Advertisement
ตำนานของคน 7 คน กับ "แปลน" ที่เปลี่ยนไปแล้ว
"ตำนานของคน 7 คน กับ "แปลน" ที่เปลี่ยนไปแล้ว"
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
จาก นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2539
ประวัติศาสตร์ทางการเมืองเมื่อช่วงปี 2516 ก่อให้เกิดผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแปลนกรุ๊ป บริษัทที่มีวัตถุประสงค์ให้ธุรกิจของตนดำเนินไปพร้อม ๆ กับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
7 ผู้เริ่มก่อตั้งประกอบไปด้วยวิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ครองศักดิ์ จุฬามรกต ธีรพล นิยม อำพล กีรติบำรุงพงศ์ เดชา สุทธินนท์ สันติพงษ์ ธรรมธำรง และพิมาย วิระพรสวรรค์
ชีวิตภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อนกลุ่มนี้ มาเปิดร้านขายหนังสือที่หัวมุมซอยสุขุมวิท 23 แน่นอนในร้านหนังสือเล็ก ๆ แห่งนี้ต้องเต็มไปด้วยหนังสือด้านความคิดทางสังคม มุมหนึ่งของร้านก็รับงานออกแบบไปด้วย เมื่อช่วง 6 ตุลาคม 2519 หนังสือทางด้านความคิดถูกสั่งห้ามขาย ร้านเลยจำเป็นต้องปิดไป มาเปิดเป็นบริษัทอย่างจริงจังเมื่อปี 2523 บริษัทแรกที่ตั้งคือ แปลน อาคิเต็ค
วัตถุประสงค์หลักในการทำบริษัทตอนนั้นก์คือต้องการทำธุรกิจที่มั่นคงเพื่อเลี้ยงชีพ โดยผลกำไรที่ได้ส่วนหนึ่งจะต้องเอาไปทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม และเนื้องานต้องมีคุณภาพในเชิงสร้างสรรค์
16 ปีผ่านไปแปลนกรุ๊ปได้ขยายบริษัทอย่างต่อเนื่องถึง 15 บริษัท มีพนักงานรวมกันนับ 1,000 คน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท
ลักษณะการขยายงานของบริษัทแปลนในช่วงที่ผ่านมาก็จะแตกต่างจากองค์กรอื่น ๆ ตรงที่ว่าในขณะที่บริษัทอื่น ๆ จะขยายงานตามภาวะของความต้องการของตลาด โดยมองดูว่าธุรกิจใดทำกำไรสูงสุดก็เปิดบริษัทขึ้นมารองรับโกยเงิน ในธุรกิจนั้น ๆ ไปซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุดในการทำสงครามเศรษฐกิจ
แต่แปลนขยายตัวในทิศทางที่ต่างกันหลายบริษัทของกลุ่มแปลน เกิดขึ้นมาได้เพราะผู้นำมองศักยภาพของคนเป็นหลักเมื่อใครอยากขยายศักยภาพของตนก็เปิดโอกาสสนับสนุน
ดังนั้น ธุรกิจกลุ่มหลักของแปลนบางสายจึงอาจจะไม่ได้เกี่ยวเนื่องกันอย่างเช่น การตั้งบริษัทแปลนกราฟฟิคขึ้นมาเมื่อปี 2524 เป็นเพราะมีรุ่นน้องที่จบด้านออกแบบอยากทำงานด้านนี้เลยตั้งบริษัทขึ้นมา และเมื่อปี 2525 ก็ตั้งบริษัทแปลนพับลิชชิ่งทำหนังสือรักลูกขึ้นมา
