู้อะไรเกี่ยวกับนางเลย ยังปฏิเสธไม่ยอมรับนางด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ผู้เป็นสามีต้องเสียสละอย่างสุดยอด มอบนางให้แก่พระองค์ด้วยความเต็มใจ”
เมื่อเวตาลกล่าววิจารณ์ดังนี้ พระเจ้าตริวิกรมเสนก็ทรงพระสรวลด้วยความขบขัน และตรัสว่า “เจ้าจงยอมรับความจริงในเรื่องนี้สิ ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจในเรื่องนี้สักนิด ความจริงก็คือ อัครเสนาบดีผู้นั้นเป็นผู้มีสกุลรุนชาติสูงก็จริง และการที่เขาแสดงออกซึ่งความภักดีต่อเจ้านายเช่นนั้นเป็นสิ่งแปลกหาได้ยากนักหรือ เพราะใครที่รับใช้เจ้านายเช่นนั้น ก็ต้องแสดงความจงรักภักดีต่อเจ้านายของตนเป็นธรรมดา แม้จะยอมเสียสละชีวิตของตนก็ไม่เห็นแปลกอะไร มันเป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว แต่ผู้ที่เป็นพระราชานั้นโดยปกติเป็นผู้มีความเย่อหยิ่ง ยากที่ใครจะบังคับได้ มีลักษณะเหมือนช้างป่าที่ควบคุมมิได้ เมื่อคนประเภทนี้เกิดความหมกมุ่นหลงใหลในกามสุขแล้วไซร้ สายโซ่แห่งศีลธรรมหรือคุณธรรมก็รั้งไว้ไม่อยู่ ต้องขาดผึงออกจากกันทันที ทั้งนี้ก็เพราะจิตใจของเขาท่วมท้นไปด้วยแรงเสน่หาเสียแล้ว และความรับผิดชอบใด ๆ ก็ถูกชำระล้างออกไปจากใจ เหมือนบุคคลเหล่านั้น ถึงแม้จะได้รับน้ำอภิเษกในพิธี แต่ก็ถูกกวาดหายไปหมด และถ้าจะเปรียบเหมือนพัดวาลวิชนีที่เคยรำเพยลมอ่อน ๆ ต่อผู้ที่คร่ำเคร่งในการศึกษาอย่างใจจดใจจ่อต่อพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ให้เย็นชื่นใจอย่างละเมียดละไม ก็กลายเป็นพัดที่โบกมาเพื่อไล่แมลงหรือยุงเท่านั้น หรือจะเปรียบอีกทีก็เหมือนฉัตรที่ใช้กำบังแสงพระอาทิตย์เท่านั้น ทั้งที่มันควรจะกางกั้นความจริงมิให้เป็นอันตรายมากกว่า ถึงแม้พระเจ้าแผ่นดินผู้ชนะตลอดสามโลกอย่างพระจักรพรรดินหุษผู้เกรียงไกรยังหลงเล่ห์ของพญามาร ทำให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง แต่พระราชายโศธนองค์นี้ ถึงจะมีฉัตรอันสูงใหญ่ปกทั่วพิภพ ก็หาได้ยอมตกอยู่ใต้เสน่ห์ของนางอุนมาทินี ผู้งามละม้ายแม้นพระลักษมีเทวี ว่าตามจริง พระราชานั้นถึงสภาพการณ์จะเป็นเช่นไรก็หาได้เหยียบพระบาทลงบนทางผิดไม่ พระองค์สู้ยอมเสียชีวิตโดยประกาศไม่ยอมทำผิดจารีตอันเป็นหลักแห่งความประพฤติของบุคคลทุกคน สู้สละชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งสัจธรรมโดยแท้ พระองค์จึงประเสริฐกว่าอัครเสนาบดีแน่นอน
เมื่อเวตาลได้ยินคำเฉลยของพระเจ้าตริวิกรมเสนดังนั้น ก็ไม่ยอมเสียเวลาต่อไปแม้แต่ชั่วอึดใจ รีบเผ่นจากพระอังสาของพระราชา หายวับไปในความมืดกลับไปสู่ที่พำนักของตนตามเดิม พระราชาต้องเสด็จติดตามไปอย่างรวดเร็ว จนถึงต้นอโศกและดึงตัวเวตาลกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะมหาบุรุษจะละทิ้งกิจธุระของตนไว้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ โดยเริ่มต้นมาแล้วอย่างลำบากยากเย็นแสนเข็ญหาได้ไม่ ถึงจะมีอุปสรรคก็จะต้องดำเนินต่อไปจนกว่าประโยชน์จะสำเร็จ
ที่มา โลกวรรณคดีดอทคอม