Advertisement
|
24 พ.ย. 2552 อีกวันที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ ในวัย 74 ปี
นายสมัคร เป็นนักการเมืองชื่อดัง ด้วยลีลาการพูดโผงผาง ปากไว เป็นเอกลักษณ์ จึงได้รับความสนใจตลอด 41 ปีที่อยู่ในแวดวงการเมือง เกิด 13 มิ.ย. 2478 ที่กรุงเทพฯ เป็นลูกคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ของเสวกเอก พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) กับ คุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน จิตรกร)
เป็นหลานลุงของ มหาเสวกตรี พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) นายแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลานตาของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกรประจำสำนัก สมรสกับคุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช มีบุตรสาวฝาแฝด คือ กานดาภาและกาญจนากร
วัยเด็กนอกจากเดินตลาดกับพี่เลี้ยงจนติดนิสัยมาตอนโต นายสมัคร ยังเป็นนักอ่านตัวยง ทั้งหนังสือเรียน หนังสือพิมพ์ และวารสาร อายุ 11 ขวบ รับจ้างม้วนหนังสือพิมพ์ "ข่าวบ้านการเมือง" และประเดิมการเป็นนักเขียนครั้งแรกในหนังสือที่ระลึกประจำปี "ลูมินารี่" ของโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ ในนามของ"ศรีสุนทร"
จบนิติศาสตรบัณฑิต จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศึกษาเพิ่มเติมที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ประกอบอาชีพตามที่ได้ศึกษาในตำแหน่งต่างๆ หลายบริษัท ปี 2514 เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย จนถึงปี 2516 ลาออกมาทำงานการเมือง
พร้อมกับเขียนบทความการเมืองในชื่อ"นายหมอดี"ให้กับหนังสือพิมพ์สยามรัฐ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และชาวกรุง ปี 2517 หันมาเขียนให้หนังสือพิมพ์ประชาไทย ปี 2521 จึงเป็น คอลัมนิสต์ประจำ "มุมน้ำเงิน" ในหนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ จนถึงปี 2537
เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2511 ลงเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครกรุงเทพ เมื่อปี 2514 แต่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เมื่อการเมืองเปิดกว้าง ทำให้นายสมัครได้แสดงบทบาทมากขึ้น โดยในปี 2518 ได้เป็นรมช.เกษตรและสหกรณ์ ทั้งที่เพิ่งได้รับเลือกเป็นส.ส.กทม.สมัยแรก
ในการเลือกตั้งในเดือน เม.ย. 2519 นายสมัคร ชนะการเลือกตั้งส.ส.เขตดุสิต กทม. เอาชนะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม และอดีตนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้มีผู้เขียนถึงชัยชนะของนายสมัคร พร้อมบรรยายถึงรูปพรรณสัณฐานว่ามีจมูกเหมือน"ลูกชมพู่ผ่าซีก" จนกลายเป็นสมญานามมาถึงวันนี้
ระยะนั้นขบวนการนักศึกษามีบทบาทในการเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องอเมริกาถอนฐานทัพจากประเทศไทย นายสมัครประกาศตัวต่อต้าน และร่วมกับฝ่ายขวาโจมตีขบวนการนักศึกษา กระทั่งเกิดเหตุการณ์ล้อมธรรมศาสตร์สังหารนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 และเกิดการรัฐประหารที่เรียกว่าการปฏิรูปการปกครอง หลังเหตุการณ์นี้ นายสมัครก้าวขึ้นเป็นรมว.มหาดไทยในรัฐบาลที่คณะปฏิรูปให้การสนับสนุน ขณะมีอายุเพียง 40 ปี พร้อมกับลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์
ปี 2522 เป็นยุครุ่งเรืองที่สุด นายสมัคร ก่อตั้งพรรคประชากรไทย ที่มีฐานเสียงหลักในกรุงเทพฯโดยเฉพาะในเขตทหาร การเลือกตั้ง 22 เม.ย. 2522 พาลูกพรรคเข้าสภาได้อย่างถล่มทลายพลิกความคาดหมาย 32 ที่นั่ง เป็น 29 ที่นั่งในกรุงเทพมหานคร จากเดิมที่พรรคประชาธิปัตย์ กวาดเรียบเกือบทุกเขต และอีก 3 ที่นั่งในต่างจังหวัด
นายสมัคร เป็นส.ส.กทม. เรื่อยมารวม 10 สมัย โดยไม่เคยสอบตกเลย เป็นรัฐมนตรีในกระทรวงหลักๆ มาหลายรัฐบาล คือ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 2 รมช.มหาดไทย ในรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ 3 รมว.มหาดไทย ในรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร รมว. คมนาคม 2 สมัย ในรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 2 และรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ในรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร นายบรรหาร ศิลปอาชา และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
