นิทานเวตาล เรื่องที่ 12
พระเจ้าตริวิกรมเสนแสด็จกลับไปยังต้นอโศก ดึงร่างเวตาลลงจากคบไม้ วางไว้บนพระอังสา แล้วเดินย้อนกลับไปทางเดิม ถึงกลางทางเวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "ราชะ ข้ารักพระองค์มาก รู้ไหมว่าทำไม ก็พระองค์เป็นคนดื้อรั้นไม่ยอมจำนนต่อใครง่าย ๆ น่ะซิ เอาละ ข้าจะเล่านิทานสนุก ๆ ถวายสักเรื่องหนึ่งให้เป็นที่บันเทิงพระทัย ขอได้โปรดทรงสดับเถิด"
ในแคว้นอังคะ มีพระราชหนุ่มองค์หนึ่งทรงนามว่า ยศเกตุ พระองค์มีความงามล้ำเลิศราวกับพระกามเทพที่ปราศจากร่างแล้ว (พระกามเทพต้องปราศจาร่าง กลายเป็นพระอนงค์ก็เพราะว่า ไปแผลงบุษปศรต้องพระทรวงของพระศิวะ เพื่อให้พระองค์หลงรักพระอุมาไหมวตี พระศิวะทรงพิโรธว่ากามเทพบังอาจดูหมิ่น จึงลืมพระเนตรที่สามเป็นไฟกรดเผาผลาญร่างกามเทพ จนกลายเป็นเถ้าถ่านไป กามเทพจึงไม่ร่างกายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา) กลับมาปรากฏในเรือนร่างของพระราชานั่นเทียว พระราชาทรงเป็นผู้กล้าหาญเด็ดเดี่ยวสามารถสยบศัตรูได้ทุกแว่นแคว้น ราวกับท้าววัชรินทร์ผู้ประหารศัตรูทั่วหน้า โดยมีพระพฤหัสบดีเป็นที่ปรึกษาฉะนั้น พระราชายศเกตุก็เช่นเดียวกัน ทรงมียอดมนตรีผู้หนึ่งเป็นที่ปรึกษาข้อราชการทั้งปวง ชื่อว่าทีรฆทรรศิน ในกาลต่อมาปรากฏว่าพระราชาผู้ทรงลุ่มหลงในพระรูปโฉมของตนเองเริ่มแสวงหาแต่สิ่งที่เป็นความบันเทิงเริงรมย์ หาความสุขให้แก่พระองค์เอง และละเลยราชการแผ่นดินให้ตกอยู่ในมือของมหาอำมาตย์ทีรฆทรรศินแต่ผู้เดียว ซึ่งเขาก็ตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดีเรื่อยมา ในขณะที่พระราชาทรงปล่อยพระองค์ให้เพลิดเพลินอยู่แต่ในฮาเร็ม หมกมุ่นอยู่กับนางบำเรอ และเสียงเพลงอันไพเราะ ไม่สนใจไยดีกับเสียบงทักท้วงของผู้ปรารถนาดีทั้งหลาย
แต่ผู้ที่แบกภาระไว้บนบ่าแต่ผู้เดียวก็คือทีรฆทรรศิน ซึ่งต้องทุ่มเทกำลังความสามารถทั้งหมดให้แก่ราชการแผ่นดินโดยมิรู้จักการพักผ่อน ทั้งนี้เพราะมีความจงรักภักดีต่อพระราชาเป็นที่ตั้ง ถึงแม้เขาจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเหนื่อยยากเพียงไรก็ยังมิวายมีเสียงเล่าลืออันไม่เป็นมงคลว่า เขากำลังจะฮุบอำนาจในการปกครองประเทศไปจากพระราชา และจะตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ การนินทาว่าร้ายดังกล่าวนี้นับวันจะทวียิ่งขึ้นทุกที ทีรฆทรรศินจึงปรารภแก่นางเมธาวดีผู้เป็นภรรยาว่า
"ดูก่อนเจ้าผู้เป็นที่รัก บัดนี้พระราชาทรงมัวเมาเพลิดเพลินอยู่แต่กามสุขอย่างเดียว ข้าต้องรับภาระบริหารราชการแผ่นดินด้วยความเหน็ดเหนื่อยเหลือประมาณ แม้กระนั้นก็ยังมีผู้อิจฉาตาร้อนพากันประโคมข่าวใส่ความว่าข้ากำลังคิกบฎต่อราชบัลลังก์ คำกล่าวอันไร้สัจจะนี้ได้ทิ่มแทงหัวใจของข้าให้เจ็บแปลบ เช่นเดียวกับมหาบุรุษและรัฐบุรุษทั้งหลายต้องถูกทิ่มตำให้ทนทุกข์มาแล้ว ก็เรื่องนินทาฉาวโฉ่อย่างนี้ใช่ไหมเล่าที่ทำให้พระรามต้องเนรเทศพระแม่เจ้าสีดาไปโดยนางหาความผิดมิได้ ก็ในกรณีของข้านี้จะให้ข้าทำอย่างไรเล่า"
เมื่อได้ยินสามีกล่าวดังนี้ นางเมธาวดีผู้เป็นปดิวรัดา (หญิงผู้จงรักภักดีต่อสามี) ก็กล่าวปลอบโยนว่า "ถ้าจะแก้ปัญหานี้ ท่านพี่ก็ควรจะทูลลาพระเจ้าแผ่นดิน โดยอ้างว่าจะไปบำเพ็ญบุณยยาตรานมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ตีรถะ (แปลว่า ฝั่งน้ำ หมายถึงท่าน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ไหลผ่าน และมีเทวาลัยตั้งอยู่ ผู้ใดอาบน้ำ ณ ท่าดังกล่าวนี้และกระทำการบูชาเทวรูปในเทวาลัย จะได้รับผลบุญบริสุทธิ์ ตีรถะดังกล่าวมีเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำคงคา และอื่น ๆ เป็นต้น) ต่าง ๆ พระราชาก็คงไม่อาจจะห้ามท่านได้ เมื่อเป็นดังนี้แล้วไซร้ โอ้ท่านมหาตมัน (ผู้มีอาตมันใหญ่ หมายถึง ผู้มีใจบริสุทธิ์ยิ่งใหญ่ หรือผู้มีใจสูง เพราะอาตมันที่อยู่ในใจนั้นเป็นสิ่งอมตะชั่วนิรันดร์) ท่านจงถือโอกาสท่องเที่ยวไปยังดินแดนต่างประเทศเป็นการพักผ่อนจิตใจของท่านเสียบ้าง จะทำให้ท่านรู้สึกว่าดวงจิตของท่านได้ถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ ไม่ต้องกังวลเรื่องหน้าที่การงานอีกต่อไป และในเวลาที่บ้านเมืองปราศจากท่านนี้ พระราชาก็จะต้องแบกภาระเองทุกสิ่งทุกอย่าง และจะค่อยสำนึกพระองค์เองทีละน้อย ๆ จนถึงที่สุดทรงกลับเป็นพระราชาที่่ดีตามเดิม เมื่อถึงเวลาที่ท่านพี่กลับมาจะได้ทำงานโดยสะดวกใจ ไม่ต้องถูกคนนินทาว่าร้ายอีกต่อไป"
