ประวัติการเล่นว่าวในประเทศไทย
การเล่นว่าวในประเทศไทยนั้นได้มีมานาน ตั้งแต่สมัยโบราณโดยในแต่ละสมัยก็ได้มีการกล่าวถึงการเล่นว่าวที่แตกต่างกันไป แต่หากจะพูดถึงการเล่นว่าวมีมาแต่ครั้งสมัยใดนั้นคงจะเป็นการยากที่จะกล่าวให้ชัดเจนเพราะจากตำนานหลักฐานที่กล่าวถึงการเล่นว่าวของไทยนั้นได้ปรากฏมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว
สมัยสุโขทัย(พ. ศ.1781-1981)
ในสมัยนี้ได้กล่าวถึง เรื่องราวของพ่อขุนศรีอินทรทิตย์ซึ่งทรงโปรดการเล่นว่าวจนเกิดเหตุการณ์ให้พระองค์ทรงเกิดความรักกับบุตรสาวพระยาเอื้อ ทั้งนี้ยังมีการกล่าวไว้ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพระร่วงซึ่งกล่าวถึงเดือนยี่ในการพระราชพิธีบุษบาภิเษกว่าเป็นงานนักขัตฤกษ์ที่หมู่นางสนมกำนัลดูการชักว่าวหง่าว (ว่าวดุ๊กดุ่ย)
สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1893-2310)
ซึ่งเป็นสมัยที่สมเด็จพระรามาธิบดีเป็นปฐมกษัตริย์การสร้างกรุง เมื่อ พ.ศ.1901 ทรงตั้งกฎมณเฑียรบาลว่าห้ามมิให้ผู้ใดเล่นว่าวข้ามพระราชวังอันเนื่องมาจากทรงเกรงว่า ว่าวที่ใช้เล่นกันจะไปเกี่ยวหรือทำความเสียหายให้แก่สิ่งก่อสร้างในพระราชวัง และเมื่อครั้งสมัยพระเพทราชาก็ได้ทรงใช้ว่าวในการทำสงครามโดยใช้ ลูกระเบิดติดกับว่าวจุฬาแล้วชักว่าวลอยข้ามกำแพงเพื่อเข้าโจมดีฝ่ายข้าศึกโดยในสมัยนี้ได้ปรากฏชื่อว่าวปักเป้าขึ้นมาด้วย ทั้งนี้ยังทรงให้มีการแข่งขันการเล่นว่าวโดยเล่นเพื่อเอาแพ้ชนะกัน
ในจดหมายเหตุของ มองซิเออร์ ลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยที่ 14 กรุงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวถึงการเล่นว่าวของไทยว่า เป็นการเล่นที่สนุกสนาน เป็นที่นิยมในหมู่เจ้านายและขุนนาง
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394-2111) พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเล่นว่าวได้ที่ท้องสนามหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2449 ได้มีการจัดการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้าชิงถ้วยทองคำพระราชทานที่พระราชวังสวนดุสิตการแข่งขันนี้มีเป็นประจำทุกปี จนสิ้นรัชสมัยของพระองค์และในสมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453-2468) พระองค์ ได้ทรงให้มี การจัดกีฬาว่าวขึ้นมาอีก ครั้งหนึ่ง
ความหมาย
