อารมณ์ของมรณาสันนวิถี
ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่ยังมิได้เป็นพระอรหันต์นั้น จะเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉานก็ตาม ..หรือเป็นมนุษย์ เทวดา และพรหมก็ตาม เมื่อใกล้จะตาย นิมิตทั้ง ๓ คือ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏเฉพาะหน้าในทวารใดทวารหนึ่ง แห่งทวารทั้ง ๖ นั้นเสมอ....
พระอนุรุทธาจารย์ จึงแสดงว่า...
"ตถา จ มรนฺตานํ ปน มรณกาเล กมฺมํวา
กมฺมนิมิตฺตํวา คตินิมิตฺตํวา ฉนฺนํ ทฺวารานํ
อญฺญตฺรสฺมํ ปตฺจุปฏฐาติ"
"อารมณ์ของมรณาสันนวิถี จึงได้แก่นิมิตอารมณ์ทั้ง๓ ประการ คือ
กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์"
กรรมอารมณ์ ได้แก่ ธรรมารมณ์ที่เกี่ยวกับกุศลกรรม อกุศลกรรม กรรมอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุศล ได้แก่ การทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม หรือเจริญภาวนา โดยทำมาแล้วด้วยความปีติโสมนัสอย่างไร ก็ให้ระลึกถึงความปีติโสมนัสให้เกิดขึ้น คล้ายกับว่าตนกำลังทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม หรือเจริญภาวนาอยู่ในขณะนั้น
ส่วนกรรมอารมณ์ที่เป็นฝ่ายอกุศล ได้แก่ การที่ตนเคยฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เคยฉกชิงวิ่งราว เคยโกรธแค้นพยาบาท ความเสียใจหรือความโกรธนั้น คล้ายๆกับว่า กำลังปรากฏขึ้นกับตน เพราะเหตุดังกล่าวเหล่านั้น
กรรมอารมณ์นี้เป็นความรู้สึกทางใจ จึงปรากฏได้เฉพาะทางมโนทวารทางเดียว เมื่อกรรมอารมณ์เป็นฝ่ายกุศลก็นำไปสู่สุคติ ถ้ากรรมอารมณ์เป็นฝ่ายอกุศลก็จะต้องนำไปสู่ทุคติ
กรรมนิมิตอารมณ์
กรรมนิมิตอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และสภาพที่รู้ได้ทางใจ ที่เกี่ยวด้วยการกระทำของแต่ละบุคคล ที่ตนได้กระทำแล้วด้วยกาย วาจา ใจ ย่อมจะมาแสดงนิมิตเครื่องหมายให้รู้ได้"เมื่อใกล้จะตาย"
ถ้าเป็นฝ่ายกุศล ก็ให้รู้ให้เห็น เป็นการทำบุญให้ทาน เช่น เห็นโบสถ์ วิหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ตนเคยสร้าง เห็นพระภิกษุที่เคยบวชตนเอง หรือบวชลูก-หลาน เห็นพระพุทธรูปที่ตนเคยสร้าง เป็นต้น
มรณาสันนวิถีก็หน่วงเอาอารมณ์นั้นๆ มาเป็นอารมณ์ให้เป็นนิมิตเครื่องหมายในสิ่งต่างๆเหล่านั้น
กรรมนิมิตที่เป็นฝ่ายอกุศล เช่น เห็นแห อวน หอก ดาบ ปืนผาหน้าไม้ เครื่องประหัตประหารเบียดเบียนสัตว์ ที่ตนเคยใช้ในการทำบาปมาแล้ว เป็นต้น มรณาสันนวิถีก็จะน้อมเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์
กรรมนิมิตอารมณ์ ที่เป็นฝ่ายกุศล และอกุศลดังกล่าวมาแล้วนั้น ถ้าเป็นแต่เพียงนึกคิดถึงสิ่งต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้น ก็จะปรากฏทางมโนทวาร(ทางใจ)เป็นอดีตอารมณ์ แต่ถ้าได้เห็นด้วยตาจริงๆ ได้ยินด้วยหูจริงๆ ได้กลิ่น รู้รส ถูกต้องสัมผัส เป็นความรู้สึกจริงๆ ก็เป็นนิมิตอารมณ์ ที่ปรากฏทางปัญจทวาร(ทวาร ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย) และเป็นปัจจุบันอารมณ์
กรรมนิมิตที่เป็นฝ่ายกุศล ย่อมนำไปสู่"สุคติ" แต่ถ้ากรรมนิมิตเป็นฝ่ายอกุศล ก็ย่อมนำไปสู่ "ทุคติ"
คตินิมิตอารมณ์
คตินิมิตอารมณ์ เป็นนิมิตเครื่องหมาย ที่จะนำไปสู่" สุคติ หรือทุคติ "ถ้าเป็นคตินิมิตอารมณ์ที่จะนำไปสู่"สุคติ" ก็จะปรากฏเป็นปราสาทราชวัง วิมานทิพยสมบัติ เทพบุตร เทพธิดา เห็นครรภ์มารดา เห็นวัดวา เห็นบ้านเรือน เห็นผู้คน หรือเห็นภิกษุสามเณร ล้วนแต่เห็นสิ่งที่ดีๆ
คตินิมิตอารมณ์ ที่จะนำไปสู่"ทุคติ"ก็จะปรากฏเป็นเปลวไฟ ถ้ำ เหว ป่าทึบ เห็นนายนิรยบาล เห็นสุนัข เห็นแร้งกา เป็นต้น ที่กำลังเบียดเบียนทำอันตรายตน ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งสิ้น
คตินิมิตอารมณ์ ย่อมปรากฏได้ในทวารทั้ง ๖ แต่ส่วนมากจะปรากฏทางจักขุทวาร และทางมโนทวาร คือเห็นทางตากับทางใจเป็นส่วนมาก และจัดเป็นปัจจุบันอารมณ์
อารมณ์ของมรณาสันนวิถีนี้ ย่อมจะมีอารมณ์ที่เป็นกรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งมาปรากฏ แก่วิถีจิตสุดท้ายที่ใกล้ชิดกับ"จุติจิต"ที่สุด และอารมณ์ทั้งสามนี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจของกรรมทั้ง ๔ ประการตามลำดับ คือ...
(จุติจิต หมายถึง จิตที่ดับสิ้นไปจากภพชาติปัจจุบัน)
(คัดจากหนังสือ พระอภิธรรมมัตถสังคหะ)
|