บ่อปลาคาร์ป
ได้ลงเรื่องบ่อกรองไปแล้ว ต่อไปนี้เป็นการทำบ่อเลี้ยงปลาคาร์ปในบ้าน จะพยายามกล่าวถึงวิธีทำแต่ละขั้นตอนและปัญหาที่พบเสมอๆ ท่านที่อยากทำบ่อเลี้ยงปลาก็คิดและตัดสินใจให้ดี ว่าท่านรักและต้องการเพียงใด ไม่ใช่แค่ชอบหรืออยากมีเฉยๆ ได้ไปไม่นานก็ปล่อยทิ้งหรือขาดการเอาใจใส่ เรื่องเล็กน้อยแต่ก็ต้องหาข้อมูลให้ดี จะได้จัดการได้เองในบางกรณี อย่างเช่น บ่อกรองอุดตัน เพราะเศษใบไม้ ระบบน้ำหมุนเวียนไม่ได้ การแก้ปัญหาก็คือการป้องกัน เช่นบริเวณใกล้บ่อไม่ควรปลูกต้นไม้ที่ใบร่วงง่าย หรือปลูกได้แต่ต้องคอยดูแลช้อนเศษใบไม้ขึ้นทุกวัน หรือถ้ามีการอุดตัน ก็แค่ดึงเศษใบไม้ออก ถ้า คุณอยากมีบ่อปลาแต่คุณไม่พยายามศึกษา ปล่อยให้เป็นภาระของคนอื่น คุณอย่าทำเลยไม่แฮปปี้สักนิด
ขั้นตอนการทำบ่อเลี้ยงปลาคาร์ปในบ้าน
บ่อปลาคาร์ปต้องมีองค์ประกอบดังนี้
1 สะดือบ่อ
2 ท่อน้ำล้น
3 ท่อน้ำทิ้ง
4 ท่อเติมน้ำ
5 มุมตั้งเครื่องพ่นอากาศ หรือ หัวเจ็ทพ่นน้ำเพิ่มฟองอากาศ
6 ทางน้ำกลับ
7 ที่ให้อาหารปลา
8 ที่ยืนหรือที่นั่งชมปลา
ในที่นี้จะสมมุติขนาดของบ่อปลา ไว้ที่ 2x3 เมตร เพื่อสะดวกในการคำนวณให้เห็นชัดเจน
1 การกำหนดรูปร่างลักษณะของบ่อ เป็นแบบสี่เหลี่ยม หรือไม่จำกัดรูปทรง ให้วางแปลนคร่าวๆในกระดาษ ขนาด 2 x3 เมตรโดยใช้มาตราส่วน ที่กำหนดขึ้น เพื่อง่ายต่อการคำนวณหาจำนวนเสาเข็ม การตอกเข็มในขั้นต่อไป
รูปร่างบ่อปลา
2 ความลึกของบ่อ ต้องมีความสัมพันธ์กัน บ่อเลี้ยงปลาไม่ควรลึกหรือตื้นเกินไป บ่อกว้างยาวขนาดนี้ ขุดลึก ถึง 1 เมตรตามที่ว่ากัน ก็เหมือนหลุมหลบภัยมากกว่า มันน่ากลัวมากกว่าน่าดู ยิ่งความลึกถึง 1.5 เมตร เลิกคุยกันไปเลย ถ้ากว้าง 15 เมตร ยาว 25 เมตรไม่ว่ากัน ไม่ต้องกลัวว่าปลาจะอยู่ไม่ได้ เลี้ยงไว้ดูไม่ได้เลี้ยงไว้ขาย บ่อขนาดนี้ลึก 60-70 เซนติเมตรก็โอแล้ว
ที่เตือนไว้ตรงนี้เพราะกลัวใจคุณ เห็นบ่อที่ขุดแล้วยังไม่มีน้ำใส่ มันจะลวงตาว่าไม่ลึก แล้วจะสั่งให้เพิ่มความลึกไปเรื่อยๆ การทำแบบนี้ไม่เป็นผลดีเลย เพราะความลึกของบ่อที่เพิ่มขึ้นหมายความว่าต้องเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานด้วยไม่ว่าจะป็นจำนวนเสาเข็มหรือขนาดของเหล็กเส้น จะต้องคำนวณใหม่หมด ไม่งั้นปัญหาที่ตามมา ให้เดาเอาเองแล้วกัน เกิดแล้วมันแก้ยากนะบ่อแตกร้าวน่ะ
3 ในแบบแปลนคุณตีตารางช่องละ 1 เมตรทำเครื่องหมายกำกับตำแหน่งหัวเข็มเอาไว้ การคำนวณหาจำนวนเสาเข็มมีวิธีการคิดดังนี้ ทุกระยะ 1 เมตรเสาเข็ม 1ต้น คือ 1ต้นต่อ 1ตารางเมตร ใช้เสาปูนหกเหลี่ยมกลวงความยาว 2 เมตร บ่อนี้ใช้เสาเข็มจำนวน 6 ต้น
4 เมื่อได้แบบแล้วก็เริ่มลงมือทำโดยเอาเชือกฟางมาขึง เหมือนในแบบ แล้วเอาปูนขาวโรยตามรูปร่างบ่อเช็คระดับขอบบ่อว่า บ่อจะอยู่เหนือพื้นดินเท่าไร และจะขุดลงไปลึกเท่าไร ในที่นี้ อยู่เหนือพื้นดิน 10 เซนติเมตร ก็ขุดลึกลงไป 50 เซนติเมตร แต่ให้ขุดเพิ่มอีก15 เซนติเมตร เพื่อวางท่อและเทพื้นบ่อ รวมการขุดต้องขุดลึก ลงไปในดิน 65 เซนติเมตร ความกว้างและความยาวต้องขุดเผื่อไว้มากกว่าขนาดจริง +10 เซนติเมตรคือต้องขุด 2.10 X 3.10 เมตร
5 ตอกเสาเข็ม ตามตำแหน่งตามแบบที่หาไว้แล้ว ให้หัวเข็มอยู่ที่ระดับ -65เซนติเมตร
การผูกเหล็กโยงหัวเข็มเข้าด้วยกัน
6 ก่อนจะผูกเหล็กเทพื้นให้วางท่อน้ำเข้าออก ก่อน สะดือบ่อเป็นจุดต่ำสุดมีหน้าที่ดูดถ่ายของเสียจะต้องขุดดินวางท่อต่อกับสะดือบ่อให้เสร็จเป็นสิ่งแรก ตัวแอ่งสะดือ จะทำเป็นรูปกรวยคือก้นแคบปากกว้าง เหมือนตัว V ขนาด 8”x8” ก้น 5”x5”แล้วเดินท่อ PVC ขนาด 4” ไปยังบ่อกรอง สะดือบ่อต้องใส่ตะแกรงเหล็กเพื่อกันเศษใบไม้และปลาลอดเข้าไปในท่อ สะดือบ่อ ถ้าใช้ปั๊ม 11/2 แรงใช้ท่อ PVC 2-4” ถ้าปั๊ม 2 แรงใช้ท่อ 4” ถ้าปั๊ม 3 แรงใช้ท่อ5”
7 น้ำออก
7.1 น้ำออกท่อที่ 1 จากสะดือบ่อที่วางท่อไว้จะเป็นท่อไหลไปบ่อกรองห้องที่1 เวลาวางท่อpvc ต้องวางให้ได้ระดับจากพื้นบ่อเลี้ยงปลาไปยังบ่อกรอง(คงจำได้ว่าพื้นบ่อกรองจะอยู่ต่ำกว่าพื้นบ่อเลี้ยง )
7.2 น้ำออกท่อที่2 คือตัวควบคุมระดับน้ำในบ่อ จะใช้ท่อpvc21/2”เป็นท่อน้ำล้นวางที่ระดับ -30เซนติเมตร ใส่ข้องอไม่ทากาว และต่อไปยังท่อระบายน้ำ
แสดงท่อน้ำล้น
8 น้ำเข้า
8.1 ท่อน้ำจะวิ่งเข้าบ่อกรองห้องสุดท้าย ไหลวนกลับมาบ่อเลี้ยง
8.2 น้ำเข้าท่อที่2 ติดหัวเจ็ทให้น้ำกับอากาศ พุ่งออกมาเป็นฟองอากาศในบ่อ ช่วยเพิ่มอ็อกซิเจนให้กับปลาให้พอเพียง และแรงดันน้ำที่พ่นออกมาจะช่วยให้น้ำในบ่อไหลเวียน เศษอาหารและขี้ปลาจะวนไปรวมกันที่สะดือบ่อ และถูกดูดไปยังบ่อกรองต่อไป ให้วางท่อน้ำเข้าต่ำกว่าท่อน้ำล้น 10 เซนติเมตร
9 ผูกเหล็กเทพื้นคอนกรีตและผนัง
เมื่อวางท่อน้ำเข้าออกแล้ว เริ่มผูกเหล็กเทพื้นโดยใช้เหล็กเส้น 3หุนเต็ม (เหล็กเส้นมีอย่างไม่เต็มเรียกสามหุนเบา)ผูกตะแกรงเหล็กห่าง 25x25 เซนติเมตร (ส่วนผนังและพื้นบ่อกรองใช้เหล็กสามหุนผูกระยะห่าง 15x15 เซนติเมตร) เทคอนกรีตที่มีอัตราส่วนผสม ปูน:ทราย:หิน =1:2:4 การผสมปูนควรผสมน้ำยากันซึมเข้าไปด้วยทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเท ก่อ ฉาบหรือขัดมัน การเทพื้นบ่อให้เผื่อผูกเหล็กเป็นฐานแผ่ไว้ 10 เซนติเมตรจากพื้นที่ขนาดบ่อจริง เพื่อก่ออิฐหรือเทแบบ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ขนาดที่ต้องการ
10 ผนังบ่ออาจใช้การก่ออิฐมอญตามรูปบ่อ แทนการใช้ไม้แบบ แต่จะเป็นการก่อ2ชั้น นอกใน และตรงกลางผูกเหล็กแล้วเทคอนกรีตหล่อฉาบนอกฉาบในขัดมันกันซึม บ่อปลาคาร์ปจะเป็นบ่อขัดมันเรียบทั่วทั้งบ่อไม่นิยมปูกระเบื้อง
บางทีถ้าพื้นดินเป็นดินเก่าอัดแน่นไม่มีการยุบตัวก็ใช้ดินเป็นแบบได้ คือด้านในก่ออิฐตามรูปบ่อ ด้านนอกแต่งดินให้เรียบ ผูกเหล็กผนังวางตรงกลางระหว่างดินกับอิฐ แล้วกรอกปูนหล่อผนังฉาบอิฐขัดมันกันซึม หลังจากบ่อและปูนแห้งให้หล่อน้ำทิ้งไว้ในบ่อประมาณ 1/3 ของบ่อ กันปูนล่อนแตก
ใส่น้ำแช่บ่อทิ้งไว้สัก 2อาทิตย์ ค่อยถ่ายน้ำออก เปลี่ยนน้ำใหม่ใส่ตัวกรองในขั้นตอนนี้ เพราะถ้าใส่วัสดุกรองตอนเสร็จใหม่แล้วแช่บ่อทิ้งไว้ ตะกอนปูนจะเข้าไปจับในตัวกรองโดยเฉพาะแผ่นใยขัดจะถูกปูนจับตัวเต็มไปหมด ถ้าบ่ออยู่กลางแจ้งโดนแสงแดดตลอดบ่อจะมีสีเขียวบ้างเนื่องจากการสังเคราะห์แสงของสิ่งมีชีวิตที่เจือปนอยู่ในน้ำ แต่น้ำจะไม่เน่าเสียเพราะมีการกรองที่ดีและไม่มีกลิ่น ต่อไปถ้าพื้นที่บ่อได้ร่มเงามากขึ้น น้ำจะค่อยๆใสแจ๋วเป็นตาตั๊กแตน ระยะเวลาในการกรองอย่ามองข้าม ระบบจะทำงานเมื่อคุณเดินเครื่องระบบ ควรติดตั้งเครื่องตั้งเวลาทำงานของปั๊มให้ปิดเปิดตามเวลาที่คุณต้องการ หากปล่อยให้หยุดนิ่งนานๆเปิดที ทุกอย่างจะถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า
สุดท้ายการคำนวณจำนวนปลาที่จะนำมาเลี้ยงในบ่อ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับบ่อน้ำด้วย และต้องคำนวณว่าขนาดของบ่อสามารถรองรับและเลี้ยงปลาได้กี่ตัว การเลี้ยงปลาน้อยเกินไปยังดีกว่าการเลี้ยงปลามากเกินไป ปลาจะได้อยู่ได้อย่างสบายใจ ไม่แออัดยัดเยียดเป็นปลากระป๋อง หลักการคำนวณแบบคร่าวๆก็คือ ปลาที่มีขนาดลำตัวยาว 5เซนติเมตร ต่อพื้นที่ทุกๆ 1 ตารางเมตรของผิวน้ำ สำหรับบ่อที่เราสร้างเสร็จบ่อนี้เลี้ยงปลาได้ 6 ตัว
สำหรับที่ยืน ที่นั่งให้อาหารปลาชมปลา ก็แล้วแต่อัชฌาศัย จะเป็นพื้นไม้ ระเบียงไม้ ศาลา ก็ว่ากันไป
หวังว่าคงสมใจท่านทุกคนที่สนใจในการทำบ่อปลาแล้วนะ ไม่รู้ตัวว่าที่เขียนไปท่านจะเข้าใจได้มากน้อยเพียงใด อ่านแล้วก็แสดงความคิดเห็นมาบ้าง จะได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อไป
|