“นักวิชาการ” ชำแหละ หลักสูตรเพศศึกษาไทย ต้องจัดใหม่ เหตุหลักสูตรอ่อน ขาดแคลนครูสอนได้จริง ถูกจับรวมวิชาสุขศึกษาจนเด็กไม่เข้าใจเอาไปใช้จริงไม่ถูก พบวัยรุ่น วุฒิภาวะน้อย ไม่เข้าใจตัวเอง แนะพ่อแม่ ครู เปิดใจรับฟังเด็กอย่ามีอคติ ช่วยได้
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ในการประชุมเรื่อง “เพศวิถีศึกษากับ เพศวิถีปฏิบัติในสังคมไทย ครั้งที่ 2” จัด โดยศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ
นายธวัชชัย พาชื่น เจ้าหน้าโครงการองค์การแพธประเทศไทย(PATH Thailand) กล่าวถึงการศึกษาเรื่อง “เห็นแล้วอยากมีลูกไหม?” เพศศึกษาในระบบการศึกษาไทยว่า จากประสบการณ์การทำงานติดตามและสนับสนุนการจัดกระบวนการ เรียนรู้เพศศึกษารอบด้านสำหรับเยาวชนในโครงการ “ก้าวอย่างอย่างเข้าใจ” ภายใต้โครงการ “ACHIEVED” ของ โครงการกองทุนโลก ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข โดยพบว่า การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนยังไม่ครอบคลุมทุกด้านไม่สามารถพัฒนาองค์ความรู้ของเด็ก เยาวชนได้มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเยาวชนเรื่องเพศให้เข้าใจอย่าง ถูกต้อง และนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง
นาย ธวัชชัย กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากการขาดแคลนครูด้านเพศศึกษาที่เปิดใจ และการจัดกลุ่มวิชาเรียนรวมกับสุขศึกษา ตามมาตรฐานสากล การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนกำหนดให้เด็กนักเรียนควรได้เรียนเพศศึกษาอย่าง ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 16 ชั่วโมง(คาบเรียน)ต่อภาคเรียน เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศได้อย่างถูกต้อง ขณะที่โครงการก้าวอย่างอย่างเข้าใจ ได้เสนอให้โรงเรียนต่างๆ กำหนดให้เรียนเพศศึกษาภาคเรียนไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง รวม 1 ปีการศึกษา เด็กจะได้เรียนเพศศึกษาอย่างน้อย 16 ชั่วโมง ซึ่งในทางปฏิบัติ สามารถทำได้จริงเพียง ภาคเรียนละ 3-7 ชั่วโมงเท่านั้น
นอกจากนี้ นาย ธวัชชัย กล่าวอีกว่าระบบการเรียนการสอนของไทย ครู อาจารย์ ยังเน้นการสอนแบบท่องจำ นักเรียนมีหน้าที่ฟังและเอาไปปฏิบัติ นักเรียนไม่ได้เป็นศูนย์กลางการเรียน รู้ จึงทำให้ขาดการมีส่วนร่วม ไม่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งสอดคล้องกับการที่ครูบางคนยังขาดวุฒิภาวะ ครูบางคน ใช้อารมณ์กับเด็ก การตวาดใช้เสียงดัง ทำให้เด็กไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าถามครู ดังนั้น ครูสุขศึกษา ครูแนะแนว ควรจะมีบุคลิกท่าทีที่เป็นมิตร และพร้อมจะรับฟังเด็กนักเรียนด้วย และผู้บริหารโรงเรียนควรมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการเนื้อหาเรื่องเพศศึกษาเข้ากับวิชาอื่นๆ เป็นต้น
น.ส.แววรุ้ง สุบงกฎ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า จากการศึกษา “รักอย่างไร ที่วัยรุ่นต้องการ” พบ ว่า เด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ยังเป็นกลุ่มประชากรที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจในทุกเรื่องยังเป็นวัยที่แสวงหาตัวตน และสนใจเรียนรู้เรื่องความรัก ความปรารถนาในรูปแบบต่างๆ และแสวงหาคำตอบในเรื่องรอบตัว ทั้ง การเรียน เพื่อน ความรัก และเรื่องเพศ ดังนั้น พ่อแม่ ครู อาจารย์ และเพื่อน จึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะส่งเสริม สนับสนุนให้คำแนะนำ ปรึกษาที่ถูกต้องได้ เพื่อให้วัยรุ่นมีความเชื่อมั่นเลือกทางเดินที่ไม่เบียดเบียนทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้