ในทีสุด อินเทล (Intel) ก็ได้ฤกษ์เปิดตัว Core i5 โพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ปฏิวัติโลกพีซีให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยเฉพาะการทำงานด้วย 4 แกนหลักที่มากกว่าโพรเซสเซอร์ปัจจุบันถึง 2 เท่า ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีการผลิตโพรเซสเซอร์ระดับเซิร์ฟเวอร์กับชิปตัวนี้ ยิ่งทำให้ผู้ใช้พีซีทั้งเดสก์ทอป และแลปทอปได้มีโอกาสใช้พลังประมวลผลอันทรงประสิทธิภาพ (แรง เร็ว มัลติทาสก์ ไม่ร้อน และประหยัดพลังงาน) สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม ถึงเวลาแล้วที่คุณผู้อ่านควรจะได้ทำความรู้จักกับ Core i5 มากกว่าแค่ชื่อของมันเท่านั้น
ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เทคโนโลยีในสมัยนั้นจะสามารถบีบอัดทรานซิสเตอร์กว่า 3 ล้านตัวให้เข้าไปอยู่ในชิปขนาดเล็ก เพื่อให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทำงานได้อย่างน่าอัศจรรย์ (จากตู้เมนเฟรมขึ้นมาอยู่บนโต๊ะทำงาน) โดย "ทรานซิสเตอร์" ที่อยู่ภายในจะทำหน้าที่เหมือนสวิทช์ขนาดจิ๋วสามารถเปิดปิด เพื่อสร้างสัญญาณไฟฟ้า 1 และ 0 แทนข้อมูลที่ใช้ในการประมวลผล และยิ่งนานวันพวกมันจะถูกบีบอัดให้มีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งเล็กลงได้มากเท่าไร นั่นหมายถึง ชิปประมวลผลก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการประมวลผลมากขึ้นเท่านั้น และนั่นคือ ก้าวแรกของโพรเซสเซอร์ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหลายล้านเครื่องทั่วโลก
แต่สำหรับ Core i5 โพรเซสเซอร์รุ่นล่าสุดที่อินเทลได้เปิดตัววันนี้ ภายในของมันมีทรานซิสเตอร์อยู่มากถึง 731 ล้านตัว (ประมาณ 244 เท่า เทียบกับสี่สิบปีที่แล้ว) ที่วางเรียงชิดติดกันอยู่ภายในชิปที่มีขนาดแค่ครึ่งหนึ่งของสแตมป์ และด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบและพัฒนาชิปตัวนี้ อาจถือได้ว่า Core i5 เป็นตัวแทนของเดส์กทอปพีซียุคใหม่ก็ว่าได้ แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อินเทลได้พัฒนาโพรเซสเซอร์ให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น ฉลาดขึ้น และประหยัดพลังงานมากขึ้น แต่ Core i5 จะมีพัฒนาการที่ถือว่า เป็นการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการออกแบบโพรเซสเซอร์ เนื่องจากมันมีการเปลี่ยนแปลงในการออกแบบถึง 9 ส่วนสำคัญๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ใช้ใน Core i5 ซึ่งปกติจะพบได้ในเซิร์ฟเว่อร์ระดับไฮเอ็นด์เท่านั้น แต่วันนี้มันได้มาอยู่บนโต๊ะ (desktop) หรือบนตัก (laptop) ของผู้ใช้แล้ว
ในส่วนของสถาปัตยกรรมทีใช้ในการพัฒนาโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่นี้ วิศวกรของอินเทลใช้โค้ดเนมว่า "Lynnfield" (อยู่ในตระกูลเดียวกันกับ Nehalem) ซึ่งได้รับการพัฒนาครั้งแรกเพื่อใช้กับโพรเซสเซอร์ Core i7 โพรเซสเซอร์รุ่นพี่ที่มีพลังประมวลผลระดับไฮเอ็นด์ (พอๆ กับราคา) สำหรับเซิร์ฟเวอร์ และเดสก์ทอปเวิร์กสเตชั่นอันทรงพลัง โดย Core i5 ได้ใช้โครงสร้างของสถาปัตยกรรมภายในที่สำคัญๆ จากโพรเซสเซอร์ Core i7 การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ 45nm (จากเดิม 65nm) ทำให้สามารถเพิ่มทรานซิสเตอร์เข้าไปในชิปได้อย่างมหาศาล และผลจากการลดขนาดของทรานซิสเตอร์ลงได้อีก ทำให้การเชื่อมต่อการทำงานระหว่างทรานซิสเตอร์สั้นลง และเร็วขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้สามารถประมวลผลข้อมูลต่อวินาทีได้มากขึ้น นอกจากนี้ การเชื่อมต่อที่สั้นลง เร็วขึ้น ของการทำงานระหว่างทรานซิสเตอร์ ยังช่วยประหยัดพลังงานลงได้มากอีกด้วย
สำหรับระบบการทำงานของ Core i5 จะมาพร้อมกับโพรเซสเซอร์ 4 แกน (เปรียบเทียบกับรถยนต์ทีมี 4 เครื่องยนต์ก็ได้) ต่อชิป ซึ่งมากกว่าถึงสองเท่าของชิปเดสก์ทอปในปัจจุบัน (dual-core) อย่างไรก็ตาม Core i5 จะไม่มีไฮเปอร์เธรดดิ้งแบบ Core i7 โดยโครงสร้างของ Core i5 จะเป็น Quad-Core 4-thread
คอมพิวเตอร์ที่ใช้โพรเซสเซอร์ Core i5 จะสามารถทำงานอย่างเช่น การแก้ไขวิดีโอไฮเดฟฯ บริการวิดีโอแชตผ่านสไกป์ที่สามารถเห็นภาพเคลื่อนไหวที่นุ่มนวล (ไม่กระตุก) แม้ว่ากำลังเพิ่มเพลงเข้าไปในไลบรารี่ของไอจูนส์อยู่ในขณะนั้นก็ตาม นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ และระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ๆ ก็ยังได้รับการปรับแต่งการทำงานให้ใช้ข้อได้เปรียบของความสามารถของมัลติคอร์ และมัลติเธรดดิ้งอีกด้วย แอ๊ปเปิ้ลเพิ่งออก Snow Leopard Mac OS X 10.6 ส่วนไมโครซอฟท์ก็เตรียมเข็น Windows 7 ออกมา ซึ่งทั่งคู่สามารถทำงานร่วมกับ Core i5 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ภายใน Core i5 ยังมีโหมดเทอร์โบที่สามารถเร่งการทำงานได้เร็วขึ้นอย่างไม่น่าเชื่ออีกด้วย โดยสามารถเรียกใช้กับการประมวลผลงานหนักๆ ได้ แถมยังสามารถตัดสินใจเลือกใช้จำนวนคอร์ทีเหมาะสมกับงานได้อีกต่างหาก ซึ่งทำให้มันไม่ต้องใช้เอ็นจิ้นทั้งสี่แกนตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อใช้งานทั่วไปอาจจะเหลือแค่ Core เดียวก็ได้ (นับเป็นโพรเซสเซอร์ที่สามารถบริหาร Core ได้ราวกับเปลี่ยนเกียร์คันเร่งของรถยนต์) ผลจากความฉลาดในการประมวลผลดังกล่าว ทำให้มันสามารถเร่งเครื่องจากความถี่ในการทำงานที่ 2.8GHz เป็น 3.2GHz ได้ เมื่อระบบต้องการในขณะที่ระบบยังคงทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพ
จากพี่ใหญ่ Core i7 มาสู่น้องคนรองอย่าง Core i5 ในต้นปีหน้า ผู้ใช้ยังจะได้พบกับน้องคนเล็กอย่าง Core i3 ที่จะตามออกมา ซึ่งผู้บริหารอินเทลกล่าวว่า มันเหมาะกับผู้ใช้ในกลุ่ม entry level แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังทรงพลังด้วยสถาปัตยกรรมใหม่นั่นเอง การใช้ชื่อเรียกโพรเซอร์ด้วย Core ในลักษณะนี้ (ทั้ง Core i7, Core i5 และ Core i3) ก็เพื่อแก้ปัญหาความสับสนในโลโก และผลิตภัณฑ์ Core 2 ที่ออกมามากมายก่อนหน้านี้ สำหรับโพรเซสเซอร์ Atom ที่ใช้กับเน็ตบุ๊กก็จะยังคงได้รับการพัฒนาต่อไป ตามด้วย Celeron และ Pentium ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่รองรับตลาดผู้ใช้ในวงกว้าง
http://www.arip.co.th/news.php?id=409918