จุฬาฯ ของบ 60 ล้านไทยเข้มแข็งทำ "แผนที่สมองคน" วิจัยโรคเชิงลึก เผยมีประโยชน์ในการแง่การวินิจฉัยโรคและการพยากรณ์โรคได้แม่นยำขึ้น
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ตนและ พญ.จิราพร เหล่าธรรมทัศน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันเขียนโครงการวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาแผนที่สมองคน สนอของบประมาณจำนวน 60 ล้านบาทภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ระยะที่ 2 มีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ โครงการวิจัยแผนที่สมองคน จะเป็นการเปรียบเทียบรูปแบบลักษณะของสมองในคนปกติ และในคนที่เกิดโรคทางระบบประสาทต่างๆ อาทิ โรคพิษสุนัขบ้า โรคสมองอักเสบ โรคอัลไซเมอร์ ฯลฯ นำไปสู่การวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำขึ้น รวมทั้งการพยากรณ์โรคว่ามีแนวโน้มเกิดโรคมากน้อยเพียงใด
นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า การทำแผนที่สมองคนจะช่วยให้ทราบกลไกการเกิดโรคในเชิงลึกขึ้น ทำให้ทราบว่ารูปแบบสมองว่า ลักษณะใดมีแนวโน้มเกิดโรคชนิดใดได้บ้าง เทคนิคการทำแผนที่สมองคนเป็นรูปแบบเดียวกับแผนที่สมองสุนัข ที่ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำการพัฒนามาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว โดยหลักจะใช้วิธีการสแกนสมองและนำมาวิเคราะห์รูปแบบของเส้นใยประสาทเพื่อ ศึกษากลไกการทำงานเชิงลึก ในส่วนของแผนที่สมองสุนัขได้เปรียบเทียบเส้นใยประสาทของสุนัขปกติและ สุนัขบ้าจนได้แผนที่สมองในเบื้องต้น เหลือเพียงศึกษากลไกการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าเท่านั้น จากเทคนิคดังกล่าว จึงน่าจะนำมาพัฒนาเป็นแผนที่สมองคนควบคู่ด้วย เบื้องต้นได้เสนอของบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งระยะ 2 แล้ว หากได้งบประมารการศึกษา คาดว่าจะได้แผนที่สมองคนภายใน 3 ปี
"การทำแผนที่สมองคนจะมีประโยชน์ในการแง่การวินิจฉัยโรคและการพยากรณ์โรคได้ แม่นยำขึ้น เพราะขณะนี้เครื่องมือที่มีอยู่ในการวินิจฉัยโรคไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่าง ละเอียด เป็นเครื่องมือสแกนสมองเบื้องต้นเท่านั้น แต่หากจะโยงใยไปถึงเส้นประสาทว่ายังดีหรือไม่ดี และมีแนวโน้มเกิดโรคอะไรบ้าง ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ เช่น หากเป็นอัมพาต ปัจจุบันไม่สามารถบอกได้ว่ามีโอกาสฟื้นตัวภายใน 6 เดือนหรือไม่ ในต่างประเทศมีการศึกษาลักษณะนี้แล้ว" นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว