ความแตกต่างระหว่างความรักกับความหลง...
“ ด้วยรักฉันมั่นสนิท ตามติดจนหลง
ความลุ่มหลงช่างแรงกล้า
เหมือนธารน้ำไหลลงจากยอดภูผา
ไม่มีอะไรจักขวางหน้าได้ ทั้งไหลทวนกลับไม่ได้
มีแต่จะไหลลิ่วรุดหน้าไป “
คริสเตียน โบวี่
โดยทั่วไปมนุษย์เรามักมีความเข้าใจว่า “ความรัก” และ “ความหลง” เป็นความรู้สึกเดียวกัน แต่หากพิจารณาจริงๆ แล้ว จะพบว่าความรักและความหลงนั้นมีข้อแตกต่างกันในองค์ประกอบหลายประการ
ความรัก มีนิยามได้หลากหลายขึ้นอยู่กับแง่คิดและมุมมองของแต่ละคน ในที่นี้เราอาจนิยามความรักได้ว่า ความรักเป็นความรู้สึกที่เกิดจากการเรียนรู้ซึ่งสั่งสมทีละน้อยๆ โดยผ่านขั้นตอนของการเสริมแรง การคิดใคร่ครวญ แยกแยะและสร้างข้อสรุปความคิด และเนื่องจากความรักเกิดจากการเรียนรู้ แต่ละคนจึงมีมุมมองของความรักแตกต่างกัน
ความหลงเป็นภาวะที่ถูกดึงดูดด้วยความรัก ใคร่จากของรักอย่างรุนแรง มีลักษณะไม่คงรูปและไม่เหนียวแน่น เป็นความรักแบบเพ้อฝัน มีอารมณ์และความรู้สึกเข้าครอบงำซึ่งเกิดขึ้นแบบฉับพลัน ความหลงมักจะปรากฏในขั้นต้นของความสัมพันธ์เชิงรักใคร่ หรือในช่วงที่ถูกโน้มนำด้วยความเชื่อเชิงวัฒนธรรมบางอย่าง
จากความหมายของความหลง รักเพ้อฝันเป็นอาการความหลงลักษณะหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจความรักเพ้อฝันอาจทำให้เข้าใจความหลงมากขึ้น ความรักแบบเพ้อฝันเป็นการวาดภาพวาดฝันตามอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการให้เป็นไป เพื่อที่จะได้ความพึงใจมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ความรักเพ้อฝันเนื่องมาจากรักครั้งแรก และความรักเพ้อฝันเนื่องมาจากอิทธิพลทางวัฒนธรรม
รักเพ้อฝันเนื่องมาจากรักครั้งแรก
คนวัยหนุ่มสาวทั่วไปจะถูกครอบงำด้วยอารมณ์ และความฝันต่างๆ ตลอดวันและคืน ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนและความรัก เรามักจะวาดภาพเสียสวยหรูเป็นอุดมคติ ทั้งนี้เพื่อจะได้สมปรารถนา การสร้างมโนภาพสวยหรูเรื่องคู่รักนี้มิใช่เกิดติดมากับตัว แต่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งเราพอจะวิเคราะห์ดูต้นตอของมันได้
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สาระที่เราเพ้อฝันมาจากของรัก (ในที่นี้หมายถึงคนด้วย) ซึ่งเราได้เชื่อมโยงมาจากบุคคลในชีวิตที่สอนให้เรารู้จักความพึงใจรักใคร่ และสืบเนื่องประสบการณ์นี้ต่อไปยังคนรักในอนาคตที่เราปรารถนา คนรักคนแรกของเราก็คือ พ่อแม่นั่นเอง