หนังสือรักลูก มีสุภาวดี หาญเมธี (ภรรยาของเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ อดีตผู้นำนักศึกษา) มาเป็นบรรณาธิการอำนวยการ ก่อนหน้านี้สุภาวดีทำงานอยู่ที่มูลนิธิเด็ก ซึ่งมีความสนใจเรื่องเด็กและเรื่องสถาบันครอบครัวอยู่แล้ว
ทั้งแปลนกราฟฟิค และหนังสือรักลูกอาจจะไม่เกี่ยวกับงานของแปลนอาคิเต็ค แต่มันคือการเปิดโอกาสให้คน โดยยังคงผูกพันเกี่ยวรัดกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัท เพราะเนื้อหาของงานมีประโยชน์ต่อสังคม และต้องอยู่ได้ทางเศรษฐกิจเอง
แต่ร้านตัดเสื้อ "วิท วิท" ร้านเสื้อสวย แสนหวานที่ในสังคมไฮโซรู้จักกันดี ว่าทั้งสวย ทั้งแพงนั้น ออกจะแตกต่างออกไป แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเกิดขึ้นได้เพราะ พิมายและสันติพงษ์ เรียนจบทางด้านสาขาออกแบบอุตสาหกรรม และมีความชอบทางด้านนี้ ปัจจุบันร้านวิท วิทหยุดกิจการไปแล้วเมื่อปี 2535 โดยพิมายได้ติดตามสามีคือวิฑูรย์ไปอยู่ที่จังหวัดตรัง สันติพงษ์ ไปทำงานที่มูลนิธิสานแสงอรุณ
หรือแม้แต่การเป็นผู้บุกเบิกการตั้งบริษัทผลิตเครื่องเล่นทางด้านการศึกษาของเด็ก คือบริษัทแปลนครีเอชั่น และแปลนทอยนั้นก็เกิดขึ้นเพราะ วิฑูรย์จบทางด้านอินดัสเตรียล ดีไซน์ เลยต้องการทำของเล่นเพื่อการศึกษาของเด็ก
ส่วนธุรกิจดั้งเดิมของแปลนในสายสถาปัตยกรรม ก็ได้รับการขยายตัวจนครบวงจร มีบริษัทที่อยู่ในสายธุรกิจนี้ 5 บริษัท มีขอบเขตการดำเนินการทำธุรกิจและการให้บริการในโครงการสถาปัตยกรรม นับตั้งแต่เป็นที่ปรึกษาโครงการทางด้านการลงทุน วางผังออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคาก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้าง
ทุกวันนี้ รายได้หลักของแปลนกรุ๊ปมาจาก 3 บริษัทหลัก ๆ คือบริษัทแปลนทอย บริษัทแปลนอาคิเต็ค และบริษัทแปลนเอสเตท
โดยเฉพาะแปลนทอยนั้นในปี 2537 สร้างผลกำไรประมาณ 37 ล้านบาท ส่วนแปลนเอสเตทนั้นตัวเลขปี 2537 ขาดทุนหุ้นละ 4 บาท แต่ปี 2536 ได้กำไรประมาณ 24 ล้านบาท
ทั้ง 7 คนนั้นมีข้อตกลงที่ต่อเนื่องจากวัตถุประสงค์หลักเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผลกำไรที่แต่ละคนถือหุ้นอยู่ในบริษัทในเครือทุกบริษัท จะต้องจัดสรร 60% มาเป็นส่วนกลางเพื่อนำไปทำกิจกรรมทางสังคม ที่เหลืออีก 40% จะนำมาเฉลี่ยเป็นส่วนตัวของแต่ละคน
กิจกรรมทางสังคมที่เป็นรูปธรรมในการใช้เงินส่วนนี้เป็นทุนในการดำเนินงานก็คือมูลนิธิสานแสงอรุณ
ณ วันนี้ในองค์กรของแปลนนับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการทำธุรกิจ แต่อีกด้านพวกเขากำลังสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง
แปลนอาคิเต็คซึ่งเคยเป็นผู้นำในการออกแบบและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในวงการสถาปนิกเป็นสิ่งที่เขาได้รับการยอมรับมาตลอดการทำงานที่อิสระทำให้เขาได้สร้างสรรค์สิ่งที่ดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับวงการ
แต่พวกเขาต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงและหาวิธีการให้สิ่ง 2 สิ่งดำเนินไปด้วยกันอย่างสวยงาม จะทำอย่างไรให้มันมีความพอดีที่พบกันครึ่งทางไม่ใช่ยอมให้ธุรกิจนำไปสุดกู่ อย่างเช่นในแง่ของสถาปนิก จำเป็นต้องเขียนแบบให้มีที่ว่างมากขึ้นแต่จะทำอย่างไรให้ที่ว่างนั้นเป็นจุดขายของโครงการได้
ที่สำคัญอาคิเต็คของบริษัทก็ต้องมีความรู้ทางธุรกิจเข้ามาช่วยเช่นกัน ต้องวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจ เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นแล้วนำมาดัดแปลงให้เข้ากับโปรดักส์
มีบ้างเหมือนกันที่คนของแปลนบางคนทนความอึดอัดในเรื่องนี้ไม่ได้ และได้ลาออกไปตั้งบริษัทใหม่เพื่อสร้างองค์กรใหม่เช่นเดียวกับแปลนกรุ๊ปในจุดเริ่มต้น แต่กระแสความรุนแรงของธุรกิจที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทใหม่ ๆ พวกนั้นประสบปัญหาเช่นกัน
ธีรพลเขาเคยเขียนถึงความรู้สึกที่มีต่อบริษัทซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว ในวารสารแปลน เมื่อประมาณปี 2531 ว่า
"สำนักใหญ่ขึ้นต้องรับผิดชอบมากขึ้น ก็ย่อมมีแรงเสียดทานมากขึ้น จะทำศึกด้วยกลยุทธ์เก่า ๆ หาได้ไม่ เมื่อเกิดความผันตัวอย่างรวดเร็วแน่นอน อาหมวย แลซือตี๋ ซือเฮีย ล้วนต้องรู้สึกกดดัน ว้าวุ่น เหงา หนาว เป็นธรรมดา ใช่แล้วเราต้องบีบตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทั้งหลายต้องยกระดับ สำนักเราจึงจะแคล้วคลาดและพัฒนาขึ้น"
ในช่วงนั้นธีรพลเรียกร้องให้บรรดาขุนพลของเขาปรับตัวโดยการพัฒนา "ความคิด" ของตนเอง
องค์กรที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลานั้นได้สร้างปัญหาหลักในเรื่องการสื่อสารในองค์กร และปัญหาของการเตรียมบุคลากรรวมทั้งวัฒนธรรมที่ดีขององค์กร ที่มีความเคยชินในการทำงานแบบพี่น้องผองเพื่อนนั้นทำให้ก่อให้เกิดความอะลุ้มอล่วยกันสูง ระบบต่าง ๆ ที่วางไว้ในองค์กรจึงค่อนข้างหย่อนยาน
แปลนกรุ๊ป ต้องเน้นในเรื่องการพัฒนาองค์กรภายในเน้นการสื่อสารในองค์กรให้มีความเข้าใจมากขึ้นตั้งแต่นั้นมาโดยให้ความสำคัญของคนมากกว่าระบบ เพราะคนคือผู้ใช้ระบบ