เมื่อได้ฟังภริยากล่าวดังนี้ ทีรฆทรรศิน ก็ตกลงและกล่าวว่า "ข้าจะทำดังนั้น" และเข้าไปเผ้าพระราชายศเกตุในวัง กราบทูลว่า
"ข้าบาทขอทูลลาไปบำเพ็ญบุญกิริยาตามเทวสถานต่าง ๆ เพราะข้าบาทมีความเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่จะต้องสร้างสมผลบุญทางพระศาสนาเสียที ช้าไปก็อาจจะไม่มีโอกาส เพราะข้าบาทอาจจะตายเสียก่อนก็ได้ ขอทรงอนุญาตด้วยเถิด"
เมื่อพระราชาได้ดังนั้นก็ตกพระทัย ตรัสว่า "เจ้าทำอย่างนั้นนะ เจ้าไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปยังตีรถะต่าง ๆ ก็ได้นี่นา จะบำเพ็ญบุญอยู่ที่บ้านเฉย ๆ ก็ได้ อนึ่งเทวาลัยต่าง ๆ ในเมืองเราก็ถมเถไป เจ้าจะต้องเสียเวลาเดินทางไปนอกประเทศให้เหนื่อยยากทำไม การทำบุญไม่เลือกว่าที่ไหน ๆ ก็ทำให้คนขึ้นสวรรค์ได้ทั้งนั้น"
ทีรฆทรรศินได้ฟังก็กราบทูลว่า "โอ ราชะ ผลบุญที่เกิดจากการให้ทรัพย์ แม้จะมากหลายเพียงไรก็ไม่อาจจะนับว่าเป็นผลบุญอันสูงสุดได้ เพราะมิได้ยังให้เกิดศรัทธาวิสุทธ์ได้ การธุดงค์ไปยังตีรถะต่าง ๆ และลงอาบน้ำอันศักดิ์สิทธิ์หน้าเทวาลัยนั่นต่างหากที่นับว่าเป็นบุญบริสุทธิ์ที่แท้จริง โอ อารยบุตร ขึ้นชื่อว่า การธุดงค์ไปยังตีรถะต่าง ๆ นั้นพึงกระทำแต่วัยหนุ่ม เพราะใครเลยจะรู้ได้ว่ามฤตยูจะมาถึงตนเมื่อใด บุคคลไม่พึงประมาทต่อกิจอันจำเป็นที่จะต้องทำมิใช่หรือ ขอทรงโปรดอนุญาตข้าพระบาทเถิด"
ขณะที่พระราชากำลังโต้ตอบอยู่กับมหามนตรีนั้น ก็พอดีมหาดเล็กคนหนึ่งเข้ามาขัดจังหวะกราบทูลว่า "พระอาญาไม่พ้นเกล้า โอ พระนฤเบศร บัดนี้พระสูรยาทิตย์กำลังคล้อยต่ำลงแล้ว ได้เวลาบูชาเทวะแล้วพระเจ้าข้า"
พระราชาได้ฟังก็รีบลุกจากพระราชอาสน์ เสด็จเข้าข้างในเพื่อลงสรงทันที เป็นโอกาสให้ทีรฆทรรศินรีบออกจากตำหนักกลับไปบ้านของตน เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วก็รีบเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เพื่อจะไปกระทำบุณยยาตราและห้ามภริยามิให้ติดตามไป การเดินทางถูกปิดเป็นความลับ มิให้คนรับใช้และใคร ๆ ล่วงรู้ เขามุ่งหน้าเดินทางไปยังแว่นแคว้นต่าง ๆ ตามลำดับ ได้บำเพ็ญบุญตามตีรถะสำคัญ ๆ โดยทั่วถึง ในที่สุดก็เดินทางมาถึงแคว้นปาณฑระ นครหลวงของแคว้นนนี้อยู่ริมทะเล ทีรฆทรรศินได้เข้าไปบูชาพระศิวะในเทวาลัย ณ ที่นั้น เสร็จแล้วออกมานั่งพักอยู่ที่ลานภายนอก ขณะนั้นมีวาณิชผู้หนึ่งขื่อนิธิทัตต์ เข้ามานมัสการเทวรูปพระมหาเทพ (ชื่อหนึ่งขอพระศิวะ หรือพระอิศวร) เช่นเดียวกัน นายวาณิชแลเห็นทีรฆทรรศินนั่งอยู่ที่ลานหินแต่ลำพัง มีท่าทางอิดโรยเพราะแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรงแลเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไกล ก็มีใจเมตตาเพราะผู้ที่แลเห็นนั้นเป็นพราหมณ์ เพราะสวมสายยุชโญปวีต (เส้นด้ายศักดิ์สิทธิ์ที่พราหมณ์สวมเฉวียงบ่า แสดงว่าเกิดครั้งที่ ๒ คือ เกิดในศาสนา) และมีเครื่องหมายบางประการแสดงให้รู้ว่าเป็นพราหมณ์ผู้สูงส่ง ก็เข้าไปทักทายและเชิญมาบ้านของตนด้วยใจอารี ให้อาบน้ำและรับประทานอาหารตลอดจนเครื่องดื่มอันแสดงถึงฐานะอันมั่งคั่งของผู้เป็นเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี เสร็จแล้วก็สนทนาปราศรัยผู้เป็นแขกว่า "ท่านเป็นใคร มาจากไหน และกำลังจะไปที่ใด" มหามนตรีจึงตอบว่า
"ตัวข้าเป็นพราหมณ์ชื่อ ทีรฆทรรศิน ข้าเดินทางมาจากแคว้นอังตคะ เพื่อทำบุญยจาริกไปในที่ต่าง ๆ "
