Advertisement
|
พระประธานวัดภูมินทร์งดงามตรึงใจชวนไปน่าน |
|
|
การผจญภัยอันท้าทายไปกับเส้นทางอันสุดตื่นเต้นของ “ตะลอนเที่ยว”ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวทางรถยนต์เชื่อมโยงภูมิภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน”ของททท.และหอการค้าจ.น่าน
โดยทริปนี้ “ตะลอนเที่ยว” และเพื่อนผองร่วมชะตากรรมเดียวกันกว่า 54 ชีวิต ได้เดินทางจากกรุงเทพฯมุ่งตรงสู่จังหวัดน่าน เมืองสงบที่ต้องตั้งใจมาแห่งล้านนาตะวันออก และเป็นเมืองที่จะเป็นประตูสู่อินโดจีนให้แก่เราในครั้งนี้
โดยจุดหมายหลักหนึ่งในนั้นของพวกเราคือ “หลวงพระบาง” เมืองมรดกโลก เมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั่นเอง
อย่าเพิ่งสงสัยว่าเราจะเดินทางไปหลวงพระบางแล้วจะมาน่านกันทำไม?
นั่นเพราะจังหวัดน่านมีชายแดนติดต่อกับประเทศ สปป.ลาว รวมเป็นระยะทาง 277 กม. และยังมีด่านสากล 1 แห่ง คือ ด่านบ้านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งด่านนี้แหละ จะเป็นประตูพาเราผ่านจากแดนไทยไปแดนลาว
|
|
พระธาตุแช่แห้งพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน |
|
|
และเมื่อมีโอกาสแวะเวียนผ่านมาพักที่เมืองน่านทั้งที ก็ไม่อยากจะให้เสียเที่ยวเปล่าๆ เพราะเป็นอันรู้กันดีว่า เมืองน่านนั้น ยังเป็นเมืองที่สงบ แวดล้อมด้วยธรรมชาติแห่งขุนเขา และเป็นดินแดนที่มากด้วยศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของล้านนา
งานนี้เมื่อชาวคณะเดินทางมาพร้อมเพรียงกันที่เมืองน่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเราจึงขอพากันไปแวะไหว้ขอพรกันที่ “วัดภูมินทร์” ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตเมือง (หัวแหวนเมืองน่าน)เดิมชื่อ“วัดพรหมมินทร์”แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์
จุดเด่นของวัดนี้คือเป็นวัดที่สร้างทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหารและพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ โดดเด่นด้วยเรื่องจิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวง ที่เป็นเรื่องราวของชาดกในพุทธศาสนา วิถีชีวิตของคน เมืองในสมัยนั้น รวมทั้ง ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ภาพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์ เป็นต้น
|
|
ตะลุยผ่านลำน้ำกลางขุนเขา |
|
|
ขอพรที่เดียวยังไม่หนำใจเลยพากันมาอีกหนึ่งสถานที่ ที่หากมาเมืองน่านแล้วไม่ได้แวะก็เหมือนมาไม่ถึง คือ “วัดพระธาตุแช่แห้ง” เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่บนเนินทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน บริเวณที่เป็นศูนย์กลางเมืองน่านเดิม สร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่างพ.ศ.1869-1902
องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบของพระธาตุแช่แห้งสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญ ไชย โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้า พระวิหาร เป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเถาะหรือปีกระต่าย
|
|
หมู่บ้านกลางหุบเขาระหว่างทางไปหลวงพระบาง |
|
|
