การบริหารจิต...เพื่อชีวิตที่เป็นสุข
นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล
ชีวิตคนเรามีทั้งหมด 4 ส่วน เปรียบเหมือนสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ซึ่งด้านทั้งสี่ประกอบด้วยชีวิตการงาน (work life) ชีวิตครอบครัว (family life) ชีวิตส่วนตัว (private life) และชีวิตสังคม (social life)...สุขและทุกข์ก็เกิดขึ้นอย่างน้อยด้านใดด้านหนึ่งในชีวิตสี่ด้านนี้
ความสุขและความทุกข์ ก็เป็นเหมือนดั่งเมฆบนท้องฟ้าหรือคลื่นในมหาสมุทร มาแล้วก็ไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด...เวลามีความสุขก็ต้องตระหนักว่าความสุขมิได้อยู่กับเราตลอดไป ตอนมีความทุกข์เราก็มิได้จมจ่อมกับทุกข์นั้นตลอดชีวิต
ชีวิตต้องมีทั้งสุขและทุกข์ต้องสลับกันไป...คนที่อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีความตื่นเต้นหรือความเครียดเลย ก็ขาดรสชาติของชีวิต มีชีวิตแต่ไม่มีชีวา
สมอง คืออวัยวะที่ทำงานในเรื่องจิตใจ...เป็นที่ตั้งของจิต คือออฟฟิตของใจ ซึ่งมีองค์ประกอบอยู่ 2 ส่วน คือ อารมณ์ความรู้สึก (emotions) กับความคิด (เช่น ความจำ การตัดสินใจ การใช้เหตุผล การคำนวณ)
ธรรมชาติที่สำคัญของจิตใจประการแรก คือความคิดกับความรู้สึกโน้มนำกันได้...เมื่อใดก็ตามที่เราคิดในทางบวก ความคิดทางบวกก็โน้มนำใจให้เรารู้สึกมีความสุข ภายใต้จิตที่สบายก็นำใจให้เกิดความคิดดีๆ เช่นเดียวกันความคิดทางลบก็กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์
คิดดีใจก็มีสุข คิดไม่ดีใจก็เป็นทุกข์...สุขหรือทุกข์ขึ้นอยู่กับตัวความคิด
มนุษย์จึงต้องเรียนรู้ในการฝึกสติให้รู้เท่าทันความคิดกับความรู้สึกของตัวเอง เพื่อมิให้เกิดการปรุงแต่งให้ใจเป็นทุกข์
ไม่ใช่สิ่งที่เราเจอ แต่เป็น “ความหมาย” ของสิ่งที่เราเจอต่างหาก ซึ่งเป็นตัวกำหนดความรู้สึกของเราต่อสิ่งนั้นว่าจะเป็นสุขหรือทุกข์...การมีมุมมองทางบวก (positive thinking) อยู่เสมอ เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความรู้สึกที่ดีๆต่อสิ่งที่เราพบ
ภาพหยิน - หยาง...เป็นวงกลมที่มีสองส่วน ในแถบสีขาวมีจุดดำ ในแถบสีดำมีจุดขาว เปรียบเหมือนกับสิ่งดีที่เราได้รับอาจมีความโชคร้ายแฝงเร้น ในขณะที่ความโชคร้ายที่เราประสบก็มีความโชคดีที่เราต้องค้นให้พบ
· สมบัติเงินทองที่เรามีอาจเป็นเครื่องล่อใจให้คนอื่นปองร้ายเราเพื่อหวังชิงทรัพย์นั้น
· ผู้หญิงที่หน้าตาสวย ก็อาจกระตุ้นความใคร่ เร้าใจให้ผู้ชายบางคนล่วงละเมิดทางเพศต่อตัวเรา
· ผู้ป่วยที่รู้ตัวว่าป่วยด้วยโรคร้ายแรง ชีวิตหลังจากนั้นอาจมีคุณภาพมากขึ้น เพราะเมื่อรู้ตัวแล้วก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาสุขภาพให้ดีขึ้น กลายเป็นชีวิตที่มีสติและความสุขมากกว่าเดิม
