รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้มอบหมายให้ ศ.ดร.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ทำวิจัยเรื่อง สภาพการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนชายขอบในจังหวัดชายแดนของไทยที่ติดกับประเทศกัมพูชา ซึ่งผลการวิจัยพบว่า การจัดการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวเป็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้เรียน โรงเรียนตามแนวตะเข็บชายแดนในพื้นที่ 7 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่เศรษฐกิจไม่ดี การสนับสนุนโรงเรียนจากชุมชนมีน้อย มีเด็กจากฝั่งกัมพูชาข้ามมาเรียนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเด็กเหล่านี้เป็นทั้งเด็กที่มี 2 สัญชาติ เด็กไม่มีสัญชาติและเด็กต่างด้าว ซึ่งการข้ามมาเรียนไม่ได้มาเพื่อเรียนหนังสืออย่างเดียว แต่มาเพื่อประโยชน์อื่น อาทิ การเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อเป็นมัคคุเทศก์ ติดต่อค้าขายกับคนไทย และเพื่อขอรับสิทธิ์ในการมาใช้แรงงานที่ประเทศไทยในอนาคต
รศ.ธงทอง กล่าวว่า ปัญหาการจัดการศึกษาที่สำคัญในพื้นที่ดังกล่าว ประกอบด้วย ปัญหาขาดแคลนครู ปัญหาสภาพครอบครัวของนักเรียน เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ปัญหาสภาพแวดล้อมชุมชนที่มีบ่อนการพนันและปัญหายาเสพติด ปัญหาการบริหารจัดการที่โรงเรียนจะอยู่ห่างไกลจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) การเดินทางยากลำบาก และปัญหาความไม่เป็นธรรมจากการประเมิน โดยการใช้เกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศ และวิธีการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาค
"ผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อาทิ รัฐบาลควรปรับวิธีการจัดสรรงบประมาณ โดยกำหนดอัตราเฉพาะสำหรับพื้นที่ชายแดน ปรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพการจัดการศึกษาจริงตามบริบทของพื้นที่ ปรับหลักเกณฑ์และการประเมินวิทยฐานะของครู โดยอาจกำหนดเป็นแนวทางเฉพาะ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูในพื้นที่" รศ.ธงทอง กล่าว
http://www.baanmaha.com/community/%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88-%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8D-22544/