ปุจฉา:
เคยได้ยินพระบางรูปสอนว่า การที่เราเกิดมา
เป็นคนจนเพราะ"กรรมเก่า" ที่เราทำไว้แต่ชาติ
ปางก่อน ดังนั้นเราจึงต้องก้มหน้ารับกรรมนั้น
ต่อไป เพราะไม่มีใครทำให้เราเป็นเช่นนั้นได้
นอกจากตัวเราเป็นผู้ทำกรรมนั้นด้วยตัวเอง
ทัศนะอย่างนี้มีความเป็นจริงแค่ไหน
วชิรวิทย์/เชียงใหม่
วิสัชนา:
แนวคิดที่ว่าความเป็นไปในชีวิตของเรานั้นเป็น
ผลมาจาก"กรรมเก่า"ที่เราทำไว้แต่ชาติปางก่อน
มีความถูกต้องเพียงครึ่งเดียว และเป็นแนวคิดที่
อันตรายมาก เพราะจะทำให้ผู้ที่เชื่อถือกลายเป็น
บุคคลประเภทยอมจำนนต่อชะตากรรมของตนเอง
อย่างไม่คิดที่จะสู้ และทัศนะอย่างนี้ยังเป็นช่องทาง
ให้มีคนนำไปใช้อ้างอย่างผิดๆด้วย เช่น นาย ก
เห็นผู้หญิงคนถูกกระทำทารุณกรรมทางเพศ
แทนที่จะคิดหาทางช่วยเหลือหรือแก้ไข กลับวาง
เฉยเสียด้วยคิดว่าไม่ควรจะเข้าไปยุ่ง เพราะเป็น
"กรรมเก่า"ของผู้หญิงคนนั้นนั่นเอง หรือบางคน
ถูกคนอื่นเอารัดเอาเปรียบอย่างซึ่งๆหน้า แทนที่
จะหาวิธีแก้ไข ก็กลับมานั่งทำใจว่าปล่อยให้เขา
เอาเปรียบไปเถิด มันเป็นกรรมของเราเองที่เคย
ไปทำไว้กับเขามาแต่ชาติปางก่อน
ความเชื่อที่ว่าอะไรๆในชีวิตก็แล้วแต่"กรรมเก่า"
บันดาลให้เป็นไปนั้น ไม่ใช่คำสอนในพระพุทธ
ศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งต่างๆ
ในชีวิตของเรานั้นล้วนขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย
แวดล้อมต่างๆมากมาย ทั้งเหตุปัจจัยในอดีต
ปัจจุบัน และอนาคต ดังนั้นแทนที่พระพุทธเจ้า
จะตรัสว่าชีวิตเป็นผลผลิตของกรรมเก่าหรือเป็น
ผลผลิตของกรรมในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว
พระองค์กลับตรัสว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี"
นี่คือคำสอนแบบสายกลางที่ต้องการให้เรารู้จัก
มองสิ่งต่้างๆ อย่างเป็นกลาง กล่าวคือ รู้จักมอง
ว่าวิถีชีวิตของคนเรานั้นล้วนมีเงื่อนไขมากมาย
เข้ามาเกี่ยวข้องให้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เอียงไปหา
ลัทธิกรรมเก่าจนสุดโต่ง ถึงขนาดยกความ
เป็นไปในชีวิตให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า เพราะ
ถ้าทุกอย่างเป็นเรื่องของกรรมเก่าไปเสียทุกหมด
เราก็ไม่ควรจะทำอะไรใหม่ๆ แต่ควรนั่งนอนอยู่เฉยๆ
รอให้กรรมเก่าบันดาลชีวิตให้เป็นไปตามวิถีของ
กรรมเก่ามิดีกว่าหรือ
ความจริงลัทธิที่เชื่อว่าอะไรๆก็แล้วแต่
"กรรมเก่า"นั้น เป็นลัทธิที่ผิดหลักความจริง
ผิดหลักธรรมชาติ และผิดหลักพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลัทธิที่สวนทางกับหลัก
พระพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ลัทธิคือ
๑.ลัทธิแล้วแต่กรรมเก่า
๒.ลัทธิแล้วแต่พระเจ้าบันดาล
๓.ลัทธิแล้วแต่โชคชะตาจะพาให้เป็นไป
ลัทธิแล้วแต่กรรมเก่าก็คือลัทธิที่สอนว่า
ชีวิตจะเป็นไปอย่างไรทั้งในทางดีและในทางเสื่อม
ล้วนแล้วแต่ "กรรมเก่า" บันดาลให้เป็นไป
ลัทธิแล้วแต่พระเจ้าบันดาลก็คือลัทธิที่สอนว่า
ชีวิตอยู่ภายใต้อุ้งหัตถ์ของพระเจ้า พระเจ้าพอใจ
จะให้ชีวิตของใครเป็นไปอย่างไร พระองค์ก็ทรง
ลิขิตไว้แล้ว ลัทธินี้คือที่มาของความเชื่อประเภท "พรหมลิขิต"
ลัทธิแล้วแต่โชคชะตาจะพาให้เป็นไปก็คือลัทธิที่
สอนว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปของมันเอง
ไม่มีเหตุปัจจัย อะไรจะเกิด มันก็เกิด
อะไรจะเป็นอย่างไร ถึงเวลาก็เป็นไปเอง
ลัทธินี้คือที่มาของการมอบชะตากรรมไว้ให้เป็น
เรื่องของดวงดาว ฤกษ์พานาที หรือแม้แต่ปล่อย
ให้เป็นเรื่องของ "ดวง" หรือ "โชค" "เคราะห์"
จะพาให้เป็นไปเอง ไม่มีต้นสายปลายเหตุ
อะไรจะเป็นก็ปล่อยให้มันเป็นไป
ทั้งสามลัทธิหรือทั้งสามระบบความเชื่อ
ดังกล่าวมานี้ ถ้าใครไปเชื่อเข้าก็ย่อมจะทำให้
กลายเป็นคนที่ "ยอมจำนน" ต่อชีวิต ไม่อยาก
สู้ชีวิต ไม่อยากสร้างสรรค์พัฒนาตนเอง เอา
แต่นอนรอคอยให้กรรมเก่า พระเจ้า หรือโชค/
เคราะห์บันดาลให้เป็นไป ตกทุกข์ได้ยาก
ถูกกระทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกลั่นแกล้ง
ทำร้าย หรือแม้แต่เกิดมาเป็นคนจนก็ทนหรือ
เต็มใจที่จะนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ลุกขึ้นมาป้องกันแก้ไข
ปล่อยชีวิตลอยไปเหมือนกอสวะกลางแม่น้ำใหญ่
ที่ไม่รู้ชะตากรรม
ลัทธิทั้งสามนี้พึงทราบว่าเป็นลัทธินอกพระพุทธ
ศาสนา ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ใคร
สมาทานเข้าก็มีแต่เสื่อมลง มองไม่เห็นทางว่าจะ
สร้างสรรค์พัฒนาชีวิตให้เจริญก้าวหน้าไปได้อย่างไร
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ลัทธิทั้งสามจะไม่ใช่คำสอน
ของพระพุทธเจ้า แต่คนไทยก็เชื่อมั่นในลัทธิ
กรรมเก่ากันอย่างแน่นแฟ้น จนทุกวันนี้ ใครมี
ปัญหาชีวิตอะไร ก็พานยกให้เป็นเรื่องที่เนื่อง
มาแต่กรรมเก่าไปเสียทั้งหมด
ว.วชิรเมธี
จากหนังสือ ธรรมะทำไม