พื้นฐานสำคัญของความรักเมื่อโตขึ้นสำหรับทารก พ่อแม่ไม่อาจตอบสนองให้เราพึงใจได้เสมอไป บางครั้งอาจได้รับความเจ็บปวดบ้าง หรือเจ็บปวดมากในกรณีที่ไม่มีพ่อแม่หรือมีก็แข็งกระด้างบกพร่องไป โดยธรรมชาติมนุษย์ย่อมปรารถนาความสุข ปฏิเสธความทุกข์ ฉะนั้นทารกและเด็กๆ จึงปรารถนาจะได้พ่อแม่นุ่มนวลเป็นธรรมดา ถ้าไม่ได้ในโลกของความจริง ก็จะฉกฉวยเอาในความฝัน แม่ในจินตนาการของเขาจึงเป็นแม่ที่อ่อนหวานสมบูรณ์ทุกอย่าง เป็นแม่ในอุดมคติ อันจะบันดาลความห่วงใยให้โดยไม่ขาดตกบกพร่องแม้แต่น้อย ยิ่งเด็กเจ็บปวดมากเท่าไหร่ก็จะฝันมากเท่านั้น เด็กที่มีแม่เป็นแม่โดยสมบูรณ์เชื่อว่าจะเพ้อฝันในเรื่องนี้น้อยมาก
เด็กที่ฝันถึงแม่ในอุดมคติ แน่นอนเขาจะย่อมฝันถึงคนรักในลักษณะเดียวกัน การถ่ายเทความปรารถนานี้เรียกว่า transference ซึ่งกลไกทางจิตใจหรือความปรารถนาเช่นนี้ไม่จำเป็นเสมอไปที่คนจะรู้ตัว มันเป็นความปรารถนาที่ซ่อนเร้นอยู่ลึกๆ และนี่อาจอธิบายว่าทำไมคนจึงเลือกคู่รักที่มิได้มีคุณสมบัติเหมือนพ่อหรือแม่ของตนจริงๆ แต่เหมือนพ่อแม่ในความฝัน เราอาจพูดได้ว่าเด็กที่มีพ่อแม่ซึ่งเขาพึงใจ ก็มีแนวโน้มว่าเด็กจะเลือกภรรยาหรือสามีที่มีรูปสมบัติและคุณสมบัติคล้ายไปทางพ่อและแม่ของเขา
รักเพ้อฝันเนื่องมาจากอิทธิพลทางวัฒนธรรม
ความรักของคนเรานั้น ไม่เพียงแต่จะได้อิทธิพลมาจากรักครั้งแรก(พ่อและแม่)เท่านั้น แต่ได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนกำหนดด้วย ซึ่งก็คือสังคมและวัฒนธรรมทั้งส่วนใหญ่และที่แยกย่อยเฉพาะกลุ่มด้วย ตัวอย่างที่เห็นชัดในปัจจุบัน คือสื่อมวลชนต่างๆ ที่มีอิทธิพลหล่อหลอมปั้นแต่งความปรารถนาของเรา ดังได้กล่าวมาบ้างแล้วว่า พระเอกและนางเอกในภาพยนตร์ ละคร แม้ในนวนิยายก็ไม่เว้นที่จะชักจูงเสนอแนะให้เราคล้อยตามโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวตลอดเวลา และบางครั้งก็ค่อนข้างจะอันตรายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะในสังคมที่เปิดเสรีอย่างเหลือเฟือและเคร่ง ครัดคับแคบเกินไปในสิ่งที่ควรเปิดเป็นต้นว่า พระเอกค่อนข้างจะเลอะเทอะ สำส่อน เช่น พระเอก James Bond แม้พระเอกในภาพยนตร์ไทยบางเรื่องก็พยายามถอดความ สำส่อนนั้นมาค่อนข้างครบเครื่อง และนางเอกส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างไม่ได้ความพอๆ กัน ทั้งบทรักบทใคร่ ก็โน้มเอียงไปทางโป๊ๆ ดิบด้านเข้มข้นอยู่มาก ซึ่งเป็นตังอย่างที่ไม่สู้ดี
ความรัก – ความหลง
ทั้งความรักและความหลงเป็นพฤติกรรมตอบรับของคนคนหนึ่งต่อคนอื่น ในเชิงสร้างสัมพันธภาพในระดับที่เข้มข้นพอควร ฉะนั้นความปรารถนาในเพศรสและความนุ่มนวลอ่อนหวาน ความเป็นเจ้าของคุ้มกัน การคอยหาและความพึงใจย่อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกไม่ได้ จึงดูเหมือนความรักกับความหลงมิได้แตกต่างกัน ซึ่งความจริงแล้วมันแตกต่างกัน โดยเฉพาะความหลงถูกควบคุมด้วยอารมณ์และฉับพลันด้วยเวลา ส่วนความรักอยู่ในครรลองของการคิดใคร่ครวญและผ่านขั้นตอนของเวลาในระดับหนึ่งมาแล้ว เมื่อคนสองคนมีความสัมพันธ์กันภายใต้ภาวะเสริมแรงอันหนึ่ง เราพอจะคาดหมายได้ว่าความสัมพันธ์ต่อไปจะเป็นเช่นไร ในทางทฤษฎีจิตวิทยา พฤติกรรมของคนในอดีตจะเป็นเครื่องเสริมพฤติกรรมในปัจจุบัน และพฤติกรรมในปัจจุบันจะเป็นเครื่องบอกอนาคต สำหรับความหลงซึ่งมิได้มีพื้นฐานอยู่บนกาลเวลาเกิดขึ้นอย่างวาบวูบฉาบฉวยในลักษณะของความเพ้อเจ้อเป็นหลัก จึงเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างหลวมๆ และเลื่อนลอย ยากจะคาดหมายว่ายืนยงมั่นคงอยู่ได้ จึงขาดความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ อย่างน้อยก็คงจะเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ เอาแน่นอนไม่ได้
ในช่วงของความสัมพันธ์ ถ้าคู่รักต่างใช้เหตุผลพิจารณาใคร่ครวญ ความรู้สึกสับสนในอารมณ์จะลดลง นั่นหมายถึงความเพ้อฝันก็จะหมดไปด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญสลายของความรักแบบโลกๆ ได้ เช่นกันกับกรณีใช้การวิเคราะห์ แยกแยะอย่างมากเหมือน “พระนักปฏิวัติ” ที่พิจารณาเรือนร่างอิสตรีว่าเป็นของไม่จีรังยั่งยืน ทั้งอวัยวะภายในก็เต็มไปด้วยตับไตไส้พุงที่ขื่นคาวเน่าเหม็น การปลงหรือการพิจารณาอย่างถึงแก่นเช่นนี้อาจดับความพึงพอใจมิให้ปรากฏความรักแบบโลกๆ ได้เลย
นอกจากนี้ในการพยายามที่จะแยกความรักแท้และความรักเทียม หรือความหลงนั้น เราควรคำนึงถึงข้อมูลต่างๆดังต่อไปนี้
1. ความรักแท้ย่อมต้องการ “ เวลา “ รักแท้ไม่ใช่สิ่งที่จะมีขึ้นโดยทันทีทันใดหรือไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งเล็กๆน้อยๆอย่างหนึ่ง ซึ่งบังเอิญผ่านเข้ามาในวิถีชีวิตของมนุษย์
เท่านั้น รักแท้เป็นคุณสมบัติประจำบุคลิกลักษณะอย่างหนึ่งของบุคคลสองคนซึ่งได้มีความสัมพันธ์ต่อกัน และจากความสัมพันธ์นี้เองที่ค่อยๆก่อให้เกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของกันและกัน ดังนั้นรักแท้จึงเปรียบได้เสมือนกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย กล่าวคือต้องการเวลาในการที่จะเติบโตขึ้นมา รักแท้ต้องมีการปรับหรือเปลี่ยนนิสัยใจคอของคนหนึ่งให้เข้ากันได้กับของอีกคนหนึ่ง ซึ่งก็ต้องการเวลาเช่นเดียวกัน ส่วนรักเทียมหรือความหลงนั้นอาจเกิดขึ้นโดยรวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ และมักเนื่องจากความรู้สึกส่วนตัวชั่วแล่น