โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บทความนี้มีถ้อยคำประชดประชัน ความคิดที่ดูไร้สาระ และมุมมองที่ชวนให้ท้อแท้ เนื่องจากผู้เขียนมักมีอารมณ์แปรปรวนเวลาเขียนเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า
เริ่มปีวัวบ้ากันทั้งที ผมต้องมีวาระพิเศษมาฝากกันเสียหน่อย ช่วงต้นปีแบบนี้จะมีข่าวการจัดอันดับต่างๆ มากมาย ทั้งสรุปอันดับหรือสิ่งที่น่าจับตามองในปีค.ศ. 2009 เช่น ดาราดาวรุ่งแห่งปี สุดยอดธุรกิจที่น่าลงทุน เทรนด์แฟชั่น ฯลฯ ผมเองก็มีข่าวการจัดอันดับมาฝากเช่นกันครับ นั่นคือ 9 สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่ควรจับตามองที่สุดในปี 2009
ทาง WWF กองทุนสัตว์ป่าโลก (ไม่ใช่ชื่อสถาบันมวยปล้ำ) รายงานว่าในปี ค.ศ. 2009 มีสัตว์อยู่ 9 ชนิดที่ต้องเฝ้าระวังกันมากหน่อย ไม่ใช่ว่าสัตว์พวกนี้อันตราย แต่ต้องระวังเพราะมนุษย์กำลังจะทำให้พวกมันสูญพันธุ์ ทั้งจากการล่า การสูญเสียที่อยู่อาศัย และจากภัยอื่นๆ ซึ่งที่จริงทุกวันนี้ก็มีสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นพันๆ ชนิดอยู่แล้ว แต่ 9 ชนิดนี้เขาบอกว่าต้องคอยเฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ
สัตว์จะสูญพันธุ์... แหม ฟังดูไกลตั๊วไกลตัว ไม่เกี่ยวกับพวกเราเอาเสียเลย แต่รู้ไว้ก็ไม่เสียหายนะครับ เพราะมนุษย์อย่างเราเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกมันได้ติดชาร์ต ลองมาดูผลงานที่น่าภาคภูมิใจของพวกเรากันดีกว่าว่า สัตว์ทั้ง 9 ชนิดที่ได้รับเกียรตินี้มีอะไรบ้าง
-----------------------------------------------------------------------------
No. 9 หมีขั้วโลก
จำนวนที่เหลืออยู่ ประมาณ 20,000 ตัว
หมีสีขาวผู้ตกเป็นเหยื่อจาก season change (เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย) มนุษย์ทำลายมันทางอ้อม เสมือนยิงปืนไปชนชั้นบรรยากาศแล้วลูกปืนชิ่งกลับมายังแผ่นน้ำแข็ง ว่ากันว่าถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นๆ และแผ่นน้ำแข็งละลายลงๆ แบบนี้ หมีขั้วโลกจะสูญพันธุ์ในศตวรรษหน้า อย่าคิดว่านานนะครับ! นั่นถือว่าเร็วมาก เมื่อเทียบกับการวิวัฒนาการจนเกิดพวกมันขึ้นมา และถ้าดูจากพฤติกรรมของมนุษย์ในทุกวันนี้ที่ยังคงสร้างสรรค์ปรากฏการณ์โลกร้อนอย่างต่อเนื่อง ก็คงเหลือเวลาอีกไม่มากเท่าไร สำหรับสัตว์บกกินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลกชนิดนี้
แนวทางอนุรักษ์
ทั่วโลกกำลังร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง (รึเปล่า) และทาง WWF กำลังสนับสนุนการวิจัยเพื่อศึกษาว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีผลต่อหมีขั้วโลกอย่างไร รวมทั้งได้ร่วมกับภาครัฐบาลและอุตสาหกรรมในการลดภัยคุกคามจากการเดินเรือและการพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเขตขั้วโลกเหนือ
เราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง
ลุกขึ้นไปปิดไฟหรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ท่านไม่ได้ใช้ หรือปิดคอมพิวเตอร์ซะเลย ทุกครั้งที่จะเปิดแอร์ให้ท่องว่า “ฉันเย็น แต่หมีร้อน ฉันสบาย แต่หมีตายเกลี้ยง” ทำทุกอย่างที่ช่วยไม่ให้โลกร้อน ก็น่าจะช่วยหมีได้บ้างล่ะนะ
No.8 แพนด้า
จำนวนที่เหลืออยู่ 1,600 ตัว
“หมีแพนด้า หมีแพนด้า เค้าว่าน่ารัก...” แม้จะเหลืออยู่แค่พันกว่าตัว แต่ก็โชคดีที่เจ้าหมีสีขาวดำตัวนี้หน้าตาแอ๊บแบ๊วน่ารัก คนทั้งโลกจึงให้ความสนใจกับมัน แต่อนาคตของแพนด้าก็ไม่แน่นอนเอาเสียเลย เนื่องจากถิ่นที่อยู่ของมัน ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนถูกแยกออกจากกัน ทำให้มันอยู่กระจายเป็นหย่อมๆ ไม่สามารถไปมามาหาสู่เพื่อแลกเปลี่ยนดีเอ็นเอกันได้ รวมทั้งการเติบโตของสารเมลามีน เอ๊ย ของเศรษฐกิจจีนก็ทำให้บ้านของมันถูกบุกรุก สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการสูญพันธุ์ของมันได้ชัดคือ เราเห็นภาพแพนด้าในสวนสัตว์มากกว่าภาพในธรรมชาติ
แนวทางอนุรักษ์
กองทุนตราหมีแพนด้าและองค์กรต่างๆ ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์แพนด้ามานานแล้ว ปัจจุบันก็ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลจีนในการวางแผนคุ้มครอง โดยการก่อตั้งเขตอนุรักษ์ และเริ่มมีการเพาะพันธุ์ในสถานที่เลี้ยง
เราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง
ศึกษาเรื่องราวของแพนด้าให้มากขึ้น เรียนรู้ว่าแม้ช่วงช่วงกับหลินฮุ่ยจะนั่งแอ๊บแบ๊วกินใบไผ่อย่างสบายอารมณ์ แต่ชีวิตจริงของพวกมันนั้นรันทดมาก ครั้งหน้าไปเที่ยวสวนสัตว์เชียงใหม่จะได้ไปเล่าให้ผู้อื่นฟังได้ว่าควรมองแพนด้าในมุมอื่นบ้าง
No.7 ช้างแคระบอร์เนียว
จำนวนที่เหลืออยู่ ไม่เกิน 1,500 ตัว
ช้างพันธุ์แคระตัวนี้เป็นชนิดย่อยของช้างเอเชีย พวกมันอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ช้างแคระบอร์เนียวคล้ายช้างในบ้านเราแต่ตัวเล็กกว่า เป็นช้างเอเชียพันธุ์ที่เล็กที่สุด ชีวิตของมันลับแลและไม่เป็นที่รู้จักมากนัก นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจเลยว่าบรรพบุรุษของมันแต่โบราณนั้นมาจากไหน ช้างแคระบอร์เนียวอาศัยอยู่ตามป่าที่ราบต่ำ ซึ่งถูกบุกรุกจากการทำป่าไม้และการเกษตร ทำให้ประชากรลดลง และอีกไม่นานจา พนมคงต้องเปลี่ยนไปร้องว่า “ช้างแคระกูอยู่ไหน”
แนวทางอนุรักษ์
ทาง WWF กำลังปกป้องพื้นที่ใจกลางของป่าที่ราบต่ำในเกาะบอร์เนียว และใช้ดาวเทียมติดตามความเคลื่อนไหวของช้าง เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมมากขึ้น
เราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง
คงไม่ต้องถึงกับลงทุนไปเช่าดาวเทียมไทคม (จากคนที่คุณก็อยากให้สูญพันธุ์) มาศึกษาช้างแคระ หาทางช่วยอนุรักษ์ญาติของมันในบ้านเราน่าจะดีกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างไทยเข้ามาติดอันดับกับเขาด้วยในอนาคต
