หากจะกล่าวถึงเรื่องการศึกษาไทยในปัจจุบัน ประเด็นที่จะอยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป ทั้งในแวดวงการศึกษาและวงการด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ก็คงจะเป็นประเด็นของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติคืออะไร? สมควรที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ว่ามีความสำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาอย่างไร? และจะมีผลกระทบต่อชาวไทยทุกคนในแง่ไหน? ปัญหาของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในสังคมไทยนั้น อันที่จริงก็สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับปัญหาทางการศึกษา เพราะถ้าหากการจัดการศึกษาสามารถนำเอาความรู้และเทคโนโลยีเข้าสู่กระบวนการผลิตด้านอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าหากการศึกษาสามารถพัฒนาทักษะ ฝีมือ ความรู้ ความชำนาญการของแรงงานไทยให้สอดคล้องกับความทันสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน และหากการศึกษาสามารถสร้างผู้นำรุ่นใหม่ได้จริง และสร้างความรู้พื้นฐานทางประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ เราก็คงจะได้ผู้นำทางการเมืองที่มีประสบการณ์ความรู้ในการบริหารบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล คงจะไม่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจดังที่ประสบอยู่ และแม้ว่าจะต้องประสบปัญหานี้ตามธรรมชาติของวงจรเศรษฐกิจ แต่ก็คงไม่ถึงเข้าขั้นโคม่าดังที่เป็นอยู่ วิกฤติการณ์ในสังคมไทยจึงเป็นวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากระบบการเมืองที่มีปัญหาเรื้อรังและระบบการศึกษาที่เข้าขั้นทุพพลภาพ จะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระยะยาวได้จำเป็นต้องผ่าตัดระบบการศึกษา จะปฏิรูปการเมืองได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็จะต้องปฏิรูปการศึกษาควบคู่กันไปด้วย การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเป้าหมายหลักของการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับนี้อันที่จริงหากจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ประเทศชั้นนำหลายๆ ประเทศก็มีปัญหาด้านการศึกษา และมีความต้องการการปฏิรูปด้วยกันทั้งนั้น ประเทศที่เราคิดว่ายิ่งใหญ่อยู่แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาก็มีปัญหา ประเทศที่เคยเป็นผู้นำทางความคิด เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ชั้นนำของโลก เช่น อังกฤษก็มีปัญหา ประเทศนี้จึงได้มีแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างขนานใหญ่ สหรัฐอเมริกาเริ่มกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษา ในทศวรรษที่ 1980 อังกฤษก็เริ่มมีการปฏิรูปสมัยนางมากาเร็ต แท็ตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในทศวรรษที่ 1980 เช่นกัน สำหรับประเทศไทยพูดถึงการปฏิรูปตั้งแต่สมัยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 แต่กระแสอ่อนล้าไปหลัง พ.ศ. 2521 และเพิ่งมาเริ่มเกิดกระแสอีกครั้งหนึ่งในช่วงการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ 8 ประมาณ พ.ศ. 2536-37 และขบวนการดังกล่าวก็มีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเฉพาะการกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาพื้นฐานถึง 12 ปี ให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (มาตรา 43) และการกำหนดให้มีกฎหมายการศึกษาและแนวทางการจัดการศึกษาในมาตรา 81 ฉะนั้นการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาให้เป็นกฎหมายแม่บทตามมาตรา 81 ของรัฐธรรมนูญ จึงสมควรที่จะต้องคำนึงถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเป็นหลักการปฏิรูปการศึกษามีความหมายอย่างไร? ทำไมต้องปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการศึกษามีผลกระทบต่อชาวไทยอย่างไร? และพระราชบัญญัติการศึกษาจะมีบทบาทอย่างไรในการปฏิรูปการศึกษา
ความหมายของการปฏิรูป
การปฏิรูปการศึกษาเป็นกระบวนการที่มีความหมายลึกซึ้งกว้างไกล หากเป็นการเปลี่ยนแปลงตามปกติวิสัยเราก็ไม่เรียกการเปลี่ยนแปลงนั้นว่า "การปฏิรูป" และในทางกลับกันหากการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปด้วยความรุนแรง ใช้ลำหักลำโค่นกวาดล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าเราก็เรียกการเปลี่ยนแปลงนั้นว่า "การปฏิวัติ" "การปฏิรูป" จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างขนานใหญ่ เป็นการเปลี่ยนทั้งระบบ แต่เปลี่ยนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ไม่เกิดความรุนแรงหรือกระทบในทางเสียหายน้อยที่สุดเป็นวิถีทางของอารยชน เหมาะสมกับสังคมประชาธิปไตยที่ยึดหลักการเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากการใช้พละกำลังและความรุนแรงคำถามที่จะต้องถามในเบื้องต้นก็คือ ทำไมจะต้องปฏิรูปการศึกษา? และจะปฏิรูปในเรื่องอะไรกัน? คำตอบเบื้องต้น ก็คือ ปัญหาทางการศึกษามีมากมายทับถมกันมานาน แก้ไม่ได้ด้วยวิธีการปกติ จำเป็นต้องเปลี่ยนระบบและเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของผู้ปฏิบัติและผู้นำทางการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวคิดที่ถูกต้อง
ปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษา
ปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษาอาจมีหลายประการ แต่ที่สำคัญ ควรกล่าวถึงในอันดับแรกๆ น่าจะมี ดังนี้
1. ปัญหาด้านคุณภาพ ปัญหาด้านคุณภาพมีความหมายกว้างขวาง อาจอภิปรายได้ไม่มีวันจบ สมัยประธานาธิบดีเรแกนของสหรัฐอเมริกา ก็ได้ตีพิมพ์รายงานทางการศึกษา ชื่อ "ชาติในภาวะการเสี่ยงอันตราย" (A Nation At Risk) กล่าวถึงความด้อยคุณภาพทางการศึกษาของชาติอเมริกา ยกตัวอย่างความล้าหลังด้านมาตรฐานการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ฉะนั้นเมื่อประธานาธิบดี เรแกนริเริ่มให้มีการปฏิรูปการศึกษาเป้าหมายจึงอยู่ที่การยกมาตรฐานและคุณภาพของการเรียนการสอน โดยเฉพาะด้านวิชาการสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกในสังคมไทยก็เช่นกัน เมื่อพูดถึงคุณภาพทางการศึกษาก็อาจหมายถึงคุณภาพและมาตรฐานการเรียนการสอนวิชาการต่างๆ ทุกระดับ และจะมีการอ้างอิงผลของการประเมินระดับนานาชาติว่ามาตรฐานการเรียนการสอนของไทยในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ เช่น ผลของการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของไทยในโครงการทิมส์ (TIMSS) ของสมาคมนานาชาติว่าด้วยการประเมินผลทางการศึกษา กล่าวว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 18 ในขณะที่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น อยู่ที่อันดับ 1 , 2 และ 3 ตามลำดับ แต่บกพร่องอยู่ตรงไหน ก็ได้คำตอบว่าจุดบกพร่องอยู่ที่การสอนที่ไม่เน้นการคิดโดยอิสระของผู้เรียน คือสอนในกรอบของความรู้ที่ปรากฎตามตัวอักษรของตำรา มิได้สอนให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของสูตรสำเร็จเหล่านั้น และหลักความจริงที่นำมาเป็นฐานของข้อสรุปคำว่า "คุณภาพและมาตรฐาน" ในแนวดังที่กล่าวมานี้ จึงเป็นคุณภาพมาตรฐานแห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ก็ยังมีแนวคิดด้านคุณภาพที่แตกต่างออกไปเช่นกัน เป็นต้นว่าแนวคิดที่จะให้ปรับการเรียนการสอนให้สอดรับกับปัญหาของชีวิตจริง สอดรับกับสิ่งแวดล้อมของผู้เรียน ได้แก่ ความเป็นท้องถิ่น ฯลฯ ในแนวทางนี้จึงได้มีการพูดกันมากถึงการกระจายบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับท้องถิ่นให้แก่สถานศึกษา และหน่วยงานรับผิดชอบระดับล่าง นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีแนวคิดเรื่องคุณภาพการศึกษาว่าจะต้องดูที่ตัวมนุษย์ทั้งหมดที่เป็นผลผลิตทางการศึกษาว่ามีคุณภาพอย่างไร สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยแล้วช่วยตนเองและรับผิดชอบต่อสังคมได้หรือไม่? เป็นผู้นำที่ดีหรือไม่? เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพหรือไม่?โดยสรุป เมื่อกล่าวถึงคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ความหมายจึงครอบคลุมหลายๆ มิติของคุณภาพ การที่จะกำหนดปรัชญา แนวทางหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับต่างๆ จึงต้องคำนึงถึงมิติต่างๆ ของคุณภาพที่อยู่ในความห่วงใยของสังคมดังกล่าว
2. ปัญหาความสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
ปัญหาสำคัญที่ปรากฎในทุกแผนพัฒนาการศึกษาอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ปัญหาของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคใหม่ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ สังคมไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกที่ยังขาดกฎเกณฑ์ใหม่ในการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจและการเมือง สังคมไทยจะถอยไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวก็คงสายไปแล้ว และคงทำไม่ได้ แต่จะอยู่ในสังคมโลกอย่างไรโดยมีความเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด แต่ไม่ว่าจุดยืนในทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจของเราจะอยู่ตรงไหน เราคงปฏิเสธข้อเท็จจริงไปไม่ได้ว่าเราต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบุคลากรด้านนี้ให้เพียงพอต่อการปรับระบบการผลิตของเราให้ทันสมัย สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ โดยพิจารณาจากศักยภาพของเราด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของเราเอง ฉะนั้นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างทักษะความรู้ของชาวไทยให้สอดรับกับการงานและอาชีพในสังคมยุดใหม่จึงมีความสำคัญในอับดับต้นๆ การทุ่มเทให้เกิดการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตในทุกๆ สาขาอาชีพจึงมีความสำคัญมากแต่ในปัจจุบันและหลายปีมาแล้ว เราก็ยังคงขาดนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยี ขาดครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ ขาดผลงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับระบบการผลิตภาคอุตสาหกรรม ระบบการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาและวิชาชีพชั้นสูง ขาดความเชื่อมโยงกับตลาดแรงงานและภาคปฏิบัติ จำเป็นต้องปรับทั้งระบบเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะต้องวางแผนการจัดอุดมศึกษาหรือการศึกษาระดับหลังขั้นการศึกษาพื้นฐานให้เป็นระบบที่เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม และต้องส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจด้วย
3. ปัญหาของการกระจายโอกาสและความเสมอภาคของโอกาสทางการศึกษา
ประเด็นเรื่องนี้เป็นประเด็นด้านความชอบธรรมทางสังคมที่กลไกของระบบกากรเศรษฐกิจแบบเสรี มักจะมีแนวโน้มช่วย ให้ผู้เข้มแข็ง ได้เปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่า ช่วยให้คนที่มีฐานะดีทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปรียบด้านกิจการการศึกษา และด้านอื่นๆ มากกว่าผู้ยากไร้และขาดปัจจัยด้านการเงิน แต่สังคมที่มีความมั่งคั่งไปกระจุกตัวที่คนบางกลุ่ม และก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมากเกินไป มักจะเป็นสังคมที่ขาดเสถียรภาพทางด้านการเมือง ขาดพื้นฐานของสามัคคีธรรม และจะนำไปสู่การแตกแยกและความระส่ำระสายในที่สุด ฉะนั้นในนโยบายของการเฉลี่ยรายได้ ลดช่องว่างระหว่างชนชั้นต่างๆ นอกจากจะเฉลี่ยความผาสุก ความร่มเย็นให้แก่คนทั้งชาติ และเป็นความชอบธรรมทางการเมืองแล้ว ยังเป็นนโยบายหลักของการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และความเป็นเอกภาพของชาติ มาตรการการเฉลี่ยรายได้นี้ไม่มีมาตรการใดที่มีประสิทธิภาพมากเท่ากับมาตรการของการกระจายโอกาสทางการศึกษา ให้แก่กลุ่มคนที่มีฐานะยากลำบากทางเศรษฐกิจ นโยบายเรื่องความเสมอภาคของโอกาสสำหรับกลุ่มคนจนชนบท จากชนชั้นเกษตรและแรงงาน กลุ่มคนพิการ ฯลฯ จึงเป็นนโยบายที่สำคัญที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งการจะดำเนินนโยบายนี้ให้ได้สำเร็จจะต้องมีวิธีการวางแผน และจัดสรรงบประมาณโดยยึดพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก เช่น ต้องเตรียมงบประมาณให้พื้นที่ที่ยากจนมากเป็นพิเศษ ต้องจัดระบบการศึกษาให้มีทางเลือกได้หลายๆ ทางและเชื่อมโยงกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พลาดโอกาสได้สามารถเข้ามาใช้โอกาสได้ตลอดชีวิต ที่สำคัญหากจะให้โอกาสแก่ทุกคนจริงจำเป็นต้องจัดการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี ถึงมัธยม ศึกษาตอนปลายให้แก่คนทุกคนในสังคมไทย เพราะการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อในสาขาต่าง ๆ ระดับวิชาชีพชั้นสูง และด้านอาชีวศึกษาระดับสูง และเป็นพื้นฐานของการแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต
4. ปัญหาของประสิทธิภาพของระบบและกระบวนการจัดการบริหารการศึกษา
ประสิทธิภาพของระบบการบริหารจัดการเป็นประเด็นปัญหาที่ทับถมมานาน หากระบบการบริหารการจัดการมีประสิทธิภาพ ปัญหาอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้วก็คงได้รับการแก้ไขในระดับหนึ่ง แต่เพราะระบบการบริหารการจัดการมีปัญหาหมักหมมมานานปี ก็จำเป็นต้องสังคายนากันทั้งระบบ ปัญหาดังกล่าวมีดังนี้
4.1 ประการแรกที่ควรพิจารณาในเบื้องต้นก็คือ ข้อแตกต่างระหว่างการบริหารการศึกษากับการบริหารราชการ แม้ว่าจะมีส่วนที่เหมือนกันในการจัดระบบเป็นกรม กอง ฝ่าย ในการทำหน้าที่บริหารระดับบน แต่ในสายสัมพันธ์กับสถานศึกษาควรมีข้อแตกต่าง เพราะการบริหารสถานศึกษา (โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย) นั้น ต้องการองค์ประกอบเหล่านี้
ก) ระบบบริหารภายในสถานศึกษาแบบแนวราบ (Flat organization) ยกเว้นอาจารย์ใหญ่แล้ว ควรมีผู้บังคับบัญชาน้อยที่สุด ต้องบริหารงานแบบครูทุกคนมีส่วนร่วมเป็นประชาธิปไตย
ข) ระบบการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพที่เน้นผลิตผล คือ ตัวนักเรียนไม่ยึดกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ และการควบคุมขั้นตอนของกระบวนการเหมือนระบบราชการ
ค) ระบบความรับผิดชอบต่อชุมชนมากกว่าความรับผิดชอบต่อสายบังคับบัญชาเบื้องบนสถาบันการศึกษานั้นก็คือ สถาบันทางสังคม ต้องแนบแน่นกับชุมชน และให้เกิดความรู้สึกของความเป็นเจ้าของจากพ่อแม่ ผู้ปกครองและศิษย์เก่าข้อผิดพลาดในอดีตก็คือ การเหมาเอาว่าครูทุกคนคือข้าราชการพลเรือนต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ของข้าราชการพลเรือน แม้แต่การปูนบำเหน็จความดีความชอบก็ใช้หลักการเดียวกัน เพิ่งจะได้มีการปรับระบบการบริหารบุคคลปี พ.ศ. 2523 ที่แยกเกณฑ์การพิจารณาบุคลากรครูแยกต่างหากจากพลเรือน แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อผูกพันที่ต้องยึดโยงอยู่กับระบบซีของข้าราชการพลเรือน การปรับระบบการบริหารสถานศึกษาและข้าราชการครูจึงควรคำนึงถึงความจำเป็นของข้อแตกต่าง ดังที่กล่าวไว้แล้ว
4.2 การจัดระบบการบริหารระดับกระทรวงแบ่งแยกภารกิจไม่เหมาะสมปัจจุบัน กรมส่วนใหญ่มีความเบ็ดเสร็จในตัวเอง ตั้งแต่การกำหนดนโยบายการวางแผน จัดสรรงบประมาณ นิเทศ ประเมินผล บริหารบุคคล ก่อสร้างอาคารสถานที่ กล่าวอย่างคร่าวๆ แต่ละกรมก็คือกระทรวงเล็กๆ นั่นเอง กระทรวงตามกฎหมายจึงมิใช่กระทรวงที่แท้จริง แต่เป็นที่รวบรวมของกระทรวงเล็กๆ นี่คือปัญหาที่ต้องมีการปรับแก้ไข โดยจัดภารกิจของแต่ละกรมใหม่ ให้เกิดเอกภาพทางนโยบาย และการจัดสรรงบประมาณ
4.3 การจัดระบบการบริหารสับสนระหว่างบทบาทผู้กำหนดนโยบายแผนงานงบประมาณ และกำกับเวทีที่เรียกว่า "Steering" ผู้กุมบังเหียนหรือนายท้ายคัดหางเสือกับบทบาทของการลงมือปฏิบัติที่เรียกว่า "Rowing" หรือผู้แจว ผู้พายปัจจุบันเราไม่ทราบว่าใครคือผู้กุมบังเหียน ใครคือผู้ปฏิบัติ เพราะผู้ปฏิบัติและผู้กุมบังเหียนคือคนๆ เดียวกัน แต่ละกรมส่วนกลางทำทั้งสองหน้าที่ คือออกแบบเอง วางนโยบายเอง และนำนโยบายไปลงมือปฏิบัติเอง ผลก็คือไม่สามารถทราบได้ว่าตนทำสำเร็จหรือล้มเหลว และเนื่องจากนำงานปฏิบัติมาทำเต็มตัว ปัญหาภาคปฏิบัติก็มาสุมอยู่ที่กรม ทุกปัญหาต้องเดินทางกลับมารับการแก้ไขที่กรม ไม่สามารถตัดตอนได้เด็ดขาด ไม้ว่าจะได้มีการมอบอำนาจกันไปบ้างแล้วอนาคต จึงควรที่จะกำหนดให้ส่วนกลางมีภารกิจหลักในด้านการกำหนดนโยบาย จัดสรรงบประมาณ กำหนดมาตรฐาน ประเมินมาตรฐานที่เรียกว่า "Steering" คือ ถือบังเหียนและกำกับทิศทาง และกำหนดให้องค์กรในพื้นที่ เช่น จังหวัดมีภารกิจในด้านการปฏิบัติการคือนำนโยบายของกระทรวงไปสู่ภาคปฏิบัติ และหากมีปัญหาด้านการบริหารก็ควรให้จบเบ็ดเสร็จลงที่จังหวัด เป็นต้น
4.4 การจัดระบบบริหารระดับอุดมศึกษาขาดเอกภาพ และความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาพื้นฐานกับระดับอุดมศึกษาปัญหาปัจจุบันคือมี 2 หน่วยงานหลักรับผิดชอบการศึกษาอุดมศึกษา คือ ทบวงมหาวิทยาลัย และกระทรวงศึกษาธิการ การนำเอาทบวงมารวมกับกระทรวง โดยไม่ปรับระบบการบริหารของกระทรวงก่อนคงไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าหากปรับตามแนวข้อ 4.3 และปลดปล่อยให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นอิสระ บทบาทของกระทรวงในการกำกับสถาบันอุดมศึกษาก็จะเปลี่ยนรูปแบบไป ฉะนั้นจึงสมควรพิจารณา การสร้างเอกภาพขององค์กร นโยบาย และกำกับการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยจัดไว้ภายในกำกับของกระทรวงเดียวกันทั้ง 4 ประการนั้น คือ ปัญหาหลักของระบบการบริหารการศึกษาในปัจจุบันที่ต้องการการสังคายนา
5. ปัญหาของการจัดการศึกษาตลอดชีวิต
ปัญหาของข้อนี้มิได้มีลักษณะเดียวกับข้ออื่นๆ แต่เป็นประเด็นของการใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางการศึกษาแก่ประชาชน ในบริบทของสังคมข่าวสาร และการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีของการสื่อสาร ควรจะปรับระบบตรงนี้ให้เกิดระบบการศึกษาตลอดชีวิตได้ และประกอบกับความจำเป็นของสังคมแบบใหม่ที่จะต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตจำเป็นต้องใช้
การศึกษาเป็นเครื่องมือปรับความสามารถและทักษะของมนุษย์ให้สามารถเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ และแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ได้ เช่น ปัญหาของวิกฤติการณ์การเงินการคลัง การเศรษฐกิจในปัจจุบัน และผลกระทบ โดยเฉพาะด้านอาชีพการงาน เป็นต้น ประเด็นของการปรับระบบให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิต จึงเป็นประเด็นหลักของการปฏิรูปการศึกษา
6. ปัญหาของการระดมสรรพกำลังเพื่อการศึกษา
ปัญหานี้สัมพันธ์กับการศึกษาตลอดชีวิต หากจะให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิตได้ก็จำเป็นที่ทุกๆ ส่วนของสังคมต้องตระหนักในภาระหน้าที่ทางการศึกษาของตน ตั้งแต่สถาบันครอบครัว ชุมชน องค์กรวิชาชีพ องค์กรการกุศล สถาบันศาสนา สำนักงาน บริษัทห้างร้านและเอกชน สื่อสารมวลชน สถาบันการเมือง ทุกๆ ส่วนในสังคมล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรทางการศึกษา สามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะด้านการจ่ายภาษีอากร ประเด็นคือ จะจัดระบบเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในสังคมอย่างไร และจะสร้างความตระหนักให้แก่สถาบันต่างๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และการเมืองอย่างไร ให้มาเล่นบทบาทของการจัดการศึกษาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น กำหนดให้พรรคการเมืองจัดสรรเงินส่วนหนึ่ง เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน เป็นต้น
