ทางสายกลางในศาสนาอิสลามคืออะไร ?
ใครศึกษาอัลกุรอานต้องตระหนักดีว่าศาสนาอิสลามให้ทางนำอันเป็นสายกลางระหว่างความยากลำบากกับความปล่อยปละละเลย ซึ่งแนวกลางนี้คือความง่ายความสะดวกในการดำรงชีวิตและปฏิบัติศาสนกิจ ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า “และเราได้ทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติกลาง” (ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 142)
เจตนารมณ์ของหลักการอัลอิสลาม คือให้มุสลิมดำรงชีวิตด้วยหลักการอิสลามโดยไม่มีความลำบาก ในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 185 อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า “อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้พวกเจ้ามีความสะดวกและมิทรงประสงค์ให้พวกเจ้าประสบความลำบาก” และในซูเราะฮฺอันนิซาอฺ อายะฮฺ 28 “อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้ลดลง(ความลำบาก)แก่พวกเจ้า” และในซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 6 “อัลลอฮฺมิทรงประสงค์ให้พวกเจ้ามีความลำบาก” ในซูเราะฮฺอัลฮัจย์ อายะฮฺ 78 “และพระองค์มิทรงทำให้ในศาสนามีความลำบากกับพวกเจ้า”
ในพจนารถของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็มีการยืนยันในเจตนารมณ์นี้ ดังที่ปรากฏในหะดีษบันทึกโดยบุคอรียฺ ท่านนบีกล่าวไว้ว่า “จงทำ(เรื่องศาสนา)ให้ง่าย และอย่าทำ(เรื่องศาสนา)ให้ยาก” และในการบันทึกของท่านอิมามบุคอรียฺ รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า “เมื่อท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถูกเสนอให้เลือกระหว่างสองประการ ก็ย่อมจะเลือกสิ่งที่สะดวกกว่า เว้นแต่(สิ่งที่สะดวกกว่า)จะเป็นความผิด หากเป็นความผิดก็จะเป็นผู้ห่างไกลที่สุดจากมัน” และในการบันทึกของท่านอิมามบุคอรียฺเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่อาหรับ(ชนบท)คนหนึ่งปัสสาวะในมัสยิดและศ่อฮาบะฮฺได้ประณาม แต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า “ปล่อยเขาและจงเอาภาชนะที่มีน้ำมาเท แท้จริงพวกท่านถูกส่งมา(ให้เทศนา)เป็นผู้อำนวยความสะดวก มิได้ถูกส่งมาเพื่อสร้างความลำบาก”
ใครที่ศึกษาบทบัญญัติอัลอิสลามย่อมมีความเข้าใจว่าความสะดวกที่อัลอิสลามเอื้ออำนวยให้แก่ผู้ศรัทธานั้น แม้ว่าจะเป็นกรอบที่ชัดเจนแต่ก็ต้องอยู่ในกรอบแห่งหลักการของอัลอิสลามด้วย กล่าวคือ ถ้าเป็นความสะดวกก็จำเป็นต้องมีข้ออนุโลมในหลักการของอัลอิสลาม มิใช่เพียงเป็นทัศนะหรือการตีความหลักฐานโดยไร้เหตุผล เพราะท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ได้ยืนยันว่าทางเลือกของท่านนบีคือสิ่งที่มีความสะดวกแต่ต้องไม่ผิดหลักการ
บางคนอาจเข้าใจว่าความสะดวกที่ศาสนาอิสลามอำนวยให้แก่มุกัลละฟีน(ผู้ปฏิบัติบทบัญญัติ) คือการเลือกแนวทางที่สะดวก แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการก็ตาม ในวงนักวิชาการก็มีบางคนที่เข้าใจแนวทางนี้อย่างคลาดเคลื่อนจนกระทั่งส่งผลให้มีทัศนะอนุโลมให้ประพฤติสิ่งที่ผิดต่อหลักการ เช่น ใช้ริบาอฺ(ดอกเบี้ย) สูบบุหรี่ โกนเครา ฟังเพลง ปะปนระหว่างผู้หญิงผู้ชายในกิจกรรม และอื่นๆ ซึ่งข้ออ้างที่มักจะได้ยินจากนักวิชาการกลุ่มนี้คือ อิสลามเป็นศาสนาที่สะดวกง่ายดาย แต่กลุ่มนี้ลืมไปว่าสิ่งที่ศาสนาบัญญัติไว้อย่างชัดเจนโดยมีหลักฐานที่ประจักษ์แจ้ง นั่นคือความสะดวกสำหรับมุกัลละฟีน(ผู้ปฏิบัติบทบัญญัติ) กล่าวคือ ใครแสวงหาความสะดวกก็ต้องตระหนักว่า สิ่งที่ศาสนาได้บัญญัติไว้นั่นคือความสะดวก มิใช่ความสะดวกที่ตนต้องการ หรือกระแสของสังคมเรียกร้อง หรือพฤติกรรมที่ถูกสืบทอดมาจนกระทั่งลบล้างไม่ได้ จึงต้องหาทางออกโดยอ้างความสะดวกความง่ายของศาสนา ดังนั้น ใครที่เข้าใจเหตุผลข้างต้นก็จะเข้าใจว่า การห้ามริบาอฺ(ดอกเบี้ย)นั่นคือความสะดวก การห้ามฟังเพลงและดนตรีนั่นคือความสะดวก และการคลุมหิญาบ(จะปิดหน้าหรือไม่ปิดหน้าแต่ต้องตรงกับหลักการ)นั่นคือความสะดวก เช่นนี้เป็นต้น
นักวิชาการทั้งในกลุ่มประเทศอาหรับและในประเทศไทยบางท่านที่แสดงตนเป็นนักวิชาการที่อยู่ในทางสายกลาง โดยตีความว่าไม่ใช่หัวรุนแรงและไม่ใช่ผู้ปล่อยปละละเลย สังคมบางกลุ่มจึงเข้าใจว่า ใครที่ยึดมั่นกับสิ่งที่เป็นหลักการของอัลอิสลามถึงแม้ว่าจะถูกต้องแต่ถ้าส่วนมากในสังคมรับไม่ได้(เช่น การปิดหน้าสำหรับมุสลิมะฮฺ) ก็จะเชื่อว่ากลุ่มเหล่านี้(ผู้ยึดมั่น)เป็นพวกหัวรุนแรงหรือเคร่งครัดเกินเหตุ จึงทำให้สังคมมองกลุ่มเหล่านี้ในแง่ตำหนิและไม่พอใจ ผลที่ปรากฏเกิดจากคำแนะนำของนักวิชาการที่ไม่ทำความเข้าใจอย่างรอบคอบ อยากยกตัวอย่างให้ผู้อ่านเข้าใจในเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ คือนักวิชาการศาสนาในประเทศอาหรับที่มีชื่อเสียงและถือเป็นนักวิชาการที่ได้รับการยกย่องว่า ฟัตวาของท่านเป็นฟัตวาที่อยู่ในทางสายกลางคือ เชคยูซุฟ ก็อรฎอวียฺ ท่านเป็นผู้รู้ที่มีบทบาทในการเผยแผ่ศาสนาและต่อสู้เพื่อสัจธรรม แต่นักวิชาการในโลกมุสลิมได้ตำหนิแนวทางเข้าใจศาสนาของท่าน เพราะฟัตวาของท่านมักจะเป็นฟัตวาที่หาทางออกให้กับประชาชนอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงหลักฐานที่ถูกต้อง ท่านเชคยูซุฟ ก็อรฎอวียฺ ก็มีฟัตวาที่แปลกประหลาดเช่น อนุโลมให้มุสลิมที่อยู่ในยุโรปกู้เงินด้วยดอกเบี้ยเพื่อซื้อบ้านส่วนตัว, ฟัตวาอนุโลมให้ฟังเพลงฟังดนตรีโดยกล่าวหาผู้ห้ามว่าเป็นพวกหัวรุนแรง, ฟัตวาอนุโลมให้มีการปะปนระหว่างผู้หญิงผู้ชายในกิจกรรม, ฟัตวาอนุโลมให้มุสลิมในสหรัฐอเมริกาที่เป็นทหารร่วมมือถล่มประเทศมุสลิม เช่นอัฟฆอนิสตาน เป็นต้น เชคก็อรฎอวียฺมีเหตุผลเสมอในฟัตวาดังกล่าวคือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่มุกัลละฟีน(ผู้ปฏิบัติบทบัญญัติ) ทั้งๆที่เรื่องห้ามริบาอฺ ห้ามฟังดนตรี ห้ามปะปนผู้หญิงกับผู้ชาย และห้ามร่วมมือกับศัตรูเพื่อถล่มมุสลิมนั้น มีตัวบทที่ชัดเจน ซึ่งฟัตวาของเชคก็อรฎอวียฺนอกจากขัดกับตัวบทแล้ว ก็ยังสวนทางกับฟัตวาคณะอุละมาอฺส่วนมากทั่วโลกมุสลิม แนวทางของเชคยูซุฟ ก็อรฎอวียฺ กำลังถูกเผยแพร่ในประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจและตีความบทบัญญัติของอิสลาม จึงส่งผลให้นักวิชาการบางท่านที่ไม่รอบคอบกว้างขวางในการศึกษาและตรวจสอบหลงกับแนวทางนี้ ทำให้สังคมมุสลิมในประเทศไทยได้รับความสับสนจากฟัตวาแปลกประหลาดเช่นนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เชคยูซุฟ ก็อรฎอวียฺ เป็นนักต่อสู้และเผยแผ่อิสลามมานานพอสมควร และท่านมีอุดมการณ์และความห่วงใยต่อประชาชาติอย่างหนักแน่นพอสมควร ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่นักวิชาการบางท่านที่ติดตามแนวทางของ เชคยูซุฟ ก็อรฎอวียฺ ในประเทศไทยก็มีเช่นเดียวกัน แต่คุณลักษณะนี้ไม่เพียงพอที่จะให้นักต่อสู้เพื่ออิสลามนั้นบรรลุเป้าหมาย หนำซ้ำยังเป็นความคิดที่อาจสร้างความสับสน และอาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อหลักการอิสลามด้วย