No.6 เฟอร์เรตตีนดำ
จำนวนที่เหลืออยู่ 600 ตัว
สัตว์ชื่อไม่คุ้นหูตัวนี้หน้าตาคล้ายๆ ชะมดหรือหมาไม้ พวกมันอาศัยอยู่ตามที่ราบกว้างใหญ่ในอเมริกาเหนือ ปัญหาชีวิตมันไม่ได้เกิดจากกการที่ตีนดำแต่อย่างไร แต่เกิดจากอาหารของมัน ซึ่งก็คือตัวแพรี่ด็อกลดจำนวนลง แพรี่ด็อกคือสัตว์คล้ายหนูตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ใต้ดิน เมื่อพวกมันถูกเกษตรกรปราบจนลดจำนวนไปมาก ผลจากโซ่อาหารก็เริ่มทำงาน เฟอร์เรตตีนดำจึงไม่มีอาหารกินไปด้วย (ลองนึกภาพหนูนาที่ถูกชาวนากำจัดไปหมด ทำให้งูเห่าไม่มีอาหารกิน จนอดตายนะครับ) นับเป็นความซวยของมันแท้ๆ ที่อยู่ดีๆ ก็ต้องมารับกรรมจากมนุษย์
แนวทางอนุรักษ์
ครั้งหนึ่งมันเกือบสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่โชคดีที่นักวิจัยสามารถเพาะพันธุ์เฟอร์เร็ตตีนดำและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ และตอนนี้ทาง WWF มีแนวทางการอนุรักษ์พวกมันรวมถึงแพร์รี่ด็อก อาหารของมันด้วย
เราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง
การขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปบอกเกษตรกรที่อเมริกาคงเป็นเรื่องยาก แค่รับรู้เรื่องนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์ก็พอ ต่อไปเวลาจะฆ่าสัตว์อะไรสักตัวคงต้องคิดให้ดี เพราะชีวิตของมันเกี่ยวพันกันด้วยโซ่อาหาร ใครจะรู้ว่าการตบยุงตัวเดียวอาจสะเทือนไปถึงการสูญพันธุ์ของเสือโคร่งก็ได้
No.5 วาฬไรท์แปซิฟิกเหนือ
จำนวนที่เหลืออยู่ ไม่แน่นอน
มนุษย์มีความสามารถในการทำลายล้างขั้นเทพ ขนาดสัตว์ยักษ์ที่อยู่ในน้ำก็ยังถูกจัดการ วาฬไรท์แปซิฟิกเหนือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายากที่สุดชนิดหนึ่งในปัจจุบัน ในอดีตมันเคยว่ายน้ำไปมาอยู่ทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ แต่ปัจจุบันมันเกือบจะสูญพันธุ์ เพราะถูกล่าอย่างหนักในช่วงวัฒนธรรมการล่าวาฬ นอกจากถูกล่าแล้ว ยังต้องเผชิญปัญหาหลายอย่าง ทั้งการว่ายติดอวน ว่ายชนเรือ (อย่าคิดว่ามันโง่นะครับ วาฬและโลมามีปัญหากับอวนจริงๆ) รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแถบอะแลสกา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารในฤดูร้อนของมันอีกด้วย
แนวทางอนุรักษ์
WWF กำลังพัฒนาระบบการเดินเรือที่ปลอดภัย เพื่อหลบหลีกการชนกับวาฬ และพยายามยับยั้งการพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแถบอะแลสกา นอกจากนี้ก็มีการออกกฎหมายห้ามล่า
เราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง
ถ้าการขุดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่ของวาฬไรท์แปซิฟิกเหนือและสัตว์ต่างๆ เราควรหันมาใช้พลังงานทางเลือกอย่างอื่นแทน เช่นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีการขุดหาแหล่งน้ำมันอีก...