โดยสรุป ปัญหาดังกล่าวมานี้เป็นปัญหาหลักในเชิงระบบ แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ปัญหาการฝึกอบรมครู การพัฒนาครู และการปฏิบัติงานของครู ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาคุณภาพการศึกษา ปัญหาการศึกษาของเอกชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบการบริหารและการระดมสรรพกำลังจากภาคเอกชน ปัญหาการศึกษาของสงฆ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษานอกระบบ เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปการศึกษา
ปฏิรูป คือ การเปลี่ยนทั้งระบบ หรือให้เบาลงมาหน่อย คือ เปลี่ยนเชิงระบบ ถามว่าระบบการศึกษาดังกล่าวมาแล้วควรเปลี่ยนทั้งระบบหรือไม่? ท่านอาจจะถามต่อไปว่าเปลี่ยนทั้งระบบหมายความว่าอย่างไร? คำตอบง่ายๆ ก็คือ อยู่ที่ความเข้าใจของแต่ละบุคคลว่า ระบบควรรวมถึงอะไรบ้าง? ฉะนั้นหากตีประเด็นกันไปเรื่อยๆ ก็คงไม่มีวันจบ จึงควรถามคำถามในใจตนว่าเท่าที่ท่านตระหนักหรือมีประสบการณ์มีอะไรดีอยู่แล้วบ้าง อะไรไม่ดีบ้างและควรขจัดไปในระบบการศึกษา ท่านก็คงตอบคำถามนี้ได้ในประสบการณ์ของท่าน แต่เท่าที่ผู้เขียนได้นำปัญหามาชี้แจงก็พอจะคาดคะเนได้ว่าสิ่งที่ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ก็คือสิ่งที่เป็นปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว
ประเด็นหลักในการคิวแนวปฏิบัติก็คือ จะวางยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงอย่างไรที่ทำให้เกิดผลดีที่สุด และกระทบกระเทือนทางลบน้อยที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลทางลบได้เสมอเหมือนยารักษาโรคที่ใช้เกินขนาดจะมีผลข้างเคียง นอกจากนั้นยุทธศาสตร์หรือวิธีการเปลี่ยนแปลงต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยที่สุด เรียกว่าจะเอามีดฆ่าโคไปฆ่าไก่ก็คงไม่ถูก ต้องออกแบบเครื่องมือผ่าตัดให้เหมาะสมกับระดับของโรค จากแง่คิดดังกล่าว จึงมีข้อเสนอในการปฏิรูป ดังนี้
1. ปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการประเมินผล
ยุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปทั้งหมด เพราะหากเปลี่ยนแปลง ณ จุดนี้ได้จะมีผลต่อการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาและสามารถแก้ไขปัญหาของความสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนเตรียมคนเพื่อการศึกษาต่อตลอดชีวิตได้ด้วย และในการปฏิรูปในข้อนี้จำเป็นต้องปรับระบบการบริหารจัดการด้วย ฉะนั้นการแก้ไขในจุดนี้จึงเป็นหลักชัยของขบวนการปฏิรูปทั้งหมดประเด็นสำคัญ คือ ปัจจัยตัวแปรใดที่จะทำให้เกิดระบบการเรียนการสอนที่พึงปรารถนา ณ จุดนี้เรายังไม่ได้พูดกันถึงนิยามคำว่า "ระบบการเรียนการสอนที่พึงปรารถนา" แต่ขอสมมุติว่านักวิชาการศึกษามีความเข้าใจตรงกันในระดับหนึ่ง ฉะนั้นจะขออนุญาตข้ามไปกล่าวถึงปัจจัยตัวแปรที่ทำให้เกิดระบบการเรียนการสอนที่พึงปรารถนา คำตอบตรงนี้ ตามการศึกษาค้นคว้าของผู้เขียนคิดว่ามีปัจจัยตัวแปร 6 ตัวด้วยกัน คือ
1. การปรับหลักสูตรและกำหนดปรัชญาของการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ดี รายละเอียดก็ควรจะไปพิจารณากันในหมู่นักวิชาการครู และผู้บริหาร คงยังไม่มีเวลาจะพิจารณากัน ณ ที่นี้
2. การฝึกอบรมครู และการพัฒนาครู สอดคล้องกับข้อแรก
3. การเป็นผู้นำที่ดีของอาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการโรงเรียน
4. การจัดอุปกรณ์การเรียนการสอน ตำรา หนังสือ ให้มีความเพียงพอแก่สถานศึกษา
5. ระบบการประเมินผลที่สอดคล้องกับจุดประสงค์และปรัชญาของหลักสูตรข้อ 1
6. ชุมชนให้การสนับสนุน
ทั้ง 6 ข้อนี้ ข้อใดบ้างสามารถกำหนดในกฎหมายได้ก็ควรกำหนด ข้อไหนควรเป็นเรื่องวิธีการที่สามารถกำหนดเป็นนโยบายและแนวปฏิบัติได้ภายหลังก็ควรเปิดกว้างไว้ก่อนในประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ไม่มีองค์กรระดับชาติที่จะกำหนดหลักสูตรและมาตรฐานการศึกษา ข้อเสนอของการปฏิรูปในอังกฤษจึงเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการหรือสภาหลักสูตรแห่งชาติ สำหรับไทยเรามีหน่วยงานนี้ระดับกรมอยู่แล้ว แต่ก็ยังอาจเสนอไว้อีกได้เพื่อเป็นจุดเน้น สำหรับการฝึกหัดครูและการพัฒนาครู แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ก็ได้มีแนวนโยบายการปฏิรูปในเรื่องนี้อยู่แล้ว หลักการสำคัญของนโยบายเรื่องนี้ หากกำหนดไว้ในกฎหมายได้ก็ควรจะทำ นอกจากนั้น การที่จะให้เกิดการปฏิบัติสอดคล้องกับแนวคิดใหม่ในการจัดการเรียนการสอน จำเป็นต้องจัดระบบการบริหารสถานศึกษา เพื่อให้ผู้นำโรงเรียนและบรรดาครูที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีได้ใช้ความสามารถของตนเองได้เต็มที่โดยไม่จำกัด จึงต้องมีข้อเสนอให้ปรับระบบการบริหารสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระ มีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และเพื่อความสำเร็จของระบบการบริหารใหม่ จำเป็นต้องพัฒนาทั้งครูและผู้บริหารให้ถึงระดับมาตรฐาน และเนื่องจากในระบบใหม่จะไม่ใช้วิธีการควบคุมแบบเก่า แต่จะดูที่ผลสำเร็จ คือ คุณภาพของนักเรียน ฉะนั้นก็จะต้องจัดระบบการประเมินผล เพื่อประเมินผลองค์รวม (Summative Evaluation) ในระดับชั้นประโยค คือ ปีสุดท้ายของแต่ละระดับการศึกษา และให้มีการประเมินภายใน ที่เรียกว่า "Formative Evaluation" ในแต่ละระดับชั้น ระบบการประเมินผลและระบบการบริหารสถานศึกษาแนวใหม่ก็อาจกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาได้เช่นกันโดยสรุปจะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเรียนการสอน ทำให้เกิดยุทธศาสตร์อื่นๆ ตามมา ได้แก่
ก) การปฏิรูปการฝึกหัดครูและการพัฒนาครู
ข) การปรับระบบการบริหารสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระในการดำเนินงานมากขึ้น
ค) การปรับระบบการประเมินผลให้มีทั้งระบบการประเมินภายในแบบ "Formative Evaluation" เพื่อตรวจสอบและพัฒนาตัวผู้เรียน และการประเมินภายนอกเพื่อดูผลสรุปรวม เรียกว่า Summative Evaluation การประเมินสรุปรวบยอด
2. การปฏิรูประบบการบริหารการศึกษา
การปฏิรูประบบการบริหารการศึกษาเป็นยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง การปฏิรูประบบการบริหารการศึกษาในแนวคิดนี้มีจุดมุ่งหมาย 5 ประการ คือ
1. มุ่งหมายจะให้เกิดเอกภาพด้านนโยบายทุกระดับการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาตลอดจนความสอดคล้องในการดำเนินนโยบายระหว่างระดับการศึกษา
2. มุ่งหมายจะให้เกิดการแบ่งภารกิจให้ชัดเจนระหว่างส่วนกลางที่ควรทำหน้าที่หลักด้านกำหนดนโยบาย คุณภาพ มาตรฐาน การจัดสรรทรัพยากร การติดตามประเมินผล การกำกับ และส่วนของจังหวัดและสถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ทำหน้าที่บริหารและจัดการ
3. มุ่งหมายให้เกิดการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามา ร่วมรับผิดชอบมากขึ้นตามลำดับความพร้อมของแต่ละท้องถิ่น
4. มุ่งหมายให้เกิดประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ
5. มุ่งหมายให้เกิดผลดีต่อการกระจายโอกาสทางการศึกษาหากดำเนินการได้สำเร็จในข้อนี้ ก็น่าจะมีผลต่อการแก้ไขปัญหาหลักข้อที่ 2 เรื่องการจัดการศึกษาไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และข้อ 3 เรื่องความเสมอภาคของโอกาสและการกระจายโอกาสโดยสรุป การปฏิรูประบบการบริหาร หมายความว่า ควรจะมีกระทรวงเดียวทำหน้าที่เพื่อวางนโยบายและจัดสรรงบประมาณการศึกษาทั้งหมด และกระจายอำนาจหน้าที่การปฏิบัติงานให้จังหวัดดำเนินงานเป็นตัวแทนกระทรวงในจังหวัด ควบคุมดูแลสถานศึกษาและบุคลากร ให้สถานศึกษาระดับการศึกษาพื้นฐานมีความเป็นอิสระมากขึ้น ส่วนสถาบันอุดมศึกษานั้นให้มีความเป็นนิติบุคคลทั้งหมด และอาจจะออกนอกระบบราชการได้ มีวิธีการจัดสรรงบประมาณแบบอุดหนุนทั่วไปที่เรียกกันว่า "Block Grant" ให้แก่มหาวิทยาลัยองค์กรปกครองท้องถิ่นควรจะมีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษาในจังหวัด และหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดพร้อม ก็อาจจะรับผิดชอบการจัดการศึกษาในเขตการปกครองของตนก็ได้มาตรการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางดังกล่าวนี้ สมควรที่จะกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาได้
3. การปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่
การปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความจำเป็นของยุคสมัยใหม่ หมายความว่า จะต้องเตรียมคนให้สามารถศึกษาได้ตลอดชีวิต และในการเตรียมตรงนี้จะต้องจัดการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี ให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ตามรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะได้รับการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี โดยรัฐไม่เก็บค่าใช้จ่าย การวางพื้นฐาน 12 ปีนี้ หากจะให้มีผลต่อความสามารถของประชาชนจะศึกษาต่อตลอดชีวิตก็ควรกำหนดให้ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นระดับที่เชื่อมโยงกับอุดมศึกษา หากประชาชนทุกคนจบที่ระดับนี้ ก็หมายความว่าประชาชนก็มีความพร้อมทางด้านวิชาการที่จะไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปนอกจากนี้แล้ว ในระดับหลังการศึกษาพื้นฐานควรได้มีการปรับระบบอุดมศึกษาให้มีความยืดหยุ่นมีความหลากหลาย