หลายๆ คนอาจสงสัยว่า ตะวันอ้อมข้าวคืออะไร......วันนี้มีคำตอบมาไขข้องข้องใจค่ะ
ช่วงที่เกิดตะวันอ้อมข้าว จะเป็นช่วงที่ข้าวกำลังสุกพอดี ตำนานเลยกล่าวว่า เมื่อพระเเม่โพสพกำลังตั้งท้อง คือ ข้าวตั้งท้อง พระอาทิตย์แสดงความเคารพคือไม่เดินข้ามศีรษะของพระเเม่โพสพจึงเดินอ้อมแทน
ทางดาราศาสตร์เป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนไปทางใต้มากที่สุด ตรงกับช่วงหน้าหนาว ราววันที่ 22 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่กลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุด ซึ่งเส้น 23.5 องศาใต้ หรือ Tropic of Capricorn ตั้งฉากกับดวงอาทิตย์
ตอนที่ประเทศไทยเริ่มทำนาปีกันจะเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรอยู่แถบซีกโลกเหนือ (เหนือเส้นศูนย์สูตร) ดวงอาทิตย์จึงตรงกับศีรษะในตอนเที่ยง แต่ช่วงข้าวตั้งท้องจนถึงเก็บเกี่ยว (หลัง 21 กันยายนของทุกปี) ดวงอาทิตย์จะโคจรในแถบขั้วโลกใต้ (ใต้เส้นศูนย์สูตร)
ดวงอาทิตย์จะไม่ตรงศีรษะในตอนเที่ยง จึงดูเหมือนว่าดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกแล้วอ้อมไปทางใต้ไปตกทางทิศตะวันตก โดยไม่ข้ามต้นข้าวในนา จึงเรียกว่าตะวันอ้อมข้าว
ประเทศไทยตั้งอยู่ที่ 7-20 องศาเหนือโดยประมาณ เส้นศูนย์สูตรในเอเชียจะผ่านอินโดนีเซีย เส้น 23 1/3 องศาเหนือ จะอยู่แถวจีนตอนใต้ ประมาณกวางตุ้ง ไหหลำ ส่วนเส้น 23 1/3 องศาใต้ จะอยู่บริเวณตอนเหนือของออสเตรเลีย ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ขึ้น-ลงในบริเวณนี้เท่านั้น ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ บนโลก แต่ละตำแหน่งที่เคลื่อนที่ไป-มา จะใช้เวลา 3 เดือน ดวงอาทิตย์จะอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร (ศูนย์องศา) คือ 21 มีนาคม และ 21 กันยายนของ ทุกปี
เหตุที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกแบบนี้เป็นเหตุเดียวกับที่ทำให้เกิดฤดูกาล นั่นคือ แกนหมุนของโลกเอียงประมาณ 23 องศาจากระนาบที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ฤดูหนาวเกิดจากการที่โลกอยู่ในตำแหน่งที่หันออกจากดวงอาทิตย์ในช่วงหนึ่งของปี ประเทศไทยซึ่งอยู่ในซีกโลกเหนือมีฤดูหนาวตกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์
ในช่วงนี้ของปีความเอียงของแกนหมุนของโลกจะทำให้ซีกเหนือของโลกตีตัวออกห่างจากแสงอาทิตย์
ประเทศไทยก็เช่นกัน ที่หันด้านเหนือของตนออกจากดวงอาทิตย์ เพราะได้แสงอาทิตย์น้อยลง อากาศจึงเย็นกลายเป็นฤดูหนาว และเพราะหันด้านเหนือออกจากดวงอาทิตย์ ด้านใต้จึงใกล้ดวงอาทิตย์กว่า เราบนโลกซีกเหนือจึงมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตกค่อนไปทางใต้
ที่มา คอลัมน์ รู้ไปโม้ด จาก ข่าวสด