สถานศึกษาในฐานะนิติบุคคล
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 39 กำหนดให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหาร และการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในเขตพื้นที่โดยตรง การกระจายอำนาจดังกล่าว จะทำให้สถานศึกษาคล่องตัว มีอิสระในการบริหารจัดการ ตามหลักของการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-based management: SBM) ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพได้มาตรฐานและสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
จากหลักการดังกล่าว จึงกำหนดให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลโดยได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการพ.ศ. 2546 ในมาตรา 35 ว่าสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 34 (2) เฉพาะที่เป็นโรงเรียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเมื่อมีการยุบเลิกสถานศึกษาตามวรรคหนึ่งให้ความเป็นนิติบุคคลสิ้นสุดลง
การเป็นโรงเรียนนิติบุคคล
วิจิตร ศรีสะอ้าน (2546) ได้ให้แนวคิดและหลักการ เกี่ยวกับโรงเรียนนิติบุคคลในการสัมมนาเรื่องโรงเรียนนิติบุคคล: มิติใหม่ของการบริหารการศึกษา ซึ่งประมวลได้ ดังนี้
1. หลักการจัดระบบบริหารการศึกษา ตามพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ
1.1 เอาเอกภาพด้านมาตรฐานและนโยบาย และมีความหลากหลายในการปฏิบัติ
1.2 กระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1.3 การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน
1.4 ความประหยัด คุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม
1.5 ความทั่วถึงเท่าเทียม เกิดคุณภาพเป็นธรรม และมีผลกระทบต่อสถานภาพและสิทธิของบุคลากรประจำการน้อยที่สุด
2. การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา
2.1 โครงสร้างองค์กร
2.2 การกระจายอำนาจ การบริหารและการจัดการศึกษาไปยังเขตพื้นที่และสถานศึกษาโดยตรง (ม.39) ใน 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และงานบริหารทั่ว และเปลี่ยนจากการบริหารฐานกรม เป็นการบริหารฐานระบบโรงเรียนยึดสถานศึกษาเป็นสำคัญ
2.3 ใช้รูปแบบการบริหารโดยคณะบุคคล (คณะกรรมการเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน) ทุกระดับ ส่วนกลาง เขตพื้นที่สถานศึกษา
3. ฐานะและบทบาทของโรงเรียน
3.1 เป็นหน่วยปฏิบัติการที่ก่อให้เกิดผลทางการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ
3.2 เป็นหน่วยรองรับการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในชุมชนและท้องถิ่น
3.3 เป็นสถาบันหลักของชุมชนที่ประชาชน มีสิทธิและมีส่วนร่วมมากที่สุด
4. ความเป็นนิติบุคคลในการบริหารฐานโรงเรียน
4.1 นิติบุคคล หมายถึงองค์กรหรือคณะบุคคล ชื่อกฎหมายสมมติให้เป็นบุคคล มีสิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
4.2 โรงเรียนนิติบุคคลสองแบบ
4.2.1 แบบองค์กรมหาชน ตามพ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ. 2542
4.2.2 แบบส่วนราชการ ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
4.3 โรงเรียนนิติบุคคลนั้นสำคัญโดย
4.3.1 เป็นการรับรองฐานะ และให้ความสำคัญกับโรงเรียน
4.3.2 เป็นการสร้างความเข้มแข็งและความมั่งคงให้แก่โรงเรียนตามมาตรา 59 ของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
4.3.3 เป็นฐานรองรับการกระจายอำนาจ ตามมาตรา 39 ของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
4.3.4 เป็นการเร่งสร้างความพร้อมให้โรงเรียนสามารถบริหารและจัดการศึกษาเบ็ดเสร็จและสิ้นสุดในระดับสถานศึกษา
4.4 ความเป็นนิติบุคคลของโรงเรียนขั้นพื้นฐานจะสมบูรณ์ ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้โรงเรียน มีสิทธิและหน้าที่ครบถ้วนทำนองเดียวกันกับโรงเรียนองค์การมหาชน
5. คณะกรรมการสถานศึกษากับโรงเรียนนิติบุคคล
โรงเรียนนิติบุคคล เป็นนวัตกรรมทางโครงสร้างระบบบริหารของไทย
(วิจิตร ศรีสะอ้าน,2546) ซึ่งถือว่าเป็นการส่งเสริมลักษณะการบริหารโดยฐานโรงเรียน (School based management: SBM) ตามแนวทางและเจตนาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
ในการบริหารฐานโรงเรียนจำเป็นต้องอาศัย “หลักการมีส่วนร่วม” เป็นหลักสำคัญ ซึ่งในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีองค์คณะบุคคล คือคณะกรรมการสถานศึกษามาทำหน้าที่ “กำกับและส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสถานศึกษา” ซึ่งถือได้ว่าคณะกรรมการสถานศึกษามีบทบาทหน้าที่สำคัญในการบริหารและการจัดการศึกษาของโรงเรียน
