ไอ้ทิ หรือ พ่อกะทิ ชายหนุ่มนิสัยโผงผาง ผู้กำพร้าพ่อและแม่ อยู่ตัวคนเดียว พูดจริงทำจริง ขยันขันแข็งเอางานเอาการ เสร็จจากงานนาก็มารับจ้างขี่ควายส่งคนเข้าซอย ทุกคนในหมู่บ้านล้วนรักและเอ็นดูไอ้ทิ ยกเว้นผู้ใหญ่ปลั่ง เพราะผู้ใหญ่ปลั่งมีลูกสาวสวยที่ดันมาหลงรักไอ้ทิด้วยเช่นกัน
แม่แป้ง ลูกสาวคนเดียวของผู้ใหญ่ปลั่ง สาวสวยประจำหมู่บ้าน นางเจอกับไอทิในงานวันลอยกระทง ทั้งคู่ขี่ควายสัญญากันต่อหน้าพระจันทร์วันเพ็ญ ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าจะมีอุปสรรคขวางกั้นเพียงใด ทั้งคู่ก็จะขอเอาความรักแท้ที่จริงใจฝ่าฟันข้ามไป แล้วไอ้ทิก็รวบรวมเงินทองเท่าที่เก็บสะสมมาได้ ไปบ้านผู้ใหญ่ปลั่งเพื่อสู่ขอแม่แป้งตามประเพณี ซึ่งผู้ใหญ่ก็ต้อนรับไอ้ทิอย่างดีด้วยชายฉกรรจ์ 6 นายพร้อมอาวุธครบมือ ไอ้ทิไม่ว่ากระไร ได้แต่พาร่างอันสะบักสะบอมกลับไปบ้าน นอนหยอดน้ำข้าวต้มหลายวันด้วยใจยังตั้งมั่นว่าวันหน้าจะมาขอใหม่ ขอไปจนกว่าผู้ใหญ่ปลั่งจะใจอ่อน ในที่สุดผู้ใหญ่ปลั่งก็ปิดหนทางความรักของไอ้ทิด้วยการคลุมถุงชน จัดงานแต่งงานให้ลูกสาวกับปลัดหนุ่มจากบางกอก ไอ้ทิรู้ข่าวจึงรีบวิ่งทุรนทุรายหมายจะมาทำลายพิธีแต่งงาน ซึ่งผู้ใหญ่ปลั่งก็รู้ดีว่าไอ้ทิต้องกระทำแบบนี้ จึงขุดหลุมพรางดักรอเอาไว้ แม่แป้งแอบได้ยินแผนร้าย ก็แอบหนีหมายจะมาห้ามคนรักไม่ให้หลงกล เหตุการณ์ตอไปนี้ไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์ ได้แต่ปะติดปะต่อมาจากคำบอกเล่าของชาวบ้านแบบปากต่อปากว่า
"...คืนนั้นเป็นคืนเดือนแรม แม่แป้งแอบวิ่งฝ่าความมืดออกมาดักหน้าไอ้ทิ ไอ้ทิเห็นแม่แป้งวิ่งมาก็ดีใจ รีบวิ่งไปหา แม่แป้งเห็นไอ้ทิก็รีบวิ่งมาก็รีบวิ่งไปหาให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก ฉับพลัน...ร่างแม่แป้งก็ร่วงหล่นลงไปในหลุมพรางของผู้ใหญ่ปลั่งต่อหน้าต่อตาไอ้ทิทันที ด้วยอารามตกใจ ไอ้ทิก็รีบกระโดดตามลงไปเพื่อช่วยเหลือ ด้วยความดีใจของสมุนชายฉกรรจ์ 6 นายของผู้ใหญ่ปลั่ง จึงรีบเข้ามาช่วยกันโกยดินฝังกลบเพราะคิดว่าก้นหลุมมีเพียงไอ้ทิผู้เดียวที่อยู่ในนั้น"
...รุ่งเช้า ผู้ใหญ่ปลั่งเดินยิ้มมาขุดหลุมเพื่อดูผลงาน ภาพเบื้องล่างกลับพบไอ้ทิตระกองกอดทับร่างแม่แป้งลูกสาวของตน นอนตายคู่กันอย่างมีความสุข เมื่อยิ้มถูกเปลี่ยนไปเป็นน้ำตา ผู้ใหญ่ปลั่งสั่งลูกสมุนสร้างเจดีย์คลุมครอบปิดหลุมนั้นไว้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจคนทั่งไปว่า อย่าคิดทำร้ายหรือทำลายความรักของใครอีกเลย
สถานที่ตั้งเจดีย์นั้น ไม่มีใครรู้แน่นอน จะมีก็แต่เพียงอนุสรณ์แห่งความรักที่กระทำสืบทอดกันมาจนเป็นประเพณี ทุกแรม 6 ค่ำ เดือน 6 ชาวบ้านที่ศรัทธาในความรักของไอ้ทิกับแม่แป้ง จะตื่นตั้งแต่เช้ามืด เข้าครัวเพื่อทำขนมที่หอมหวาน ปรุงจากแป้งกะทิ บรรจงแคะจากพิมพ์ แล้วนำมาวางคว่ำหน้าซ้อนกันเป็นสัญลักษณ์ว่า จะได้อยู่ร่วมกันตลอดไป ขนมนี้เรียกขานกันในนาม ขนมแห่งความรัก (ขนมของ "คนรักกัน") หรือ เรียกย่อ ๆ ว่า "ขนม ค.ร.ก."
ที่มา...หนังสือศาลาคนเศร้า. ฉบับที่ 425 ประจำเดือนกรกฎาคม 2550 หน้า 217-219.