มีข่าวจากสมาคมดาราศาสตร์ไทยที่ออกมาเปิดเผยว่าในปลายเดือนนี้จนถึงต้นเดือนหน้ามี ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนท้องฟ้าที่น่าดูชมเป็นอย่างยิ่ง โดยคืนวันนี้ (21 ต.ค.2552) จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์
ช่วงเวลาสังเกตตั้งแต่ 22.00 น. ถึงเช้ามืดของวันใหม่ ฝน ดาวตกโอไรโอนิดส์ (Orionid Meteors shower) หรือฝนดาวตกนายพราน เป็นฝนดาวตกประจำเดือนตุลาคมที่น่าสนใจ ซึ่งฝนดาวตกโอไรโอนิดส์จะเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่ 20-22 ตุลาคม ของทุกปี โดยมีอัตราการเกิดสูงสุดเฉลี่ย 20 ดวง ต่อชั่วโมง มีจุดกระจายออกมาจากบริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ใกล้กับดาวเบเทลจูส (Betelgeuse) ซึ่งกลุ่มดาวนี้จะเริ่มขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลาประมาณ 22.00 น.
ที่สำคัญสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์ใดๆ รู้อย่างนี้แล้ว ไอ้คนโรแมนติกช่างฝัน รักธรรมชาติอย่างเราจะพลาดได้ไง
กระนั้น สำหรับคนเมืองกรุงคงต้องลุ้นหนักหน่อย จะหาที่โล่งๆ ฟ้ามืดๆ ห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุดก็ว่ายากแล้ว ช่วงนี้เมฆฝนก็มากเหลือเกิน ย่านไหนฝนตกนี่โอกาสพลาดสูง เพราะการจะดูดาวโดยเฉพาะฝนดาวตกด้วยแล้ว ยังต้องหาที่ๆกว้างๆ ท้องฟ้าเปิดโล่ง แต่มืดสนิทจึงจะได้ชมความงามกันแบบเต็มตา
หากจะกล่าวถึงฝนดาวตกแล้ว วัยรุ่นส่วนใหญ่คงไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ มีที่พอทราบบ้างก็ต้องขอขอบคุณพี่ๆF4ทั้งหลายในเรื่องรักใสๆหัวใจสี่ดวงหรือ ชื่อภาษาอังกฤษว่า Meteor Garden(สวนดาวตก)ที่ทำให้บางคนรู้จักกับปรากฏการณ์ฝนดาวตก
ฝนดาวตก หรือชื่อตามสากลว่า Meteor shower(เห็นชื่อแล้วอยากอาบนํ้า) คือ ดาวตกที่มีความถี่และจำนวนมากกว่ากว่าปกติ ที่มีทิศทาง จุดกำเนิดที่แน่นอน มองดูคล้ายกับฝนตก จึงเรียกว่า ฝนดาวตก
อธิบายให้ ลึกกว่านั้น ในทางดาราศาสตร์ เป็นปรากฏการณ์ดาวตกหลายดวงที่ดูราวกับพุ่งออกมาจากที่เดียวกันบนท้องฟ้าใน ช่วงเวลาเดียวกันของปี
ฝนดาวตก เกิดจากเศษชิ้นส่วนในอวกาศที่วิ่งเข้ามาในบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูง ซึ่งแต่ละครั้งที่ดาวหางเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์จะมีเศษชิ้นส่วนขนาดเล็กถูก สลัดทิ้งไว้ตามทางโคจร เรียกว่า ธารสะเก็ดดาว
หากวงโคจรของโลกและดาวหางซ้อนทับกัน โลกจะเคลื่อนที่ผ่านธารสะเก็ดดาวในช่วงวันเดียวกันของแต่ละปี ทำให้เกิด ฝนดาวตก
ทว่า ฝนดาวตกแต่คราวก็จะมีรูปแบบที่ต่างกันไปตามแหล่งกำเนิดดาวหางที่ประกอบด้วย สสารที่ต่างกันไป อาทิ ฝนดาวตกเปอร์เซอิดที่เกิดจากฝุ่นของดาวหาง Swift-Tuttle ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นไฟบอลมากกว่าฝนดาวตกประเภทอื่นๆ