ได้ขอพรพระรับความเป็นศิริมงคลแก่ตัวเองก่อนเดินทางไกลกันเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้เวลาพักผ่อนออมแรงกันที่เมืองน่านหนึ่งคืน ก่อนที่รุ่งสางของวันใหม่ พวกเราจะตื่นกันแต่เช้าตรู่ ยกโขยงกันบุกด่านห้วยโก๋นแต่เช้า ตลอดเส้นทางที่ผ่านจากตัวเมืองน่าน มุ่งหน้าสู่ด่านห้วยโก๋นนั้น ในช่วงเช้าเริ่มมีบรรยากาศของไอหมอกลอยละลิ่วเป็นสายมาให้เห็นกันบ้าง แสดงให้เห็นว่าที่เมืองน่านใกล้ถึงฤดูหนาวมาเยือน
ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง “ตะลอนเที่ยว” ก็มาโผล่ที่หน้าด่านห้วยโก๋น สำหรับด่านห้วยโก๋น ในวันธรรมดานี้ช่างเงียบเหงา แต่ถ้าเป็นช่วงวันเสาร์แล้วล่ะก็ คึกคักอย่าบอกใคร เพราะใกล้ๆด่านจะมีตลาดนัดที่ไว้เป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้าจากไทย-ลาว ชาวบ้านจากฝั่งลาวจะนำอาหาร พืช ผักจากป่าเข้ามาค้าขายกันในฝั่งไทย แต่น่าเสียดายที่ครั้งนี้เราเลือกเดินทางในวันธรรมดาจึงไม่ได้เห็นภาพนั้น
และคงเพราะเป็นวันธรรมดาการตรวจเอกสารผ่านแดนจึงรวดเร็วเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง “ตะลอนเที่ยว”ก็ข้ามพรมแดนมายืนอยู่ ฝั่งตรงข้ามของด่านห้วยโก๋น คือ ด่านน้ำเงิน แขวงไชยบุลี (ด่านท้องถิ่น) ของสปป.ลาวแล้ว
จากด่านน้ำเงิน แขวงไซยะบุรี การผจญภัยก็ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ จากเส้นทางราบเรียบก็เข้าสู่เส้นทางที่เริ่มขรุขระบ้าง แต่ก็ทดแทนความลำบากเรื่องเส้นทางได้ด้วยธรรมชาติที่งดงามสบายๆของป่าเขาที่มีให้มองกันเพลินๆ
|
|
ทุ่งนาที่เริ่มแปรสี |
|
|
วิ่งมาระยะทาง 38 กิโลเมตร พวกเราเดินทางกันจนถึงเมืองหงสา เมืองที่เรียกได้ว่าใกล้ที่สุดจากด่านน้ำเงิน ก็พอให้มีจุดแวะพักได้หายใจกันได้บ้าง แล้วจึงเริ่มเดินทางกันต่อ เส้นทางนี้ทำให้คิดขึ้นมาได้ข้อหนึ่งว่า บางครั้งจุดมุ่งหมายอาจไม่สคัญเท่ากับเรื่องราวที่พบระหว่างทาง เพราะตลอดเส้นทางที่เรามุ่งหน้าสู่หลวงพระบางนั้น ต้องผ่านเส้นทางที่ยิ่งกว่าหลุมพระจันทร์ จนสมาชิกบางคนเปรยๆว่าเหมือนมาขับรถในปารีสดักการ์
เส้นทางเต็มไปด้วยหลุมบ่อ กับฝุ่นสีโอวัลติน ยามที่รถของพวกเรากันเอง ขับเข้ามาในระยะประชิกัน ฝุ่นก็ตีตลบฟุ้งแต่เส้นทางแบบนี้ กลับแฝงด้วยความบริสุทธิ์ ทั้งทุ่งนางดงามเรียงตัวสลับซับซ้อนเป็นขั้นบันไดคดเคี้ยวตามขุมเขา สลับสีแซมลายด้วยสีเขียวบ้างสีทองของรวงข้าวบ้าง บางที่เมื่อรถแล่นขึ้นเขา มองซ้ายเป็นผา มองขวาเป็นเหว เราก็จะเห็นความงดงามของทิวทัศน์แห่งขุนเขาน้อยใหญ่ ที่เขียวครึ้มโค้งเป็นครึ่งวงกลมพาดผ่านกันไปมา โดยมีฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีครามงดงามดุจภาพวาด
ต้องผ่านหมู่บ้านน้อยใหญ่ของชาวลาวที่ตั้งอยู่ตามหุบเขา ทำให้คิดว่าดินแดนแห่งนี้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่มากทีเดียวเห็นเด็กเล็กวิ่งวุ่นไปมาตามหมู่บ้าน บ้างหลังสะพายกระบุงช่วยครอบครัวเก็บพืชผล พวกเราต้องผ่านภูเขาที่สูงชัน รวมทั้งผ่านลำธารถึง 9 แห่ง จึงจะถึงเมืองเชียงแมน เขตจอมเพ็ด เมืองที่เป็นจุดลงเรือบักข้ามน้ำโขงสู่เมืองหลวงพระบาง ก็เป็นช่วงใกล้ค่ำพอดี
เมืองเชียงแมนนั้นเป็นเมืองเงียบๆ ที่เหลือเชื่อว่าจะอยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง มองจากเมืองเชียงแมน ไปพวกเราเห็นแสงไฟหลากสี มันบ่งบอกถึงความเจริญที่เรารุกคืบเข้าใกล้ทุกขณะ ในเวลาเพียงไม่ถึง 15 นาที บักเล็กๆที่ใช้เรือ 2 ลำมาต่อกัน ก็พาทั้งคนและรถข้ามฟากมาถึงหลวงพระบางโดยสวัสดิภาพ
|
|
ชอปปิ้งในตลาดมืดหลวงพระบางยามราตรี |
|
|
แต่แทนที่จะกินข้าวเย็นแล้วพักผ่อนกันให้หายเหนื่อยในโรงแรม พวกเราเลือกที่จะมาเดินสบายๆที่ “ตลาดมืด” ของลาว บนถนนศรีสว่างวงศ์ ที่มีของขายตั้งแต่หน้าพระราชวังจนสุดถนน สัมผัสบรรยากาศแบบหลวงพระบางยามราตรี ของที่ขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึก ภาพวาด เกี่ยวกับหลวงพระบาง นักชอปชาวไทยคง ชอปกันได้อย่างเพลินใจยิ่ง เนื่องจากที่ลาวรับเงินบาทของไทย ราคาของก็แล้วแต่ความสามารถในการต่อรอง ของแต่ละคน ชอปกันจนหิวก็มีตรอกเล็กๆที่ขายอาหาร ส้มตำ ขนมจีน แมลงทอด และอีกสารพัดเห็นฝรั่งมังค่านั่งกินกันเคี้ยวตุ้ยน่าอร่อย
เมื่อราตรีในหลวงพระบางสิ้นสุด ก็นอนเอาแรงเสียหน่อย ก่อนที่จะพากันตื่นแต่ไก่โห่ ไปทำบุญใส่บาตรข้าวเหนียว พระสงฆ์นับร้อยๆรูปหนึ่งในกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวผู้มาหลวงพระบางไม่ยอมพลาด พระที่นี่เดินกันเร็วมากคนใส่บาตรต้องมีสมาธิ และควรต่อรองราคากระติ๊บข้าวเหนียวกับแม่ค้าให้เรียบร้อยเสียก่อนเป็นดีที่สุด ไม่งั้นอาจได้บุญแต่กระเป๋าเบาได้
|
|
ดูเหมือนคนหลวงพระบาง คุ้นชินกันกล้องเสมอ เมื่อต้องตักบาตรยามเช้า |
|
|
ใส่บาตรเสร็จแล้วเดินชม “ตลาดยามเช้า” ของหลวงพระบางเสียหน่อย ดูว่าบรรยากาศจะแตกต่างจากตลาดมืดแค่ไหน และพบว่าแทบจะไม่แตกต่างจากตลาดเช้าทางภาคเหนือบ้านเราเลย มีพืชผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์นานาชนิดมาวางขาย พร้อมกับรอยยิ้มของเหล่าพ่อค้าแม่ค้าที่ยิ้มรับไมตรีจากนักท่องเที่ยวอย่างไม่เหนื่อยอ่อน
เมื่อมาหลวงพระบางแล้วก็ต้องไปที่ “พระราชวังเจ้ามหาชีวิต” ที่ตอนนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ ให้ผู้ที่สนใจเรื่องราวของหลวงพระบางเข้ามาเรียนรู้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2447 หรือปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ขึ้นครองราชย์ไม่นานนัก ภายในเก็บข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ตลอดจนห้องบรรทม ห้องทรงงาน และพระแท่นที่ประทับต่างๆ
นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระบาง” ซึ่งเป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองหลวงพระบางไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอคอยการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ
|
|
ตลาดเช้าเมืองหลวงพระบาง |
|
|
จากวังมาวัดกันบ้างที่ “วัดเชียงทอง” วัดที่ได้รับยกย่องว่าเป็นอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาวที่ยังสมบูรณ์ เนื่องจากไม่ได้ถูกทำลายจากกองทัพฮ่อที่บุกปล้นเมืองหลวงพระบางเหมือนวัดอื่นๆ
สิมของวัดเชียงทองนั้นเป็นแบบล้านช้าง มีหลังคาซ้อน 3 ชั้น รูปทรงหลังคาผายกว้างออกเรียกว่าหลังคาปีกนก ทั้งภายในและภายนอกสิมล้วนมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นลายรดน้ำด้วยการ “พอกคำ” หรือลงรักปิดทองเป็นเรื่องราวนิทานพื้นบ้านและเรื่องเกี่ยวกับศาสนา
|
|
วัดเชียงทอง สุดยอดสถาปัตยกรรมลาว |
|
|
ทางด้านหลังสิมก็จะเห็นลวดลายประดับกระจกสีเป็นรูปต้นไม้ใหญ่ มีนกและสัตว์นานาชนิด ซึ่งต้นไม้นั้นก็คือต้นทอง หรือต้นงิ้ว ที่พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาได้โปรดฯ ให้ช่างทำไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงชื่อเชียงทอง หมายความถึงป่าต้นทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมบริเวณนี้นั่นเอง
ยังมี “หอพระม่านและหอพระพุทธไสยาสน์” ที่อยู่ด้านหลังสิม หอพระขนาดย่อมสองหลังนี้ทาด้วยสีชมพูนวลตา ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีเป็นลวดลายเล่าเรื่องราวนิทานพื้นบ้านของลาว ห่างออกไปไม่ไกลกันนัก เป็นที่ตั้งของ “โรงเมี้ยนโกศ” หรือโรงราชรถที่ใช้ในการอัญเชิญพระโกศของเจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์ ที่น่าสนใจชมก็คืองานแกะสลักไม้ด้านหน้าโรงเมี้ยนโกศเป็นเรื่องรามเกียรติ์ โดยฝีมือของเพียตัน (พระยาตัน) สุดยอดช่างลาวคนหนึ่ง
|
|
ต้นทองหรือต้นงิ้วด้านหลังสิมวัดเชียงทอง |
|
|
เพียงระยะทาง 152 กิโลเมตร จากด่านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ไม่ทันข้ามวัน “ตะลอนเที่ยว” ก็ได้พบประสบการณ์เดินทางอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าจดจำยิ่ง ขอแถมท้ายในเหล่านักผจญภัยด้วยว่า จากเมืองหลวงพระบาง มุ่งหน้าสู่ใต้เมืองพูคูน ไปจนถึงเมืองเชียงขวาง ไปชมทุ่งไหหินได้ และลงไปถึงเมืองวังเวียงกุ้ยหลินเมืองลาวได้ด้วยเช่นกันก่อนจะกลับออกนครเวียงจันทน์ไปโผล่ที่จังหวัดหนองคายได้.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
หลวงพระบาง ตั้งอยู่ทางเหนือของสปป.ลาว อดีตเคยเป็นนครหลวงของอาณาจักรลานช้าง ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2538 ใช้เงินกีบเป็นหลักในการซื้อขายโดย 1 บาท ประมาณ 250 กีบ แต่สามารถใช้เงินบาทได้ คนไทยสามารถเข้าหลวงพระบางได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า
สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่(ดูแลพื้นที่จ.น่าน) โทร.08-1888-4123 , 0-5452-1118
|
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000139678
http://board.palungjit.com/f21/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%87-%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B9%89%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2-%E0%B8%81%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99-77116.html
วันที่ 19 พ.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,155 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,167 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,147 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,156 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,147 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,147 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,157 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,136 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 26,627 ครั้ง |
เปิดอ่าน 3,303 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,065 ครั้ง |
เปิดอ่าน 81,883 ครั้ง |
เปิดอ่าน 13,754 ครั้ง |
|
|