Thanksgiving Day-
เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาเป็นวันขอบคุณพระเจ้าของชาวอเมริกัน
ทราบไหมคะว่า วันขอบคุณพระเจ้ามีความเป็นมาอย่างไร
Thanksgiving Day
ในประเทศอเมริกา ทุกวันพฤหัสบดีที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน
จะเป็นวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งชาวอเมริกันจะฉลองขอบคุณและสรรเสริญพระเจ้า
ที่อวยพระพรพวกเขาทั้งหลายให้มีความสุขทั้งกายและใจตลอดปีที่ผ่านมา
และนับเป็นวันสำคัญสำหรับครอบครัว
ที่จะอยู่พร้อมหน้ากันทุกคนเพื่อรับประทานอาหารเย็น
รวมทั้งพูดคุยถึงสิ่งที่ต้องการขอบคุณพระเจ้า
ตามความเป็นจริงแล้ว วันขอบคุณพระเจ้านี้
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์เลย
แต่เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์
ของการอพยพตั้งถิ่นฐานครั้งแรกในอเมริกาในปี ค.ศ. 1620
เริ่มจากชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตนเองว่า พิวริแทน (Puritans)
นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์
ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ศาสนาในประเทศอังกฤษ
ซึ่งในยุคนั้นเป็นนิกาย เชิร์ชออฟอิงแลนด์(Church of England)
ให้เป็นไปตามความเชื่อเน้นความเรียบง่ายไม่หรูหรา
ผลปรากฏว่าพวกพิวริแทน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
จนในที่สุดได้ตัดสินใจ ตั้งศาสนจักรเป็นของตนเอง
เป็นเหตุให้เหล่าขุนนางอังกฤษไม่พอใจและเริ่มทำร้าย
ประหัตประหารพวกพิวริแทนจนพวกเขาต้องหนีไปอยู่ ที่ประเทศฮอลแลนด์
ซึ่งยังได้รับปัญหาอีก จากการถูกข่มเหงรังแก สืบเนื่องมาจากศาสนา
นอกจากนี้พวกเขา ยังรู้สึกเสียใจที่ลูกหลานไม่พูดภาษาอังกฤษ
แต่ไปพูดภาษาดัทช์แทนทำให้พวกเขาคิดย้ายถิ่นฐานอีกครั้ง
ซึ่งคราวนี้พวกเขานึกถึงการย้ายถิ่นฐานไปยังดินแดนที่ไม่มีผู้ใด
สามารถมายับยั้งหรือขัดขวางการนับถือศาสนา
ตามความเชื่อ และความศรัทธาของพวกเขา
จึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศอังกฤษ
จากนั้นกลุ่มพิวริแทน พร้อมกับผู้โดยสารอื่น ๆ
ทั้งชายหญิงและเด็กจำนวน 102 คน บนเรือเมย์ฟลาวเวอร์ (Mayflower)
ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่โลกใหม่
และพวกพิวริแทน เริ่มเรียกตัวเองว่าพิลกริม (Pilgrims)
เนื่องมาจากการท่องหาดินแดนแห่งเสรีภาพทางศาสนานี้
ระหว่างการเดินทางโดยเรือ ในเดือนกันยายน เป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุด
สำหรับการแล่นเรือข้ามมหาสมุทร อย่างไรก็ตามระหว่างการเดินทาง
มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 คนเท่านั้น และมีทารกแรกเกิด 1 คน
ฉะนั้นจำนวนผู้โดยสารบนเรือยังคงมีจำนวนเท่าเดิม
หลังจาก ใช้เวลาแล่นเรือประมาณ 65 วัน
เรือเมย์ฟลาวเวอร์ ก็ได้มาจอดเทียบท่า