สร้างเส้นทางศึกษาต่อไว้หลายๆ เส้นทาง แต่ให้มีความเชื่อมโยงกันในที่สุด การจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเพื่อเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยก็เป็นวิธีการหนึ่งประการสุดท้าย ในระบบการศึกษาใหม่นี้บทบาทของการศึกษานอกระบบจะมีมากขึ้น ฉะนั้นต้องมีมาตรการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและในการนี้ควรที่จะต้องระดมสรรพกำลังจากทุกๆ ฝ่ายในสังคมให้เข้ามาช่วยจัดการศึกษาด้วยตามหลักของคำประกาศจอมเทียนว่า "ทุกคนเพื่อการศึกษา" (All for Education)โดยสรุป หลักการและนโยบาย ตลอดจนมาตรการเพื่อให้เกิดการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี และการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต จึงเป็นหลักการสำคัญที่จะต้องกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษา
การปฏิรูปการศึกษาไทยยุคปัจจุบัน
การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในยุคปัจจุบัน เกิดจากปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลกระทบจนทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอันเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ ดังนี้
1.1 กระแสโลกาภิวัตน์ ในกระแสโลกาภิวัตน์ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้ก้าวไปสู่ระบบเทคโนโลยี มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ ภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงของตลาดโลกด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทำให้หลายฝ่ายได้หันมาสนใจในการพัฒนาคุณภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและทักษะอย่างเพียงพอในการใช้และควบคุมเทคโนโลยีในการผลิตได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ระบบการศึกษาไทยจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพที่สนองความต้องการและความพึงพอใจของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้โลกเต็มไปด้วยข่าวสารข้อมูล ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว บุคคลที่มีสื่อต่างๆ อยู่ในครอบครองจะสามารถรับรู้และสัมผัสข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้มากกว่าบุคคลอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสในการใช้บริการของเทคโนโลยีสารสนเทศมีความแตกต่างกันอันเนื่องมาจากเหตุผลหรือข้อจำกัดต่างๆ เช่น ความยากจน อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ช่องว่างของการรับรู้ ข้อมูลข่าวสารจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่เทคโนโลยีสารสนเทศขับเคลื่อนไปถึง ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปมากจากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ คนไทยมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวางขึ้นและในทางสร้างสรรค์ เทคโนโลยีสารสนเทศได้นำเสนอโอกาสและทางเลือกให้บุคคลได้เรียนรู้จากหลายช่องทางและหลายรูปแบบ ทำให้การเรียนรู้สามารถยืดหยุ่นทั้งเวลาและสถานที่ ตลอดจนสามารถเรียนรู้ และรับรู้ข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องตามความสนใจของตนเอง และในอนาคตบุคคลจะแสวงหาแนวทางและค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเอง การเรียนรู้จะเกิดจากการจัดการศึกษาในสถานศึกษาโดยเรียนผ่านสื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาที่จะมีการนำเสนอความรู้หลากหลาย และเรียนจากเหตุการณ์จริงในสังคม ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และสร้างรูปแบบการเรียนรู้ของตนเอง การแสวงหาความรู้จะเกิดจากความพึงพอใจ เป็นการเรียนรู้เพื่อสั่งสมประสบการณ์และเพื่อการศึกษาหาความรู้ตลอดชีวิต ผลกระทบเหล่านี้ทำให้จำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะด้านการเรียนการสอนในแนวใหม่ที่สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้โดยวิธีใดก็ได้ จะต้องมีความหลากหลายและยืดหยุ่น แต่มีการเทียบมาตรฐานและรับรองคุณภาพให้อย่างเป็นระบบ
เนื่องจากกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมยุคโลกาภิวัตน์ การศึกษายุคใหม่จะต้องพัฒนาคนให้มีความสามารถใช้ข้อมูลข่าวสารเป็น โดยสามารถนำมาพัฒนาเป็นกระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้ การศึกษาต้องเตรียมคนให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ สามารถควบคุมภาวะวิกฤตเศรษฐกิจได้ การศึกษาจะต้องมีเป้าหมายหลักในการสร้างบุคคลแห่งการเรียนรู้ เพื่อก่อให้เกิดองค์กรและสังคมแห่งการเรียนรู้ที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาและยกระดับการศึกษาของประเทศให้สามารถเข้าสู่การแข่งขันกับนานาชาติได้
1.2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545.
ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่จะส่งผลให้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ รวมทั้งการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ก็คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้ระบุไว้ในมาตรา 12 ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอนย่อมได้รับความคุ้มครองเท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และในมาตรา 43 ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากนี้ในมาตรา 81 ระบุให้รัฐต้องจัดการศึกษา อบรม และสนับสนุนให้จัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้และปลุกจิตสำนึกที่ถูกต้อง พัฒนาวิชาชีพครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปและวัฒนธรรมของชาติ เป็นต้น ซึ่งความในรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้สะท้อนออกมาในรายละเอียดตามกฎหมายการศึกษาที่ได้ออกมาภายหลัง คือพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545
พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545 เป็นกฎหมายหลักทางด้านการศึกษาฉบับแรกของประเทศไทยที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลอย่างกว้างขวาง เพื่อกำหนดเนื้อหาสาระต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของชาติอย่างมาก นับตั้งแต่การกำหนดความมุ่งหมายของการศึกษา ที่เน้นการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม (มาตรา 6) การจัดการศึกษาโดยยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา (มาตรา 8) การกำหนดสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาของบุคคล บิดามารดา ครอบครัว ชุมชน องค์กรรัฐ องค์กรเอกชน สถาบันต่างๆ ทางสังคม (มาตรา 10 – มาตรา 14) การกำหนดระบบการศึกษา ซึ่งระบุไว้ว่ามี 3 รูปแบบ คือการศึกษาในระบบและนอกระบบการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยให้มีการผสมผสานและการเทียบโอนผลการเรียนระหว่างรูปแบบเดียวกัน และต่างรูปแบบกันได้ (มาตรา 15) การกำหนดการบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐ ซึ่งมุ่งเน้นความเป็นเอกภาพ ประสิทธิภาพ และการกระจายอำนาจ (มาตรา 31 – มาตรา 40) การกำหนดสิทธิในการจัดการศึกษาขององค์กรท้องถิ่น (มาตรา 41) การบริหารและการจัดการศึกษาเอกชน ซึ่งมุ่งเน้นความเป็นอิสระ โดยมีการกำกับ ติดตาม ประเมินคุณภาพและมาตรฐานของรัฐ (มาตรา 43) การกำหนดมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง และชัดเจน (มาตรา 47– มาตรา 51) การพัฒนาครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (มาตรา 58 – มาตรา 68) เหล่านี้เป็นต้น สำหรับในเรื่องของการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ในมาตรา 23 ก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา ในเรื่องของความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องของการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
บทบัญญัติพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545 จึงเป็นแรงผลัก ดันสำคัญที่ทำให้มีความจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาขนานใหญ่หรือต้องมีการปรับ ระบบการศึกษาใหม่ ซึ่งทำให้มีความจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการจัดการศึกษาไทย ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีด้วย
จะเห็นได้ว่า ในการปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว สภาพการณ์ทางด้านระบบบริหารและการจัดการจะเปลี่ยนไปมาก ตัวอย่างเช่น มีการกระจายอำนาจทั้งในด้านบริหารและด้านวิชาการลงสู่ระดับพื้นที่ โดยชุมชน ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารและการจัดการศึกษาในพื้นที่ของตนอย่างมาก ประชาชนจะเข้ามามีส่วนในการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาในท้องถิ่น ในส่วนของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน จะต้องมีลักษณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลาย มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความแตกต่างของท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากสภาพแวดล้อมในชุมชนและสังคมที่เป็นจริงโดยเน้นการปฏิบัติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลไปถึงเรื่องของการวัดและประเมินผลด้วย สำหรับสถานศึกษาจะมีบทบาทในการจัดการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ (School Based Management) จึงต้องการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนและการถ่ายทอดความรู้ ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารงานและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ องค์ประกอบต่างๆเหล่านี้ทำให้การจัดการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกโฉมหน้า
การปฏิรูปการเรียนการสอน
การเตรียมพร้อมที่จะสร้างคนไทยยุคใหม่ในโลกปัจจุบันสู่อนาคตมีความสำคัญยิ่ง คนไทยยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีความรอบรู้ มีความพร้อม มีความมุ่งมั่น มีจินตนาการมองการณ์ไกล มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข
ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยและค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างมนุษย์และการทำงาน
ของสมอง เพื่อหาข้อพิสูจน์และทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์และการเรียนรู้ของสมองยิ่งขึ้นว่า คนเราเกิดมาพร้อมกับจำนวนเซลสมองที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การขยายตัวของสมองไม่ได้มาจากการเพิ่มจำนวนเซลของสมอง แต่มาจาก “ใยประสาท” สมองมีความยืดหยุ่น หากเราใช้สมองในการแก้ไขปัญหาสมองก็จะมีการสร้างใยประสาทเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ใช้ ใยประสาทก็จะถูกทำลายลงไป นอกจากนี้ยังพบว่าอารมณ์มีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้ โดยอารมณ์จะเป็นตัวช่วยเราในการเรียกความทรงจำเดิมที่เก็บไว้ในสมอง ภาวะของสมองที่เหมาะสมที่สุดต่อการเรียนรู้เรียกว่า การตื่นตัวแบบผ่อนคลาย (Relaxed Alertness) การเรียนรู้จะประสบความสำเร็จที่สุดเมื่อกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์ทางกายภาพที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เราจะจำสิ่งต่างๆได้แม่นยำที่สุด เมื่อข้อเท็จจริงต่างๆ และทักษะปรากฏอยู่ในกิจกรรมในชีวิตจริงตามธรรมชาติทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) ได้ระบุไว้ว่า คนทุกคนมีสติปัญญาทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ ปัญญาด้านภาษา ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ ด้านความเข้าใจตนเอง และด้านธรรมชาติวิทยา ที่อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งทุกคนสามารถพัฒนาปัญญา แต่ละด้านให้สูงขึ้นถึงระดับใช้การได้ถ้ามีการฝึกฝนที่ดี มีการให้กำลังใจที่เหมาะสม ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ การเรียนรู้ และปัญญาด้านต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ รวมทั้งทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมอง(Brain Based Learning : BBL) ได้ระบุไว้เช่นกันว่า การเรียนรู้อย่างมีความสุข การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย ศิลปะ ดนตรี กีฬาการฝึกฝนกาย วาจา และใจ จะช่วยให้สมองของคนเกิดการตื่นตัวแบบผ่อนคลาย มีสมาธิในการทำงาน และเกิดการเรียนรู้จากการกระทำด้วยตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ ดังนั้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองนับเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพของสมองได้อย่างเต็ม
ความสามารถ และสามารถทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
สำนักงานปฏิรูปการศึกษา. 2545. ปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542.
กระทรวงศึกษาธิการ. 2540. แนวทางการปฏิรูปโรงเรียนและสถานศึกษาตามนโยบายการปฏิรูป การศึกษา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
______. 2538. แนวทางปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2539-2550.
กรุงเทพฯ : (อัดสำเนา)
______. 2546. พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้า และพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.)
|