No.4 เสือโคร่งสุมาตรา
จำนวนที่เหลืออยู่ 400-500 ตัว
เสือโคร่งสุมาตราเป็นเสือโคร่งสายพันธุ์ที่ตัวเล็กที่สุดในโลก อาศัยอยู่ที่เกาะสุมาตรา (อธิบายก่อนว่า เสือโคร่งมีชนิดย่อยถึง 9 ชนิดย่อย เสือโคร่งในบ้านเราคือชนิดย่อยอินโดจีน) สาเหตุที่พวกมันใกล้สูญพันธุ์เนื่องมาจากป่าถูกทำลายและถูกล่า เสือหนึ่งตัวที่ถูกล่านั้นนำไปทำอะไรได้คุ้มค่ามาก อวัยวะต่างๆ (แม้แต่จู๋) ใช้ทำยาจีนแผนโบราณ หนังและกะโหลกก็นำไปทำเป็นเครื่องประดับได้ ที่สำคัญมันมีราคาดีมากด้วย นั่นทำให้ทุกวันนี้เสือโคร่งหายากยิ่งกว่าเสือกระบาก
สาเหตุสำคัญที่นักอนุรักษ์ให้ความสำคัญกับเสือโคร่งสุมาตรา เพราะมันเป็นชนิดย่อยที่มีรหัสพันธุกรรมต่างจากชนิดย่อยอื่นที่สุด งงไหมครับ หมายความว่ามันมีโอกาสวิวัฒนาการเป็นชนิดใหม่ได้ง่ายกว่านั่นเอง ดังนั้นมันจึงมีความสำคัญในแง่วิวัฒนาการมากๆ
แนวทางอนุรักษ์
มีการจัดชุดลาดตระเวน เพื่อขัดขวางการล่าของพรานป่า ดำเนินการลดความขัดแย้งของมนุษย์กับเสือโคร่งสุมาตรา (ว่าเสือไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด) รวมทั้งการขยายพื้นที่อุทยานที่พวกมันอาศัยให้เพิ่มเป็นสองเท่า
เราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง
เปลี่ยนความเชื่อเรื่องสรรพคุณของยาจีนแผนโบราณ ทำวิจัยเพื่อศึกษาว่า กระดูก เขี้ยว หรืออวัยวะอื่นๆ ของเสือ ไม่ได้เป็นยาที่วิเศษอะไรนัก เมื่อได้ผลแล้วควรประกาศให้โลกรู้อย่างเป็นทางการ หรือไปรณรงค์ตามร้านยาจีนแถวเยาวราช ถ้าจะให้ดีกว่านั้นควรไปรณรงค์ที่ประเทศจีนเสียเลย
No.3 กอริลลาครอสริเวอร์
จำนวนที่เหลืออยู่ 300 ตัว
มนุษย์ต้องการกำจะจัดญาติของตัวเอง เหล่าลิงใหญ่หรือเอปที่คิดจะตีเสมอมนุษย์จึงลดจำนวนอย่างรวดเร็ว กอริลลาครอสริเวอร์ก็เช่นกัน มันเป็นชนิดย่อยของกอริลลาเวสเทิร์น (กอริลลาชนิดที่ตัวผู้มีหลังสีเทา) และเป็นเอปที่หายากที่สุดในโลก มันเจออันตรายจากพรานป่า และการสูญเสียถิ่นที่อยู่ในประเทศไนจีเรียและแคเมอรูน แม้ลิงใหญ่ชนิดนี้จะฉลาดขนาดไหน ก็สู้มนุษย์ที่มักจะฉลาดเป็นพิเศษยามความโลภครอบงำไม่ได้ ทำให้จำนวนของมันลดลงไปเรื่อยๆ
แนวทางอนุรักษ์
องค์กรอนุรักษ์หลายแห่งพยายามก่อตั้งอุทยานแห่งชาติให้เป็นที่อยู่อาศัยของมันอย่างเร่งด่วน และมีการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการล่า
เราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง
ดูเป็นเรื่องไกลตัวเสียเหลือเกินในการช่วยอนุรักษ์สัตว์ที่เป็นญาติใกล้ตัวเราเช่นนี้ อาจต้องพึ่งหมอผีในแคเมอรูนให้ช่วยปกป้องคุ้มครองกอริลลาแทน แต่อย่างน้อยเราก็ควรระลึกไว้เสมอว่าเอป เช่น กอริลลา อุรังอุตัง หรือชิมแปนซี ล้วนเป็นสัตว์หายาก ดังนั้นไม่ควรดีใจเมื่อเห็นพวกมันมาแสดงโชว์ในสวนสัตว์
No.2 โลมาวากิตา
จำนวนที่เหลืออยู่ 150 ตัว
โลมาหน้าตาคล้ายปลาสวายตัวนี้มีขนาดเล็กที่สุดในโลกและก็หายากที่สุดด้วย มันยาวเต็มที่ประมาณ 150 เซนติเมตร อาศัยอยู่ตามอ่าวแคลิฟอร์เนียและตอนเหนือของเม็กซิโก โลมาวากิตาเป็นสัตว์อีกชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์เพราะเจอไซด์เอฟเฟกต์ มันไม่ได้ถูกล่าโดยตรงแต่ประสบเคราะห์กรรมจากการว่ายมาติดตาข่ายจับปลาของชาวประมง ทำให้ลดจำนวนลงไปอย่างรวดเร็วๆ
หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ต้องอนุรักษ์ เนื่องจากโลมาวากิตาเป็น “สัตว์ชายขอบ” หรือ Edge species ที่หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการมาเฉพาะตัว มีญาติน้อย หรือมีรูปร่างและพฤติกรรมประหลาดแตกต่าง (แพนด้ากับตุ่นปากเป็ดก็นับว่าเป็นชนิดชายขอบเช่นกัน) นั่นคือถ้ามันสูญพันธุ์ไปก็จะเสียสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะไป
แนวทางอนุรักษ์
WWF กำลังร่วมกับองค์กรและชาวประมง หาทางอพยพพวกมัน รวมทั้งซื้อตาข่ายจับปลาจากชาวประมง และสร้างทางเลือกในอาชีพให้ชาวประมง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการจับปลาที่จะทำให้โลมาวากิตาได้รับผลกระทบไปด้วย
เราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง
ทุกวันนี้ชาวประมงก็จับปลาได้น้อยลงแล้ว รายได้ก็ขาดแคลน ถ้าจะให้เขามาคำนึงเรื่องพวกนี้คงเป็นไปได้ยาก ไม่เช่นนั้น เราก็ต้องหาทางเลือกในอาชีพให้ชาวประมงที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งคงยากหน่อยในวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์เช่นนี้ อาจจะทำได้เพียงแค่ฝากความหวังไว้กับบารัก โอบามา ให้แก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว
No.1 แรดชวา
จำนวนที่เหลืออยู่ ไม่เกิน 60 ตัว
เขาว่ากันว่า “คนไทยถ้าตั้งใจทำอะไร ไม่แพ้ชาติใดในโลก” เห็นจะจริงครับ น่าภูมิใจที่เรามีส่วนผลักดันให้ แรดชวาติดอันดับ 1 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดบนพื้นพิภพ แรดชวา ก็คือ แรด ในประเทศไทยนี่แหละ ถึงแม้เราจะพูดกันบ่อยๆ ถึงคำว่า “แรด” แต่ก็แทบไม่เคยเห็นแรดกันจริงๆ เลย (ไม่นับแรดที่กลายพันธุ์มาจากคน) เพราะชาวไทยได้กำจัดพวกมันไปจากประเทศนานแล้ว
เชื่อไหมว่าแรดชวาเคยเป็นแรดที่มีอาณาเขตที่อยู่อาศัยกว้างมาก ตั้งแต่ตอนใต้ของจีน อินเดีย พม่า ไทย อินโดจีน ไปยังมาเลเซีย และเกาะต่างๆ ของอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบัน มันอาศัยอยู่ในเขตเล็กๆ บนเกาะชวาของอินโดนีเซีย และอีกกระจุกหนึ่งในเวียดนามใต้เท่านั้น (ไม่เกิน 8 ตัว และทั้งหมดนั้นไม่มีตัวผู้เลย!)
สาเหตุที่มันใกล้สูญพันธุ์เพราะนอ (ซึ่งความจริงเป็นเพียงขนที่อัดแน่น) ของมันขายได้ราคาดีเหลือเกิน ในปัจจุบันนี้ ขายได้ถึง กิโลกรัมละ 30,000 ดอลลาร์ (นับว่าเป็นขนที่มีราคาแพงที่สุดในโลก!) พรานทั้งหลายจึงไล่ล่ามันอย่างเอาเป็นเอาตาย นอกจากนี้แหล่งที่อยู่ของมันก็ถูกทำลายไปด้วย
แนวทางอนุรักษ์
มีการปกป้องพื้นที่อนุรักษ์ในอินโดนีเซียและเวียดนาม เพราะการขยายตัวของประชากรเริ่มเข้าไปใกล้ทุกที รวมทั้งเฝ้าสังเกตแรดและปกป้องมันจากพรานป่า ส่วนการเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์นั้น ปัจจุบันยังทำไม่ได้
---------------------------------------------------------
ที่มา http://www.oknation.net/blog/dreamline/2009/01/18/entry-1
|