ข้าพเจ้าเคยได้ยินบทเพลง ๆ หนึ่ง ที่คุณพ่อท่านเคยร้องขึ้นมาเปรย ๆในยามที่ท่านครุ่นคิด ว่า “ ความซื่อสัตย์ เป็นสมบัติของผู้ดี ลองดูซีทุกคนก็มีหัวใจ เกิดเป็นคนถ้าหากไม่เกรงใจใคร คนนั้นไซร้ไร้คุณธรรมประจำใจ” โดยคุณพ่อบอกว่าท่านชอบมาก คุณครูเคยสอนให้ร้องในสมัยที่ท่านเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษา ท่านจำได้ดีมาจนทุกวันนี้ ท่านบอกว่าท่านจำไว้เพื่อสอนลูกหลานของท่านให้เป็นคนดี
ความซื่อสัตย์คืออะไร
คำว่าซื่อสัตย์ มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2526 ว่า
“ซื่อตรงและจริงใจ หรือ ไม่คิดคดทรยศ หรือ ไม่คดโกงและไม่หลอกลวง”
ครอบครัวต้องทำอย่างไร
หน้าที่หรือความรับผิดชอบของครอบครัว ที่จะต้องร่วมกันสร้างความซื่อสัตย์ให้เกิด เป็นรูปธรรมขึ้นคือการสร้างจิตสำนึกขึ้นในตัวของบุคคลในครัวครัว โดยเริ่มที่ตนเองก่อน โดยการทำตนเป็นคนซื้อสัตย์ต้นแบบ ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องทำตนเป็นต้นแบบหรือเป็นแม่พิมพ์ แห่งความซื่อสัตย์ต่อภรรยา ต้นแบบแม่พิมพ์ของลูก ๆ ในขณะเดียวกัน ผู้คนในครอบครัวต้องร่วมกันแสดงพลังแห่งการสนองตอบ บนพื้นฐานแห่งจิตสำนึกขึ้นมา
นั่นคือการแสดงออกบนวิถีแห่งความซื้อสัตย์ต่อกันในทุกกรณี จริงใจต่อพฤติกรรมที่แสดงออกต่อกัน บนพื้นฐานแห่งการรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ในเมื่อแต่ละครอบครัวสร้างจิตสำนึกของความซื่อสัตย์ให้เกิดขึ้นในจิตใจที่บริสุทธิ์แล้ว จิตสำนึกแห่งความซื่อสัตย์ย่อมต่อยอดออกไปสู่สังคมที่กว้างใหญ่ได้โดยมิต้องสงสัย เพราะจิตสำนึกนั้นได้ฝังลึกลงไปในจิตใจของผู้คนในแต่ละครอบครัวแล้ว
สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขออนุญาตนำเอาบทกลอนสอนใจอีกบทหนึ่ง ซึ่งท่านอาจารย์ บัวกันต์ วิลามาศ
ศิลปินดีเด่น สาขาวรรณศิลป์ ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ได้ประพันธ์ไว้ว่า
ซื่อสัตย์คือสัตย์ซื่อ
ต้องยึดถือเป็นต้นหน
ซื่อสัตย์เกิดที่ตน
ในทุกคนจึงต้องมี
ซื่อสัตย์เริ่มที่บ้าน
ร่วมประสานเพื่อศักดิ์ศรี
ซื่อสัตย์คือความดี
บ้านเมืองนี้จะร่มเย็น
ซื่อสัตย์จะเกิดก่อ
ผลิแตกหน่อมาให้เห็น
ซื่อสัตย์ทำให้เป็น
อย่าทำเล่นจะเสียงาน
ซื่อสัตย์เถิดพี่น้อง
ไทยทั้งผองร่วมประสาน
ซื่อสัตย์เริ่มที่บ้าน
แผ่กิ่งก้านสร้างสังคม.