Advertisement
ธนบัตรเป็นสิ่งพิมพ์มีค่าประเภทหนึ่ง มีความพิเศษแตกต่างจากสิ่งพิมพ์มีค่าประเภทอื่น เพราะนอกจากลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่ต้องบรรจุไว้ในพื้นที่พิมพ์อันจำกัดแล้ว ลวดลายในธนบัตรยังต้องมีคุณค่าทางศิลปะ มีความประณีตสวยงาม และเน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทย ดังนั้น เพื่อคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือสมเป็นสื่อกลางสำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยน ธนบัตรต้องมีลักษณะพิเศษที่ยากต่อการปลอมแปลง แต่ประชาชนสามารถสังเกตจดจำได้ดี และแยกแยะความแตกต่าง ด้วยวิธีสังเกตง่าย ๆ 3 วิธี ได้แก่ สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง
อย่างไรก็ดี เพื่อความมั่นใจจึงควรสังเกตจุดสำคัญต่าง ๆ บนธนบัตรอย่างน้อย 3 จุด ขึ้นไป สำหรับธนบัตรแบบที่ใช้ในปัจจุบัน มีรายละเอียดการสังเกต ดังนี้
1. สังเกตธนบัตรปลอมด้วยวิธีสัมผัส เพื่อสัมผัส ตรวจสอบคุณสมบัติของกระดาษและลวดลายเส้นนูน
2. สังเกตธนบัตรปลอมด้วยวิธียกส่อง เพื่อสังเกตสิ่งที่อยู่ในเนื้อกระดาษและลวดลายซ้อนทับ
3. สังเกตธนบัตรปลอมด้วยวิธีพลิกเอียง เพื่อสังเกตการเปลี่ยงแปลงที่เกิดขึ้น
|
|
|
หัวข้อ
|
วิธีสังเกตธนบัตรโดยการสัมผัส
ธนบัตรรัฐบาลทำจากกระดาษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีความแกร่ง ทนทาน และไม่ยุ่ยง่าย เมื่อจับสัมผัสจะให้ความรู้สึกแตกต่างจากกระดาษทั่วไป ธนบัตรปลอมทำจากกระดาษคุณภาพต่ำ เมื่อถูกใช้เปลี่ยนมือเพียงไม่กี่ครั้งเนื้อกระดาษก็จะนิ่มเป็นขุยและยุ่ยง่าย
ลวดลายเส้นนูน เกิดจากการพิมพ์เส้นนูนโดยใช้แม่พิมพ์ที่มีร่องหมึกลึกและใช้แรงกดพิมพ์สูงหมึกพิมพ์จึงนูนขึ้นมาจากเนื้อกระดาษ อีกทั้งภาพและลายเส้นที่ได้จะมีรายละเอียดคมชัด เหมาะสำหรับการพิมพ์ภาพประธาน เช่น พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ หรือส่วนที่ต้องการเน้นให้เด่นชัด ลวดลายเส้นนูนสามารถสัมผัสและรู้สึกได้ที่ตัวเลขแจ้งชนิดราคามุมขวาบน ตัวอักษรคำว่า รัฐบาลไทย ตัวอักษรและตัวเลขไทยแจ้งชนิดราคาด้านหน้าธนบัตร เมื่อใช้ปลายนิ้วมือลูบสัมผัสบริเวณดังกล่าว จะรู้สึกถึงการนูนของหมึกพิมพ์มากกว่าบริเวณอื่น
|
|
|
วิธีสังเกตธนบัตรโดยการยกส่อง
ลายน้ำ เมื่อยกธนบัตรรัฐบาลขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง จะเห็นลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภาพลายน้ำนี้เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตกระดาษที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน จึงทำให้เห็นเป็นภาพที่มีการไล่ระดับของแสงเงาอ่อนแก่คล้ายภาพสามมิติ ไม่ใช่ภาพแบนราบเหมือนธนบัตรปลอมที่เลียนแบบด้วยการพิมพ์ภาพลงบนผิวกระดาษ นอกจากลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วยังมีลายน้ำรูปลายไทยที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษประดับควบคู่ไว้อีกด้วย
แถบสีโลหะในเนื้อกระดาษ ธนบัตรรัฐบาลทุกชนิดราคามีแถบสีโลหะฝังในเนื้อกระดาษตามแนวตั้งบนแถบมีตัวเลขและตัวอักษรโปร่งแสงขนาดเล็กแจ้งชนิดราคาธนบัตรสามารถมองเห็นและอ่านได้ทั้งสองด้านเมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่าง
สำหรับธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาท และ ๑๐๐๐ บาท จะมีบางส่วนของแถบสีโลหะปรากฎให้เห็นเป็นระยะ ๆ ที่ด้านหลังของธนบัตร เมื่อยกขึ้นส่องดูกับแสงสว่างจะเห็นเป็นเส้นต่อเนื่อง มีตัวเลขและอักษรโปร่งแสงขนาดเล็กแจ้งชนิดราคาธนบัตรเช่นเดียวกัน
ภาพซ้อนทับ เกิดจากการพิมพ์สีพื้นด้วยเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพได้ทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน ทำให้ส่วนของลวดลายที่ออกแบบไว้ในตำแหน่งตรงกันของด้านหน้าและด้านหลังธนบัตรทับกันสนิทหรือประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายหรือภาพที่สมบูรณ์
|
|
|
วิธีสังเกตธนบัตรโดยการพลิกเอียง
หมึกพิมพ์พิเศษสลับสี ที่ตัวเลขแจ้งราคามุมขวาบนของธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาท และ ๑๐๐๐ บาท พิมพ์ด้วยหมึกชนิดพิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรไปมาสีของตัวเลข 500 จะเปลี่ยนสลับจากสีเขียวเป็นสีม่วง ส่วนสีของตัวเลข 1000 ด้านบนจะเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว
แถบฟอยล์สีเงิน ผนึกอยู่บนด้านหน้าเบื้องซ้ายของธนบัตรชนิดราคา ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาท และ ๑๐๐๐ บาท จะมองเห็นเป็นหลายมิติแตกต่างกันตามชนิดราคา และจะเปลี่ยนสีสะท้อนแสงวาววับ เมื่อพลิกเอียงธนบัตรไปมา
ตัวเลขแฝง ซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์มุมล่างซ้ายของธนบัตรทุกชนิดราคา เมื่อยกธนบัตรเอียงเข้าหาแสงสว่างและมองผ่านจากมุมล่างซ้ายเข้าหากึ่งกลางธนบัตรในมุมที่เหมาะสม จะเห็นตัวเลขอารบิกแจ้งชนิดราคาธนบัตรฉบับนั้น
|
|
|
อุปกรณ์ช่วยตรวจสอบธนบัตร
นอกจากวิธี สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียงแล้ว ธนบัตรรัฐบาลยังมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่สังเกตได้เพิ่มขึ้น หากนำอุปกรณ์มาช่วยในการตรวจสอบ ดังนี้
หลอดไฟแบล็กไลท์ เมื่อนำธนบัตรรัฐบาลส่องภายใต้รังสีเหนือม่วง (Ultraviolet Light) หรือหลอดไฟแบล็กไลท์จะปรากฎ
- เส้นใยเรืองแสง สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน ในเนื้อกระดาษธนบัตร
- หมวดอักษรและเลขหมาย เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีส้มเรืองแสง
- ลวดลายสีพื้นบางส่วนจะเปลี่ยนสีและเรืองแสงแตกต่างกันไปตามชนิดราคา
แว่นขยาย ลวดลายของธนบัตรประกอบด้วยลายเส้นที่มีลักษณะคมชัด สวยงาม และมีความละเอียดซับซ้อนสูง โดยลวดลายบางส่วนได้ออกแบบให้มีตัวเลขหรือตัวอักษรขนาดจิ๋วซ่อนไว้อย่างกลมกลืน เพื่อทำให้ยากต่อการปลอมแปลง ซึ่งจะมองเห็นได้ชัดเจนเมื่อใช้แว่นขยาย
ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย
http://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/production_and_security/Pages/identify.aspx
|
|
http://guru.sanook.com/pedia/topic/วิธีสังเกตธนบัตรปลอม/
http://www.naronk.org/uboard/show.php?Category=thai&No=827
วันที่ 25 พ.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,261 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,151 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,177 ครั้ง เปิดอ่าน 7,158 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,150 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,153 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 14,326 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,622 ครั้ง |
เปิดอ่าน 26,176 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,366 ครั้ง |
เปิดอ่าน 21,986 ครั้ง |
|
|