Advertisement
หนุนระบบสุขภาพไทยเข้มแข็งอย่างพอเพียง...
วิถีการบริโภคของคนไทยในอดีตจะเน้นการกินผักพื้นบ้าน และปรุงอาหารรับประทานกันเองในครอบครัวทำให้คนไทยสมัยก่อนไม่ค่อยมีโรคประจำตัวโดยเฉพาะมะเร็งลำไส้แทบจะไม่มีใครรู้จัก จนกระทั่งกระแสการกินแบบตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลทำให้วิถีการกินของคนสมัยนี้เปลี่ยนไป จากที่เคยทำอาหารทานกันที่บ้านก็หันไปพึ่งอาหารประเภทฟาสฟูดส์ ซึ่งอุดมไปด้วยแป้ง และไขมัน และที่สำคัญหากินง่าย ทำให้เด็กรุ่นใหม่รวมถึงผู้ใหญ่บางคนไม่กินผัก ละเลยการออกกำลังกายจนเกิดภาวะโรคอ้วน และสิ่งที่ตามมาก็คือโรคร้ายหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นความดัน เบาหวาน ไตวาย และโรคมะเร็ง เป็นต้น
จากการคุกคามของกระแสนิยมตะวันตก ทำให้ช่วงหนึ่งคนไทยหลงลืมภูมิปัญญาไทยดั้งเดิมของปู่ย่า ตา ยาย ที่สอนให้ลูกหลานกินผัก สมุนไพร เพื่อรักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น การกินหัวหอม แก้หวัด กินกระเทียมแก้ไอ รวมถึงการกิน ขมิ้นไพล แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นต้น นอกจากจะหาได้โดยทั่วไปในบ้านเราแล้วยังไม่ต้องเสี่ยงกับอาการข้างเคียงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเหมือนกับยาแผนปัจจุบันซึ่งมีราคาแพงเพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก
นพ.ประพจน์ เภตรากาศ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การพัฒนาภูมิปัญญาไทย สุขภาพวิถีไท มีเป้าหมายการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพของประเทศ และเกิดการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ โดยการจัดการความรู้ภูมิปัญญาไทย สุขภาพวิถีไทในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ เกิดการพัฒนายาไทยและสมุนไพรตั้งแต่การผลิตระดับชุมชน สถานบริการสาธารณสุข และโรงงานผลิตยาไทยที่มีคุณภาพ มาตรฐาน
มีการเพิ่มมูลค่าและปริมาณการใช้ยาไทยและยาสมุนไพรอย่างน้อย 25% ทั้งส่งเสริมให้มีระบบและกลไกที่เข้มแข็งในการคุ้มครองภูมิปัญญาไทยด้านการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ภายใน 5 ปี ซึ่งดำเนินการภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน ได้แก่
1. การสร้างและจัดการความรู้ ด้านการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง และเกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการใช้ประโยชน์ระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย ผู้บริหาร บุคลากรด้านสาธารณสุข นักวิชาชีพ หมอพื้นบ้าน หมอแผนไทยและประชาชนผู้รับบริการ
2. การพัฒนาระบบสุขภาพ การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก เพื่อให้ระบบสุขภาพการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกในส่วนที่เป็นระบบสุขภาพภาคประชาชน มีความเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของชุมชนท้องถิ่น และประชาชนในการดูแลสุขภาพ สามารถเชื่อมโยง ประสาน ผสมผสานกับระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ และเพื่อให้การบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในส่วนที่เป็นระบบบริการภาครัฐและภาคเอกชน
3. การพัฒนากำลังคน ด้านการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก เพื่อให้รู้สถานการณ์กำลังคนด้านการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก รวมทั้งรู้ศักยภาพ ความรู้ ความสามารถของกำลังคนในด้านนี้ เพื่อที่จะได้มีทิศทางในการผลิตและพัฒนากำลังคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถและมีปริมาณอย่างเพียงพอกับความต้องการ
4. การพัฒนายาไทยและยาสมุนไพร เพื่อให้ยาไทยและยาสมุนไพรมีมาตรฐาน ตั้งแต่การผลิตระดับชุมชน ระดับสถานบริการสาธารณสุข และระดับโรงงานผลิตยา มีการศึกษาและวิจัย เป็นที่ยอมรับและบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น
5. การคุ้มครองภูมิปัญญาไทย ด้านการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและมวลมนุษยชาติ ไม่ตกเป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม หรือเกิดความไม่เป็นธรรมในการใช้ประโยชน์ การคุ้มครองภูมิปัญญาไทยต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมและต้องพัฒนากลไกทางด้านกฎหมาย รวมทั้งความร่วมมือในระดับภูมิภาค
นพ.ประพจน์ กล่าวว่า การดำเนินงานและกำหนดทิศทางสมุนไพรไทย จะต้องมีการพัฒนาด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย และจะต้องมีการทำงานวิจัยที่ชัดเจน และมีความเป็นอิสระในการทำงานวิจัยอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกันการผลักดันให้สมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้นั้น ต้องเริ่มจากให้ประชาชนเห็นความสำคัญของสมุนไพรไทย และนำเข้ามาใช้ในวิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งหากทำได้ดังที่กล่าวมานั้น ต่างชาติจะให้การยอมรับเหมือนกับอาหารไทย
อย่างไรก็ตามปัญหาของการแพทย์แผนไทยคือ การขาดแคลนบุคลากรทางด้านการแพทย์แผนไทย รวมทั้งองค์ความรู้ต่างๆ ที่ขาดหายไป ซึ่งการแก้ไขปัญหาคือ การสนับสนุนให้มีการวิจัยมากขึ้น ควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรและแพทย์แผนไทยมากขึ้น รวมทั้งภาครัฐต้องให้การสนับสนุน
ทุกภาคส่วนในสังคมไทยมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และเร่งรัดการพัฒนาการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้เกิดผลอย่างจริงจัง เพื่อเป็นทางเลือกด้านสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระดับชุมชน และระดับชาติ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมไทย และเพื่อเป็นการสร้างกระแสให้คนไทยหันมาบริโภคผักสมุนไพรมากขึ้น
กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก จึงได้ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิปัญญาไทย สุขภาพวิถีไท จัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 6 ขึ้น ระหว่างวันที่ 2 - 6 ก.ย. 52 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เน้นพึ่งพาตนเองด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ให้ความสำคัญกับพืชผักสมุนไพร สร้างเศรษฐกิจไทย ต้านภัยไข้หวัด
ภายในงานจะมีการนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมแต่ละภูมิภาคของไทย จัดแสดงให้ประชาชนได้ย้อนรำลึกและตระหนักถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมในแต่ละท้องถิ่น ที่ได้สั่งสม ถ่ายทอด และพัฒนาสืบต่อกันมาในท้องถิ่นผ่านสมุนไพรและผักพื้นบ้าน ที่หล่อหลอมอยู่ในวิถีชีวิตปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีการอบรมฟรีกว่า 40 หลักสูตร การประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทยฯ แห่งชาติ ครั้งที่ 6 การประชุมความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียน +สี่ การบริการนวดไทย การแพทย์พื้นบ้านนานาชาติ เช่น การแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง การแพทย์จีน การแพทย์ญี่ปุ่น และการตรวจและรักษาสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือกฟรี
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
วันที่ 16 พ.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,130 ครั้ง เปิดอ่าน 7,126 ครั้ง เปิดอ่าน 7,131 ครั้ง เปิดอ่าน 7,131 ครั้ง เปิดอ่าน 7,127 ครั้ง เปิดอ่าน 7,129 ครั้ง เปิดอ่าน 7,131 ครั้ง เปิดอ่าน 7,128 ครั้ง เปิดอ่าน 7,130 ครั้ง เปิดอ่าน 7,126 ครั้ง เปิดอ่าน 7,128 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,132 ครั้ง เปิดอ่าน 7,128 ครั้ง เปิดอ่าน 7,128 ครั้ง เปิดอ่าน 7,128 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,128 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,134 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,129 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,128 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,392 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,130 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,132 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 50,614 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,070 ครั้ง |
เปิดอ่าน 30,209 ครั้ง |
เปิดอ่าน 21,082 ครั้ง |
เปิดอ่าน 42,723 ครั้ง |
|
|