เมื่อดูจากการประทานอัลกุรอานจะเห็นได้ว่า เรื่องของการอ่านคือเรื่องแรกของบรรดาคำสั่งทั้งหมดของศาสนาอิสลาม ซึ่งก็มีประเด็นน่าทึ่งมากครับ เพราะจากประวัติศาสตร์เล่าให้ฟังว่า การลงโองการอัลกุรอานโองการนี้ได้รับการตอบสนองจากมูฮัมมัด บินอับดุลลอฮ์ ผู้รับโองการดังกล่าว ว่า “ฉันอ่านไม่ได้” และเป็นการปฏิเสธด้วยคำพูดนี้ถึงสามครั้ง ก่อนที่จะมีการสอนโดยมาลาอีกะห์ยิบรออีล (เทวทูต) และหากเราพิจารณาจากโองการที่สองในซูเราะห์อัลยุมมุอัต ซึ่งเล่าถึงการประทานอัลกุรอานเราจะพบว่า นี้คือหนึ่งในมิติของการผลักดันสังคมสู่การพัฒนา
“พระองค์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งรอซูลขึ้น คนหนึ่ีงในหมู่ผู้ไม่รู้จักหนังสือจากพวกเขาเอง เพื่อสาธยายอายาตต่างๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และทรงทำให้พวกเขาผุดผ่อง และทรงสอนคัมภีร์และความสุขุมคัมภีรภาพแก่พวกเขาและแม้ว่าแต่ก่อนนี้พวกเขาอยู่ในการหลงผิดอย่างชัดเจนก็ตาม”
สังคมที่เรื่องของการอ่านเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความเป็นจริงครับ แต่แน่นอนครับ การอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านคัมภีร์ที่พระเจ้าทรงประทานมาให้นั้นคือ การทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลสำคัญที่จะนำพาสังคมสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ ซึ่งสิ่งที่ชัดเจนจากโองการข้างต้นคือ การทำให้รู้ว่าสภาพปัจจุบันมีข้อผิดพลาดอย่างไร
มีข้อน่าสนใจประการหนึ่งสำหรับผมเองคือ หลังจากที่การอ่านเป็นกลวิธีแรกของการพัฒนาคน พัฒนาสังคม แต่กลวิธีดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จหากไม่สามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติได้ ดังที่อัลลอฮ์ทรงยกชาวคัมภีร์กลุ่มหนึ่งไว้เป็นอุทาหรณ์
“อุปมาบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์เตารอต แล้วพวกเขาไม่ได้ปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมาย ประหนึ่งเช่นกับลาทีแบกหนังสือจำนวนหนึ่ง (บนหลังของมัน) อุปมาหมู่ชนผู้ปฏิเสธต่อสัญญาณต่างๆ ของอัลลอฮ์ มันช่างชั่วช้าจริงๆ และอัลลอฮ์จะไม่ทรงชี้นำทางแก่ผู้อธรรม”
จากสภาพบังคับในเรื่องการอ่าน แล้วนึกถึงสภาพการศึกษาของบ้านเราในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ ประเด็นนี้เป็นปัญหามากที่สุด ผมได้มีโอกาสคลุกคลีทำงานกับครูในโรงเรียนหลายระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมศึกษา สิ่งที่สะท้อนชัดเจนในปัจจุบันคือ “เด็กที่เข้าเรียนชั้น ม. 1 ยังอ่านหนังสือไม่ออก ไม่รู้จักแม้กระทั่งอักษรและสระ” มีหลายคนบอกว่า ผมพูดเกินไปในประเด็นนี้ แต่ข้อมูลจากการลงไปสัมผัสจริง ผมขยายความได้่ว่า ปัญหานี้ชัดเจนมากว่า โรงเรียนในระดับประถมของรัฐในพื้นที่มีสภาพดังกล่าวจริงๆ แต่ปัญหานี้อาจจะน้อยลงมากในโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ อาจจะมองได้ง่ายๆ ว่า ก็โรงเีรียนเอกชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้อยกว่าโรงเรียนรัฐก็เป็นได้
บ้านเราโจทย์ข้อแรกยังไม่ผ่านครับ แค่ให้อ่านให้เรียนรู้ ดังนั้นขั้นตอนไปที่จะมุ่งสู่การปฏิบัติก็คงอีกไกล แล้วสังคมจะมีภาพอนาคตเป็นอย่างไร
เมื่อคัมภีร์ที่ได้รับประทานจากอัลลอฮ์มาในสังคมของคนยุคท่านรอซูล เราจะเห็นสภาพการศึกษาคัมภีร์ที่หลากหลายรูปแบบครับ มีการจดบันทึก มีการท่องจำ แต่ที่สำคัญคือ มีการกระตุ้นสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด
มิติที่เห็นได้จากอัลกุรอานและแบบอย่างของท่านรอซูล (ซ.ล) จากที่กล่าวไปคือ การอ่านนำมาซึ่งการสร้างศรัทธา การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและการพัฒนาสังคม เพราะเมื่อคุณมีศรัทธา มีองค์ความรู้แล้ว คุณจะต้องมีภารหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ดังที่ปรากฏในซูเราะห์ อัลมูญาดาละห์ อายะห์ที่ 11 ที่มีความหมายว่า
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา เมื่อได้มีเสียงกล่าวแก่พวกเจ้าว่า จงหลีกที่ให้ในที่ชุมชน พวกเจ้าก็จงหลีกที่ให้เขา เพราะอัลลอฮ์จะทรงให้ที่กว้างขวางแก่พวกเจ้า (ในวันกียามะฮ์) และเมื่อมีเสียงกล่าววว่า จงลุกขึ้นยืนจากที่ชุมชนนั้น พวกเจ้าก็จงลุกขึ้นยืน เพราะอัลลอฮ์จะทรงยกย่องเทอดเกียรติแก่บรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้ได้รับความรู้หลายชั้น และอัลลอฮ์ทรงรอบรู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ”
ไม่แปลกใจเลยครับที่ คัมภีร์แห่งสัจธรรมจึงเริ่มด้วยการอ่านเป็นคำสั่งแรกสำหรับศาสนาที่จะสร้างชัยชนะทั้งในโลกนี้และโลกหน้า