เมื่อได้ฟังดังนั้น ไวศยบดี (เจ้าแห่งไวศยะ หมายถึง หัวหน้าพ่อค้า) ผู้ชื่อนิธิทัตต์ ก็กล่าวว่า
"ข้ากำลังเตรียมจะออกเดินทางไปค้าขายที่สุวรรณทวีป (เกาะทอง หมายถึงดินแดนแหลมอินโดนีเซีย) ฉะนั้นท่านจะต้องพักอยู่ที่บ้านข้าก่อน จนกว่าข้าจะกลับ เมื่อหายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการจาริกครั้งนี้แล้วจึงค่อยกลับบ้านเถิด"
ทีรฆทรรศินได้ยินจึงกล่าวว่า
"ทำไมข้าจะต้องเฝ้าบ้านอยู่ที่นี่ เสียเวลาเปล่า ๆ ข้าจะเดินทางไปกับท่านนั่นแหละ ท่านมหาไวศยะ ถ้าท่านไม่ขัดข้องที่จะพาข้าไปด้วย"
หัวหน้าพ่อค้าได้ฟังก็ยิ้ม ตอบตกลงทันที มหามนตรีได้รับอนุญาตก็ดีใจ เตรียมของใช้ส่วนตัวไว้พร้อมแล้ว ก็ออกเดินทางไปกับกองคาราวานของนิธิทัตต์ ขบวนคาราวานมาถึงริมทะเลก็จัดแจงขนสินค้าลงเรือ และแล่นออกสู่ทะเลกว้าง รอนแรมไปในมหาสมุทรนับเดือน ในที่สุดก็เดินทางมาถึงสุวรรณทวี ทีรฆทรรศินมองดูบ้านเรือนหอห้างร้านค้าอันจ้อกแจ้กจอแจด้วยความตื่นใจและออกท่องเที่ยวเตร็ดเตร่ในเมืองนั้นหลายวัน จนกระทั่งนิธิทั้ตต์ขายสินค้าเสร็จและซื้อสินค้ากลับบ้าน เรือของสมุทรวาณิชก็ออกจากท่ารอนแรมมาในทะเลตามเส้นทางเดิม ขณะที่เรือแล่นมาในมหาสาคร วันหนึ่งทีรฆทรรศินแลไปในทะเล เห็นลูกคลื่นใหญ่พุ่งขึ้นไปในอากาศ มีต้นกัลปพฤกษ์ (ต้นไม้สารพัดนึก เป็นต้นไม้สวรรค์อย่างหนึ่งในจำนวน ๔ อย่าง คือ กัลปพฤกษ์ ปาริชาติ มณฑารพ (หรือมณฑา) และสันตานะ) ชูต้นและกิ่งก้านเป็นทองระยิบระยับ มีแก้วประพาล (ปะการังสีแดง) เกาะอยู่ตามกิ่งแพรวพราว ต้นไม้ตั้นมีดอกและผลเป็นเพชรพลอยหลากสีสวยงามยิ่งนัก บนกิ่งของต้นไม้มีร่างของนางงามอันหาที่เปรียบมิได้เอนร่างนอนอยู่บนรัตบรรยงก์ (แท่นแก้ว) อันงามวิจิตร ปรากฎการณ์อันประหลาดนี้ทำให้มหามนตรีพิศวงอยู่ในใจว่า "พระช่วย นี่มันอะไรกัน"
ทันใดนั้นนางงามผู้มีพิณอยู่ในหัตถ์ก็เริ่มขับลำนำเพลงเจื้อยแจ้ว มีเนิื้อร้องว่า "ใครก็ตามที่สร้างสมบุญไว้ในชาติปางก่อน มาถึงชาตินี้ก็ย่อมได้แสวงผลบุญของตนอย่างไม่มีที่สงสัย เพราะชะตากรรมใดเล่าจะมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นอื่นได้"
พอร้องเพลงจบ นางโฉงงามก็กลับจมหายไปในทะเลพร้อมด้วยต้นกัลปพฤกษ์และมัญจาสนะ (เตียงนอน) ที่นางนอน ทีรฆทรรศินประสบเหตุการณ์ประหลาดอัศจรรย์ดังนั้น ก็รำพึงแก่ตัวเองว่า
"วันนี้เราได้ประจักษ์ภาพอันประหลาดเหลือเชื่อจริงหนอ ใครเล่าจะเคยคิดฝันบ้างว่า มีต้นกัลปพฤกษ์และนางเทพธิดาอยู่ในทะเล ปรากฏอยู่ประเดี๋ยวเดียวก็หายไป หรือว่านี่คือเหตุการณ์อย่างเดีียวกับที่เกิดขึ้นในกูรมาวตาร (นารายณอวตาร ปางที่ ๒ พระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเป็นเต่าใหญ่รองรับภูเขามันทรตอนกวนน้ำทิพย์ ก่อนจะกวนได้สำเร็จมีของวิเศษผุดขึ้นมาจากทะเล ๑๔ อย่าง ในจำนวนนี้มีต้นปาริชาติ พระลักษมี และพระจันทร์ รวมอยู่ด้วย) ซึ่งในคราวกวนน้ำทิพย์ครั้งนั้น พระลักษมี พระจันทร์ ต้นปาริชาติ และของวิเศษต่าง ๆ มิได้ผุดขึ้นยมาจากทะเลหรอกหรือ"
บรรดาลูกเรือแลเห็นทีรฆทรรศินแสดงอาการงงงวยเช่นนั้นก็กล่าวว่า "ท่านประหลาดใจนักหรือ ความจริงก็น่าประหลาดดอก เพราะท่านเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก แต่พวกเราเคยเห็นเสียจนชินแล้วจึงไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร"
นี่คือถ้อยคำที่เหล่ากะลาสีกล่าวแก่มนตรีหนุ่ม แต่พราหมณ์หนุ่มก็ยังครุ่นคิดอยู่ไม่หาย จวบจนเรือสินค้าแล่นมาเทียบท่าที่เมืองเดิม บรรดาลูกเรือต่างก็ขนข้าวของลงจากเรือเป็นจ้าละหวั่น พอมาถึงบ้านพ่อค้าทีรฆทรรศินก็กล่าวแก่หัวหน้าพ่อค้าว่า
"ดูก่อนไวศยบดี บัดนี้การเดินทางก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว ข้ารู้สึกขอบคุณท่านเป็นอย่างยิ่ง เห็นทีข้าจะต้องอำลาท่านไปก่อน จงอยู่เย็นเป็นสุขเถิด"
