ฉบับนี้ขอเขียนถึงเรื่องของผลไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคม ทั้งในเชิงอาหารและเชิงธุรกิจ ผลไม้ชนิดนี้ก็คือลำไยนั่นเอง
และในช่วงนี้ก็เป็นหน้าที่ลำไยกำลังให้ผลผลิต จะเห็นว่าตามตลาดนัดต่างๆ ห้างสรรพสินค้า หรือเป็นรถเร่ขายผลไม้ ก็เต็มไปด้วยลำไย ราคาก็ไม่แพงมากนัก และความดังของลำไยก็ยังเป็นข่าวให้ได้อ่านได้ฟังกันทุกวัน คือเรื่องของลำไยอบแห้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแต่กล่องแต่ไม่มีลำไยในกล่อง หรือที่เรียกกันว่าสต็อกลม และยังมีการทำลายลำไยทิ้งเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ทั้งๆ ที่ประชากรทั้งในและต่างประเทศก็มีความต้องการทานลำไยกัน ก็เป็นเรื่องที่น่าตกใจทีเดียวว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับลำไยและเกษตรกรผู้ปลูก ทำไมลำไยจึงได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงเช่นนี้ เป็นเพราะกระแสการปลูก หรือเกษตรกรไม่มีความรู้ด้านการตลาด หรือมีตลาดที่ไม่ตรงกับกลไกของความเป็นจริง
ลำไยจัดเป็นไม้ผลกึ่งเมืองร้อน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dimocarpus longan Lour. มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้และอินเดีย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 9-12 เมตร ในความเป็นจริงแล้วลำไยมีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่ที่นิยมปลูกในบ้านเราก็แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ
1.ลำไยต้น เป็นพันธุ์ที่ปลูกเพื่อนำผลมาใช้บริโภค และพันธุ์ที่นิยมปลูกกัน คือ พันธุ์อีดอ, เบี้ยวเขียว, สีชมพู, กะโหลกแห้ว, ใบดำ และพันธุ์พื้นเมือง
2.ลำไยเครือ เป็นพันธุ์ที่ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนหรือตามสถานที่ต่างๆ
ลำไยเป็นไม้ที่ให้ผลเป็นช่อ อาจมีขนาดเล็กถึงใหญ่ ส่วนเนื้อในมีสีขาวใสหรือสีชมพูอ่อนๆ มีรสหวานจัด และให้ผลผลิตในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนก็จะตรงกับหน้าฝน และมีการปลูกกันมากทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ในการนำมาใช้เป็นอาหารนั้นนอกจากทานผลสดแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปได้ด้วย เช่น ลำไยกระป๋อง, ลำไยแช่แข็ง และลำไยอบแห้งเพื่อเก็บไว้กินได้นานๆ ทำเป็นไวน์ลำไย หรือนำมาปรุงเป็นขนมหวาน เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย ก็มีรสชาติอร่อยเช่นกัน
นอกจากการนำมาเป็นอาหารแล้ว ตามตำราการแพทย์แผนไทยยังมีการนำเอาส่วนประกอบต่างๆ ของลำไยใช้เป็นยารักษาโรค คือ
- เนื้อผลช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงร่างกาย รักษาอาการตัวบวมในสตรีที่คลอดบุตร
- เมล็ดใช้ทาแผลเน่าเปื่อย คัน หรือแผลเรื้อรังที่มีหนอง ช่วยรักษาเกลื้อน ใช้ห้ามเลือด ขับปัสสาวะ เปลือกใช้ทาแผลที่โดนน้ำร้อนลวกจะไม่ปวดแผล และไม่เกิดแผลเป็น
คุณค่าทางโภชนาการของลำไย ประกอบด้วย
พลังงาน 71 แคลอรี
ไขมัน 1.4 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 15.6 กรัม
เส้นใยอาหาร 0.3 กรัม
โปรตีน 1 กรัม
แคลเซียม 23 มิลลิกัรม
ฟอสฟอรัส 36 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.4 มิลลิกรัม
ไนอะซิน 0.3 มิลลิกรัม
วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.14 มิลลิกรัม
วิตามินซี 56 มิลลิกรัม
อย่างไรก็ตาม ในการทานผลไม้นั้นก็ควรทานให้หลากหลายชนิด แต่ผลไม้บางชนิดก็ดูจะเป็นผลไม้ต้องห้ามสำหรับผู้บริโภคบางคนได้เช่นกัน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ก็ไม่ควรทานผลไม้ที่มีรสชาติหวานจัด หรืออาจรับประทานได้ในปริมาณน้อยๆ เช่น ทุเรียน, น้อยหน่า โดยเฉพาะลำไยสดนั้นควรทานแต่พอประมาณ หากทานมากเกินไปจะทำให้เกิดอาหารเจ็บคอหรือร้อนในได้ เนื่องจากเนื้อลำไยมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง หากท่านใดที่ทานลำไยแล้วมีอาการเช่นนี้ก็ให้ดื่มน้ำเกลือตามลงไปก็จะช่วยบรรเทาอาการนี้ได้ (สูตรน้ำเกลือประกอบด้วย น้ำเปล่า 1 แก้ว เกลือ 1/2 ช้อนชา ละลายให้เข้ากัน) หรือบางท่านอาจแก้ด้วยการทานมังคุดตามลงไป เนื่องจากมีความเชื่อมังคุดเป็นผลไม้ที่เย็นก็จะช่วยดับร้อน แก้อาการกันได้ และเพื่อสุขภาพที่ดีเราควรทานผลไม้ทุกๆ วันเช่นเดียวกับผัก ร่างกายจึงจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ที่สำคัญยังช่วยทำให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ ใยอาหารในผลไม้ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ป้องกันโรคมะเร็งหลายชนิดโดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็ขอฝากถึงผู้อ่านให้หันมาทานผลไม้กันเยอะๆ โดยเฉพาะผลไม้ที่เป็นของบ้านเราเอง เพราะนอกจากจะช่วยเกษตรกรให้มีรายได้แล้ว ตัวผู้บริโภคเองก็จะได้มีสุขภาพที่ดีตามมาด้วย
ปัญหาคือกินในปริมาณเท่าไรจึงจะพอดี ตามหลักโภชนาการได้แนะนำให้กินผลไม้ 4-5 ส่วนต่อวัน ซึ่งผลไม้ที่กินก็ควรจะมีความหลากหลายใน 1 ส่วนที่กล่าวถึงนี้ ถ้าเป็นสับปะรดคือ 6 ชิ้น มะละกอ 6 ชิ้น แตงโม 3 ชิ้น เงาะ 4 ผล ชมพู่ 2 ผล มะม่วงสุก 1/2 ผล สำหรับลำไย 1 ส่วน ถ้าเป็นผลใหญ่ก็จะได้ประมาณ 6 ผล ผลเล็ก 10 ผล กล่าวคือ ถ้าเราจะกินแต่ลำไยเพียงอย่างเดียวตามสัดส่วนที่กำหนดในหนึ่งวัน ก็ไม่ควรเกิน 30 ลูกใหญ่ 50 ลูกเล็ก แต่ในความเป็นจริงถ้ากินมากขนาดนี้จะร้อนมาก และในทางการแพทย์แผนไทยเราไม่แนะนำให้กินอย่างเดียว ควรกินผลไม้อย่างอื่นด้วย สมมุติว่าเรามีชมพู่ เงาะ สับปะรด ลำไย ในตู้เย็นก็ควรกินทุกอย่างดังนี้คือ ชมพู่ 2 ลูก เงาะ 1 ลูก สับปะรด 6 ชิ้น และลำไย 12 ลูก (2 ส่วน) เป็นต้น จะได้ผลไม้ทั้งหมดนี้ เท่ากับ 5 ส่วนของอาหาร ถ้าต้องการลดความอ้วน วันนั้นก็ควรกินข้าวสวยให้น้อยลง เช่น ควรกินไม่เกิน 4 ทัพพี เป็นต้น นี่คือคนปกติกิน คนเป็นเบาหวานก็ให้ลดปริมาณลง หันมากินผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวแทน ถ้าต้องการกินลำไยก็ไม่ควรเกิน 6 ลูก ถ้าอยากกินก็ต้องลดข้าวลง
ดังนั้น ถ้าครอบครัวหนึ่งซื้อลำไยมา 2 กิโลกรัม ลำไย 12 ลูก น้ำหนัก 1 ขีด ถ้าลำไยไม่มีก้าน 6 ลูกใหญ่ หนัก 56 กรัม 1 กิโลกรัม มีลำไยประมาณ 100 ลูก ก็จะกินได้ประมาณ 8 คน ถ้ากินลำไยคนละ 2 ส่วนอาหารคือ คนละ 12 ลูกต่อวัน รัฐบาลขอร้องให้ซื้อลำไยครอบครัวละ 2 กิโลกรัม ก็กินลำไยติดต่อกันได้ 3-4 วัน ก็หมดพอดีสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 4-6 คน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะช่วยรัฐบาลซื้อลำไย 2 กิโลกรัม หลังจากกินลำไยแล้วหากมีอาการร้อนในก็ให้กินน้ำเกลือตาม ก็ตามสูตรที่หมอเขียนไว้ตอนต้นนั่นแหละ.
ที่มา
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (แทบลอยด์)
|