นักวิชาการกลุ่มนี้สื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าเรื่องความเคร่งครัดเป็นเรื่องส่วนตัว(เช่น การปิดหน้าสำหรับมุสลิมะฮฺ และการปะปนระหว่างหญิงชายในกิจกรรมนักศึกษา เป็นต้น) โดยไม่ควรที่จะนำเรื่องความเคร่งครัดส่วนตัวมาเป็นกฎเกณฑ์ในการทำงานต่อสู้ญาฮิลียะฮฺ ประชาชนจึงต้องเข้าใจว่าเรื่องปิดหน้านั้นเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่เรื่องศาสนา เพราะยังไม่มีใครเข้าใจว่าการปิดหน้าสำหรับมุสลิมะฮฺหรือการแยกระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายในกิจกรรมนักศึกษาจะขัดกับการต่อสู้ระบอบญาฮิลียะฮฺได้อย่างไร แทนที่จะต้องสนับสนุนผู้เคร่งครัดในหลักการเพื่อเป็นตัวอย่างเป็นแบบฉบับอันดีงาม กลับเป็นผู้ให้เหตุผลที่ทำให้อะวาม(ชาวบ้านทั่วไป)มองผู้เคร่งครัดว่าเป็นพวกหัวรุนแรงหรือประพฤติในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล
การปิดหน้าไม่เคยเป็นอุปสรรคในการทำงานศาสนา ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ภรรยาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แม้จะปิดหน้าแต่ท่านก็มีบทบาทสูงมากในการให้ความรู้ให้คำแนะนำ แม้กระทั่งกับผู้ปกครองระดับคอลีฟะฮฺ ปัจจุบันนี้ในประเทศอาหรับหลายประเทศมีมุสลิมะฮฺที่เป็นแพทย์ วิศวกร นักวิเคราะห์ นักเขียน และนักเคลื่อนไหวที่ปิดหน้า แต่ก็ไม่ได้สร้างความลำบากแก่มุสลิมะฮฺในการต่อสู้ญาฮิลียะฮฺแต่อย่างใด
การเอาใจประชาชนในเรื่องศาสนาเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง และไม่ได้ผลที่ต้องการ เพราะประชาชนจะเคยชินกับฟัตวาที่ง่ายสะดวกโดยไม่ผูกพันกับหลักการและตัวบทที่ถูกต้อง ในสุดท้ายถ้ามีฟัตวาได้ยึดมั่นในความถูกต้อง(แต่ลำบากในการปฏิบัติ)ก็จะถูกต่อต้านจะประชาชน เพราะเข้าใจกันแล้วว่าศาสนาไม่มีความลำบากแต่อย่างใด เชคก็อรฎอวียฺเคยให้ฟัตวาเกี่ยวกับการบอยคอตสินค้าศัตรูอิสลาม แต่ฟัตวานี้ถูกต่อต้าน เพราะไม่ตรงกับอารมณ์ความต้องการของประชาชนทั่วไป และเชคก็อรฎอวียฺก็ไม่สามารถเปลี่ยนฟัตวานี้เพราะเป็นอุดมการณ์ของท่าน ซึ่งผลปรากฏคือความเข้าใจที่สับสนว่าตกลงอิสลามมีความลำบากหรือไม่
อันที่จริงปัญหานี้ควรเป็นปัญหาที่ต้องปรึกษาหารือระหว่างนักวิชาการ แต่เนื่องจากว่าแนวคิดนี้ถูกเผยแพร่ทั้งทางอินเตอร์เน็ตและสื่อมวลชนโดยมีผู้สนับสนุนและเห็นด้วย จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับพี่น้องมุสลิมในสังคมของเรา เจตนารมณ์ของผู้เขียนบทความนี้คือ ต้องการให้นักวิชาการและประชาชนตระหนักว่าหลักการอิสลามที่ถูกต้องย่อมมีความสะดวกในตัวมัน และความสะดวกมิใช่กิเลสหรือความเข้าใจส่วนตัวที่จะนำมาเป็นบรรทัดฐานในการเลือกทัศนะหรือตีความตัวบท และเป้าหมายของอิสลามคือยกระดับของประชาชนให้มีประสิทธิภาพและความตระหนักในหลักการและตัวบท มิใช่ตีความหลักการกับตัวบทให้ตกไปอยู่กับความต้องการของประชาชน ไม่เช่นนั้นแล้วหลักการอิสลามทุกประการจะถูกยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลง หรือยกเว้น โดยใช้เหตุผลข้างต้น ในสุดท้ายนี้ผู้เขียนเรียกร้องให้นักวิชาการที่มีความคิดเช่นนี้ให้เป็นผู้สร้างความสะดวกกับผู้เคร่งครัด อย่าสร้างความลำบากกับคนเคร่งครัดในหลักการ เพราะศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ง่ายสะดวกมิใช่หรือ ?