เดินตามรอยเท้าพ่อ ขออยู่อย่างพอเพียง
จากแนวคิดที่ต้องการสร้างพื้นที่ต้นแบบในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของในหลวง เยาวชนเหล่านี้จึงรวมกลุ่มกันกับผู้ใหญ่ใจดีที่มีแนวคิดเดียวกัน สร้างรากฐานและพัฒนา จนเกิดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาศักยภาพชุมชน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
ศูนย์นี้ตั้งอยู่ที่บ้านก๊อต เลขที่ 105 หมู่ที่ 7 ตำบลไชยสถาน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน ล้อมรอบไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาและทำไร่ เมื่อหมดหน้านาก็ปลูกพริก ข้าวโพด ถั่ว ฯลฯ
กิจกรรมภายในศูนย์ฯ จะมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในช่วงปิดเทอม ศูนย์จะคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากมีกลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งเข้ามาร่วมเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบพอเพียงที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ กิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงปิดเทอม คือ การอบรมหลักสูตรการทำน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งมีพี่นรินทร์ เครือประดิษฐ์ อาสาสมัครประจำศูนย์เรียนรู้ มาเป็นวิทยากรในการบรรยายให้ความรู้ และคำแนะนำต่างๆ
พี่นรินทร์ เครือประดิษฐ์ บอกว่า “เด็กๆ ทุกคน สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ ศูนย์แห่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่สามารถให้เด็ๆ ที่เคยอยู่กับพ่อแม่ และก็ทำอะไรไม่เป็นสักอย่างเลย มาอยู่ที่ตรงนี้ เด็กๆ กล้าแสดงออก กล้าคิดและกล้าทำ เด็กที่จบออกไป สามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า ผมสามารถทำได้ ทำเป็นทุกอย่าง”
ซึ่งนรินทร์ ค่อยๆ บรรยายข้อมูลการหมักน้ำชีวภาพว่า “มีขั้นตอนดังนี้ หม้อแรกก็จะเป็นฟักทอง กล้วย ผลไม้ มะละกอ มาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วมาหมักในถังใบใหญ่”
ในระหว่างการบรรยายขั้นตอนการทำ วิทยากรก็จะสาธิตการทำไปพร้อมกันด้วยเลย เพื่อให้เด็กได้เห็นตัวอย่างการทำอย่างละเอียด และสามารถช่วยกันทำได้
นอกจากการทำน้ำหมักชีวภาพแล้ว ยังมีการทำบล็อกดิน เพื่อจะนำไปสร้างบ้านดิน โดยมีวิทยากรคนสำคัญคือ ศักดา อินพรม หรือพี่โด่ง ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการทำบ้านดิน ได้เล่าถึงกิจกรรมนี้ว่า...
“บ้านที่จะสร้างกัน ไม่ใช่จะเสร็จกันภายในวันสองวัน ต้องฝึกละอ่อนให้ลงมือทำ ให้พวกเขาได้ทดลองทำทั้งหมด การทำงานต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ และแรงงานของเรา ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้”
คุณดวงจิต พุทธิกุล ผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้ เล่าให้ฟังว่า “ตอนแรกที่พ่อจะตั้งศูนย์ แม่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อมาตั้งศูนย์ฯ ไม่เข้าใจว่าตั้งขึ้นมาทำไม ตัวเองก็มารู้ว่าทำขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆ ได้มาเรียนรู้”
สำหรับแนวคิดในการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ ดต.จรัญ พุทธิกุล ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ ได้เล่าให้ฟังว่า
“เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ไปอบรมมาหลายครั้ง และได้รู้จากสื่อต่างๆ เวลาที่เด็กได้รับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เป็นเพียงการรับรู้ไม่ใช่การเรียนรู้ การมีศูนย์การเรียนรู้ คนจะได้เข้ามาสัมผัสกับข้อเท็จจริง เขาจะได้เข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะต้องทำอย่างไร และพยายามคิดกิจกรรมร่วมกัน เช่น คนใดรู้เรื่องพืชชนิดใด ก็เอามาผสมผสานกัน ปรับความเข้าใจและเรียนรู้ด้วยกัน ทุกอย่างที่เราทำมา รู้สึกว่าเป็นที่น่าพอใจของเฮา สมกับที่ได้ตั้งจุดมุ่งหมายไว้ จนเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับคนได้หลายกลุ่ม โดยเฉพาะเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แม้มีอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น เรื่องทุนทรัพย์ เกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง เราอยากมาเรียนรู้ร่วมกัน แต่เราไม่มีวัสดุอุปกรณ์เป็นของเราเอง เราก็ปรับมาทำกิจกรรมในส่วนที่เราทำได้ด้วยตัวเอง เราก็ทำของเราเองไปเรื่อยๆ ทำให้ดีที่สุด ไม่ได้คาดหวังไว้มากมายนัก ถ้าสวรรค์มีตา เทวดามีจริง ทุกอย่างก็คงลุล่วงได้ดี”
แนวคิดการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของในหลวง ได้ถูกนำสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ปรับประยุกต์สิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาเป็นสื่อการเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากจะได้ผลผลิตที่เป็นชิ้นเป็นอันและนำไปทำประโยชน์ได้จริงๆ แล้ว แนวคิดดังกล่าวยังช่วยบ่มเพาะให้ชีวิตน้อยๆ ที่กำลังจะเติบโต ได้เกิดการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติจริง และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความมั่นใจในวันข้างหน้า
บันทึกความดีโดย…ทีมงานต้นกล้าฝัน จังหวัดน่าน
จากหนังสือแผนที่ความดี โครงการสืบค้นความดี ผลิตสื่อคุณธรรม