Advertisement
ทําเอาชาวโลกตื่นตะลึงกับความยิ่งใหญ่อลังการของ “เนย์ปิดอว์” เมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่า ที่เพิ่งเปิดให้บรรดากระจอกข่าวต่างชาติเข้าไปสัมผัสเป็นครั้งแรก หลังซุ่มเงียบก่อสร้างมานานกว่า 2 ปี
เนย์ปิดอว์ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 7 พันตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าเกาะสิงคโปร์ 10 เท่า ตั้งอยู่ในเขตเมืองปินมานา ทางตอนกลางของประเทศ ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางเหนือราว 385 กิโลเมตร การเดินทางโดยรถยนต์นั้นแทบจะต้องนั่งหลับแล้วหลับอีกนานร่วม 7 ชั่วโมง
“ไม่มีอะไรพร้อม” คือ คำจำกัดความของเนย์ปิดอว์ พูดชื่อขึ้นมาก็มีแต่คนส่ายหน้า ไม่มีใครอยากย้ายไปอยู่ พื้นที่โอบล้อมด้วยภูเขา การเข้าถึงทำได้อย่างยากลำบาก ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับกรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวง เมืองท่า และศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังห่างไกลกันหลายขุม
ด้วยเหตุนี้การย้ายเมืองหลวง (อีกรอบ) ของพม่า จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการแพ็กกระเป๋าเข้าคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ เพราะการย้ายเมืองคือการเนรมิตตึกรามบ้านช่อง สนามบิน โรงพยาบาล ทางหลวง และระบบสาธารณูปโภคที่พึงมี ขึ้นมาใหม่ทั้งหมดบนพื้นที่ที่เคยเป็นภูเขาและป่าทึบ
เนย์ปิดอว์ ได้รับการวางผังเมืองเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ โซนราชการ (Ministry Zone) โซนโรงแรม (Hotel Zone) โซนอุตสาหกรรม (Industry Zone) และ โซนทหาร (Military Zone) มีประชากรย้ายเข้าไปอยู่แล้วราว 9.2 แสนคน ว่ากันว่าโซนหลังสุดนี้กว้างขวางใหญ่โต เต็มไปด้วยรถหรู ข้าราชการพลเรือนแต่งตัวอย่างภูมิฐาน แถมยังเป็นที่ตั้งของกรมกองในกระทรวงกลาโหม โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันประเทศ
และที่โดดเด่นรองลงมา คือ โซนอุตสาหกรรม บนพื้นที่ราว 2.1 แสนตารางเมตร เบื้องต้นเน้นที่การทำปศุสัตว์เป็นหลัก ก่อนที่ในอนาคตจะเปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนภายใต้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่นเดียวกับที่ชาติเอเชียฮิตทำกันอยู่ในขณะนี้
แต่ส่วนที่น่าทึ่งมากสุดตามภาพที่เผยแพร่ออกมา คือ พระราชานุสาวรีย์ของบูรพกษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ของพม่า ได้แก่ พระเจ้าอโนรธา แห่งพุกาม พระเจ้าบุเรงนอง แห่งหงสาวดี และ พระเจ้าอลองชญา แห่งชเวโบ พม่าจัดสร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเทิดพระเกียรติโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ดี สภาพของเนย์ปิดอว์ตอนนี้เรียกได้ว่าสร้างไปอยู่ไป ใช้แรงงานราว 8 หมื่นชีวิต คำนวณแล้วต้องจ่าย ค่าแรงปีละ 32.32 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.04 พันล้านบาท) กว่าโครงการนี้จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างในปี 2012
แต่หากเปรียบเทียบกับการย้ายเมืองหลวงของชาติอื่น ก็ต้องบอกว่า “ทำได้ไม่เลว” เพราะเมื่อครั้งที่ปากีสถานตัดสินใจย้ายจากการาจี มากรุงอิสลามาบัดในปี 1967 ต้องรอจนถึงปี 1980 กว่าที่หน่วยงานราชการจะโยกย้ายเข้าไปอยู่ได้ หรือในกรณีของบราซิล ที่ย้ายจากริโอ เดอ จาเนโร มาที่ บราซิเลีย ในปี 1960 ก็ต้องใช้เวลาขนของและ ปรับปรุงเมืองนานถึง 41 เดือน หรือราว 3 ปีครึ่ง
เมกะโปรเจกต์ระดับชาติครั้งนี้กู้เงินจากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 1998 เริ่มที่เอ็กซิมแบงก์ของจีน 160 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.16 พันล้านบาท) และเอ็กซิมแบงก์ของไทย 106.45 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4 พันล้านบาท) รวมถึงสถาบันการเงินอีกหลายแห่งของประเทศเพื่อนบ้าน
สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) ประเมินว่า ณ สิ้นปี 2005 พม่าติดหนี้สถาบันการเงินต่างประเทศ อยู่ถึง 6.99 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.25 แสนล้านบาท) และมีกำหนดใช้คืนปี 2008 ราว 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.45 แสนล้านบาท) ส่วนใครที่สงสัยว่าท้องพระคลังพม่าฟู่ฟ่าแค่ไหนนั้น ตัวเลขล่าสุดจากการประเมินร่วมกันของไอเอ็มเอฟ ซีไอเอ และแบงก์ ออฟ ไชนา นั้น พม่ามีเงินตราต่างประเทศและทองคำเพียง 800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.58 หมื่นล้านบาท) เท่านั้นเอง!!!
แต่เหตุใด ทำไมพม่าจึงย้ายกรุง?
ไม่เพียงแต่ชาวโลกที่อยากรู้คำตอบ แต่ชาวพม่าเองก็สงสัยเหมือนกันว่า รัฐบาลทหารคิดอะไรอยู่กันแน่ เพราะแผนการย้ายเมืองหลวงมีขึ้นแบบฉุกละหุก ทั้งที่เนย์ปิดอว์ยังสร้างไม่เสร็จ การย้ายออกจากย่างกุ้งไม่บอกก็รู้ว่าเป็นการ “ถอยหลังลงคลอง” กระทั่งมาถึงตอนนี้ ชาวพม่าส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่า เนย์ปิดอว์ เป็นแค่ “เมืองในฝัน”
เหตุผลหลักของการย้ายเมืองแบ่งได้เป็น 2 เหตุ ได้แก่ เหตุแห่งความมั่นคง และ เหตุผลด้านโหราศาสตร์
หลายคนอาจเคยรู้มาบ้างว่า พม่าย้ายเมืองหลวงมาครั้งแล้วครั้งเล่าในอดีต หลายเมืองในพม่าทั้งพุกาม อังวะ ตองอู หงสาวดี ล้วนเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรพม่าในแต่ละยุคสมัยมาแล้วทั้งสิ้น การสถาปนาเมืองหลวงแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับกษัตริย์ที่ขึ้นปกครองเป็นหลัก และหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 พม่าก็ใช้ย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงเรื่อยมา
รัฐบาลทหารพม่าให้เหตุผลของการย้ายเมืองครั้งล่าสุดว่า เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ เนื่องจาก เนย์ปิดอว์ตั้งอยู่ใจกลางของประเทศ การเดินทางสร้างเครือข่ายใดๆ จึงทำได้สะดวก อีกอย่างย่างกุ้งในปัจจุบันถือว่า แออัดเกินไป...แต่น้อยคนนักที่จะเชื่อ
นายปกศักดิ์ นิลอุบล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศพม่า ให้ความเห็นกับทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ ว่า ประเด็นความเชื่อด้านโหราศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการย้ายเมือง เพราะ พล.อ.อาวุโส ตันฉ่วย วัย 74 ปี เชื่อเรื่อง โชคลางมาก ถึงขนาดทึกทักเอาว่าตนเองเป็นอดีตกษัตริย์กลับชาติมาเกิดอีกครั้ง
ดังนั้น จึงต้องตั้งเมืองหลวงใหม่ เพราะกรุงย่างกุ้งเป็นเมืองที่ได้รับการสถาปนาจากอาณานิคมอังกฤษ ไม่ใช่จากชาวพม่าเอง
เช่นเดียวกัน นักวิเคราะห์ต่างชาติที่เห็นว่า ไม่ควรมองข้ามความเชื่อข้างต้น เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าใครได้ขึ้นเป็นใหญ่ก็ต้องเร่งสร้างสัญลักษณ์ หรือวัดวาอารามเป็นของตนเอง เพื่อแก้เคล็ด อาทิ ขิ่นยุนต์ อดีตนายกรัฐมนตรีของพม่า ก็เคยสร้างวัดขึ้นหลายแห่งเพื่อ เสริมบารมี เพราะกลัวว่าตนเองจะสูญเสียอำนาจ
อย่างไรก็ดี ประเด็นความมั่นคงของประเทศ อาจดูมีน้ำหนักมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหวั่นวิตกว่า จะโดนโจมตีจากต่างชาติ ซึ่งในที่นี้อาจหมายถึง “สหรัฐ”
อ่องคิน นักประวัติศาสตร์ชาวพม่า ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี ว่า กองทัพบกของพม่ามีความแข็งแกร่งมากกว่ากองทัพเรือ ดังนั้น ยิ่งย้ายเมืองจากชายฝั่งทะเล เข้ามาในแผ่นดินใหญ่มากเท่าไร ก็ยิ่งปลอดภัยจากการโจมตีมากเท่านั้น ทว่า เป็นไปได้ยากที่จู่ๆ พี่เบิ้มอย่างสหรัฐจะยกทัพมาจัดการพม่า เพราะคงต้องหาเหตุผลที่ฟังขึ้นมากกว่าการที่พม่ายังนิ่งเฉยต่อกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยและยังกักตัวนางอองซาน ซูจี ไว้
ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาและศูนย์ไทยศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าของไทย ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงของพม่าครั้งนี้ว่า เป็นไปเพื่อต้องการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้ประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากกรุงย่างกุ้งถือเป็นที่ตั้งของทั้งฝ่ายกองทัพและฝ่ายที่ต่อต้าน ดังนั้น หากเกิดการเคลื่อนไหวหรือปะทะกัน ฝ่ายทหารจะไม่มีจุดตั้งรับหรือล่าถอยในการสู้รบได้ ดังนั้น การย้ายเมืองครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่รัฐบาลทหารพม่า
“จุดเด่นของเนย์ปิดอว์อยู่ที่ด้านยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ เพราะตั้งอยู่ตรงใจกลางของประเทศและเป็นเส้นทาง คมนาคมหลักที่เชื่อมกรุงย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ อีกทั้งยังเป็นจุดศูนย์กลางคมนาคมใหญ่สุดของประเทศ” ดร.สุเนตร กล่าวพร้อมอธิบายว่า ด้วยสภาพภูมิประเทศของเมืองเนย์ปิดอว์ที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา ช่วยให้ลดปัญหาการถูกจับสัญญาณจากฝ่ายตรงข้ามและทำให้ยากต่อการถูกโจมตีจากชนกลุ่มน้อยและศัตรูของรัฐบาล
หากมองตามแผนที่พม่าแล้ว ทำเลของเนย์ปิดอว์ถือว่าใช้ได้ทีเดียว เป็นจุดที่สามารถตั้งรับกับชนกลุ่มน้อย เช่น ฉาน ฉิ่น และกะเหรี่ยง จากทั้งทิศเหนือ ใต้ ออก และตก ได้เป็นอย่างดี
ส่วนประเด็นหวาดกลัวการโจมตีจากสหรัฐนั้น ดร.สุเนตร มองว่า ขณะนี้สหรัฐกำลังให้ความสำคัญในสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ทั้งในอิรัก อิหร่าน หรืออัฟกานิสถาน และยังรวมถึงปัญหาในเกาหลีเหนือ เป็นหลัก
“หากดูจากการจัดอันดับความสำคัญของสหรัฐต่อสถานการณ์ต่างๆ พม่ายังคงมีความสำคัญต่อสหรัฐในระดับรองอยู่มาก เมื่อเทียบกับประเด็นในตะวันออกกลางและเกาหลีเหนือ ดังนั้น ปัจจัยนี้อาจไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้พม่าตัดสินใจย้ายเมือง” ดร.สุเนตร กล่าว
จากความเห็นข้างต้นน่าจะสรุปได้ว่า การย้ายราชธานีใหม่ครั้งนี้เป็นไปเพื่อการควบคุมความเรียบร้อยภายในประเทศมากกว่ากลัวศัตรูจู่โจม เพราะเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลลงทุนลงแรงไปมหาศาล นอกจากเสริมความแข็งแกร่งให้กองทัพแล้ว ยังหวังปั้นเนย์ปิดอว์ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งหมายความว่า ในอนาคตเราอาจได้เห็นพม่าเปิดประเทศต้อนรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบเสียที
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จากย่างกุ้ง สู่ เนย์ปิดอว์ แล้วจะมีการเดินทางไปเมืองไหนต่ออีกหรือไม่นั้น วันนี้ขออนุญาตไม่ ฟันธง.....
วันที่ 15 พ.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,159 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,150 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,160 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,146 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,179 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,134 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 23,321 ครั้ง |
เปิดอ่าน 27,298 ครั้ง |
เปิดอ่าน 30,905 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,072 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,106 ครั้ง |
|
|