Advertisement
ปราสาทวัดพู มรดกโลกคู่ลาวใต้
โดย : กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ
ปราสาทวัดพู ถือได้ว่าเป็นโบราณสถานอันสำคัญที่สุดในแขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของประเทศลาว โดยได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่สองของลาวต่อจากหลวงพระบาง ตั้งอยู่บนเนินเขาพูป่าสักหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พูควาย(ชาวลาวอ่านออกเสียงโดยไม่มีสระอา) เหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะภูเขาด้านหลังมีลักษณะคล้ายศิวลึงค์ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12 สมัยพระเจ้ามเหนทรวรมัน ยุคที่ขอมเรืองอำนาจ ตัวปราสาทมีลวดลายแกะสลักอย่างประณีตงดงามไม่แพ้นครวัดในประเทศเขมร โดยมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า สถานที่แห่งนี้ใช้เป็นที่สำหรับบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ด้วยการทำพิธีกรรม การเซ่นไหว้ รวมถึงการบูชายัญ
ด้านหน้าฝั่งซ้ายมือก่อนถึงทางเข้าปราสาทวัดพูจะมีพิพิธภัณฑ์ ภายในแสดงชิ้นส่วนประติมากรรม และสถาปัตยกรรมที่ขุดได้จากภายในปราสาทวัดพู ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี อีกทั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีของที่ระลึกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงห้องน้ำไว้บริการ
สำหรับค่าเข้าชมปราสาทวัดพู ต่างชาติจะอยู่ที่ราคา 30,000 กีบ หรือ 120 บาท ส่วนคนลาวราคา 500 กีบ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 น. – 16.30 น. โดยต้องจอดรถไว้ริมถนนด้านนอก หน้าทางเข้าปราสาทวัดพูมีร้านขายอาหาร และเครื่องดื่มให้บริการอยู่เพียงร้านเดียว สินค้าของร้านนี้จึงแพงกว่าร้านค้าทั่วไป เพราะลูกค้าของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นกรุ๊ปทัวร์ชาวต่างชาติ
หน้าร้านค้ามีแม่ค้านั่งหยอดขนมครกขายเป็นสีสัน แต่ขนมครกของที่นี่ต้องราดน้ำตาลทรายก่อนรับประทาน เพราะไม่ได้ใส่น้ำกะทิผสมน้ำเชื่อมอย่างบ้านเรา ข้างๆร้านค้าจะมีเพิงขายดอกไม้ที่ทำเป็นกระทงใบตอง ลักษณะคล้ายบายศรี ขายพร้อมธูปเทียนในราคา 5,000 กีบ เพื่อให้ชาวบ้านรวมถึงนักท่องเที่ยวนำขึ้นไปบูชาพระพุทธรูป และจุดสำคัญต่างๆ ภายในปราสาท
อาณาบริเวณด้านหน้าของปราสาทวัดพูเป็นบาราย(สระน้ำ)ขนาดใหญ่ ที่บ่งบอกถึงความเป็นศิลปะขอมโบราณขนานแท้ ในอดีตบารายแห่งนี้มีไว้สำหรับแข่งเรือและสรงน้ำในพิธีกรรมต่างๆ
ทางเข้าสู่ตัวปราสาทวัดพูเป็นเส้นทางเดินเท้าผ่านถนนลาดยางยาวประมาณหนึ่งกิโลเมตร ขนานกับทางเดินอีกด้านซึ่งยังคงเป็นพื้นหินขรุขระที่มีมาแต่ดั้งเดิม ริมฝั่งทางเดินด้านนี้มีร่องรอยซากปรักหักพังของเสานางเรียงเก่าแก่ตั้งอยู่ทั้งสองข้าง ส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมจนเหลือไว้ให้เห็นแค่เพียงโคนเสา และเศษซากของหัวเสาที่อยู่ในสภาพแตกหักเท่านั้น
พ้นจากทางเดินเสานางเรียงขึ้นมาจะพบกับซากปราสาทโบราณสองหลัง ที่แม้ว่ากาลเวลาจะพร่าผลาญความงดงามของตัวปราสาท รวมถึงลวดลายแกะสลักให้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก แต่บนความชำรุดทรุดโทรมนั้น กลับทำให้ยิ่งมองเห็นคุณค่าของความเป็นโบราณสถานที่มีความขรึมขลังอลังการปรากฏอยู่อย่างชัดเจน ปราสาททั้งสองหลังนี้มีประวัติว่าถูกสร้างขึ้นก่อนราชวงศ์ล่มสลายไม่นานนัก เพื่อใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรงานประจำปีของปราสาทวัดพู
งานประจำปีของปราสาทวัดพู ถือเป็นงานประเพณีที่มีชื่อเสียงโด่งดังสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หรือวันเพ็ญเดือนสามเป็นเวลารวม 3 วัน ชาวลาวนิยมนำดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้บูชาตามจุดต่างๆ นอกจากเป็นงานบุญประเพณีแล้ว ภายในงานยังมีการออกร้านขายอาหาร การละเล่น และการแข่งขันอื่นๆ ตามความนิยมของชาวลาว จนถึงวันสุดท้ายของงานจะมีพระสงฆ์ออกมาบิณฑบาตรับข้าวปลาอาหาร และสิ่งของที่ชาวบ้านนำมาทำบุญ
ถัดจากปราสาททั้งสองหลังจะพบกับทางเดินที่มีเสานางเรียงตั้งขนานกันปรากฏอยู่อีกครั้ง หากเทียบกับระยะเวลาที่ผ่านพ้น ถือได้ว่าเสานางเรียงบางส่วนซึ่งตั้งอยู่บนทางเดินที่ทอดตัวยาวไปจรดบันไดทางขึ้นนั้นยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก ก่อนถึงบันไดชั้นแรกจะพบต้นจำปาลาวยืนตระหง่านเรียงกันอยู่ทั้งสองฝั่ง ราวกับถูกบรรจงสร้างไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้อาศัยร่มเงาของมันหลบแดด และนั่งพักเหนื่อย ก่อนเดินผ่านทางลาดชันขึ้นสู่ชั้นบน
เมื่อเดินตรงขึ้นไปอีกเพียงเล็กน้อยจะพบบันไดชั้นแรกในจำนวนทั้งหมด 3 ชั้นก่อนถึงตัวปราสาทชั้นบนสุด ชั้นที่ 2 มีซากของปรางค์สองหลังตั้งขนาบข้างกัน ส่วนทางขึ้นบันไดชั้นที่ 3 จะมีซุ้มต้นจำปาลาวเก่าแก่ 2 ต้น โน้มตัวเข้าหากันได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ทางขึ้นชั้นนี้ชันมากกว่าชั้นอื่น เพราะบันไดเป็นก้อนหินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสวางซ้อนทับกันถี่ๆ และมีหน้าแคบ เวลาเดินขึ้นไปจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ก่อนก้าวขึ้นบันได ทางด้านขวามือจะมีรูปเคารพของ “พญามกทา” (อ่านว่า มะกะทา) ขนาดเท่าคนจริงยืนตระหง่านรอรับผู้มาเยือน
บริเวณอาณาเขตชั้นที่ 3 ของปราสาทวัดพูเป็นที่ตั้งของปรางค์ประธาน หน้าประตูทางเข้าด้านซ้ายและขวาสุดมีภาพแกะสลักของทวารบาล ส่วนผนังของประตูกลางทั้งสองด้านปรากฏรูปแกะสลักอันอ่อนช้อยงดงามของนางอัปสรา รวมถึงทับหลังอีกหลายชิ้นด้วยกัน ภาพสลักลวดลายที่ประณีตวิจิตรเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ในอารยธรรมขอมโบราณได้เป็นอย่างดี
ด้วยเหตุที่ปราสาทวัดพูในอดีตเคยเป็นศาสนสถานของขอม ภายในปรางค์ประธานจึงเคยเป็นที่ตั้งของศิวลึงค์มาก่อน ต่อมาเมื่อสิ้นยุคของอาณาจักรเจนละ ชาวลาวซึ่งนับถือศาสนาพุทธได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณนี้ได้เปลี่ยนปราสาทแห่งนี้เป็นวัด แล้วนำพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานไว้ให้กราบไหว้บูชาแทน