เช่น เกี่ยวกับความสวยหรือความสงบเสงี่ยมเป็นต้น หรือจากคุณสมบัติบางอย่างที่คิดหรือได้ยินกิติศัพท์ว่าผู้นั้นมีอยู่ หรือจากการรีบร้อนประเมินคุณค่าของกันและกันเร็วเกินไป เช่นได้พบปะกันเพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น อีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอก็คือโดยการเป่าหูของบรรดาแม่สื่อแม่ชักทั้งหลาย
2. ความรักแท้ทำให้แต่ละฝ่ายเกิดความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สุขก็สุขด้วยกัน ทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน จะแบ่งแยกมิได้ ผู้ที่มีรักเทียมจะคิดแต่เพียงว่าอีกผู้หนึ่งเป็น
สิ่งที่คอยปรนปรือความพอใจเท่านั้น โดยนัยนี้รักแท้จึงมีจุดมุ่งมั่นไปรวมอยู่ที่บุคคลคนเดียวเท่านั้น เราจะมีรักแท้ต่อบุคคลสองคนหรือมากกว่าในขณะเดียวกันหาได้ไม่ เราจะพบเห็นอยู่บ่อยๆว่ามีผู้ที่กล่าวว่าเขา (หรือเธอ) กำลังรักหญิง (หรือชาย) ในขณะเดียวกันอยู่สองคนหรือมากกว่านั้น ความจริงเขามิได้รักใครอย่างแท้จริงเลย และต่อมาภายหลังกลับไปแต่งงานกับผู้อื่น ซึ่งอยู่นอกเหนือความคิดของเขาในตอนแรก
3. ผู้ที่กำลังมีความรักแท้ย่อมมีความเชื่อมั่นไว้วางใจและซื่อสัตย์ต่อผู้ที่ตนรักไม่ว่าจะตกอยู่ในฐานะและสภาพการณ์อย่างใด ส่วนรักเทียมไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นเท่าใดนัก โดยเฉพาะถ้าสภาพการณ์มิได้เป็นไปตามที่ตนคิดไว้ ในบางคราวความเชื่อมั่นนี้จะแสดงออกมาในรูปของความอิจฉาริษยาก็มี
4. ผู้ที่กำลังมีความรักแท้จะพยายามมุ่งทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้ที่เขารักได้รับความพอใจและมีความสุขที่สุด โดยปราศจากความเห็นแก่ตัว ส่วนรักเทียมนั้นจะทำอะไร
ก็มักเพื่อตัวเองเป็นสำคัญ และมักไม่มีความทะเยอทะยานและความสนใจที่จะทำให้การดำเนินของวิถีชีวิตของตนดีขึ้น ผู้ที่อยู่ในความหลงจะหมกหมุ่นอยู่กับความฝันหวานถึงแต่คู่รักของเขาหรือครุ่นคิดถึงแต่ความทุกข์ของตนที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันกับคนรักได้เท่านั้น แต่ก็หาได้นึกถึงความทุกข์เช่นเดียวกันนี้ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในคู่รักของตนไม่
5. ผู้ที่รักกันอย่างแท้จริงย่อมต้องการที่จะแต่งงานกันเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ใช่ในขณะที่เขาทั้งสองยังเตรียมไม่พร้อม ในระหว่างเวลาที่รออยู่นั้น เมื่อมีโอกาสพบกัน เขาก็จะช่วยกันวางแผนการเพื่อความสุขในอนาคตของเขา มีคำพังเพยเก่าแก่อยู่อันหนึ่งว่า “ รักแท้ย่อมมีอุปสรรค” ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าคำพังเพยนี้ไม่จริงเสมอไป อาจมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าเมื่อใดอุปสรรคเกิดขึ้น ผู้ที่รักกันจริงจะร่วมกันเผชิญหน้าและช่วยกันขจัดอุปสรรคทั้งหลายแหล่ที่จะมากีดกั้นการแต่งงานของเขา เขาจะหันหลังเข้าแนบกันและต่อสู้กับมารชีวิตจนสุดฤทธิ์โดยไม่ประหวั่นพรั่นพรึงเลย ส่วนผู้ที่รักกันอย่างผิวเผินนั้นมีความเห็นแก่ตัวดังได้กล่าวแล้ว ความเห็นแก่ตัวนี้ทำให้เกิดความ
โน้มเอียงคิดแต่จะรีบแต่งงานโดยเร็ว โดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคและการควรไม่ควรใดๆทั้งสิ้น
6. ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อหนึ่งว่ารักแท้ย่อมต้องการเวลากว่าจะเกิดขึ้นมาได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วรักแท้จะยืนยงคงทน เปลี่ยนแปลงหรือหมดสิ้นไปจากใจได้โดยยาก อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจมีการเปลี่ยนใจได้เหมือนกัน เช่นเนื่องจากการแปรเปลี่ยนในบุคลิกลักษณะ นิสัยใจคอ หรือความประพฤติของผู้ตนรัก แต่ถึงกระนั้นก็มีปรากฏการณ์เกิดขึ้นอยู่เสมอที่แสดงว่า รักแท้นี้ยังมั่นคงอยู่ ทั้งๆที่ทราบดีว่าคนรักของตนเป็นคนเหลวแหลกและประพฤติแต่ความชั่วเท่านั้น ส่วนรักเทียมนั้นอาจเปลี่ยนได้โดยทันทีทันใด และปราศจากเหตุผล เช่นทั้งๆที่คู่รักของตนก็ยังประพฤติตัวดี และมีบุคลิกลักษณะเหมือนเดิมทุกประการ
ความหลงสามารถพัฒนาไปเป็นความรักที่สมบรูณ์แบบได้หรือไม่
พิจารณาจากสถานการณ์ต่อไปนี้ หนุ่ม ก. รักสาว ค. แบบลุ่มหลงขึ้นทันใดเพราะ สาว ค. มี ส่วนละม้ายคล้ายสาว ข. ซึ่งเขาเคยมีความรัก (หรือความห่วงใย) มาก่อนก็ได้ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าความสัมพันธ์ของเขากับสาว ข. นั้นอาจอยู่ในขั้นระดับความใคร่เท่านั้นหรือถ้าเป็นความรักที่มีระดับเบาบางลงไป เมื่อพบนางสาว ค. โดยไม่คาดฝันจึงสำคัญว่าเป็น นางสาว ข. ด้วยความสำนึกที่อ่อนตัวลงไป และมักถูกครอบงำด้วยอารมณ์ ฉะนั้น ในประการหลังนี้ ถ้ามีเวลาสำนึกความรักก็จะสมบูรณ์ขึ้น ความหลงก็จะคลายไปได้
อาจสรุปได้ว่า ความหลงสามารถพัฒนาเป็นความรักที่สมบูรณ์ได้ ถ้ามีการใคร่ครวญ ไตร่ตรองด้วยเหตุผลและผล ไม่ยึดติดกับอารมณ์เพียงอย่างเดียวและมีระยะเวลาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการตัดสินใจ ดังคำกล่าวที่ว่า
“ โมหะหรืออัญญาณนั้น มิใช่อะไรอื่นมันคือการไม่ได้เรียนรู้ความรักในใจของตัวให้แจ่มแจ้ง “
ขอบคุณที่มาข้อมูลboard.dserver.org/m/m614osk120/00000432.html -
http://charyen.com/jukebox/play.php?id=11703