สถาบันทรัพยากรโลก องค์กรอิสระ ด้านสิ่งแวดล้อม ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานการจัดอันดับ 30 ประเทศ ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก..
เมื่อ 29 พ.ย. สถาบันทรัพยากรโลก หรือดับเบิลยูอาร์ไอ องค์กรอิสระที่คอยจับตาและวิเคราะห์สถานการณ์ โลกด้านสิ่งแวดล้อม ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานการจัดอันดับ 30 ประเทศ ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก ก่อนหน้าการประชุมสภาพอากาศโลก ที่กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก จะเริ่มขึ้นใน 7-18 ธ.ค.นี้ โดยอันดับหนึ่งคือจีน ปล่อยก๊าซ 7,219.2 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณ 19.12 เปอร์เซ็นต์ของโลก ขณะที่อันดับสองคือสหรัฐฯ ปล่อยก๊าซ 6,963.8 ล้านตัน คิดเป็น 18.44 เปอร์เซ็นต์
ส่วนอันดับถัดมาคือสหภาพยุโรป 27 ชาติ ปล่อยก๊าซ 5,047 ล้านตัน คิดเป็น 13.37 เปอร์เซ็นต์ รัสเซีย ปล่อยก๊าซ 1,960 ล้านตัน คิดเป็น 5.19 เปอร์เซ็นต์ อินเดีย ปล่อยก๊าซ 1,852 ล้านตัน คิดเป็น 4.91 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อันดับ 6-10 ได้แก่ ญี่ปุ่น บราซิล เยอรมนี แคนาดาและอังกฤษ ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทยถูกจัดอันดับที่ 24 ปล่อยก๊าซ 351.3 ล้านตัน คิดเป็น 0.93 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา กลับไม่ติดอันดับ มีเพียงอินโดนีเซียเท่านั้นที่ได้อันดับ 12 ปล่อยก๊าซ 594.4 ล้านตัน คิดเป็น 1.57 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ประเทศที่อันดับอยู่ติดกับไทยคือซาอุดีอาระเบีย ได้อันดับ 23 ปล่อยก๊าซ 374.3 ล้านตัน คิดเป็น 0.99 เปอร์เซ็นต์ และอาร์เจนตินาได้อันดับ 25 ปล่อยก๊าซ 318.3 ล้านตัน คิดเป็น 0.84 เปอร์เซ็นต์
ในวันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวสรุปจากข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าโลกร้อนเริ่มส่งผลกระทบ เห็นได้จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฤดูกาลมาไม่ตรงเวลา รวมถึงการเกิดพายุบ่อยครั้ง พร้อมระบุว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป อุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้น 2.4-4 องศาเซลเซียส ภายในช่วง 90 ปี ข้างหน้า และทำให้ประชากรในภูมิภาคเอเชียกว่า 120-1,200 ล้านคน ต้องประสบภาวะขาดแคลนน้ำอย่างหนัก คาดผลผลิตการเกษตรลดลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2593
ทั้งนี้ การประชุมสภาพอากาศโลกที่เดนมาร์กในช่วงสุดสัปดาห์หน้า จัดขึ้นเพื่อหาข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อนฉบับใหม่มาแทนที่ "พิธีสารเกียวโต" ที่จะหมดอายุลงในปี 2555 โดยสมาชิกที่ถูกจับตามองคือ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจ อย่างจีน บราซิล อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย ที่สัญญาว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซให้ได้ตั้งแต่ 20-45 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มประเทศพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ที่ระบุจะลดการปล่อยก๊าซ 4-25 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องมีเงื่อนไข.
ที่มา: www.thairath.co.th/content/oversea/49999