ว่าวเป็นการละเล่นของไทยที่มีมาช้านาน โดยการเล่นต้องหาโอกาสที่เหมาะสม ในการเล่นซึ่งโอกาสที่เหมาะสมในที่นี้ก็ คือ การหาช่วงเวลาที่มีอากาศดีลมพัดอย่างสม่ำเสมอไม่แรงจนเกินไป เพราะอาจทำให้ว่าวเสียการทรงตัวและขาดได้พร้อมทั้งสถานที่ในการเล่นว่าวควรจะเป็นสถานที่กว้างพอที่จะทำให้ว่าวลอยได้อย่างอิสระสวยงาม การเล่นว่าวใช้อุปกรณ์ในการเล่นที่ไม่ยุ่งยากเพราะส่วนประกอบของว่าว โดยหลักแล้วจะมีเพียงไม้ไผ่ที่นิยมใช้ทำโครงว่าว และกระดาษที่ ใช้ติด กับโครงว่าวที่เราสร้างไว้ กระดาษกับเชือกที่ใช้ผูกกับไม้ความแข็งแรงนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ในการแข่งขันหรือเล่นเพื่อความสนุกสนาน หากใช้ในการแข่งขันเชือกกับกระดาษที่ใช้ควรจะเหนียวพอที่จะโต้ลมได้จนจบการแข่งขันโดยไม่มีการชำรุดไปเสียก่อน
ว่าวที่นิยมเล่นในเทศกาลการจัดการแข่งขันการเล่นว่าว
ภาพจาก
http://www.thailand-huahin.com/t-pictures-huahin-kite-festival.htm
ประเภทและชนิดของว่าว
ในปัจจุบันการเล่นว่าวได้พัฒนาขึ้นรูปแบบของว่าวก็ได้ถูกพัฒนา ให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น รวมทั้งมีการประดิษฐ์ให้มีความทันสมัย สีสัน รูปแบบสวยงามเป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน โดยว่าวที่เล่นกันในประเทศไทยได้แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
1.ว่าวแผง เป็นว่าวที่ไม่มีความหนา มีแต่ส่วนกว้าง และส่วนยาว เช่นว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวอีลุ้ม ว่าวรูปสัตว์ ต่างๆ
2.ว่าวภาพ ชื่อของว่าวก็เป็นสิ่งที่บอกได้ว่าว่าวประเภทนี้ต้องเกี่ยวข้องกับ ความคิดสร้างสรรค์ ฝีมือที่ใช้ในการประดิษฐ์ว่าวเพื่อให้เกิดลักษณะที่พิเศษ เป็นที่น่าสนใจแก่ผู้คน ซึ่งว่าวภาพก็แบ่งย่อยเป็น 3 ประเภทอีก คือ
• ว่าวประเภทสวยงาม
• ว่าวประเภทความคิด
• ว่าวประเภทขบขัน
ว่าวที่นิยมเล่นกันในภาคต่างๆ
ว่าวภาคเหนือ
ภาพจาก http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK13/pictures/l13-189c.jpg
ภาคเหนือ ลักษณะของว่าวไทยภาคเหนือ แต่เดิมจะมีรูปแบบง่ายๆโดยโครงสร้างก็ประกอบด้วยไม้ไผ่ที่มาทำเป็นโครงมีไม้ที่ทำเป็นแกนกลางและทำเป็นปีกว่าวทีกระดาษที่ไว้ปิดโครงไม้รูปร่างว่าวคล้ายว่าวปักเป้าของภาคกลาง แต่ไม่มีหาง ว่าวรูปแบบอื่นๆคงได้รับแบบอย่างมาจากการทำว่าวของภาคกลางว่าวที่นิยมมากที่สุด คือ ว่าวสองห้อง ภาคกลางเรียกว่า ว่าวดุ๊ยดุ่ย รองลงไป ได้แก่ ว่าวอีลุ้ม
ว่าวจุฬา
ภาพจาก
http://www.thailandpost.com/images/stamp_unseen/Week2004_01.jpg
ภาคกลาง
ภาคกลางเป็นภาคที่นิยมการเล่นว่าวซึ่ง ว่าวที่เป็นที่นิยมเล่นกันจะมีด้วยกันหลายรูปแบบแต่ที่เป็นแบบดั้งเดิมคือว่าวปักเป้า ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวอีเพรด ว่าวอีลุ้ม ส่วนว่าวที่เป็นรูปแบบใหม่ก็เช่นว่าวงู ว่าวนกยูง ว่าวคน ว่าวผีเสื้อ