การปฏิบัติตามบทบาท หน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาจะเป็นไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ 1) ในความเป็นนิติบุคคลของโรงเรียน 2) ในการบริหารฐานโรงเรียน 3) ในแนวทางการปฏิรูปการศึกษา และ 4) ในการบริหารแบบมีส่วนร่วมเป็นกลุ่ม เป็นทีม เป็นสำคัญ
สำหรับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นติบุคคลของโรงเรียนประกอบด้วย
1. หลักการและแนวคิดเชิงกฎหมายและเชิงบริหารโรงเรียนนิติบุคคล
2. ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารจัดการและขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2546
3. อำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียน มาตรา 34 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546
ขอบเขตและภารกิจการบริหารและจัดการโรงเรียนนิติบุคคล
โรงเรียนนิติบุคคลมีขอบข่ายและภารกิจ 4 ด้าน (กัมปนาท ศรีเชื้อ, 2549) ดังนี้
1. การบริหารวิชาการ
2. การบริหารงบประมาณ
3. การบริหารงานบุคคล
4. การบริหารทั่วไป
การบริหารวิชาการ ได้แก่การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การวัดผลประเมินผลและเทียบโอนผลการเรียน การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ การนิเทศการศึกษา การแนะแนว การศึกษา การพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา การส่งเสริมความรู้ด้านวิชาการแก่ชุมชน การประสานความร่วมมือในการพัฒนาวิชาการกับสถานศึกษาอื่น การส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการแก่บุคคล ครอบครัว องค์กร หน่วยงานและสถานบันอื่นที่จัดการศึกษา
การบริหารงบประมาณ ได้แก่ การจัดทำและเสนอของบประมาณ การจัดสรรงบประมาณ การตรวจสอบ ติดตามประเมินผลและรายงานผลการใช้เงินและผลการดำเนินงาน การระดมทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา การบริหารการเงิน การบริหารบัญชี การบริหารพัสดุและสินทรัพย์
การบริหารทั่วไป ได้แก่ การดำเนินงานเลขานุการ งานเลขานุการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน งานพัฒนาระบบและเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศ การประสานและพัฒนาเครือข่ายการศึกษา การจัดระบบการบริหารและพัฒนาองค์กร งานเทคโนโลยีสารสนเทศ การส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการ งบประมาณ บุคลากรและบริหารทั่วไป การดูแลอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม การจัดทำสำมะโนผู้เรียน การรับนักเรียน การส่งเสริมและประสานงาน การศึกษาให้นอกระบบและตามอัธยาศัย การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา งานส่งเสริมงานกิจการนักเรียน การประชาสัมพันธ์งานการศึกษา งานส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานการศึกษาของบุคคล ชุมชน องค์กร หน่วยงานและสถาบัน สังคมอื่นที่จัดการศึกษา งานประสานราชการกับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานอื่นการจัดระบบควบคุมในหน่วยงาน งานบริหารสาธารณะ
จะเห็นได้ว่า ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานศึกษามีฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคล แต่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการศึกษากว้างขวาง เช่นเดียวกับหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงทบวงกรม จึงเป็นผลให้ผู้บริหารสถานศึกษาไม่อาจบริหารสถานศึกษาให้มีความอิสระคล่องตัวและมีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง เพราะอำนาจหน้าที่ใน การบริหารจัดการในหลายเรื่อง ยังเป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการในระดับกระทรวงทบวงกรมอยู่ ดังนั้นหากจะให้สถานศึกษาบริหารจัดการได้เองอย่างอิสระคล่องตัวเรื่องใดก็ต้องมี การมอบอำนาจในเรื่องนั้น ๆ ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา
จากที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าการกระจายอำนาจตามรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบจากผู้บริหารสถานศึกษาไปยังบุคลากรที่รับผิดชอบแต่ละฝ่ายงาน โดยให้ผู้รับผิดชอบมีอิสระและคล่องตัวในการตัดสินใจในการดำเนินงานทั้งฝ่ายงานบริหารวิชาการ ฝ่ายงานบริหาร งบประมาณ ฝ่ายงานบริหารบุคคล ฝ่ายงานบริหารทั่วไป เป็นการจัดการศึกษาโดยยึดหลักการกระจายอำนาจ หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วมและหลักการบริหารจัดการที่ดี ดำเนินในรูปของการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผน กระบวนการปฏิบัติ กระบวนการตรวจสอบและกระบวนการปรับปรุงแก้ไขเพื่อพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการจัดการการศึกษา