ได้ฤกษ์เขียนเรื่องรถไฟไทยเสียทีหลังจากดองเค็มมาหลายเพลา และต้องยอมรับว่ากระแสข่าวนับวัน ข่าวใหม่กลบข่าวเก่าในอัตราถี่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม จึงทำให้การรับรู้ข่าวสารของคนเราบางครั้งไม่สามารถใช้เวลาวิเคราะห์ไตร่ตรองได้ในเวลาอันสั้น เพราะปริมาณและความแรงของข่าวมันพัวพัน เกี่ยวโยง สร้างผลกระทบสูงมากในสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทยในปัจจุบัน
ที่เกริ่นมายืดยาว นี่ก็อาจจะเป็นข้ออ้างการดอง Blog ก็ได้นะครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีเรื่องที่น่าสนใจและยังค้างเขียนอีกมาก
สำหรับเรื่องรถไฟไทย สุดท้ายของสุดท้ายในความรู้สึกนึกคิดของผมคือสงสารพนักงานของรถไฟ และประชาชนตาดำ ๆ ที่จำเป็นต้องใช้บริการของรถไฟไทย (รฟท.)ครับ
เพราะเท่าที่ติดตามจากกระแสสื่อตอนนี้ Branding คือ สหภาพแรงงานคือจำเลย ตัวประกันคือประชาชน
แต่หากสาวไปลึก ๆ แล้ว ประเด็นพนักงานในฐานะสหภาพแรงงานการรถไฟ และประชาชนแล้วคือเรื่องเล็กจิ๋วไปเลยครับท่าน
เอาเป็นว่าประเด็นแรก ทำไมกระแสการปฏิรูประบบรถไฟถึงมาโหมไฟในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิทั้งรถไฟทางคู่ แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ ปัญหาการหยุดประท้วงของพนักงานรถไฟ เนวินมาเกี่ยวข้องอะไร? แล้วสิ่งที่อึมครึมในการรถไฟไทยมันมาจากอะไร
ผมคิดว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้มี 3 เรื่องครับ
1.) การเร่งกระบวนการแปรรูปการรถไฟ เพื่อผลประโยชน์มหาศาลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ
2.) การเกิดขึ้นของ "การแข่งขันเหนือรางรถไฟ"- ธุรกิจโลจิสติกส์
3.) การฉุดกระชากเปลี่ยนอย่างรุนแรงของรถไฟไทย ที่องค์กรแห่งนี้ที่ดำรงอยู่ตั้งแต่สมัยราชการที่ 5 เป็นต้นมา ตั้งแต่ตุลาคม พ.ศ.2433 จะต้องยอมรับในกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเป็นผลพวงจากข้อที่ 1 เพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลเหลือเกินจนสิ่งที่สั่งสมมาไม่สามารถทนผลประโยชน์อันหอมหวลได้ อันได้แก่ กระแสLogistics, วัฒนธรรมของรถไฟไทย,การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน, Demand เชิงเกรงใจของลูกค้า ที่จริง ๆ แล้วต้องการสิ่งที่ควรจะพัฒนา แต่การรถไฟไทยไม่สามารถ Supply ได้ เป็นต้น
ผมก็อยากจะให้ข้อเท็จจริงอันหน้าคิดสัก 4 ข้อก่อนครับ
ข้อเท็จจริงอันน่าคิด (1) ว่าด้วยอดีตถึงปัจจุบันที่ขยับช้า
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนากรมรถไฟขึ้นเมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ.2433 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ระบบรางเพื่อการพัฒนาการขนส่งของประเทศ
- ในเวลานั้น ได้แบ่งกิจการรถไฟออกเป็นฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้
- ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการรวมกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เข้าด้วยกันเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2460 เรียกว่า กรมรถไฟหลวง
- การรถไฟฯมีทางรถไฟเพิ่มขึ้นเพียง 742 กิโลเมตร ในช่วง 58 ปีที่ผ่านมา (กำลังจะมีเพิ่มอีก 78 กิโลเมตร ในปี พ.ศ.2554 ในเส้นทางฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง)
ข้อเท็จจริงอันน่าคิด (2) ว่าด้วยปัญหา และข้อจำกัดของการรถไฟไทย
· ความเร็วในการเดินรถ
ประเภท
|
ความเร็วเฉลี่ย (กม./ชม.)
|
ด่วนพิเศษ
|
60.6
|
ธรรมดา
|
47.1
|
รถสินค้า
|
35.1
|
· ความน่าเชื่อถือ ตรงต่อเวลา
ประเภทขบวนรถ
|
% ตรงต่อเวลา
|
รถโดยสารเชิงพาณิชย์
|
49.8
|
รถโดยสารเชิงสังคม
|
52.2
|
รถสินค้ารวม
|
14.2
|
· ความสามารถในการจัดหาทรัพยากรให้เพียงพอต่อความต้องการในการขนส่ง
· ความปลอดภัย อุบัติเหตุ
· ความสะดวกสบาย
· ความสามารถในการเข้าถึงผู้ใช้บริการ
· ด้านราคา เช่น ค่าระวางตู้สินค้าไม่ยืดหยุ่นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
ต้นสายปัญหา
· ปริมาณหัวรถจักรไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ในการขนส่ง และส่วนใหญ่อยู่ในสภาพเก่ามีอายุการใช้งานมายาวนาน ทำให้ประสิทธิภาพในการลากจูงลดลง
· การที่เป็นรางเดี่ยว มีความจุรองรับการเดินรถต่ำ ต้องมีการรอการสับหลีกเมื่อรถไฟสองขบวนวิ่งสวนทางกัน
· ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมที่ล้าสมัย
· ปัญหาทางตัดเสมอระดับเนื่องจากทางลักผ่าน
· โครงข่ายจำกัด ไม่มีการขยายโครงข่ายมาเป็นเวลานานแล้ว
· สภาพรางมีอายุมากทำให้มีปัญหาด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะการขนส่งที่มีน้ำหนักมาก
ข้อเท็จจริงอันน่าคิด (3) ว่าด้วยเหตุการณ์ในปัจจุบัน วิกฤติการรถไฟไทยที่น่าไปลงกินเนสบุ๊ก
· การรถไฟแห่งประเทศไทย มีหัวจักร 212 หัวจักร แต่วิ่งได้เพียง 135 หัวจักร และมีผลประกอบการขาดทุนปีละเกือบ 8,000 ล้านบาทต่อเนื่องกันมาตลอด และมีหนี้สินสะสม 70,000 กว่าล้านบาท
· การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานเดียวที่มีการสืบทอดทายาท หากพ่อทำงานที่การรถไฟแล้ว ลูก ๆจะได้สิทธิ์ทำงานต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด แม้แผนการปรับโครงสร้างรถไฟมีการระบุว่าสามารถรับคนภายนอกมาทำงานแค่ 5 %
· รฟท. เป็นรัฐวิสาหกิจหนึ่งในสองแห่ง ที่คนเกษียณอายุได้บำเหน็จก้อนหนึ่งแล้ว ยังสามารถได้บำนาญกินไปตลอดชีวิต จนทำให้ทุกวันนี้มีพนักงานเกษียณอายุไปแล้ว 13,000 คนที่รฟท. มีภาระต้องจ่ายเงินค่าบำนาญให้อีก 5 หมื่นกว่าล้านบาท
· ทุกวันนี้รฟท.มีพนักงาน 13,000 คน เรียกว่าคนล้นงานเกินครึ่ง แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่มีการพัฒนา ไม่มีโครงการใหม่ ๆเกิดขึ้น ที่ดินหลายหมื่นไร่ที่ทั่วประเทศก็ถูกคนในการรถไฟและนักการเมืองช่วยกันเถือช่วยกันแล่ไปทีละชิ้น
· เป็นองค์กรแดนสนธยาที่คนนอกอย่างนักการเมืองเข้ามาหาประโยชน์ ขณะที่คนในก็อยู่ไปวัน ๆ แบบซังกะตาย แต่เงินเดือนไม่เคยลดลง มีเงินเกษียณใช้จนวันตาย
· การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างของรัฐวิสาหกิจที่ล้มเหลวการบริหารจัดการมากที่สุด ทั้ง ๆที่ตัวเองมีทรัพย์สินมหาศาลอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน รางรถไฟ หรือหัวรถจักร แต่ไม่สามารถจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
· สถิติอุบัติเหตุเฉพาะที่เกิดจากการขับรถผ่านจุดตัดทางรถไฟกับถนน (รถยนต์) ปี 2548-2550 มีจำนวนมากถึง 290 ครั้ง บาดเจ็บ 339 คน และเสียชีวิต 96 ศพ ส่วนสถิติการเกิดอุบัติเหตุระหว่างยานพาหนะกับขบวนรถไฟ บริเวณจุดตัดทางรถไฟทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2545-2551 มีจำนวน 1,201 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 926 คน เสียชีวิต 390 คน เฉพาะปี 2551 เกิดอุบัติเหตุ 144 คน ผู้บาดเจ็บ 148 คน ผู้เสียชีวิต 73 คน
· จากข้อมูลของการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (รฟท.) ปี 2550 ระบุว่า ปัจจุบันโครงข่ายเส้นทางรถไฟทั้งประเทศรวม 4,043 กิโลเมตร มีจุดตัดผ่านทางรถไฟทั้งสิ้น 2,449 แห่ง ซึ่งมีเส้นทางตัดผ่านที่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟฯ ประมาณ 1,914 แห่ง และเป็นทางลักผ่านที่ไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟฯ ประมาณ 535 แห่ง โดยการรถไฟฯ ได้ติดตั้งระบบป้องกันอุบัติเหตุหรือเครื่องกั้นถนนแล้วประมาณ 637 แห่ง
ข้อเท็จจริงอันน่าคิด (4) ว่าด้วยการเร่งกระบวนการแปรรูปการรถไฟ เพื่อผลประโยชน์มหาศาลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ
- นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม บอกว่าในงบประมาณแผนดังกล่าวมีจำนวนถึง 1.1 ล้านล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน 3-5 ปี ใช้งบประมาณ 46,000 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนราง ไม้หมอน อาณัติสัญญาณ และทางข้าม ระยะกลาง 10 ปี ก่อสร้างทางคู่ 3,000 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 33,000 ล้านบาท และระยะยาว ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มูลค่ากว่า 707,000 ล้านบาท
- การรถไฟฯ กำลังดำเนินการจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 7 คัน พร้อมโบกี้บรรทุกตู้สินค้า จำนวน 308 คัน เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าในสายชายฝั่งทะเลตะวันออกที่เพิ่มขึ้น และบรรเทาปัญหาขาดแคลนรถจักรใช้งาน พร้อมทั้งขออนุมัติจัดหารถจักรเพิ่มอีก 20 คัน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โดยบรรจุในงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ตลอดจนแผนการจัดหารถจักรทดแทนรถจักรเก่าที่มีอายุใช้งานมากกว่า 40 ปี อีกจำนวน 50 คัน รวมถึง การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการพัฒนาประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ
- การเตรียมจัดเดินขบวนรถด่วนพิเศษทางไกล 6 ขบวน ใน 3 เส้นทางๆ ละ 2 ขบวนต่อวัน คือ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ เน้นคุณภาพบริการที่มีความรวดเร็ว สะดวกสบายและปลอดภัยในการเดินทาง มีบริการรถเข็นขายอาหารบนขบวนรถโดยจัดหารถจักร จำนวน 7 คัน รถกำลังไฟฟ้า 7 คัน รถนั่งและนอนปรับอากาศชั้น 1 จำนวน 7 คัน รถนั่งและนอนปรับอากาศชั้น 2 จำนวน 66 คัน และรถเสบียง ขายอาหารปรับอากาศ 7 คัน รวมวงเงินโครงการทั้งสิ้น 4,736.55 ล้านบาท
- การรถไฟฯ มีที่ดินที่อยู่ภายใต้การบริหาร ประมาณ 234,976 ไร่ แยกเป็น ที่ดินที่ใช้ในกิจการขนส่ง ประมาณ 198,674 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 85.55 ประกอบด้วย ที่ดินย่านสถานี 5,333 ไร่ ที่ดินบ้านพัก 3,755 ไร่ และที่ดินที่เป็นพื้นที่เขตทาง 189,586 ไร่
- ทราบว่าตอนนี้มีขั้วการเมืองของพรรคภูมิใจไทยได้เข้ามาติดตามผลประโยชน์มหาศาลนี้อย่างใกล้ชิด และนั่งหัวโต๊ะสั่งการ โดยมี รมว.คมนาคม และผู้ว่าการรถไฟ ติดตามและชงเรื่องอย่างใกล้ชิด
เอาเป็นว่าตอนนี้ผมขอประมวลข้อเท็จจริงการรถไฟให้ทราบเป็นพื้นฐานก่อนครับ ว่าจริงแล้วมันคือหลักเหตุและปัจจัย ผลที่เกิดขึ้นทั้งจากกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลายครั้ง และล่าสุดคือที่เขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเด็นอยู่ที่เครื่องไม้เครื่องมือที่เก่าแก่หรือไม่ ไม้หมอนที่ไม่ได้เปลี่ยนมานานแสนนาน อุปกรณ์ที่เก่าเก็บ บุคลากรที่ใกล้เคียงกับหัวรถจักร ระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน?
ดังนั้นคนไทยตอนนี้ ไม่ต้องฝันถึงทางคู่ ทางสามเลน หรือความเร็วปานกลาง ความเร็วสูง ที่กำลังจะก่อสร้างทางคู่ 3,000 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 33,000 ล้านบาท และระยะยาว ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มูลค่ากว่า 707,000 ล้านบาท ผมว่าเอาเฉพาะให้ถึงโดยสวัสดิภาพก็เพียงพอ!!
ผมจึงอยากจะเขียนว่าสถานการณ์ปัจจุบันนี้เหมือนคนไทยเดินเท้าเปล่าบนรางรถไฟที่ไม่สามารถต่อรองและพัฒนาให้สู่สิ่งที่ดีกว่าได้ รางรถไฟก็คงให้คนเดิน ตอนต่อไปผมจะว่าด้วยโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย ,ขีดความสามารถในอนาคตเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน , การแข่งขันเหนือรางรถไฟและข้อคิดเห็นที่ผมอยากจะมองอย่างที่เกริ่นไปแล้วในข้อ 1-3 ตอนต้นครับ
อ้างอิง
· จุฬา สุขมานพ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม
· วิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
Links· Hi-speed train : รถไฟความเร็วสูงเชียงใหม่ – กรุงเทพฯ
|