ชีวิตครูของผม ตอน เมื่อเปลี่ยนระบบการสอนเป็น Child centre
ช่วงที่ผมเป็นครูช่วยสอนประมาณช่วงสองสามปีสุดท้าย เป็นการเปลี่ยนการเรียนการสอนเข้าสู่ระบบ Child Centre ซึ่งถ้าทุกคนถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ผมเองก็คิดเช่นนั้น แต่ถ้าดูจริง ๆ แล้วระบบนี้ก็ถือเป็นรูปแบบการสอนชนิดหนึ่ง เพียงแต่ยังไม่ได้เน้นความสำคัญเป็นการสอนหลัก เหมือนระบบครูเป็นศูนย์กลาง ก็มีการจัดอบรมบ่อยครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็จะรูปแบบการสอนที่หลากหลาย แต่อะไรไม่สำคัญเท่ากับการที่ครูนำมาตีความและนำไปใช้ ซึ่งในตอนนี้ผมเองก็คิดว่าควรจะเขียนดีหรือไม่ สุดท้ายก็ตกลงใจที่จะเขียน แต่ไม่วิจารณ์ว่าเป็นอย่างไร แต่จะเล่าย้อนให้ฟังว่าตอนที่เริ่มใช้ใหม่ ๆ มีปัญหาอะไรบ้าง เพราะมันเป็นช่วงที่มีเรื่องกองทุนกู้ยืมเข้ามา การใช้ Onet และ Anet ที่มีผลในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งก็ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า การเขียนนี้เป็นการเขียนจากประสบการณ์ที่ได้พบได้เห็น ซึ่งข้อเท็จจริงหรือนโยบายอาจจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่อยากให้ท่านที่ได้อ่านได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วงนั้นเป็นอย่างไร
แรกที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนนั้นก็มีการจัดการอบรมทำแผนการสอน และประเมินการเรียนการสอน แรก ๆ ที่ผมได้รับการอบรม ทางวิชาการโรงเรียนให้ทำแผนส่งเป็นรายสัปดาห์ เมื่อคบ ๑ ภาค ก็จะรวบรวมเป็นเล่ม แต่แปลกที่ครูบางคน (ขยันมาก) ก็จัดทำแผนการสอนและรวบรวมเป็นเล่มได้เสร็จก่อนเปิดภาค แถมสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยว่า เด็กมีความรู้ที่สอนเป็นอย่างดี (แปลก..ยังไม่ได้สอนรู้ได้ไง มั่นใจจริงนะ) ซึ่งในแผนที่ให้ช่วงแรก ๆ ก็จะมีการประเมินว่าหากเด็กไม่มีความรู้ ครูผู้สอนจะต้องทำอย่างไร แต่โรงเรียนก็เอาแผนเล่มนั้นแหละไว้รอรับตรวจ ก็ทำให้รู้ว่าที่ผู้ใหญ่ท่านมาตรวจน่ะ บางอันก็ของโชว์ ของจริงน่ะไม่สวยหรอกเพราะมีการตรวจแก้ปรับปรุงกันแยะ ต่อมาก็เข้ารับการอบรมในเรื่องการสอนนักเรียนเป็นศูนย์กลาง คือให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ได้ผลน่ะ บางคนสั่งรายงงานอย่างเดียว ไม่สอนเลย เพราะถือว่าให้เด็กทำ (คิดได้ไงนะ) ช่วงนั้นเด็ก หลายคนบ่นว่าเรียนไม่รู้เรื่อง แถมแอบแขวะว่าเป็นระบบ ควายเซ็นเตอร์ มากกว่าซะละมั้ง ผมเลยไปถามอาจารย์ที่โรงเรียนเดิม ท่านก็บอกว่า เป็นการทำแผนที่ปรับจากเดิมที่ครูเป็นผุ้ป้อน กลับเป็นบางเนื้อหาเด็กต้องมีส่วนร่วมให้การค้นหา การพูดคุยกับผู้สอน การอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้กัน ซึ่งจะทำให้น่าสนใจกว่าการฟังจากครูอย่างเดียว สรุปว่าปรับเนื้อหาด้วยวิธีการสอนใหม่ให้ไม่น่าเบื่อ เราถึงบางอ้อ แต่โรงเรียนที่ผมสอนก็เน้นในเรื่องทำรายงาน ไม่สอนเลย บางท่านก็จัดทำใบงาน (ดีหน่อย) แต่ให้อ่านและทำแบบฝึกหัดจากใบงาน ตรงนี้ผมว่ายังไม่พอนะ เพราะต้องจัดรูปแบบให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ นี่คือความรู้สึกสมัยนั้นนะ บางท่านที่สอนรำบอกว่า ที่อบรมมาเค้าบอกว่าครูอย่าชี้นำนักเรียน ให้นักเรียนรู้เองว่าผิดตรงไหน เลยถามว่าทำไง ท่านก็แสดงท่ารำ แล้วยืนค้างไว้ ดูจนกว่าเด็กจะทำเหมือน (อันนี้ถือว่าทรหดมาก ดีตะคริวไม่รับประทาน) หลายคนเอาซีดีท่านอดีตนายกมาดูวิธีการสอนที่ไปสอนโรงเรียนสาธิต แล้วมาทำเป็นตัวอย่าง โถ ถ้าโรงเรียนเรามีพร้อมอย่างเค้า เด็กเราเหมือนเค้าอะ ก็พอจะทำได้ อันนี้มันต่างกันสุด ๆ คอมพิวเตอร์มีก็เสีย เด็กนักเรียนให้หนีเรียนยังจะง่ายกว่ามาเรียนซะอีก ถนัดก็ยกพวกถล่มกัน บางท่านก็บอกไม่เน้นเรื่องท่องจำ แต่ผมว่านะบางเรื่องเด็กก็ต้องจำ เช่นสูตรต่าง ๆ หรือศัพท์ภาษา จะใช้แบบซึมซับสำหรับเด็กไทยคงยาก บางท่านที่เป็นวิทยากรบอกว่าห้ามด่า ต้องวจีไพเราะ รู้จักชมนักเรียน อันนี้พอรับได้ แต่เคยลองไปใช้เด็กมันว่าครูไม่สบายหรือเปล่า เด็กบางคนพูดดี ๆ ไม่รู้สึก ต้องใช้คำพูดสะกิดที่แรงถึงจะถึงบางอ้อ เพราะพูดกับนักเรียนนะ แบบตำหนิแบบผู้ดี พอถามว่า ใครมีอะไรสงสัย เค้ายกมือถามผมว่า ที่ครูพูดน่ะ ครูด่าผมหรือเปล่า (เวรกรรม) เลยบอกว่าไม่ได้ด่านะ แต่สอนให้รู้ เค้าก็บอกว่า มันก็ด่าน่ะแหละ (แล้วแต่จะคิด) ก็สรุปง่าย ๆ จะเจาะวิธีใดวิธีหนึ่งไม่ได้หรอก ต้องเอามารวมกันนะ อันนี้เขียนตามความรู้สึกตอนนั้นนะ ขอย้ำอีกทีว่าตอนนั้นยังไม่ได้เรียนทางครูเลย อาศัยเอาประสบการณ์มาดูน่ะ สรุปได้ง่ายว่ายุคแรก ๆ น่ะ ครูยังงงอยู่กับระบบ แต่ตอนนี้ก็คงจะเข้าที่เข้าทางแล้ว พอรู้แนวว่าจะทำไงต่อไปแล้วนะ แล้วมีอยู่วันหนึ่งผมเดินไปที่ห้องโสต เห็นนักเรียนคุยกันบ้าง หลับบ้าง เลยถามเรียนวิชาอะไร เค้าบอกว่าวิทยาศาสตร์ เลยดูไปที่จอทีวี อ้อ มีการเรียนผ่านดาวเทียม แล้วถามต่อว่า ครูให้ศึกษาเรื่องอะไร เค้าบอกไม่รุ้ แล้วครูอยู่ไหน เด็กชี้ไปที่โต๊ะ ครูกำลังหลับอยู่ (แล้วจะเอาความรู้ตรงไหน) มีครั้งหนึ่งผมต้องไปธุระ เลยให้ครูสอนแทน โดยมอบหมายงานให้ พอกลับมา ไม่มีเด็กมาส่งงานผมเลย เลยถามว่าระหว่างที่ไม่อยู่ได้เรียนอะไรบ้าง สามวันเนี่ย เด็กบอกว่า วันแรกครูเข้ามาถามว่า รู้ไหมวันนี้จะเรียนอะไร เด็กบอกไม่รู้ ครูคนนั้นบอกว่า ระบบใหม่เนี่ยเด็กต้องมีการเตรียมการเรียนรู้มาสิ เมื่อไม่รู้ก็ไม่ต้องเรียน ไปอ่านหนังสือในห้องสมุด ถ้าเด็ก รร.นี้เหรอให้ไปห้องสมุด ยาก หนีไปหมดอะดิ วันที่สองก็ถามเหมือนเดิม เด็กก็บอกว่ารู้ เค้าก็บอกว่า รู้ได้ไงว่าจะสอนอะไร เมื่อรู้ก็ไม่ต้องเรียน เพราะรู้แล้ว เอางานไปทำ (ดีหน่อย) วันที่สามก็เหมือนเดิม บางคนตอบว่ารู้ บางคนบอกไม่รู้ ท่าน(จะเรียกว่าครูดีไหมนะ) บอกว่า พวกที่รู้ให้ไปสอนคนไม่รู้ พวกไม่รู้ก็เรียนกับคนที่รู้ (โอ้....Child Center จริงๆ ) แต่พอใช้ระบบนี้พอเกรดนักเรียนออกมานะ สูงมาก เกรด ๓-๔ เป็นแถว แต่พอสอบความรู้อะ ไม่รู้อะไรเลย (งง)ก็เลยเอาเข้าที่ประชุมก็เหมือนเดิม หาว่าเราสาระแน เป็นแค่ครูพิเศษรู้มาก เพราะเป็นช่วงที่เค้าพยายามที่จะสร้างภาพโรงเรียนให้มีมาตรฐาน ซึ่งผมก็เคยถามว่าถ้านักเรียนไม่มีความรู้เลยแล้วให้เกรดสูง ๆ เนี่ย ถ้าไปเรียนต่อที่อื่นไม่คิดว่าจะมีผลสะท้อนกลับเหรอ เค้าบอกว่า ก็เด็กทำรายงานคะแนนสูง เรื่องข้อสอบกลางภาค ปลายภาคเนี่ย ไม่ใช่สาระสำคัญ ก็สรุปได้ว่า อ้อ คะแนนดีเพราะรายงาน ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเท่าไหร่หรอก เพราะรายงานนะเดี๋ยวนี้ไปก๊อปมาจากเน็ตก็ได้ จัดรูปเล่มสวย ๆ ยังไงก็ได้คะแนน เวลาให้ออกมาอภิปราย ก็เหมือนมาอ่านให้เพื่อนฟัง ที่เหลือก็คุยกันไป แล้วจะได้ความรู้ตรงไหน ที่เล่ามาเนี่ยเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ นะครับ แต่มันผ่านมาแล้วเกือน ๑๐ ปี เอามาเขียนเล่าให้ฟังเฉยๆ แต่ก็อยากให้ทุกท่านแสดงความคิดเห็นให้ผมด้วยนะครับ แต่ตรงนี้แหละก็เป็นเหตุที่ทำให้ผมมาเรียนในสาขาศึกษาศาสตร์ ในเวลาต่อมา