ด้านขวาของปรางค์ประธานมีแผ่นหินขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแกะสลักเป็นรูปตรีมูรติ ที่หมายถึงเทพเจ้า 3 องค์ ผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในศาสนาฮินดู ประกอบด้วย พระพรหม พระอิศวร และพระนารายณ์ เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของชาวเจนละ ตรงพื้นด้านหน้าของตรีมูรติจะมีดอกไม้ธูปเทียนของผู้ศรัทธานำมากราบไหว้บูชาเพื่อแสดงความเคารพ
ถัดจากแผ่นหินสลักรูปตรีมูรติจะเป็นโบสถ์ไม้เก่าคร่ำคร่าที่ไร้ผู้คนอาศัย แต่มีสิ่งของจำพวกถุงใส่ภาชนะแขวนไว้ตามหัวเสาปรากฏอยู่ โดยโบสถ์นี้ใช้สำหรับเป็นที่พำนักของพระภิกษุในช่วงเทศกาลงานประจำปีของวัดพู
หลังโบสถ์ไม้เป็นเส้นทางคดเคี้ยว รายรอบครอบคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย อันเป็นที่ตั้งของก้อนหินขนาดใหญ่ ที่แกะสลักพื้นผิวลักษณะเหมือนภาพประติมากรรมนูนต่ำเป็นรูปช้าง ด้านหน้าของรูปสลักช้างนี้ไม่แตกต่างจากตรีมูรติ นั่นคือมีดอกไม้ธูปเทียนที่มีคนนำมาสักการะบูชาเช่นกัน
ถัดจากรูปสลักช้างจะพบหินจระเข้ ลักษณะของหินก้อนนี้จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อหินถูกสกัดเป็นร่องลึกรูปทรงคล้ายจระเข้ ชาวลาวมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าหินจระเข้นี้มีไว้สำหรับทำพิธีบูชายัญ รวมถึงหินแกะสลักรูปบันไดนาคที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับหินจระเข้ก็ถูกคาดเดาว่ามีไว้ใช้เพื่อการนี้เช่นกัน
ในดินแดนแห่งภูเขาและสายน้ำอย่างประเทศลาว นอกจากโบราณสถานที่สูงค่า ตระการตาอย่างปราสาทวัดพูแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นอีกมากมายที่น่าสนใจ
และคุ้มค่ากับการมาเยือน.
ที่มา www.thaiwriternetwork.com/twncolumnread.php?id=218
เพลง... ดวงจำปา |
ศิลปิน... คำภีร์
|
วันที่ 29 พ.ย. 2552
ขายดีมากครับคุณครู (พร้อมส่ง) เครื่องเคลือบบัตรA4 รุ่นSL200 เครื่องเคลือบกระดาษA4 A3 A5 ABSป้องกันการ์ด ในราคา ฿368 - ฿999 ที่ Shopeehttps://s.shopee.co.th/4VLvxbi7ho?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 7,164 ครั้ง เปิดอ่าน 7,173 ครั้ง เปิดอ่าน 7,155 ครั้ง เปิดอ่าน 7,181 ครั้ง เปิดอ่าน 7,162 ครั้ง เปิดอ่าน 7,164 ครั้ง เปิดอ่าน 7,164 ครั้ง เปิดอ่าน 7,170 ครั้ง เปิดอ่าน 7,192 ครั้ง เปิดอ่าน 7,165 ครั้ง เปิดอ่าน 7,166 ครั้ง เปิดอ่าน 7,162 ครั้ง เปิดอ่าน 7,169 ครั้ง เปิดอ่าน 7,392 ครั้ง เปิดอ่าน 9,772 ครั้ง เปิดอ่าน 7,164 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,179 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,154 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,451 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,160 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,160 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,160 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,160 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 23,721 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,967 ครั้ง |
เปิดอ่าน 17,947 ครั้ง |
เปิดอ่าน 58,428 ครั้ง |
เปิดอ่าน 5,044 ครั้ง |
|
|