ธนทัตต์ได้ฟังก็อาลัยไม่อยากจะให้ไป แต่เห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพยายามหน่วงเหนี่ยวไว้อีก จึงยอมให้มนตรีหนุ่มจากไป ทีรฆทรรศินก็ออกเดินทางผ่านแว่นแคว้นต่าง ๆ ตามทางที่เคยผ่านมา ในที่สุดก็บรรลุถึงแคว้นอังคะอันเป็นบ้านของตน
ฝ่ายจารบุรุษที่พระราชายศเกตุส่งไปสอดแนมทีรฆทรรศิน แลเห็นอัครมนตรีเดินทาบงกลับมาและกำลังจะผ่านประตูเมืองเข้ามาก็รีบนำข่าวไปทูลพระราชา พระราชาผู้มีความทุกข์เพราะการจากไปของเสวกามาตย์ตัวโปรดก็รีบเสด็จออกไปต้อนรับถึงนอกเมือง ทรงทักทายและสวมกอดทีรฆทรรศินด้วยความรัก และรีบพาเข้าวัง ไม่ทันที่เขาจะได้พักผ่อนเพราะความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง ทรงตัดพ้อว่า
"เจ้าช่างใจร้ายนี่กระไร ทิ้งข้าได้ลงคอเหมือนคนไม่มีหัวใจ นึกจะไปก็ไปง่าย ๆ ปุบปับก็เกิดอยากจะไปธุดงค์โดยกะทันหัน นี่คงเป็นชะตาลิขิตที่พระพรหมธาดากำหนดไว้เป็นแน่แท้กระมัง เอาเถอะไหนลองบอกข้ามาซิว่า เจ้าไปถึงไหน และได้พบได้เห็นอะไรแปลกบ้าง"
ทีรฆทรรศินได้ฟังก็เล่าเรื่องทูลพระราชาตั้งแต่ต้นจนจบ ตลอดจนเรื่องที่เดินทางกลับจากสุวรรณทวีป และได้เห็นนางทิพย์ผุดขึ้นมาจากท้องทะเล มีความงามเลอเลิศยิ่งกว่านางใดในโลกทั้งสาม และมัญจาสนะของนางบนกิ่งของต้นกัลปพฤกษ์นั้นเล่าก็วิจิตรตระการตาสุดที่จะบรรยาย แต่ได้ชมไม่ถึงอึดใจนางก็หายกลับลงไปใต้ทะเลอีก
ทันทีที่พระราชาฟังจบ ก็บังเกิดความหลงใหลใฝ่ฝัน อยากจะได้เห็นนางเป็นกำลัง ทรงรุ่มร้อนพระทัยด้วยความรัก จนคิดว่าราชอาณาจักรและชีวิตของพระองค์หมดความหมายลงทันทีถ้ามิได้นางเชยชมสมพระทัย พระราชาทรงจับมือมนตรีไว้ ละล่ำละลักว่า
"ข้าจะต้องได้เห็นนางยอดดวงใจนั้นให้ได้ มิฉะนั้นข้าคงตายแน่ ๆ ข้าเดินทางไปพบนางโดยทางที่เจ้าบอกข้า และในกรณีนี้ข้าจะไปคนเดียวเจ้าไม่ต้องไปด้วย ข้าจะมอบราชการทั้งปวงให้เจ้าดูแล จงอย่าขัดคำสั่งของข้า มิฉะนั้นมฤตยูจะไปเยือนเจ้าถึงบ้านทีเดียว"
ตรัสดังนั้นแล้ว โดยมิให้โอกาสมนตรีของพระองค์ได้อ้าปากตอบแต่ประการใด พระราชาก็รีบส่งมนตรีกลับไปบ้านของตนเพื่อพบปะญาติมิตรที่มาคอยต้อนรับอยู่ แต่เมื่อกลับไปถึงบ้านและพักผ่อนแล้วทีรฆทรรศินก็ยังหาได้มีความสงบใจไม่ ก็มนตรีที่ไหนเล่าจะมีความสุขอยู่ได้ในเมื่อเจ้านายของตนต้องเดือดร้อนใจเพราะไฟพิศวาสเผาผลาญเช่นนั้น
คืนวันรุ่งขึ้นพระราชายศเกตุออกเดินทาง ทรงปลอมพระองค์เป็นโยคี และทรงมั่นพระทัยว่าได้มอบราชกิจทั้งปวงไว้ในมือของมหามนตรีเรียบร้อยแล้ว ขณะที่เดินทางไปนั้นทรงพบโยคีชื่อ กุศนาภ ในระหว่างทางจึงเข้าไปกระทำความเคารพอย่างนอบน้อม พระโยคีแลเห็นก็ยิ้มกล่าวปราศรัยแก่นักบวชปลอมว่า
"ข้ารู้ว่าท่านจะไปไหน แต่หนทางที่จะไปนั้นมิใช่ง่าย จงมีความกล้าหาญและอดทนเถิด จากนี้ไปถึงฝั่งทะเลจะมีเรือพ่อค้าวาณิชจอดอยู่จงลงเรือไปสุวรรณทวีป วาณิชที่เป็นเจ้าของเรือมีชื่อว่าลักษมีทัตต์ เรือของเขาจะต้องแล่นผ่านทะเลที่มีนางทิพย์ปรากฏ ถ้าท่านโชคดีก็อาจจะมีโอกาสได้พบนางดังใฝ่ฝัน ขอให้โชคดีเถิด"
ถ้อยคำของตปัสวิน(ผู้มีตบะ หมายถึง ฤษี หรือโยคี) ทำให้พระราชาเกิดกำลังใจขึ้นเป็นอันมาก ทรงกระทำอัญชลีแล้วเดินทางต่อไป หลังจากที่ผ่านแม่น้ำหลายสายและภูเขาหลายลูกแล้วในที่สุดก็มาถึงฝั่งทะเล ได้พบคนมากหน้าหลายตาเดินขวักไขว่อยู่ที่ท่าจอดเรือ พระราชาทรงไต่ถามชาวเรือ ณ ที่นั้น จนได้พบลักษมีทัตต์ผู้ซึ่งโยคีแนะนำมา กำลังจะออกเรือไปสุวรรณทวีป ลักษมีทัตต์แลดูพระราชา เห็นมีลักษณะผิดจากคนทั่วไป กล่าวคือมีลายกงจักรอยู่ที่รอยเท้าและลักษณะต่าง ๆ แสดงวรรณะของกษัตริย์ก็มีความสนใจอนุญาตให้โยคีจำแลงโดยสารเรือไปด้วย เรือของวาณิชแล่นฝ่าฟันคลื่นลมไปจนถึงสะดือทะเล ก็มีนางงามโผล่ขึ้นมาจากน้ำโดยนั่งบนกิ่งของต้นกัลปพฤาษ์ พระราชารู้สึกตื่นเต้นต่อภาพที่แลเห็นเฉพาะหน้า จนตะชึตะไล อ้าปากค้าง ราวกับนกจักโกระ (นกเขาไฟผู้เสพแสงจันทร์เป็นอาหาร) ที่เพ่งดูแสงจันทร์ฉะนั้น ขณะนั้น นางก็เริ่มขับร้องด้วยน้ำเสียงอันอ่อนหวานประสานกับเสียงพิณที่นางดีดด้วยท่วงท่าอันเป็นเสน่ห์จับใจยิ่งนัก บทเพลงที่นางขับมีเนื้อร้องว่า