หลังจากปี 2540 บทบาทของพรรคประชากรไทยระดับประเทศก็ลดลง ประกอบกับเกิดเหตุการณ์กลุ่ม"งูเห่า"แยกตัวจากพรรคประชากรไทย ไปสนับสนุนนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี สมัย 2 นายสมัคร จึงเงียบหายไปพักใหญ่
ปี 2543 นายสมัคร กลับมาลงสมัครผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ในนามอิสระ แข่งกับนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ลงสมัครในนามพรรคไทยรักไทย นายสมัครเอาชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 1,016,096 คะแนน
หมดวาระผู้ว่าฯ กทม. นายสมัคร สนุกกับการเป็นพิธีกรรายการ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" และ "ชิมไปบ่นไป" ปี 2549 ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. สมัยที่ 2 แต่เบนเข็มมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ว. ในการเลือกตั้ง 19 เม.ย. 2549 ฐานเสียงของนายสมัคร ในกรุงยังหนาแน่นเพราะได้รับเลือกเข้ามาเป็นที่ 2 แต่ยังไม่ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย. 2549
หลังการรัฐประหาร นายสมัคร เลิกจัดรายการ "สนทนาปัญหาบ้านเมือง" ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม MV1 และรายการ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี หลังจากโดนโจมตีว่าเอียงข้างพ.ต.ท.ทักษิณ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบ มีการตั้งพรรคพลังประชาชนขึ้นมาแทนที่ นายสมัคร ได้รับการติดต่อทาบทามจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และแกนนำไทยรักไทย ให้เข้ามานั่งหัวหน้าพรรค และนำลูกพรรคพลังประชาชนสู้ศึกเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 2550 ได้รับชัยชนะกลับมาเป็นรัฐบาล
วันที่ 29 ม.ค. 2551 นายสมัคร จึงก้าวขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 25 ของไทย วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ และควบรมว.กลาโหม อีกตำแหน่ง แต่การบริหารงานไม่ราบรื่น เพราะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมต่อต้าน โจมตีว่าเป็นนอมินีของพ.ต.ท.ทักษิณ และลุกลามจนถึงขั้นปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลไม่ให้เข้าทำงาน
กระทั่งวันที่ 9 ก.ย. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การจัดรายการ"ยกโขยง 6 โมงเช้า" และ "ชิมไปบ่นไป" ของนายสมัคร ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากความ เป็นนายกรัฐมนตรี รวมเป็นนายกฯ ได้ 9 เดือนเศษ
แม้จะมีการผลักดันให้นายสมัครกลับมานั่งนายกฯ อีกครั้ง แต่สายนายใหญ่และพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้นต้องการเปลี่ยนตัวนายกฯ ที่สุดนายสมัครยอมวางมือ ก่อนเงียบหายไป
ตกเป็นข่าวอีกครั้งเพราะป่วยเป็นมะเร็งตับ เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ต่อมาเดินทางไปรักษาต่อที่สหรัฐอเมริกา และเดินทางกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทยจนถึงแก่อสัญกรรม
ปิดฉากนักการเมืองฝีปากกล้า ที่ก้าวถึงจุดสูงสุดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd2Iyd3dNVEkxTVRFMU1nPT0=§ionid=TURNd05BPT0=&day=TWpBd09TMHhNUzB5TlE9PQ==
วันที่ 25 พ.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,231 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,167 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,157 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 9,114 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,298 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,620 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,575 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,849 ครั้ง |
|
|