การสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีในสังคมไทย
ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบบริหารจัดการที่มีอยู่ ปรับตัวไม่ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบบริหารจัดการที่ดี โดยมีการปรับปรุงกลไกภาครัฐและเปิดโอกาสให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาประเทศมากขึ้น แต่การดำเนินงานส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ไม่เพียงพอและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การบริหารจัดการทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนยังคงดำเนินงานโดยขาดประสิทธิภาพ เน้นการใช้ดุลยพินิจ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง อีกทั้งผลประโยชน์จากการพัฒนามิได้กระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นอกจากนี้ สังคมส่วนใหญ่ยังตกอยู่ภายใต้กระแสวัตถุนิยม ขาดความรับผิดชอบและจิตสำนึกสาธารณะ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดปัญหาความไร้ประสิทธิภาพ ปัญหาสังคม และปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกระดับ เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ดังเห็นได้จากการที่ระบบบริหารจัดการของภาครัฐและภาคธุรกิจ เอกชนไม่สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยให้ป้องกันตนเองและจัดการการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ นับตั้งแต่เศรษฐกิจยุคฟองสบู่ จนกระทั่งสถานการณ์ขยายตัวกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจในที่สุด
นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกอันเนื่องมาจากระเบียบเศรษฐกิจใหม่อันประกอบด้วย กระแสโลกาภิวัตน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การเปิดเสรีทางการค้าและการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รวมทั้งกระแสประชาธิปไตย การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และกระแสท้องถิ่น ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต
ค่านิยม และวัฒนธรรมของประชาคมโลก ทำให้ระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน การพัฒนาที่เน้นระบบเศรษฐกิจเสรี ผสมผสานกับอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ แม้ได้สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก แต่ก็ได้ขยายช่องว่างของความไม่เท่าเทียมระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน และระหว่างคนรวยกับคนจนให้มากขึ้น โดยกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและการเมืองได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความขัดแย้งและปัญหาที่ท้าทายนานัปการ เนื่องจากเครื่องมือและระเบียบกลไกการบริหารจัดการแบบเดิมไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์และแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ ประเทศไทยจำเป็นต้องวางระเบียบกลไกใหม่ โดยคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมภายในประเทศ ควบคู่กับระเบียบเศรษฐกิจสังคมใหม่ของโลก ในการสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน รวมทั้งชุมชนและครอบครัว เพื่อเสริมสร้างรากฐานของสังคมและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สมดุลยั่งยืน โดยมุ่งเน้นความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และทั่วถึงแก่ทุกภาคส่วน
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ จึงมุ่งเสริมสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีให้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ โดยยึดคุณลักษณะสำคัญของกลไกการบริหารจัดการที่ดี ๖ ประการ ได้แก่ หลักความรับผิดชอบ โดยตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ การมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจในปัญหาของบ้านเมือง มีความกล้าหาญที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทำ หลัก
คุณธรรม คือยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม ยึดหลักซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย หลักการมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และร่วมตัดสินใจในการพัฒนาประเทศ หลักความคุ้มค่า โดยบริหารจัดการทรัพยากรที่มีจำกัดให้มีการใช้อย่างประหยัด คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หลักความโปร่งใส คือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก และมีส่วนร่วมตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินงาน หลักนิติธรรม โดยตรากฎหมาย กฎ
ข้อบังคับต่างๆ ให้ทันสมัย เป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม
ถือได้ว่ายุทธศาสตร์การสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีในสังคมไทย เป็นเงื่อนไขความสำเร็จของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ เป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เหลือทั้งหมด ซึ่งต้องอาศัยหลักการบริหารจัดการที่ดีทั้ง ๖ ประการ บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปฏิบัติในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับรัฐ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระยะเร่งด่วน รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันและวางรากฐานระบบเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว