การได้สารพิษ โดย พันตำรวจโท นายแพทย์พิพัฒน์ ชูวรเวช
การได้รับสารพิษ (poisonings) หมายถึงการที่สารพิษเข้าสู่ร่างกายโดยรับประทาน สูดหายใจ สัมผัสทางผิวหนัง หรือโดยการฉีดผ่านผิวหนังทำให้เกิดโรคเป็นอันตราย พิการ หรือถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้อาจเกิดขึ้นด้วยความจงใจ หรือด้วยอุบัติเหตุก็ได้
กาการที่ปรากฏออกมานั้น มักแตกต่างออกไปตามประเภทและปริมาณของสารพิษ ระยะเวลาที่สารพิษเข้าสู่ร่างกาย ตลอดจนสภาวะของร่างกายที่สามารถทนทานต่อสารพิษนั้นๆ มากน้อยเพียงใด
สารพิษที่เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน
สารพิษที่เข้าสู่ร่างกายด้วยการรับประทาน (ingested poisonings) แบ่งตามผลที่เกิดขึ้นได้ ๔ ประเภท คือ
๑. สารกัดกร่อน (corrosives) คือสารที่กัดทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายโดยเร็ว เช่น กรด ด่าง ฟีนอล (phenol) ไอโอดีน (iodine) เป็นต้น สารเหล่านี้ทำให้เกิดแผลไหม้บริเวณปาก ลิ้น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร เจ็บปวดรุนแรง อาเจียนออกมาเป็นเลือดสีดำ
๒. สารระคายเคียง (irritants) เป็นสารที่ไม่ได้ทำลายเนื้อเยื่อโดยตรง แต่ทำให้อักเสบ ทำให้ผู้ที่รับประทานสารนี้เข้าไปเกิดคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปวดท้อง หน้ามืดเป็นลม ได้แก่พวก โพแทสเซียมไนเทรต (potassium nitrate) สังกะสีคลอไรด์ (zinc chloride) สารหนู (arsenic) และ กำมะถัน (phosphorus)
๓. สารกดประสาท (depressants) เป็นสารที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไปในระยะแรกๆ จะมีอาการตื่นเต้นชั่วคราว ต่อมาปรากฏอาการเซื่องซึม หายใจช้า มีเสียงกรน ผิวหนังเย็นชื้นหน้าและมือเขียวคล้ำ กล้ามเนื้อหย่อยยานปวกเปียก ได้แก่พวก ฝิ่น มอร์ฟีน ยานอนหลับ แอลกอฮอล์
๔. สารกระตุ้นประสาท (excitants) เป็นสารที่ทำให้ผู้ป่วยเพ้อกระวนกระวาย หายใจลำบาก ผิวหนังแห้งและร้อน ชีพจรเต้นเร็วแต่อ่อนแรง มีอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อมีอาการชักเช่น สตริกนิน (strychnine) อะโทรปิน (atropine)การบูร (camphor) และฟลูออไรด์ (fluoride) เป็นต้น
วิธีปฐมพยาบาล
๑. พยายามเสาะหาชนิดของสารที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไปให้แน่ชัด เก็บไว้ให้แพทย์ตรวจเมื่อต้องการ
๒. พยายามเอาสารพิษออกจากกระเพาะอาหารให้มากและโดยเร็วด้วยวิธีทำให้ผู้ป่วยอาเจียน มีข้อห้ามมิให้ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนในกรณีที่สารพิษซึ่งรับประทานเข้าไปเป็นสารกัดกร่อน เช่น น้ำกรดหรือน้ำด่าง เพราะอาจทำให้กระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารทะลุ และกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานน้ำมันจำพวกปิโตรเลียม เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด เข้าไป เพราะหากผู้ป่วยอาเจียน สารนี้จะสำลักเข้าไปทางปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบภายหลัง
๓. เมื่อเอาสารพิษออกจากกระเพาะอาหารได้แล้วให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านพิษ (antidotes) หรือให้ยาเคลือบกระเพาะอาหารเพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ (demulcents) เช่น ไข่ขาวผสมในน้ำ น้ำมันหมู น้ำมันพืช แป้งมันผสมน้ำจางๆ เป็นต้น
๔. ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้นอนศีรษะตะแคงข้างระวังทางเดินหายใจไม่ให้อุดตัน ถ้าผู้ป่วยมีอาการชัก ให้ระวังจะกัดลิ้น ใช้ด้ามแปรงสีฟันหรือช้อนแทรกไว้ระหว่างฟันบนกับฟันล่าง อย่าใช้มือหรือนิ้วงัดปาก
๕. ให้รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน
วิธีทำให้ผู้ป่วยอาเจียน
๑. ใช้นิ้วชี้หรือช้อนล้วงกวาดลำคนผู้ป่วยลึกๆ หรือให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ก่อนแล้วจึงล้วงคอ
๒. ใช้เกลือแกง ๒ ช้อนชาผสมน้ำอุ่น ๑ แก้ว หรือผงมาสตาร์ด ๒ ช้อนชา ผสมน้ำอุ่น ๑ แก้ว ให้ผู้ป่วยดื่มให้หมดแก้ว
๓. ใช้น้ำอุ่นละลายสบู่พอสมควร (ห้ามใช้ผงซักฟอก)ใช้ได้ผลดีในกรณีที่รับประทานสารปรอท
๔. ขณะผู้ป่วยอาเจียนให้ศีรษะต่ำ หรือนอนตะแคงหน้า อย่าให้สำลักเข้าปอด ควรเก็บสิ่งที่อาเจียนออกมาไว้ให้แพทย์ตรวจ
สารพิษที่เข้าสู่ร่างกายโดยการฉีด
มักเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
งูพิษกัด
เมื่อถูกงูพิษกัด จะปรากฏรอยเขี้ยวงูเป็น ๒ จุด และมักมีอาการของพิษงูภายใน ๑๐ นาที ถ้างูไม่มีพิษ รอยฟันบนผิวหนังจะเรียงเป็นแถว อาการของผู้ป่วยที่แสดงออกนั้นสุดแล้ว แต่ชนิดของงู เช่น พิษจากงูเห่ามักทำอันตรายต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยซึมและหายใจลำบาก ส่วนงูแมวเซาทำอันตรายต่อระบบเลือดและหลอดเลือด มีเลือดไหลซึมออกจากแผลตลอดเวลา
วิธีปฐมพยาบาล
๑. ให้พยายามตรวจดูว่าถูกงูอะไรกัด ถ้าจับงูได้ให้เก็บไว้นำส่งแพทย์ด้วย เพื่อจะได้เลือกฉีดเซรุ่มต้านพิษงูได้ถูกประเภท
๒. ให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอน ใช้สายยางหรือผ้ารัดแขนหรือขาเหนือรอยแผลประมาณ ๑ ฝ่ามือ ให้แน่นพอสมควร เพื่อลดอัตราการดูดซึมของพิษงูที่เข้าสู่ร่างกายโดยกระแสเลือด ควรคลายสายรัดชั่วครู่ทุกๆ ๑๐ นาที เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงแขนขาส่วนนั้นสักครู่แล้วรัดให้แน่นใหม่
๓. ใช้มีดที่ทำควรสะอาดแล้วกรีดเป็นรูปกากบาทเล็กๆ ลงบนรอยแผลของเขี้ยวงู ผู้ช่วยเหลือดูดเอาเลือดออกจากแผลแล้วบ้วนทิ้งเสีย ถ้าผู้ป่วยบ้านอยู่ใกล้โรงพยาบาล สามารถนำไปฉีดเซรุ่มต้านพิษงูได้ภายในเวลา ๑ ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องกรีดแผล หรือผู้ป่วยที่ถูกงูกัดมานานเกิน ๑ ชั่วโมง การกรีดและดูด เอาเลือดออกจากแผลมักไม่ได้ประโยชน์
๔. ทำการผายปอดเมื่อผู้ป่วยหยุดหายใจ หากมีอาการช็อก ในปฐมพยาบาลระหว่างนำส่งโรงพยาบาล
๕. หากถูกงูพิษอ่อนๆ กัด หรือถูกงูไม่มีพิษกัด ผู้ป่วยจะมีอาการบวมของผิวหนังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ปรากฏอาการทั่วไปที่รุนแรง ควรทำความสะอาดแผล ให้ยาระงับปวด ไม่จำเป็นต้องฉีดเซรุ่มต้านพิษงู ทั้งนี้อยู่ในการวินิจฉัยของแพทย์
สุนัขบ้ากัด
สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ (rabies,hydrophobia) มาจากเชื้อไวรัส โดยทำอันตรายต่อระบบประสาทกลาง ติดต่อโดยแพร่เชื้อจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค เข้าทางแผลที่ถูกสุนัขบ้ากัด หรือรอยถลอกที่สัมผัสเชื้อโรค นอกจากสุนัขแล้ว โรคนี้ยังนำโดยแมว หมี วัว ชะนีบางตัว ผู้ที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัดควรรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคก่อนที่จะปรากฏอาการ เพราะผู้ป่วยเมื่อเป็นโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ไม่มีทางรักษา ต้องเสียชีวิตอย่างน่าเวทนาทุกรายไป
ข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกสุนัขบ้ากัด
๑. ชำระแผลด้วยน้ำและสบู่ แล้วทาแผลด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน
๒. อย่าฆ่าสุนัขที่กัด อย่านำไปปล่อย หรืออย่าขับไล่ให้หนีไป ควรกักสุนัขไว้เพื่อดูอาการของโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเวลา๑๐ วัน หรือรีบนำสุนัขไปให้สัตวแพทย์ตรวจว่าเป็นโรคหรือไม่ ถ้าตีสุนัขตายหรือสุนัขตายไปเองระหว่างกักขัง ให้รีบนำซากสุนัขไปให้สถานเสาวภาหรือโรงพยาบาลศิริราชตรวจพิสูจน์ว่าเป็นโรคหรือไม่ หากต้องเดินทางหลายวันควรแช่ซากสุนัขในน้ำแข็งสมองจะได้ไม่เน่า
๓. ผู้ที่ถูกสุนัขกัดทุกคน ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักตั้งแต่แรก ถ้าปรากฏว่าสุนัขที่กัดคนเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือสุนัขกัดแล้วหนีหายไป ไม่สามารถติดตามได้ ผู้ป่วยควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบตามกำหนดทุกราย จากสถานเสาวภา หรือโรงพยาบาลของราชการโดยด่วน
แมลงมีพิษกัดต่อย
ผู้ที่ถูกแมลงมีพิษกัดต่อย เช่น ผึ้ง แตน ตัวต่อ หมาร่า มด แมลงมุม แมลงป่อง อาจปรากฏอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้ ๒ อย่าง คือ อาการจากน้ำพิษ (venom) ของแมลงโดยตรง หรืออาการจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ (allergic reactions) ต่อน้ำพิษของแมลงนั้นๆ
วิธีปฏิบัติ
๑. ทำความสะอาดบริเวณแผลด้วยน้ำและสบู่ หรือทาแอลกอฮอล์พยายามดึงเหล็กในของแมลงที่ฝังคาผิวหนังอยู่โดยใช้ปากคีบ
๒. ถ้าผู้ป่วยมีอาการช็อก ให้รักษาอาการช็อกและนำส่งแพทย์โดยด่วน
ปลิงหรือทากกัด
ปลิงหรือทากตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Leech" โดยปลิงเป็นพวกที่อยู่ในน้ำ ส่วนทากนั้นอยู่บนบก เป็นสัตว์ดูดเลือดของสัตว์อื่นๆ เป็นอาหาร เช่น ม้า วัว ควาย กบ เต่า หอย หรือบางครั้งในคน ขณะที่ดูดเลือด มันปล่อยสารที่ไม่ให้เลือดแข็งตัวออกมา สารนี้ เรียกว่า "ฮีรูดิน " (hirudin)
วิธีปฏิบัติ
๑. อย่าพยายามดึงปลิงหรือทากออกจากผิวหนัง เพราะจะทำให้เกิดแผลฉีกขาด เลือดออกมาก ห้ามเลือดได้ยากควรใช้น้ำเกลือ น้ำส้มสายชูหรือแอลกอฮอล์หยอดลงรอบๆ ปากของมัน บางคนอาจใช้ไม้ขีดติดไฟหรือบุหรี่ที่ติดไฟ จี้ที่ตัวปลิงหรือทาก มันจะคลายปากแล้วหลุดออกจากผิวหนังเอง
๒. ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำและสบู่ จากนั้นป้ายด้วยขี้ผึ้งทาแผล ให้ยาแก้ปวดรับประทานบาดแผล
ที่มา http://guru.sanook.com/encyclopedia/การได้สารพิษ/