"คนที่กระทำกรรมอันใดไว้ในชาติก่อน ย่อมไม่มีข้อสงสัยเลยว่า เขาจะต้องเสวยผลแห่งกรรมในชาตินี้ ชะตากรรมของเขาย่อมเที่ยงแท้แน่นอนไม่มีวนผันเป็นอื่น ฉะนั้นบุคคลใดที่เกิดมาไม่ว่าที่ใดสถานใด จะหลีกหนีพรหมลิขิตของตนหาได้ไม่"
พระราชาได้ฟังนางขับร้องด้วยเนื้อเพลงนี้ ทรงรู้สึกเคลิ้มตาม และมีหัวใจอันแหลกสลายเพราะความรัก ทรงหยุดนิ่งมิได้แสดงอาการเคลื่อนไหว พระเนตรจ้องเหม่อที่นางอย่างไม่กะพริบ ครั้นแล้วก็รู้สึกทรงโค้งพระเศียรลงต่อแสดงความคารวะต่อมหาสมุทรอันไพศาล และกล่าวถ้อยคำต่อไปนี้
"ข้าแต่พระสมุทรคงคาอันเป็นรัตนากร (ที่เกิดแห่งรัตนะ หมายถึง มหาสมุทร) ของโลก ผู้ทรงความลึกซึ้งดื่มด่ำจนสุดที่จะหยั่งได้ ท่านได้ซ่อนเร้นนางอัปสรสมุทรนี้ไว้โดยยื้อยุดหฤทัยขององค์พระวิษณุไว้ให้เหินห่างจากองค์พระลักษมี ด้วยประการฉะนี้แล ข้าขอทอดตัวเองให้อยู่ในความพิทักษ์ของท่าน โอ้สมุทรเทพผู้เป็นที่พึ่งของราชะเยี่ยงข้านี้ ขอได้โปรดประทานพรให้ข้าสมปรารถนาด้วยเถิด"
ขณะที่พระราชาทรงกล่าวถ้อยคำนี้ นางโฉมงามก็ค่อยอันตรธานตนหายไปจากท้องทะเล พร้อมกับต้นกัลปพฤกษ์ พอพระราชาแลเห็นดังนั้น ก็รีบกระโจนลงสู่ทะเลติดตามนางไป เหมือนกับจะขอให้น้ำทะเลช่วยขจัดเปลวไฟเสน่หาในพระอุระให้บรรเทาลง
เมื่อไวศยบดีลักษมีทัตต์ แลเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ตกใจเป็นอันมาก คิดว่าพระราชาสิ้นชีวิตแล้ว มีความโศกเศร้ายิ่งนัก ว้าวุ่นด้วยความวิตกแทบว่าจะฆ่าตัวตาย แต่ทันใดมีเสียงดังมาจากสวรรค์ว่า "ไวศยะเจ้าอย่าทำโง่ ๆ หน่อยเลย พระราชาหาได้เป็นอันตรายไม่ ถึงแม้พระองค์จะจมหายลงในทะเล พระราชายศเกตุผู้นี้ซึ่งปลอมร่างเป็นโยคีเพื่อติดตามหานางนั้น ความจริงทั้งพระองค์และนางต่างก็เคยเป็นสามีภรรยากันมาแต่ชาติก่อน เมื่อได้นางสมปรารถนาแล้ว พระองค์ก็จะกลับคืนบ้านเมืองของพระองค์เอง"
เมื่อลักษมีทัตต์ได้ยินเสียงสวรรค์บันลือเช่นนั้นก็หายวิตก ให้เรือแล่นต่อไปยังสุวรรณทวีปอันเป็นที่หมาย
ฝ่ายพระราชายศเกตุ เมื่อโจนลงทะเลไปนั้น ชั่วอึดใจหนึ่งก็ลงมาถึงก้นสมุทร ทันใดก็ประสบภาพนครอันงามวิจิตรตั้งอยู่เบื้องหน้าเป็นที่มหัศจรรย์ยิ่งนัก นครนั้นสว่างรุ่งเรืองด้วยปราสาทราชวัง อันมีเสาทำด้วยรัตนมณีสีต่าง ๆ เป็นประกายระยิบระยับ มีหลังคาอันดาษด้วยทองศฤงคีทอแสงวูบวาบลังเมลือง หน้าต่างทุกบานก็ประดับด้วยไข่มุกขาวปลั่งเป็นสายสร้อยห้อยระย้า ใกล้ ๆ กับปราสาทมีสวนขวัญอันสะพรั่งด้วยดอกไม้นานาพรรณ แลสระน้ำอันมีน้ำใสปานแก้ว บันไดท่าน้ำประดับด้วยมณีหลากสี บนฝั่งเล่าก็เรียงรายไปด้วยต้นกัลปพฤกษ์อันมีกิ่งก้านเป็นอำพันสีน้ำผึ้ง เมื่อพระราชาทรงเปิดประตูแก้วเข้าไปในปราสาท ทอดพระเนตรเห็นตั่งทองอันแกะสลักอย่างประณีตบรรจง บนตั่งนั้นมีร่างมนุษย์ผู้หนึ่งนอนเหยียดยาว มีผ้าแพรปิดหน้าอยู่ พระราชาทรงประหลาดพระทัยไม่ทราบว่าเป็นร่างใคร ด้วยความใคร่รู้จึงเปิดผ้าที่คลุมออก ก็จำได้ทันทีว่านางคือสตรีที่พระองค์ใฝ่ฝันนั่นเอง นางมีวงพักตร์อันงามปลั่งดั่งสมบูรณจันทร์ หาที่ตำหนิมิได้ ทันทีที่ผ้าคลุมร่างสีดำตกลง ภาพของนางก็เฉิดฉายปรากฏขึ้นประหนึ่งดวงศศีที่งามปลั่งในราตรี
ทันทีที่พระราชาทอดพระเนตรเห็นนาง พระองค์ก็มีพระทัยแช่มชื่นขึ้นทันที ประหนึ่งว่า บุรุษที่เดินกระเซอะกระเซิงมาในทะเลทรายในเวลากลางวันที่ร้อนระอุด้วยแดดที่แผดเผาอย่างแรงกล้า และได้พบแม่น้ำโดยบังเอิญ ทันใดนั้นนางก็เปิดเปลือกตาขึ้น แลไปเ็นพระราชาผู้ประกอบด้วยบุรุษลักษณ์อันงามสง่า ก็รีบลุกขึ้นจากแท่นด้วยความดีใจ กระทำการต้อนรับด้วยท่าทางอันละมุนละม่อม และกล่าวด้วยความขวยเขินว่า "อภัยเถิด ข้าอยากรู้ว่าท่านเป็นใคร เหตุใดจึงลงมาถึงที่อันอยู่ก้นบึ้งของบาดาลนี้ อันใคร ๆ ยากจะลงมาถึง และทำไมท่านผู้ประกอบด้วยกษัตริยลักษณะจึงปลอมตัวมาโดยเพศโยคี โปรดตรัสเถิดว่าพระองค์มีพระประสงค์สิ่งใด จึงมาหาข้าถึงที่นี่"
เมื่อพระราชาได้ฟังคำของนางจึงตอบว่า "แม่โฉมงาม ข้าเป็นราชาแห่งแคว้นอังคะ มีชื่อว่ายศเกตุ ที่ข้ามานี่ก็เพราะข้าได้ทราบข่าวจากสหายที่ข้าเชื่อถือ ว่าเจ้าจะปรากฏร่างขึ้นจากน้ำทะเลทุกวัน ดังนั้นข้าจึงปลอมตัวเป็นโยคีมาสืบเรื่องของเจ้า รู้ไหมว่าข้าต้องสละราไชสวรรย์ ติดตามเจ้ามาจนได้เห็นหน้าเจ้า และโจนลงทะเลโดยไม่อาลัยแก่ชีวิต เจ้าจะบอกได้ไหมว่าเจ้าคือใคร"
นางได้ฟังคำของพระราชาก็ทูลตอบด้วยความรู้สึกที่กระอักกระอ่วนครึ่งอดสูและปลาบปลื้มในใจว่า
"โอ ราชะ ขอจงทรงทราบเถิด เมืองนี้เป็นของพระราชาแห่งวิทยาธร ชื่อ มฤคางกเสน ตัวข้าเป็นลูกของพระราชาผู้นั้น มีชื่อ มฤคางกวดี บิดาของข้ามีความจำเป็นบางอย่างต้องละทิ้งบ้านเมืองและตัวข้าไป ทำให้ข้าต้องอยู่โดดเดี่ยวด้วยความเหงาหงอย ข้าทนความเปล่าเปลี่ยวไม่ไหว จึงต้องขึ้นมาจากทะเลพร้อมด้วยต้นกัลปพฤกษ์และพิณงาม นั่งขับเพลงให้หายเหงาไปวันหนึ่ง ๆ "
เมื่อนางได้กล่าวดังนี้ วีรกษัตริย์ก็กล่าวปลอบโยนด้วยความสงสาร ทำให้นางแช่มชื้นขึ้น นางสนองตอบด้วยอากับปกิริยาอันแสดงความเสน่หาอย่างท่วมท้น และให้สัญญาว่านางจะยอมเป็นชายาของพระองค์โดยมีเงื่อนไขว่า
"โอ บดินทร์ ข้าขอให้พระองค์อนุญาตให้ข้าลาจากไปเดือนละสี่วันทุก ๆ เดือน คือวันสิบสี่ค่ำและแปดค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ข้าคงจะไม่ได้อยู่ปรนนิบัติพระองค์ตามวันดังกล่าวนั้น โปรดอย่าทรงบังคับให้ข้าน้อยต้องตอบว่าไปไหน หรือย่าได้ทรงห้ามข้ามิให้ไปเลย"
เมื่อนางทิพย์ได้กล่าวถ้อยคำอันเป็นเงื่อนไขดังนี้ พระราชาก็ตรัสตกลง และทรงวิวาห์กับนางโดยแบบคานธรรพวิวาหะ(การแต่งงานโดยฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ยินยอมได้เสียกันเอง)
วันหนึ่ง ขณะที่พระราชากำลังเสพสุขสำราญด้วยนางมฤคางกวดี นางได้กล่าวกำชับว่า
"ยอดรัก ข้าขอเตือนพระองค์ว่าวันนี้เป็นวันแรมสิบสี่ค่ำ ข้าจะต้องจากไปด้วยกิจสำคัญอย่างหนึ่งตามที่ทูลไว้แล้ว ขอให้พระองค์ประทับอยู่ที่นี่อย่าออกไปไหน และระหว่างที่ประทับรออยู่นี้ อย่าได้เสด็จเข้าไปในพลับพลาแก้วนั้นเป็นอันขาด โอ สวามิน ถ้าพระองค์เข้าไปในพลับพลาแก้ว ก็จะเจอทะเลสาบแห่งหนึ่ง พระองค์จะตกลงไปในนั้นและจะต้องกลับคืนไปสู่โลกมนุษย์อีก" เมื่อกล่าวจบนางก็อำลาออกเดินจากนครไป แต่พระราชามิได้ทำตามคำของนาง ทรงถือขรรคาวุธย่องติดตามนางไปอย่างลับ ๆ โดยหวังจะสืบหาสาเหตุแห่งพฤติกรรมของนางให้จงได้
เมื่อตามนางไปมิชาก็แลเห็นราษสตนหนึ่ง เดินตรงเข้ามาหานางด้วยท่วงท่าอันดุร้าย มีปากอ้าแสยะแลเห็นฟันอันแหลมคมน่าสะพรึงกลัวเรียงรายเป็นแถว มันรองคำรามกึกก้อง และคว้าร่างนางยัดใส่ปากกลืนหายลงไปในคอทันที พระราชาแลเห็นดังนั้นก็ตกตะลึง เมื่อได้สติก็รีบชักดาบออกจากฝัก ปราดเข้าหารากษสนั้นด้วยความโกรธสุดขีด และฟันคอของมันขาดกระเด็นไป เลือดพรั่งพรูราวกับน้ำ ร่างอันใหญ่โตล้มฮวบลงขาดใจตาย ทันใดร่างนางมฤคางกวดีก็ปรากฏออกมา พระราชาทรงประคองนางไว้ด้วยความตื่นเต้นและเต็มตื้นไปด้วยความดีพระทัย ละล่ำละลักถามว่า "ที่รักของข้า นี่มันเรื่องอะไรกัน ข้าฝันไปหรือว่าที่นี่เป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น"
เมื่อถูกพระราชาถามดังนี้ นางวิทยาธรี (วิทยาธรผู้หญิง) ก็รำลึกถึงเหตุการณ์ขึ้นมาได้ จึงทูลเล่าความจริงว่า