เวลาการเกิดฝนดาวตกเองก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดลักษณะของฝนดาวตกด้วย ปกติแล้วดาวตกที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกนั้นจะมีความเร็วราว 71 กิโลเมตรต่อวินาที
ดังนั้น ฝนดาวตกที่มีช่วงเวลาเกิดก่อนเที่ยงคืนหรือช่วงหัวค่ำ จะเป็นช่วงที่ดาวตกนั้นวิ่งตามการหมุนรอบตัวเองของโลกเราจะเห็นดาวตกมีความ เร็วไม่มากนัก แต่ถ้าฝนดาวตกเกิดหลังเที่ยงคืนไปแล้วหรือใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทิศกับการหมุนของโลกความเร็วสัมผัสที่เกิดขึ้นจะ เร็วมาก เราจึงเห็นดาวตกช่วงใกล้รุ่งนั้นวิ่งเร็วมากๆ
นอกจากนี้ก็ยังมี ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ฝนดาวตกเจมินิดส์ ที่ตั้งชื่อเรียกตามหมู่ดาวที่เกิด
ส่วนตัวแล้วไม่ใช่นักดูดาวมืออาชีพ ดูบ้างเป็นครั้งคราวตามแต่เวลาและสถานที่จะอำนวย ทว่า ก็รู้สึกสุขใจและเพลิดเพลินทุกครั้งที่ได้แหงนหน้าขึ้นมอง
จำได้ว่ารู้จักฝนดาวตกครั้งแรกจริงๆก็เมื่อสมัยเรียนมัธยมปลาย มีเพื่อนคนหนึ่งลงทุนขับรถไปชานเมืองเพื่อดูฝนดาวตก
ราวกับต้องมนต์สะกด คือคำอธิบายถึงความงามของฝนดาวตกของมัน
ใครพลาดชมฝนดาวตกในสองคืนนี้ไปคงน่าเสียดาย แต่ไม่เป็นไรเพราะในปี พ.ศ. 2552 นี้ ยังมีฝนดาวตกลีโอนิดส์ ที่มีผู้เชี่ยวชาญวงการดาราศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะมีอัตราการตกมากในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 โดยเจเรมี โวบาลลอน นักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือ Caltech คาดการณ์ว่า ฝนดาวตกจะตกมากที่สุด 500 ดวงต่อชั่วโมง ที่เวลา 04.43 น. ตามเวลาประเทศไทย ส่วน วิลเลียม คุกค์ นักวิจัยนาซ่า คาดว่า เวลา 04.43 น. ตามเวลาประเทศไทย น่าจะเป็นช่วงที่เกิดฝนดาวตกมากที่สุดประมาณ 300 ดวง หรืออาจจะเพียง 100 ดวงเท่านั้น
ทั้งนี้ คืนวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2552 เป็นคืนเดือนมืด ท้องฟ้าค่อนข้างจะมืดสนิทเหมาะแก่การสังเกตฝนดาวตก แต่เหตุการณ์ฝนดาวตกช่วงที่มากนั้นค่อนข้างสั้น และเกิดก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น สำหรับผู้สังเกตในแถบประเทศเอเชียนั้นจะสังเกตเห็นได้ดี คือ ไทย จีน พม่า อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ ตั้งแต่เวลา 03.50-05.50 น. ตามเวลาประเทศไทย
ส่วนวันนี้ ฝนดาวตกฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ พร้อมฉายให้ชมแล้วบนท้องฟ้าใกล้บ้านคุณ
ยังพอมีเวลาหาที่ทางออกไปสูดอากาศในชนบท พร้อมกับดูดาวสวยๆ
ว่าแล้วก็รีบจับจองหาที่โล่งๆฟ้ามืดๆ ชวนคนรู้ใจหรือเพื่อนสนิท มิตรสหาย ไปนอนอาบสายฝนจากดาวดาวกัน
วันที่มีทั้งฝนธรรมดาและฝนดาวตก
เอ็มนินโญ