ภาคตะวันออก
ว่าวที่ภาคตะวันออกเล่นกันเช่นว่าวอีลุ้ม ว่าวหาง ว่าวหัวแตก ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวกระดาษ ว่าวในมะกอก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประชาชนส่วนมากนิยมเล่นว่าวพื้นเมือง และว่าวที่นิยมมากที่สุด คือ ว่าวสองห้อง ภาคกลางเรียกว่า ว่าวดุ๊ยดุ่ย รองลงไป ได้แก่ ว่าวอีลุ้มส่วนว่าวที่มีการเล่นว่าวหาง (ว่าวดุ๊ยดุ่ย), ว่าวอีลุ้ม (ว่าวอีลุ่ม) ว่าวปลาโทดโทง ว่าวประทุน
ว่าวงู
ภาพจาก http://www.freewebs.com/bin10229/index.html
ภาคใต้
การเล่นว่าวในภาคใต้นิยมเล่นเพื่อความสนุกสนานเป็นส่วนใหญ่ ว่าวที่เล่นกันมากในภาคใต้มีหลายชนิด เช่น ว่าววงเดือน ว่าวปักเป้า ว่าวนก ว่าวหลา (ว่าวจุฬา) ว่าวอีลุ้ม ว่าวงู ว่าวคน ว่าวกระบอก และว่าวใบไม้ ว่าวที่นิยมเล่นกันมาก คือว่าววงเดือนแบบมี คนรุ่นก่อนๆ มักนิยมเล่นว่าววงเดือน ซึ่งมีขนาดที่ใหญ่คือการทำว่าวที่มีขนาดของปีกยาวประมาณ 3-4 เมตร ใช้คนส่งว่าวขึ้น 2-3 คน และคนชัก 3-4 คน ส่วนว่าววงเดือนอีกชนิดหนึ่งจะเป็นแบบไม่มีแอกซึ่งเล่นเพื่อการแข่งขันว่าวตัว
วิธีการทำและอุปกรณ์การทำว่าว
ว่าวเป็นการละเล่นที่สามารถหาอุปกรณ์ได้ง่ายแต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่ควรใส่ใจก็คือเรื่องของการเลือกวัสดุที่มีคุณภาพมาประกอบการทำว่าวเพื่อให้ว่าวสามารถตัวอยู่บนอากาศได้อย่างสวยงาม เริ่มจากการหาไม้มาประกอบเป็นโครงสร้าง ไม้ที่นำมาประกอบเป็นโครงสร้างโดยทั่วไปแล้วสามารถใช้ไม้ชนิดใดก็ได้แต่ ส่วนใหญ่นิยมนำไม้ไผ่มาใช้ เนื่องจากไม้ไผ่เป็นไม้ที่มีความยืดหยุ่นและเหนียว ทนแรงลม การเลือกไม้ไผ่ควรเลือกไม้ที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไปแล้วผ่าซีกนำไปตากแดด เหลาให้มีขนาดที่พอดีไม่เล็กจนเกินไปเพราะจะไม่สามารถต้านแรงลมได้นาน หรือไม่ควรใหญ่จนเกินไปเพราะหากมีน้ำหนักมากเกินไปอาจจะทำให้ว่าวขึ้นสู่กระแสลมได้ไม่สูงไม่สวยงาม อุปกรณ์ต่อมาก็จะเป็นเรื่องของสายป่านหรือเชือกที่นำมาผูกกับไม้สายที่นำมาผูกควรเหนียว การผูกสายป่านควรผูกให้แต่ละด้านให้เท่ากันและรัดให้แน่นต่อมาอุปกรณ์ที่สำคัญชิ้นสุดท้ายก็เป็นกระดาษที่ใช้นำมาปิดว่าว กระดาษที่นิยมคือกระดาษสา โดยนำกระดาษมาตัดตามรูปโครงว่าวให้ใหญ่กว่าขนาดโครงว่าวเล็กน้อยแล้วนำกาวมาติดตามขอบของโครงว่าว ซึ่งในปัจจุบันก็มีการสร้างสรรค์นำสี หรือกระดาษสีต่างๆนำมาติดเพื่อความสวยงามมากมายพร้อมทั้งเป็นการยึดให้กระดาษติดโครงว่าวมากขึ้น