ในปี 2533 ผู้บริหารของแปลนต้องทำการสำรวจองค์กรของตนอีกครั้งพร้อมทั้งพยายามหาข้อสรุปว่าทำอย่างไรที่จะให้คนในองค์กรทำงานอย่างมีความสุข
การออกไปใช้ชีวิตร่วมกันในต่างจังหวัด ด้วยวิธีการออกค่ายนั้นแปลนหวังว่าจะลดปัญหาความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง แต่โครงการนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปในระยะเวลาต่อมา
ในปี 2536 ก็ได้มีการผ่องอำนาจครั้งสำคัญในองค์กรของแปลน คณะกรรมการกลุ่มแปลนได้มีการปรับเปลี่ยนจากผู้ร่วมก่อตั้ง 7 คน เพิ่มเป็น 12 คนประกอบไปด้วยกรรมการผู้จัดการของแต่ละบริษัทร่วมกับผู้อำนวยการสำนักบัญชีกลางโดยมีธีรพลเป็นประธานกลุ่ม
ปัจจุบัน ธีรพลกับอำพลจะรับผิดชอบหลักในสายสถาปัตย์ เดชา ดูแลในสายสื่อและพิมพ์ ส่วนวิฑูรย์รับผิดชอบในสายอุตสาหกรรม ส่วนคนอื่น ๆ ที่เหลือไม่ได้ลงมาบริหารงานเองแล้ว แต่ทั้ง 7 คนยังพบกันอยู่เสมอในฐานะกรรมการมูลนิธิแสงอรุณ
"ผู้ก่อตั้งหลายคนไปอยู่ป่าเขา พอมาเจอกันทีก็คุยกันเรื่องต้นไม้" ธีรพลกล่าว
ถึงแม้คนรุ่นหนึ่งกำลังถอยออกมาก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดและปรัชญาดั้งเดิมในการทำธุรกิจของแปลนกรุ๊ปจะเปลี่ยนเปลงไป ธีรพลเชื่อมั่นว่าคนรุ่นหลังของแปลนยังสานต่อเจตนารมณ์ดั้งเดิมของบริษัทต่อไปได้ เพราะที่ผ่านมาองค์กรของแปลนยึดมั่นในการทำงานเป็นทีม และสร้างสรรค์วัฒนธรรมขององค์กรร่วมกันมาตลอด เขามั่นใจว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติที่เป็นจริง ย่อมสามารถดำรงอยู่และปรับตัวพัฒนาให้แข็งแรงไปกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้"
คนของแปลนในรุ่นต่อไปคือผู้ที่จะพิสูจน์ความจริงของความคิดนี้
|
ธุรกิจสถาปนิกเดินหน้าด้วย "ไอเดีย" จุดเริ่มต้นไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุน แปลนอาคิเตคเริ่มต้นด้วยมันสมองของคน 7 คนรวมกัน ค่อย ๆ สะสมทุนจากไม่มีเลย จนถึงวันนี้ธุรกิจของพวกเขามีสินทรัพย์แล้วประมาณ 50 ล้านบาท ท่ามกลางการขยายธุรกิจออกไปหลายแขนงอันเกี่ยวข้องกับการออกแบบ และสิ่งสวย ๆ งาม ๆ
พวกเขารวมตัวกันครั้งแรกที่คณะสถาปตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พวกเขาประกอบด้วย ธีรพล นิยม ครองศักดิ์ จุฬามรกต วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ อำพล กีรติบำรุงพงษ์ สันติพงษ์ ธรรมธำรง เดชา สุทธินันท์ และพิมาย วิระพรสวรรค์ (ภรรยาวิฑูรย์)
"สำนักงานสถาปนิกครั้งแรกตั้งอยู่ที่บ้านแม่ยายผม แถว ๆ บางโพ ผมสร้างเป็นเรือนหอเล็ก ๆ เพียง 7-8 หมื่นบาท" ธีรพล นิยม 1 ใน 7 ผู้ก่อการกล่าว
การรวมตัวครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากจบการศึกษากันมาแล้ว 3 ปี เวลาที่เสียไปเพราะธุรกิจขายหนังสือซึ่งเริ่มต้นรวมตัวกันนอกมหาวิทยาลัย ครั้งแรกเมื่อ ปี 2517
พวกเขาล้วนเป็นเด็กบ้านนอก ส่วนใหญ่บ้านเกิดอยู่ปักษ์ใต้ ล้วนเรียนหนังสือเก่ง ๆ และปีท้าย ๆ ของการเรียนในมหาวิทยาลัยพวกเขาเป็นนักกิจกรรมจึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ส่งผลดีต่อการทำงานในเวลาต่อมา
ปี 2520 เริ่มตั้งสำนักงานสถาปนิกได้งานครั้งแรกที่จังหวัดชุมพรออกแบบก่อสร้างโรงแรมภราดรอินน์ มูลค่าก่อสร้าง 38 ล้านบาท "คุณครองศักดิ์ มีพื้นเพที่ชุมพรจึงได้งานเพราะคนรู้จักกัน เป็นงานที่พวกเขาตัดสินใจเริ่มต้นรวมตัวกันตั้งสำนักงาน" เพื่อนสนิทพวกเขาคนหนึ่งบอก
"เราคิดกันว่าในเมืองน่าจะมี ทาวน์เฮ้าส์ เป็นบ้านซึ่งไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เสียค่ารถ เราออกแบบ พีเอส ดีเวลล็อปเมนท์เป็นเจ้าของโครงการ ทำกันหลายโครงการ" ธีรพล เล่าว่าเป็นจุดที่พวกเขาได้งานมากขึ้น เพราะเป็นเจ้าของ "ไอเดีย" ทาวน์เฮ้าส์ครั้งแรก ๆ ในกรุงเทพฯ
โครงการเหล่านั้นได้แก่ ศาลาแดงทาวน์เฮ้าส์ มูลค่า 5 ล้านบาท แสงเงินทาวน์เฮ้าส์ มูลค่า 6 ล้านบาท สันติสุขทาวน์เฮ้าส์มูลค่า 8 ล้านบาทเป็นต้น
ในระยะแรก ๆ งานของพวกเขาที่ได้จะมาจาก 2 ทาง เริ่มต้นที่ต่างจังหวัดกับงานขนาดย่อมในกรุงเทพฯ ในปีที่ 3 พวกเขากระโดดไปหากินถึงสิงคโปร์ซึ่งถือเป็นการฝึกฝนวิทยายุทธครั้งสำคัญ
ปี 2522 ธุรกิจเริ่มปักหลักและแตกแขนงในเวลาเดียวกัน จดทะเบียนบริษัทแปลนอาคิเตคอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันก็ตั้งบริษัทแปลนดีเวลล็อปเมนท์ ร่วมโครงการพัฒนาที่ดิน สร้างและจัดสรรทาวเฮ้าส์ ธีรพลยอมรับว่าจุดนี้เป็นจุดก้าวกระโดดในการสะสมทรัพย์สิน และขยายตัวออกไปอย่างมาก "ถึงแม้มีเงินพวกเราใช้เงินอย่างประหยัด เงินเดือนเพียงคนละ 2,500 บาท ได้แค่นี้อยู่หลายปี"
ในช่วงนี้แปลนอาคิเตคมีรายได้และกำไรเป็นล้านๆ บาทแล้ว!
"เราพยายามขยันทำงานและตรงไปตรงมากับคนที่ใช้บริการเรา ผมว่ามันเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เรามีเครดิต เราก็ได้รับความไว้วางใจเราทำโครงการ REAL ESTATE กำไรเป็นของเราค่าที่ดินเป็นของเขา" ธีรพลคุย
หลังจากปี 2522 เป็นต้นมา แปลนอาคิเตคก็ได้ขยายกิจการและแตกแขนงออกไปหลายทางมากขึ้น ตั้งแต่ REAL ESTATE MANAGEMENT (แปลนดีเวลล้อปเมนท์) บริษัทแปลนทอย (เดิมชื่อแปลนครีเอชั่น) ผลิตของเด็กเล่นส่งออก ซึ่งเพิ่งจะขยายกิจการลงทุนเพิ่มเกือบ 20 ล้านบาททั้งได้รับการส่งเสริมจาก บีโอไอ. และกู้เงินจาก ไอเอฟซีที. เมื่อไม่นานมานี้ด้วย บริษัทแปลนกราฟฟิค (เดิมชื่อกราฟฟิค อินเตอร์ฯ) ผลิตสิ่งพิมพ์รายงานประจำปี ปฏิทิน และไดอารี่ต่าง ๆ ในงานที่เรียกว่า GRAPHIC DESIGN ธุรกิจที่ใกล้เคียงกันนี้คือ บริษัทแปลน พับลิชชิ่ง ดำเนินงานหนังสือรักลูกและโรงพิมพ์แปลนพริ้นติ้งเฮ้าส์
นอกจากนี้ยังเปิดร้านเสื้อผ้า-วิทวิทที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง และสยามเซ็นเตอร์
"แปลนอาคิเตคและแปลนทอย ดูจะไปได้ดีกว่ากิจการอื่นๆ" ผู้ใกล้ชิดกลุ่มนักธุรกิจหนุ่มกลุ่มนี้ตั้งข้อสังเกต
"เรา DIVERSIFIED ออกไปก็เพื่อมารองรับบริษัทออกแบบแปลนอาคิเตคของเรา ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสให้คนของเราฝึกฝนพวกเขาขึ้นมา อีกประการหนึ่งเราคิดว่างานบริการ (ออกแบบ) ในอนาคตจะหาเงินมากๆ ลำบาก เราเลยต้องลงทุน เพื่อให้ได้เงินมามากๆ และเป็นกิจการที่มีคุณภาพ ซึ่งก็นับว่าโชคดี" ธีรพลร่ายยาว
ถึงไม่บอกชัดก็พอจะทราบว่าพวกเขาเริ่มทำธุรกิจเป็น หลังจากเดินเครื่อง DIVERSIFIED ธุรกิจ
"พวกเราพยายามทำความเข้าใจธุรกิจตอนต้น ๆ ก็ไปเชิญเพื่อน ๆ ที่เรียน MBA มา LECTURE ไม่งั้นเราไม่รู้เรื่องเหมือนกัน" ธีรพล แจงถึงพัฒนาการของพวกเขาที่มาจาก ACTIVIST มีความคิดทางการเมือง และมีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่มุ่งไปทางพัฒนาคนและเพื่อสังคมมากไปในระยะแรกๆ "บางบริษัทเราไม่ตั้งเป้าหมายเพื่อกำไรสูงสุดเช่นบริษัทผลิตหนังสือ เรารู้สึกว่าหนังสือจะเป็นสื่อให้อะไรกับสังคมได้บ้าง"
ปี 2525-2527 เป็นช่วงที่แปลนอาคิเตคได้งานมาก ได้รับรางวัลออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น วงการนี้ยอมรับว่าแปลนอาคิเตคเป็นท็อปเท็น
โครงการใบหยกทาวเวอร์ อาคารสูงที่สุดในกรุงเทพฯ มูลค่า 280 ล้านบาทสำนักงานใหญ่ ปตท. มูลค่า 400 ล้านบาท ชาญอิสระทาวเวอร์มูลค่าก่อสร้าง 150 ล้านบาท ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือออกแบบของพวกเขา
แปลนอาคิเตคได้รับรางวัลออกแบบดีเด่นตากอาคารคอนโดมิเนียม "สิทธาคาร" ศูนย์เรียนรวมแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน เป็นต้น
ความสำเร็จของพวกเขาเกิดขึ้นจาก "มันสมอง" ของพวกเขาโดยแท้!
สถานการณ์ธุรกิจสถาปนิกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก มีการแข่งขันกันมากขึ้น การ DIVERSIFIED สู่ธุรกิจอื่น ๆ ของพวกเขาที่ดำเนินการและวางรากฐานมาประมาณ 5 ปีก่อนจึงเป็นการมองการณ์ไกล
ลักษณะการบริหารของแปลนกรุ๊ปเริ่มจากคณะกรรมการ 7 คนเป็นผู้กุมนโยบายและแผนงาน โดยแบ่งงานให้กรรมการแต่ละคนรับผิดชอบโดยตรง อาทิ ธีรพล รับผิดชอบแปลนอาคิเตค แปลนดีเวลล็อปเมนท์ วิฑูรย์รับผิดชอบแปลนทอย พิมายบริหารร้านเสื้อผ้าวิทวิท เป็นต้น "แต่ละบริษัทเราพยายามให้มีแผนงาน มีระบบงบประมาณ จะได้รู้ว่ากองกลางจะสนับสนุนการเงินอย่างไร คณะกรรมการบริหารของกลุ่มประชุม 3 เดือน/ครั้ง" ธีรพลเล่าและว่าแปลนกรุ๊ปให้ความสำคัญของการประชุมมากถึง 30% ของการทำงานทีเดียว" แต่หากมีปัญหาใหญ่ก็จะเปิดประชุมทันที ซึ่งมันไม่ค่อยเกิด"
จุดเด่นของแปลนกรุ๊ปจึงอยู่ตรงที่คณะกรรมการสามัคคีกัน ถึงมีความเห็นขัดแย้งกัน ก็สามารถแก้ตกในที่ประชุมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ออกมาระเบิดนอกห้อง อย่างไรก็ตามบางคนของพวกเขาก็ยอมรับความอะลุ้มอล่วย เป็นจุดอ่อนในการบริหารของแปลนกรุ๊ป
"แต่ละบริษัทจะต้องทำงบประมาณของตัวเองขึ้นมา ถ้าไม่พอ จำเป็นต้องใช้เงินเราก็จะประชุมคณะกรรมการกลุ่มว่าเรามีเครดิตไลน์ที่ไหน หรือถ้าไม่พอจะทำอย่างไร จะชวนคนมาร่วมหุ้นหรืออย่างไร เรามีสมุห์บัญชีคนหนึ่ง ไม่ใช่ 7 คนนี้นะเรียก FINANCE DIRECTOR และจะมีนักบัญชีรับผิดชอบแต่ละบริษัทขึ้นต่อ FINANCE DIRECTOR ส่วนการวางแผนด้านการเงินในลักษณะด่วนมาก ผมจะทำโดยปรึกษากับเพื่อน ๆ ก่อน" ธีรพล ในฐานะรับผิดชอบด้านการเงินของกรุ๊ปโดยตรงกล่าว
แปลนกรุ๊ปค่อนข้างโชคดีที่ได้รับการยอมรับจากธนาคารพาณิชย์ไม่ยากเหมือน YOUNG ENTREPRENUER คนอื่น ๆ เพราะผลงานเป็นที่ประจักษ์ และจับต้องได้" เขามีฝีมือเป็นที่ยอมรับในวงการธุรกิจออกแบบก่อสร้าง และของเล่นเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ แล้วเสี่ยงน้อยกว่า" คนวงการธนาคารแสดงความเห็น
แปลนเริ่มกู้เงินธนาคารในยุคที่ CONDOMINEUM บูมในปี 2524-25 ซึ่งธุรกิจของเขาได้งานออกแบบชนิดนี้ในระดับแนวหน้า
แปลนกรุ๊ปย้ายออกจากบ้านแม่ยายของธีรพลมาเช่าอาคารที่สีลม และเมื่อต้นปี 2529 นี้เอง คณะกรรมการได้ตัดสินใจโยกย้ายแผนกงานต่างๆ มาอยู่อาคารสำนักงานที่เพิ่งสร้างเสร็จของตนเองบนเนื้อที่เช่า "เราก็ใช้เงินธนาคารไทยพาณิชย์มาสร้างค่าก่อสร้างประมาณ 8 ล้านบาท" ผู้บริหารคนหนึ่งบอก
หากใครผ่านซอยศึกษาวิทยา บริเวณป่าช้าซึ่งเป็นบริเวณสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยจะดีนักจะพบอาคารสถาปัตยกรรมแปลก ๆ นั่นคือสำนักงานใหญ่ของแปลนกรุ๊ปทุกวันนี้ พวกเขาตั้งใจจะทำซัพพลีเมนท์โฆษณาตนเองในหนังสือพิมพ์เหมือน ๆ ธุรกิจอื่น ๆ เช่นกัน