ที่ พรอวินซ์ทาวน์ฮาร์เบอร์ (Provincetown Harbor)
ซึ่งอยู่ในปลายแหลมเคพคอด (Cape Cod) มลรัฐแมซซาชูเสท
ผู้นำกลุ่มพิวรีแทนทั้งหลายทราบดีว่า
เพื่อการอยู่รอดในสังคมทุกๆ สังคมจำเป็นต้องมีกฎระเบียบ
สำหรับความประพฤติ อันเหมาะสม
ดังนั้นผู้ชายประมาณ 41 คน ที่อยู่บนเรือเมย์ฟลาวเวอร์
ประชุมเลือกผู้ว่าการรัฐคนแรก (The first governor)
และเซ็นสัญญาเมย์ฟลาวเวอร์ (The Mayflower Compact)
ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการข้อแรก สำหรับการปกครองตนเองในประเทศอเมริกา
หลังจากกลุ่มพิลกริมได้ใช้ชีวิตบนเรือ ประมาณ 1 เดือน
และส่งผู้ชายกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งออกไปสำรวจชายฝั่งอ่าวเคพคอด (Cape Cod)
และเมืองพลีมัธ (Plymouth)
พวกผู้ช่วยได้พบท่าเรือแห่งหนึ่ง
ซึ่งมีทรัพยากรสมบูรณ์มาก เหมาะต่อการเพาะปลูกและการประมง
จึงกลับไปที่เรือ รายงานสิ่งที่พวกเขาได้ค้นพบ
อีก 2-3 วัน ต่อมา พวกพิลกริมแล่นเรือเมย์ฟลาวเวอร์
ข้ามอ่าวเคพคอด ไปยังท่าเรือพลีมัธ
และลงเรือเล็กมาเทียบที่ชายฝั่ง บนหินก้อนใหญ่ ก้อนหนึ่ง
ในภายหลังหินก้อนนี้ได้รับการเรียกขานว่า หินพลีมัธ (Plymouth Rock)
ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการตั้งถิ่นฐาน ถาวรครั้งที่สองของชาวอังกฤษในอเมริกา
เมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่ฤดูหนาว (Winter) พวกพิลกริมต้องเผชิญกับการต่อสู้ภัยธรรมชาติ
ซึ่งยากที่จะรับมือได้เนื่องจากไม่คุ้นเคยและไม่ได้รับการฝึกฝนทนกับความหนาวเย็น
การใช้ชีวิตในป่าดงพงไพร อันเต็มไปด้วยโรคต่าง ๆ การทำงานหนัก
ตลอดจนอาหารมีไม่เพียงพอ พวกเขาจึงได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมาก
จนถูกคร่าชีวิตไปกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อสิ้นสุดฤดูหนาว
จำนวนผู้รอดชีวิตเหลืออยู่แค่ 50 คนเท่านั้น
ในเช้าวันหนึ่งของฤดูใบไม้ผลิอันเป็นฤดูกาลถัดจากฤดูหนาว ชายชาวอินเดียนแดงคนหนึ่ง
เดินเข้ามาในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของพลีมัธ และแนะนำตัวเองอย่างเป็นมิตร ซึ่งในเวลาต่อมา
เขาได้นำหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง ชื่อแมสซาซอยท์ (Massasoit)
นำของกำนัลต่างๆ มามอบให้พวกพิลกริม และยังเสนอความช่วยเหลืออีกด้วย
โดยสมาชิกในเผ่าของแมสซาซอยท์ได้สอน วิธีการล่าสัตว์ จับปลาและปลูกพืช
ให้กับพวกพิลกริม นอกจากนี้ยังสอนวิธีการใช้ปลา เป็นปุ๋ยสำหรับปลูกข้าวโพด ( corns)
ฟักทอง(Pumpkins) และถั่ว (Beans) มีผลให้พวกพิลกริม
สามารถเก็บเกี่ยว พืชผลได้อย่างดีมาก
ผู้ว่าการวิลเลี่ยม แบรดฟอร์ด (William Bradford) เจริญรอยตามแบบแผนประเพณีเก่าแก่
ที่เคยปฏิบัติกันมา ได้กำหนดวันเพื่อขอบคุณพระเจ้าในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1621
และยังได้ใช้โอกาสทางศาสนานี้ สร้างสายสัมพันธ์ อันดีงาม ระหว่างพวกพิลกริม
และเพื่อนบ้านชาวอินเดียนแดงเหล่านั้น
ด้วยเหตุนี้ผู้ว่าการวิลเลี่ยมจึงเชื้อเชิญหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง
นายแมสซาซอยท์ และผู้กล้าของเขา
ให้มาร่วมงานสังสรรการเฉลิมฉลองวันขอบคุณพระเจ้านี้
ซึ่งชาวอินเดียนแดงรับคำเชิญ ด้วยความยินดี และส่งเนื้อกวางมาร่วมงานเลี้ยง
ชายฉกรรจ์พิลกริมทั้งหลายจึงออกไปล่าสัตว์
และกลับมายังที่พักพร้อมกับไก่งวง (Turkey)
และสัตว์ป่าอื่นๆ ส่วนผู้หญิงเตรียมอาหารอร่อยๆ ซึ่งทำมาจากข้าวโพด
ลูกเเครนเบอรี่ (Cranberry) ผลสควอช (Squash) และฟักทอง
อาหารมื้อเย็นสำหรับขอบคุณพระเจ้าครั้งแรกเสร็จเรียบร้อย
และถูกนำมาเสิร์ฟนอกบ้าน รวมทั้งกองไฟกองใหญ่ ที่ก่อขึ้น
เพื่อให้ผู้จัด (Hosts) และแขกผู้มาเยือน (Guests)
รู้สึกอบอุ่น ถึงแม้ว่าเป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงก็ตาม
รวมจำนวน ของผู้มาร่วมงานเลี้ยงขอบคุณพระเจ้าครั้งแรกประมาณ 90 คน
และการฉลองนี้ใช้เวลานานถึง 3 วัน
ในวันแรกของงานเลี้ยง พวกอินเดียนแดงใช้เวลาหมดไปกับการกิน
ส่วนวันที่สองและสามพวกเขาใช้เวลาต่อสู้แบบมวยปล้ำ
วิ่งแข่ง ร้องเพลงและเต้นรำกับ คนหนุ่มสาว
ในอาณานิคมพลีมัธ นับเป็นงานเลี้ยงที่ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง
ประเพณีการฉลองวันขอบคุณพระเจ้าของคนอเมริกัน ในยุคปัจจุบัน มีที่มาจากการฉลอง
วันขอบคุณพระเจ้าครั้งแรกดังกล่าว ดังนั้นอาหารหลักบนโต๊ะอาหารในวันนี้ซึ่งถือเป็นอาหาร
ประจำเทศกาลขอบคุณพระเจ้า จะมี ไก่งวงอบยัดไส้ (Roasted turkey with stuffing)
ผลสควอช ขนมปังข้าวโพด (Corn bread) และซอสแครนเบอร์รี่ (Cranberry sauce)
พายฟักทอง (Pumpkin pie) เช่นเดียวกับอาหารที่หาและเก็บเกี่ยวได้ ในยุคสมัยนั้น
ทุก ๆ ปีชาวอเมริกันประมาณห้าแสนคน จะเดินทางไปเยี่ยมชมเมืองพลีมัธ
ซึ่งกลายเป็นเมืองนำสมัยที่ยกย่องเทิดทูนอดีตกาล
ยุคแรกเริ่มของชาวอเมริกันที่นี่ นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมเรือเมย์ฟลาวเวอร์สองได้
ซึ่งเป็นเรือที่สร้างเลียนแบบเรือเมย์ฟลาวเวอร์จริง
เยี่ยมชมหินพลีมัธ และใช้เวลาเดินชมหมู่บ้านจำลองของพวกพิลกริมในสมัยแรกเริ่ม
ซึ่งจะได้เห็นการดำเนินชีวิตจริง ในยุคนั้น
ชาวอเมริกันรุ่นใหม่ รู้สึกภาคภูมิใจและทนงในบรรพบุรุษ
ที่มีความกล้าหาญของพวกเขาเหล่านี้
ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อยมาก
ถ้าเทียบกับมาตรฐานการ ดำเนินชีวิตในปัจจุบัน
แต่พวกเขายังรู้สึกขอบคุณสำหรับสิ่งที่ได้รับอันมีคุณค่าอย่างยิ่ง
หาใดมาเปรียบได้นั่นก็คือการเก็บเกี่ยวพืชผลที่ดี
เสรีภาพในการดำเนินชีวิตและสักการะบูชาตามความเชื่อ
และปรารถนาของพวกเขาเอง
Tags: history, Thanksgiving