วิธีการเล่นว่าวและการแข่งขันบนอากาศของว่าวจุฬากับว่าวปักเป้า
ภาพจากhttp://www.freehomepages.com/mitmitee/new_page_16.htm
วิธีการเล่นว่าว
การนำว่าวขึ้นสู่กระแสลมหากว่าเล่นเพียงคนเดียวก็ให้เอาวางราบอยู่กับพื้น หันหัวว่าวมาทางหัวคนชักว่าว ระยะห่างจากตัวสัก 2-3 เมตร แล้ววิ่งพร้อมกระตุกสายป่านโดยการรักษาจังหวะการกระตุก ไม่แรงเกินไปเพื่อให้ว่าวสามารถปรับตัวเข้ากระแสลม แต่หากเล่นกัน 2 คน ก็ให้อีกคนหนึ่งเป็นคนส่งว่าว อีกคนหนึ่งก็เป็นคนชักว่าวโดยคนส่งว่าวควรห่างจากคนชักว่าวประมาณ 4-5 เมตร ตั้งหัวว่าวขึ้นเพื่อรอจังหวะของกระแสลมแล้วจึงส่งว่าวไป คนชักว่าวจะกระตุกสายป่านจนว่าวลอยขึ้นแล้วก็ควบคุมโดยการกระตุกสายป่านให้เป็นถูกจังหวะ การบังคับว่าวหากว่าแรงที่เรากระตุกสายป่านมีมากจะทำให้ว่าวขึ้นได้สูงตามแรงที่เรากระตุก และหากต้องการผ่อนลงมาให้ว่าวอยู่ในระดับที่ต่ำก็ควรลดแรงลงมาเล็กน้อย
การแข่งขันเล่นว่าวจุฬากับว่าวปักเป้า
ภาพจาก http://www.freewebs.com/bin10229/index4.html
การแข่งขัน
ในปัจจุบันว่าวที่นิยมนำมาแข่งขันกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็เห็นจะเป็นว่าวจุฬากับว่าวปักเป้า ซึ่งเป็นว่าวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกัน และเปรียบเหมือนคู่ปรับกันด้วย โดยโครงสร้างของว่าวจุฬาจะมีขนาดใหญ่ มีกำลังมาก หากเปรียบเทียบแล้ว ว่าวจุฬาจะมีขนาดใหญ่กว่าว่าวปักเป้าเป็น 2 เท่า การแข่งขันเริ่มจาก ผู้เล่นทั้งสองฝ่าย อยู่ในบริเวณของตน โดยจะให้ว่าวของตัวเองโฉบเข้าหาอีกฝ่ายหนึ่ง ว่าวปักเป้าจะมีเหนียงที่เป็นเชือกป่านคล้องตัวว่าวจุฬาให้เสียการทรงตัวซึ่งว่าวปักเป้าที่อยู่ในแดนของตนก็จะร่อนไปมาเพื่อหาโอกาสโฉบว่าวจุฬามาโดยการใช้เหนียง ส่วนว่าวจุฬาจะ ติดดอก จำปาไว้ ซึ่งดอกจำปานี้จะทำให้ว่าวปักเป้ามาติดว่าวจุฬา ในขณะการเล่นผู้ชักว่าวทั้งสองฝ่ายห้ามล้ำแดนกัน กฎการได้ชัยชนะคือหากว่าวจุฬาสามารถลากพาว่าวปักเป้าเข้าทีละตัวหรือหลายตัวก็ได้ ถ้านำคู่ต่อสู้มาในแดนของตนได้สำเร็จก็เป็นฝ่ายชนะ หรือ ว่าวปักเป้าลากพาว่าวจุฬามาแดนของตนได้ก็เป็นฝ่ายชนะได้เช่นกัน แต่ถ้าหากว่าขณะที่ชักมาว่าวปักเป้าขาดลอยไปเสียก็ไม่มีฝ่ายใดได้คะแนน
คุณค่าและประโยชน์ในการเล่นว่าว
ว่าวเป็นกีฬา การละเล่นที่มีมาช้านาน รวมทั้งบ่งบอกเอกลักษณ์ของความเป็นไทยได้ดี เป็นการฝึกใช้ความสามารถทางศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ ความแข็งแรง อดทน ความมีไหวพริบ ความสามัคคีที่ต้องช่วยกันให้ชนะอีกฝ่าย
|