พวกเขาเป็นแบบฉบับของคนหนุ่มสมถะมาก ๆ ทุกคนแทบจะไม่มีใคร "แยกวง" ตั้งธุรกิจต่างหาก ยกเว้นธีรพลซึ่งเป็นที่ปรึกษาบริษัททำ REAL ESTATE แห่งหนึ่งและมีหุ้นในกิจการปั๊มน้ำมันในสหรัฐฯ ส่วนอื่น ๆ ยังรวมกันอยู่ใน "กงสี" นี้โดยทั้ง 7 คนมีเงินเดือนเท่ากันประมาณ 2 หมื่นบาท พวกเขาเป็นศิลปินชอบเดินทางชอบท่องเที่ยวและเล่นกีฬา
ปัญหาธุรกิจของพวกเขาที่สำคัญคือการตลาด อาทิหนังสือรักลูกเคยขาดทุนมาก ๆ ถึง 2 ล้านบาท ต้องพยายามพยุงฐานะจนดีขึ้นในปัจจุบัน ร้านอาหารก็เคยประสบปัญหาขาดทุนเรียบร้อย 2 ล้านต้องเลิกไป
และอุตสาหกรรมของเล่นเด็กซึ่งประสบปัญหาในช่วงแรก ๆ
"เราลงทุนช่วงต้น ๆ 4-5 ล้านบาท มันเป็นของใหม่ และไม่เคยทำเรื่องการตลาดมาก่อนเลย กว่าจะทำให้ยอดขายกระเตื้องขึ้นก็ใช้เวลาถึง 3 ปี สายป่านเกือบหมด" ธีรพลยอมรับ
การแก้ปัญหาต้องระดมความคิดกัน!
คนที่ทำเรื่องการตลาดมากที่สุดเห็นจะได้แก่วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการแปลนทอย
"เรื่องออเดอร์ที่เราผลิตไม่ทัน เราก็ต้องบอกเขาตรง ๆ หรือเราบอกเขาตรง ๆ ว่าตอนนี้ผมจะให้คุณครบ แต่เราไม่มั่นใจว่าจะควบคุมคุณภาพได้หรือไม่ ทำให้เขามั่นใจเรามากขึ้น เราไม่ทำธุรกิจแบบตีหัวเข้าบ้าน เขารู้ว่าเรารับผิดชอบ...เราภูมิใจมากที่สุดที่ขายให้ญี่ปุ่นได้ เพราะญี่ปุ่นขายยากที่สุด" วิฑูรย์ เคยกล่าวถึงยุทธวิธีการตลาดของเขาบางส่วนในนิตยสารรายเดือนฉบับหนึ่ง
ธีรพลกล่าวว่าปัจจุบันแปลนกรุ๊ปมีกิจการแตกออกไปหลายประเภท แนวคิดต่อไปของพวกเขาก็คือสร้างคุณภาพของกิจการ มากกว่าจะขยายกิจการใหม่ ๆ เขาเชื่อว่าถึงแม้กิจการสถาปนิกจะต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต่างประเทศพาเหรดเข้ามา แต่กิจการที่ขยายไปมากวันนี้ลดความเสี่ยงได้มาก
"เราขยายกิจการไปแล้วสร้างคนทำงานไม่ทันเมื่อธุรกิจใหญ่การประสานงานต้องทำมากขึ้น เราพยายามให้ผู้ร่วมงานมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทเรามากขึ้น จนถึงวันนี้มีผู้ถือหุ้นเดิมขายให้เพื่อนร่วมงานไปมากแล้ว" ธีรพล นิยมกล่าวตอนท้าย
วันที่ 29 พ.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,185 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,168 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 9,124 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 9,666 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,952 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,890 ครั้ง |
เปิดอ่าน 18,015 ครั้ง |
เปิดอ่าน 33,197 ครั้ง |
|
|