· เศรษฐกิจขาลงครั้งที่ผ่านมา อาจมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจขาขึ้นครั้งใหม่ที่มีความมั่นคงและรอบคอบกว่าเดิม...เราจะขึ้นสู่ภูเขาลูกใหม่ที่สูงใหญ่กว่าเดิมได้อย่างไร ถ้าหากเราไม่เดินลงจากภูเขาลูกเก่าเสียก่อน เหมือนประเทศญี่ปุ่นซึ่งแพ้ย่อยยับในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
· อุปสรรคทั้งหลายคือการบ้านจากพระผู้เป็นเจ้า วิกฤตของชีวิตคือการสอบไล่ครั้งใหญ่ เมื่อผ่านพ้นได้ จิตใจจะเกิดพัฒนาการ...ความทุกข์คือเครื่องมือในการฝึกจิตให้มีความเข้มแข็ง เหมือนการยกของหนักทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง คนที่ผ่านปัญหาของชีวิตมาต่อเนื่องทำให้กลายเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยแบบทานทน (hardy character)
จากเศษเหล็กที่ไม่มีค่า ต้องเข้าเตาหลอมรนไฟให้ร้อนแดง หลังจากนั้นจึงนำไปทุบตี จึงจะกลายเป็นดาบเล่มงาม...จงถือเอาความเร่าร้อนและเจ็บปวดเป็นเครื่องมือในการยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์
คนใดก็ตามที่โปรแกรมสมองตัวเองด้วยความคิดทางลบตลอด เป็นเหตุทำให้จิตใจอ่อนกำลัง เกิดความย่อท้อ ไม่สามารถต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆในชีวิต...เราจึงต้องสร้างสัมมาทิฐิคือความคิดทางบวก เพื่อนำพาชีวิตไปสู่จุดมุ่งหมายที่เราตั้งไว้ เพราะคิดดี แล้วจึงพูดดี ทำดี
บุคคลจำนวนมากที่จิตใจอุดมไปด้วยความคิดทางบวก จึงทำให้ชีวิตตัวเองมีความสุข และสามารถเผื่อแผ่ความสุขนั้นไปสู่ผู้อื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น
Lena Maria นักร้องชาวสวีเดนเจ้าของหนังสือเรื่อง “บันทึกจากปลายเท้า” เธอเคยมาเปิดการแสดงคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 ณ โรงละครแห่งชาติ เธอได้กล่าวในการแสดงของเธอตอนหนึ่งว่า “เมื่อตอนแรกเกิด ฉันไม่มีแขน และขาข้างซ้ายของฉันก็ยาวเพียงครึ่งหนึ่งของขาข้างขวา แต่กระนั้นก็ดี ความพิการของฉันไม่เคยยับยั้งดิฉันจากการทำหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต ฉันเชื่อว่าทุกๆคนบนโลกใบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง และฉันยังเชื่ออีกว่าคนทุกๆคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร หรือเขาจะมีเงินมากมายเพียงใด หรือจะมีความสามารถมากน้อยเพียงใด คนทุกๆคนมีคุณค่าและความสำคัญเท่าเทียมกันเสมอ...และยิ่งกว่านั้น ทารกน้อยๆก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้”
หรือกรณีคุณกำพล ทองบุญนุ่ม เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “จิตสดใส แม้กายพิการ” ซึ่งอัมพาตทั้งแขนขาจากอุบัติเหตุในวัยหนุ่มก็ยังสามารถมีความสุขในชีวิตได้ด้วยการฝึกสติแนวพุทธ จนนำไปสู่ความเข้าใจชีวิต
เรื่องทำนองเดียวกันก็เกิดขึ้นกับคุณสุภัทราพร ตันอธิคม อดีตแอร์โฮสเตสผู้กลายมาเป็นคนพิการขั้นรุนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ตั้งแต่หัวไหล่ลงมาถึงปลายเท้า ถึงแม้ว่าเธอไม่มีมือ เธอก็เขียนหนังสือได้ เธอไม่มีเท้า เธอก็เดินหน้าต่อไปภายใต้หัวใจที่ไม่ยอมแพ้ เรื่องราวชีวิตของเธอได้รับการบันทึกในหนังสือ “จากหัวไหล่...ไปถึงเบื้องบน”
