หัวข้อวิจัย การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน
โรงเรียนเชียงกลมวิทยา
ชื่อผู้วิจัย นายบรรจง ปัทมาลัย
โรงเรียน โรงเรียนเชียงกลมวิทยา อำเภอปากชม จังหวัดเลย
ปีการศึกษา 2550
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการและแนวทางการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 2) เพื่อออกแบบและพัฒนาคุณภาพนักเรียนด้านการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์การพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ 3) เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียน โรงเรียนเชียงกลมวิทยา อำเภอปากชม จังหวัดเลย กลุ่มเป้าหมายเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ จำนวน 55 คน กลุ่มตัวอย่างเก็บข้อมูลเชิงปริมาณประกอบด้วย ครู จำนวน
30 คน นักเรียน จำนวน 600 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 600 คนและ ผู้ได้รับประโยชน์ จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบประเมิน สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. การศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการและแนวทางการพัฒนาคุณภาพนักเรียนด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความคิดเห็นและต้องการให้พัฒนาคุณภาพนักเรียนในด้าน 1) การพัฒนาระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรม 2) การส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดระเบียบและแสดงความสามารถภายในตนเองอย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอก รอบที่ 2 จึงสรุปเป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพนักเรียน 2 ด้าน 1) การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ 2) การพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์
2. การออกแบบแนวทางในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ 1) ด้านการมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ โดยกำหนดกิจกรรมการพัฒนา แล้วประเมินคุณภาพตามแบบวัดศักยภาพเด็กไทย นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปกติวิสัยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ที่ค่าตำแหน่งร้อยละ 40 (Percentile norm) 2) ด้านการมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ กำหนดกิจกรรมการพัฒนา แล้วประเมินคุณภาพตามแบบวัดทักษะคิดวิเคราะห์ โดยภาพรวมนักเรียนมีความสามารถอยู่ในระดับปกติ
3. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความพึงพอใจต่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ใน 2 ด้าน 1)การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ อยู่ในระดับมาก 2) การพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ อยู่ในระดับมาก
http://researchers.in.th/blog/schoolkm