"โอ นฤเบศร ทรงฟังเถิด นี่มิใช่ความฝันและมิใช่มายาดอก แต่เป็นคำสาปที่เกิดจากบิดาของข้าเอง ผู้เป็นราชาแห่งวิทยาธรทั้งหลาย เดิมทีเดียวท่านพ่อเคยครองนครนี้อยู่ ถึงแม้จะมีโอรสหลายองค์ แต่ก็ทรงรักข้ายิ่งกว่าใคร ๆ ขนาดที่ว่าวันไหนไม่เจอหน้าข้า พระองค์จะไม่ยอมเสวยเป็นอันขาด แต่ข้าเป็นผู้ที่มีความภักดีในองค์พระศิวะ ข้าต้องมาทำพิธีบูชาพระองค์ ณ ที่นี้ อันเป็นที่สงัดปราศจากผู้คน ในวันแปดค่ำและสิบสี่ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรมของเดือน วันหนึ่งเป็นวันสิบสี่ค่ำ ข้ามาที่นี่และบูชาพระเคารี (เป็นชื่อหนึ่งของพระอุมา ชายาของพระศิวะ ถือว่าเป็นปางที่สวยงาม และใจดี เช่นเดียวกับพระอุมา เคารี แปลว่า ผู้มีผิวสีเหลืองอ่อนหรือสีนวล) เป็นเวลาช้านาน เพราะข้าเป็นผู้ขยันมั่นภักดีในพระองค์อย่างยิ่ง เวลาผ่านไปจวฝนจะสิ้นวันก็ยังบูชาไม่เสร็จ วันนั้นท่านพ่อไม่ได้เสวยอะไรทั้งข้าวและน้ำ มีความหิวกระหายเป็นกำลัง ทั้งนี้เพราะท่านรอข้าอยู่ ท่านโกรธมาก พอข้ากลับมาข้ารู้สึกสำนึกผิด มีความละอายเป็นอันมาก พอแลเห็นหน้าข้าท่านก็สาปด้วยความโกรธว่า
"กลับมาแล้วหรือนางตัวดี ช่างอวดดีนี่กระไร ข้าหิวแทบตายชักเพราะอดมาทั้งวัน เจ้าเคยเห็นใจข้าบ้างไหม ปล่อยให้ข้าคอยมาทั้งวัน ดีละนับแต่นี้ไป ในวั้นแปดค่ำและสิบสี่ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ข้าจะให้รากษสชื่อ กฤตานตสันตราส จับเจ้ากินเป็นอาหารให้สามสมกับที่เจ้าขยันไปบูชาพระศิวะ ณ ที่นั้นจนลืมข้า และทุก ๆ ครั้งที่เจ้าถูกกิน เจ้าจะต้องเป็นไปตามคำสาปของข้า และจะได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัสเื่อถูกราษสมันขย้ำ เจ้าจะต้องอยู่แต่เดียวดายในนครนี้เรื่อยไปไม่มีกำหนด"
เมื่อถูกท่านพ่อสาปเอาเช่นนี้ ข้าตกใจแทบสิ้นชีวิต พยายามวิงวอนขอโทษ จนในที่สุดท่านใจอ่อน ยอมแก้ไขคำสาปลงว่า "เอาเถิด เจ้าจะพ้นโทษสักวันหนึ่ง เมื่อใดก็ตามถ้ามีพระราชาองค์หนึ่งชื่อยศเกตุ ผู้ครองแคว้นอังคะเดินทางมาถึงที่นี่ พระองค์จะได้เป็นสามีของเจ้า ได้เห็นรากษสกลืนกินเจ้าเป็นอาหาร พระองค์จะฆ่ามัน เจ้าก็จะได้เป็นอิสระอีกครั้งหนึ่งและพ้นจากคำสาปของข้า"
"เมื่อท่านพ่อกำหนดคำสาปแก่ข้าดังนี้แล้ว ท่านก็จากไป พร้อมกับนำบริวารไปสู่ภูเขานิษัทอันเป็นที่อยู่ของมนุษย์ ส่วนตัวข้าก็ถูกทอดทิ้งอยู่ที่นี่ต่อไปตามคำสาป บัดนี้คำสาปก็สิ้นสุดลงแล้ว และข้าก็จำความหลังได้ทุกสิ่งทุกอย่าง บัดนี้ข้าก็จะได้กลับไปหาท่านพ่อของข้าที่ภูเขานิษัท เพราะมีกฏในระหว่างพวกเราชาวสวรรค์ว่า เมื่อใดคำสาปสิ้นสุดลง เมื่อนั้นผู้ถูกสาปจะได้คืนสู่สภาพเดิม และกลับไปอยู่กับพวกพ้องตามเดิม ส่วนพระองค์จะพอพระทัยประทับอยู่ที่นี่ต่อไปก็สุดแต่ความประสงค์ หรือจะเสด็จกลับบ้านเมืองก็แล้วแต่จะทรงตัดสินพระทัย"
เมื่อนางกล่าวจบลง พระราชารู้สึกเสียพระทัยนัก ตรัสแก่นางว่า
"เจ้ารูปงาม ได้โปรดเถอะ เจ้าอย่าจากข้าไปภายในเจ็ดวันนี้เลย ข้าอยากจะอยู่กับเจ้าในสวนขวัญนี้สักระยะหนึ่งก่อน เพื่อรักษาความเจ็บปวดในหัวใจด้วยความสุขครั้งสุดท้าย จากนั้นข้าก็จะกลับไปบ้านเมืองของข้า"
นางฟังคำวิงวอนก็ใจอ่อน ยอมตกลงตามสัญญา พระราชาได้ประทับอยู่กับนางในอุทยานเป็นเวลาหกวัน ทรงเล่นน้ำในสระแก้วอันมีดอกบัวบานสะพรั่งกับนาง น้ำในสระอุบลนั้นแผ่ไพศาลสุดสายตา มีคลื่นม้วนตัวเป็นเกลียววิ่งเข้าสู่ฝั่งไม่ขาดระยะ ยังเสียงบังเกิดดังซ่าผสานเสียงหงส์และนากกาเรียนที่บินและเล่นอยู่เหนือผิวน้ำ เป็นเสียงเศร้าสร้อยเหมือนกับจะกล่าวว่า "อยู่ที่นี่เถิดนะ อย่าได้จากไปเลย"
ถึงวันที่เจ็ด พระราชาพานางกลับเข้าสู่พลับพลาแก้ว ผ่านพ้นทวารเข้าไปเป็นบึงน้ำสีเขียวสดใสดังมรกต เป็นที่จะผ่านไปสู่แดนมนุษย์ พระราชาทรงโอบเอวนางเดินมาถึงฝั่งสระศักดิ์สิทธิ์ แล้วกระโจนหายลงไปในสระนั้น ปรากฏว่ามาผุดขึ้นที่สระในสวนหลวงที่แคว้นอังคะ เมื่อคนเฝ้าอุทยานแลเห็นก็รีบพากันมาต้อนรับด้วยความยินดี และส่งข่าวไปยังทีรฆทรรศินผู้เป็นมหาอำมาตย์นายก เมื่อมหาอำมาตย์ทราบข่าวก็รีบมาเฝ้าทูลเชิญเสด็จเข้าวังพร้อมด้วยนางผู้มีสิริ คือนางมฤคางกวดี มนตรีหนุ่มแลเห็นนางก็จำได้ว่านางคือใคร มีความฉงนใจถึงกับรำพึงในใจว่า
"กระไรหนอ แท้จริงนางนี้คือทิพยกัญญาที่ข้าเห็นในมหาสมุทรนี่นา ทำไมพระราชาไปหานางมาได้เล่า ช่างเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อจริง ๆ แต่เรื่องเช่นนี้ทำไมจะเป็นไปไม่ได้เล่า ในเมื่อชะตาชีวิตของทุกคนนั้นเป็นที่สิ่งที่พระธาดาพรหมทรงลิขิตไว้แล้วบนหน้าผากของเขา"
บรรดาข้าเฝ้าเหล่าบริพารตลอดจนประชาราษฎรทั้งหลาย ได้ทราบข่าวการเสด็จกลับมาของพระราชา ต่างก็ปิติยินดีกันทั่วหน้า มีการเฉลิมฉลองและเล่นมหรสพกันเป็นที่ครึกครื้น แต่นางมฤคางกวดีผู้เดียวบังเกิดความร้อนรุ่มในใจ เมื่อเป็นเวลาเจ็ดวัน บัดนี้ก็ครบกำหนดแล้ว จะต้องกลับคืนไปสู่ดินแดนแห่งวิทยาธรอันเป็นที่อยู่ของตนตามสัญญา ถึงแม้จะมีความรักและความอาลัยในพระราชาเพียงใดก็จำเป็นจะต้องไป แต่พอเตรียมตัวจะไป ก็ปรากฏว่าอิทธิฤทธิ์ที่จะเหาะเหินเดินอากาศได้นั้นเสื่อมหายไป ไม่อาจจะเดินทางกลับสวรรค์ได้อีก แม้นางจะพยายามเพ่งมโนมยิทธิอย่างไรก็ไม่เป็นผล ทำให้นางเศร้าโศกผิดหวังยิ่งนัก พระราชาแลเห็นนางเอาแต่พิลาปคร่ำครวญก็ถามว่า "เจ้าผู้เป็นที่รักองข้า เจ้าเป็นทุกข์ร้อนด้วยเหตุใด จึงโศกศัลย์ถึงเพียงนี้ เป็นอะไรบอกข้าบ้างสิ" นางวิทยาธรีได้ฟังก็ทูลตอบว่า "โอ้ อารยบุตร ข้าติดตามพระองค์มาด้วยความรัก และอยู่ด้วยพระองค์จนเกินกำหนดเวลา บัดนี้ไสยเวทของข้าได้เสื่อมหมดแล้ว ไม่อาจจะกลับไปหาพวกพ้องของข้าได้อีก ข้าจึงเป็นทุกข์ยิ่งนัก"
เมื่อพระราชาได้ฟังนางกล่าวดังนั้น ก็กล่าวว่า "จะเป็นทุกข์ไปไยเล่า เจ้ามีข้าอยู่ทั้งคนแล้วมิใช่หรือ ควรจะดีใจเสียอีกว่า เราทั้งสองจะได้อยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องพรากจากไปไหนอีกจนชั่วชีวิต ข้าสัญญาว่าข้าจะรักเจ้าตลอดไป ไม่มีใจเป็นอื่นเลย"
พระราชากับนางวิทยาธรีมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกนับตั้งแต่นั้น เว้นแต่ทีรฆทรรรศิน จอมมนตรีแต่ผู้เดียวที่ประสบความผิดหวังเต็มแปล้ ต้องนอนแซ่วอยู่บนเตียงด้วยความโทมนัส และสิ้นใจตายไปด้วยหัวใจที่แตกสลาย แม้จะได้รับการชดเชยด้วยนางงามมาแทนที่ก็ตาม พระราชายังทรงรู้สึกว่าชีวิตของพระองค์นั้นขาดอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีทางจะเรียกคืนได้อีก
เมื่อเวตาลผู้นั่งอยู่บนพาหาของพระเจ้าตริวิกรมเสนได้จบนิทานของตนลง ก็กล่าวแก่พระราชาว่า "เรื่องนี้พระองค์ทรงคิดอย่างไร เหตุใดหัวใจของมหามนตรีจึงแตกสลาย ในเมื่อเจ้านายของตนได้ประสบความสำเร็จสมความปรารถนาเช่นนั้น เขาต้องหัวใจสลายเพราะความโศกเศร้าเนื่องจากเอาชนะความรักของนางทิพย์ยอดเสน่หาผู้นั้นไม่ได้ หรือว่าเสียใจที่จะต้องสูญเสียอำนาจในการปกครองไป และต้องผิดหวังอย่างยิ่งในการที่พระราชาเสด็จกลับพระนครพร้อมด้วยนาง โอ ราชะ ถ้าแม้พระองค์รู้คำตอบแล้ว แต่ไม่ยอมตอบข้า ผลบุญที่พระองค์สะสมไว้ทั้งหมดก็จะสิ้นสูญไป และพระเศียรของพระองค์ก็จะต้องแยกเป็นเจ็ดเสี่ยงด้วย"
เมื่อพระราชาติวิกรมเสนได้ฟังดังนั้นก็ตรัสแก่เวตาลว่า
"มหามนตรีต้องช้ำใจตายหาได้เกี่ยวกับนางงามที่พระราชาพามาด้วยไม่ แท้ที่จริงเป็นเพราะชายที่ทรงคุณธรรมอันเลิศผู้นี้ได้ตระหนักแก่ใจว่า พระราชานั้นหาได้กระทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและราษฎรของพระองค์ไม่ พระองค์ทรงทอดทิ้งราชกิจไปอย่างคนไร้น้ำใจ เพียงเพราะต้องการผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้น ตัวมหามนตรีเองต้องสู้ทนความเหนื่อยยากตรากตรำรับภาระอันยิ่งใหญ่แต่ผู้เดียว ในขณะที่พระราชามิได้มีความรู้สึกแม้แต่สักนิดว่า เขามีค่าในสายพระเนตรของพระองค์บ้างหรือไม่ ด้วยประการฉะนี้แล คนดี ๆ อย่างเขาจึงไม่อาจจะทนทานอยู่ต่อไปเพื่อคนที่เห็นแก่ตัวเช่นนั้นได้ เมื่อทนไม่ได้หัวใจของเขาจึงต้องแตกสลายดังนี้"
พอได้ฟังพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลก็หัวเราะคิกคักด้วยความสะใจผละจากบ่าของพระองค์ หายแวบกลับไปสู่ต้นอโศกตามเดิม ทำให้พระราชาต้องรีบเสด็จกลับไปลากตัวมันมาอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา www.lokwannakadi.com/
|