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวเท่านั้นที่มีความทุกข์ ทั้งๆที่มนุษย์ที่มีสมองพัฒนาเหนือสัตว์ทั้งหลาย เพราะสัตว์ต่างๆไม่มีการปรุงแต่งของจิต...ตรงข้ามกับสมองของคนเราที่ความคิดกับความรู้สึกปรุงแต่งกัน แต่ขาดสติ คือการรู้ตัวทั่วพร้อม หรือรู้เท่าทัน ผลพวงของปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือสภาพจิตที่เป็นทุกข์
ปรุงแต่งของจิตที่พบบ่อย เช่น จากการเห็น นำไปสู่ความชื่นชอบ แล้วก็ปรุงแต่งไปเป็นความอยากได้ แล้วก็ต้องเอามาเป็นเจ้าของ...ผู้ชายก็เจ้าชู้มักมากในกาม ผู้หญิงก็ติดนิสัยชอบช้อปปิ้ง เพราะฉะนั้นจากความชอบ (ซึ่งเป็นความสุข) ปรุงแต่งไปเป็นความอยากได้ (ซึ่งเป็นทุกข์)...สติต้องมาทัน จิตจึงไม่ผลิตเป็นความทุกข์
ธรรมชาติของจิตใจอีกอย่างหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่ใจของเราเต็มไปด้วยอารมณ์ที่รุนแรง อารมณ์นั้นจะรบกวนการทำงานของความคิด ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกสิ่งนี้ว่า “นิวรณ์” แปลว่า เครื่องรบกวนสมาธิหรืออุปสรรคขัดขวางการทำงานของปัญญา ได้แก่ พยาบาท ถีนมิทธะ วิจิกิจฉา อุทธัทจะกุกกุจจะ กามฉันทะ...มีผลทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด คิดเลขคูณหารก็ถูกๆผิดๆ อ่านหนังสือก็จำไม่ได้ หรือความลุ่มหลงทำให้มองไม่เห็นความบกพร่องในคนที่เรากำลังหลงรัก (ความรักที่ถูกนำหน้าด้วยคำว่าหลง)
จิตที่ไม่นิ่งแต่วอกแวกไปสู่เหตุการณ์ในอดีตหรืออนาคต ก็นำไปสู่ความเศร้าหรือกังวล...การมีสติอยู่กับสิ่งที่อยู่ต่อหน้าในเวลาปัจจุบัน (here and now) จึงเป็นสุข...หากรู้ตัวว่าใจกำลังเป็นทุกข์ ก็จงมีสติอยู่กับอารมณ์นั้นๆเสมือนแม่ที่กำลังประคับประคองลูกน้อยในอ้อมแขน แทนที่จะปฏิเสธหรือพยายามกำจัดมัน แต่จงอยู่กับมันอย่างรู้เนื้อรู้ตัว แล้วอารมณ์ทุกข์นั้นจะไม่ปรุงแต่งไปสู่ความคิดในทางลบ (คือตัวสังขาร)
ความคิดที่ถูกปรุงแต่งมาจากอารมณ์ เรียกว่า “สังขาร”...แต่ความคิดที่ตกผลึกจากภาวะจิตที่เป็นสมาธิ เรียกว่า “ปัญญา”
ความสุข คือความรู้สึกในทางบวกในรูปแบบต่างๆ มีหลายกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องเป็นความสนุกสนานที่ต้องซื้อหาตามแหล่งบันเทิง แต่อาจเป็นความสงบผ่อนคลายทางจิตใจเมื่ออยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ หรือความภาคภูมิใจในการงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น รวมไปถึงความปิติอิ่มเอิบเมื่อจิตใจบังเกิดความรู้
จิตที่เป็นทุกข์ คือสภาพจิตที่เต็มไปด้วยขยะทางความคิดและมลพิษทางอารมณ์...จิตที่เป็นสุข คือจิตอันอุดมด้วยสัมมาทิฐิและสามารถแบ่งปันความสุขไปสู่ผู้อื่นได้
แม้จะยังไม่พบว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายของการมีชีวิต ก็จงดำเนินชีวิตอยู่ด้วยการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์