Advertisement
"วิศวกรรมดาวเคราะห์" อภิมหาโครงการต้าน"โลกร้อน!"
ขณะนี้กระแสถกเถียงถึงการใช้แนวคิดสุดขั้วที่เรียกว่า "Geoengineering" หรือ "วิศวกรรมดาวเคราะห์" เข้ามาแก้วิกฤตการณ์ "โลกร้อน" ดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้งในแวดวงวิทยาศาสตร์โลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากดร.จอห์น โฮลเดรน หัวหน้าคณะที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เสนอว่าอาจถึงเวลาแล้วที่ต้องนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ แม้จะมี "ไซด์เอฟเฟ็กต์" ส่งผลกระทบด้านลบต่อดาวเคราะห์สีน้ำเงินของเราดวงนี้ไม่น้อยเช่นกัน!
ดร.โฮลเดรน นักฟิสิกส์สหรัฐชั้นแนวหน้าให้สัมภาษณ์สำนักข่าว "เอพี" เป็นแห่งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำทำเนียบขาวและหัวหน้าทีมที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ของประธานาธิบดีโอบามา เมื่อสัปดาห์ก่อน ว่า
ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งคณะรัฐมนตรี สำนักงานอวกาศนาซ่า และสำนักงานสิ่งแวดล้อม (อีพีเอ) กำลังเปิดประชุมหารือถึงข้อดี-ข้อเสียในการนำเทคโนโลยี "วิศวกรรมดาวเคราะห์" มาแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งคาดว่าจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ
โฮลเดรน กล่าวว่า ความวิตกกังวลในขณะนี้ คือ สหรัฐและชาติอื่นๆ จะไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ "จุดวิกฤต" ภาวะโลกร้อนมาถึงเร็วกว่าที่คิด ซึ่งถ้าจุดนั้นมาถึงจริงๆ อาทิ น้ำแข็งในเขตอาร์กติกแถบขั้วโลกเหนือละลายทั้งหมด จะก่อให้เกิดมหันตภัยร้ายแรงต่อมนุษยชาติชนิดคาดไม่ถึง
นอกจากนั้น ถ้าอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอีกแค่ไม่กี่องศาจะจุดชนวนภัยพิบัติครั้งใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง วิกฤตขาดแคลนอาหาร ระดับน้ำทะเลท่วมพื้นที่ชายฝั่ง และเกิดพายุฝนถล่มหนักผิดธรรมชาติในบางพื้นที่
"วิศวกรรมดาวเคราะห์" จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญที่ต้องงัดมาใช้รับมือปัญหาโลกร้อนในอนาคต แม้ต้องแลกกับผลข้างเคียงทางลบ เช่น ทำให้ชั้น "โอโซน" ในเขตขั้วโลกเป็นรูโหว่ใหญ่มากขึ้น หรือทำให้สภาพภูมิอากาศแถบเมดิเตอร์เรเนียน กับตะวันออกกลาง เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ยังถือว่า "ได้" มากกว่า "เสีย"
สำหรับแนวคิด "วิศวกรรมดาวเคราะห์" นั้นมีหลายกรรมวิธี แต่เบื้องต้นวิธีการที่ดร.โฮลเดรนเสนอว่าควรนำมาใช้ ได้แก่
1. ยิงอนุภาค "ซัลเฟอร์" ขึ้นไปปกคลุมบรรยากาศโลกชั้นบน เพื่อจำลองภาวะเหมือนกับเมื่อครั้งที่เกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่พ่นกลุ่มควันไปทั่วท้องฟ้า สะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปยังอวกาศ ซึ่งผู้นำเสนอทฤษฎีนี้เป็นคนแรกเมื่อปี 2549 คือ "พอล ครูทเซน" นักวิทยาศาสตร์ผู้ชนะรางวัลโนเบล
2. สร้าง "ต้นไม้เทียม" ในรูปแบบของตึกขนาดยักษ์ คอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ออกจากอากาศ และดึงมาเก็บไว้ใต้ดิน
เพื่อให้เข้าใจถึงระบบ "วิศวกรรมดาวเคราะห์-Geoengineering" ให้ลึกซึ้ง
ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ หัวหน้าห้องปฏิบัติการสภาพแวดล้อมอัจฉริยะและวิศวกรรมเลียนแบบธรรมชาติศูนย์นาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่า
Geoengineering นั้นหากมนุษย์คิดทำกันจริงๆ จะกลายเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์เปลี่ยนฟ้า-แปลงโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่กระทำโดยสิ่งมีชีวิตนับตั้งแต่มีโลกใบนี้
โดยเป็นศาสตร์ที่นำเอาสารพัดเทคโนโลยี อาทิ ฟิสิกส์ โยธา วิศวกรรมอวกาศ ธรณีวิทยา เคมี นาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ เข้ามา "ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเคราะห์" มีจุดมุ่งหมายทำให้ดาวเคราะห์มีสภาพเหมาะต่อการอาศัยของสิ่งมีชีวิต
แนวคิดนี้ถือกำเนิดขึ้นเพราะมนุษย์มีความใฝ่ฝันจะไปตั้งรกรากบน "ดาวอังคาร" ซึ่งต้องใช้ความรู้หลายสาขาเพื่อทำให้ดาวแดงมีสภาวะเหมาะกับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต เช่น สร้างพื้นผิวดาวเคราะห์ขึ้นมาใหม่ สร้างทะเลสาบ ปรับเปลี่ยนบรรยากาศ ปรับอุณหภูมิของดาวเคราะห์ รวมทั้งสร้างนิเวศของสิ่งมีชีวิตขึ้นมา
ที่ผ่านมา สำนักงานอวกาศสหรัฐ (นาซ่า) ได้ทำการวิจัยลับๆ เกี่ยวกับ "วิศวกรรมดาวเคราะห์" เพื่อสร้างโลกใหม่บนดาวอังคาร
ฟังๆ ดูแล้วเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่กำลังเกิดขึ้นจริงและมีการทดสอบเทคโนโลยีนี้หลายชนิดบนโลกมนุษย์เรานี่เอง!
แนวคิดกว้างๆ ของโครงการ "วิศวกรรมดาวเคราะห์" ก็คือ ลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ผ่านเข้ามาพื้นโลก และลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ
ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ ระบุว่า ถ้าจะลองจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ของโครงการ ให้ลองวาดภาพทะเลทรายที่มีแต่ทรายจะถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้สามารถปลูกพืชได้ โดยการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรม
นอกจากนี้ จะมีการปล่อยอนุภาคเหล็กลงไปในทะเลครั้งใหญ่ เพื่อช่วยให้พวกสาหร่ายและแพลงตอนสามารถเจริญเติบโตดีขึ้น และดูดกลืนคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดียิ่งขึ้น
ตามด้วยการปล่อยสารเคมีช่วยรักษาชั้นโอโซน ปล่อยอนุภาคที่สะท้อนแสงอาทิตย์ในชั้นบรรยากาศเพื่อลดแสงแดดที่ตกกระทบโลก
การอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ "เชื้อเพลิงฟอสซิล" กลับลงไปใต้พื้นพิภพ หรือพื้นทะเล ไปจนถึงการสร้างแผงเซลล์สุริยะ หรือ กระจกบานใหญ่ขนาดเป็นร้อยกิโลเมตรและส่งเข้าไปใน "วงโคจรโลก" เพื่อลดแสงอาทิตย์ส่องเข้ามายังผิวโลก
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับ "วิศวกรรมดาวเคราะห์" เตือนว่า ขณะนี้เรายังไม่มีความรู้ดีพอเกี่ยวกับความซับซ้อนและปฏิสัมพันธ์กันระหว่างระบบต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่อย่างดาวเคราะห์ แต่ฝ่ายผู้สนับสนุนแย้งว่าการอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรก็รังแต่รอวันสิ้นโลกเท่านั้น..
สู้เสี่ยงทำอะไรแบบ "มีสติ" น่าจะดีกว่า
สำหรับวิธียิงซัลเฟอร์ขึ้นไปสะท้อนแสงอาทิตย์ที่นำเสนอโดยศาสตราจารย์พอล ครูตเซน นักเคมีรางวัลโนเบลค.ศ.1995 ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ บอกว่า
จริงๆ แล้วครูตเซนเป็นคนค้นพบว่า มลพิษที่ปล่อยออกมาจากอุตสาหกรรมทั้งหลายได้ขึ้นไปทำลายชั้นโอโซน แต่ภายหลังท่านกลับเสนอให้ปล่อยก๊าซ "ซัลเฟอร์ไดออกไซด์" ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นมลพิษดังกล่าวเข้าไปในบรรยากาศชั้นสตาร์โตสเฟียร์ เพื่อให้ก๊าซช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์กลับออกไป ทำให้โลกเย็นลง
การกระทำเช่นนี้เป็นการเลียนแบบเหตุ "ภูเขาไฟระเบิด" นั่นเอง
เพราะทุกครั้งที่มีการระเบิดของภูเขาไฟจะมีการปล่อยกลุ่มควัน เถ้าถ่าน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศชั้นบน ทำให้พื้นผิวโลกที่อยู่ใต้บริเวณนั้นเย็นลง
ดังเช่น การระเบิดของภูเขาไฟ "ปินาทูโบ" ในประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปีค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) ได้ปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกมาถึง 20 ล้านตัน มีผลให้อุณหภูมิของโลกลดลงถึง 0.5 องศาเซลเซียส
ศ.ครูตเซนได้เสนอวิธีที่มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์โดยการปล่อย "บอลลูนบรรจุก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์" ขึ้นไปปล่อยในชั้นบรรยากาศ หรืออาจบรรจุในถังแล้วยิงขึ้นไปด้วยปืนใหญ่ให้ไปแตกระเบิดออกในชั้นบรรยากาศ
ต่อมา แนวความคิดอันสุดโต่งและล้ำลึกของศ.ครูตเซน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากพยายามทำวิจัยหาข้อมูลเพิ่มเพื่อหักล้างแนวคิดนี้ แต่เจ้าตัวยืนยันว่า หากโลกเราไม่มีความสามารถในการหยุดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เร็วที่สุด
นี่ก็อาจจะเป็นทางออกเดียวที่พอทำได้ในการหยุดโลกร้อน!?!
ข้อมูลจาก : ข่าวสด
|
วันที่ 11 พ.ย. 2552
🖼สำหรับคุณครูไว้ใส่เกียรติบัตรสวยและถูก🖼 กรอบป้ายอะคริลิคตั้งโต๊ะ A4 แนวนอน 30x21.5 cm อะคริลิคใส 1 หน้า ทรง L (A4L1P) ในราคา ฿129 คลิกเลย👇👇https://s.shopee.co.th/1qLFIZVf4t?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 7,155 ครั้ง เปิดอ่าน 7,165 ครั้ง เปิดอ่าน 7,167 ครั้ง เปิดอ่าน 7,169 ครั้ง เปิดอ่าน 7,158 ครั้ง เปิดอ่าน 7,161 ครั้ง เปิดอ่าน 7,163 ครั้ง เปิดอ่าน 7,156 ครั้ง เปิดอ่าน 7,172 ครั้ง เปิดอ่าน 7,157 ครั้ง เปิดอ่าน 7,166 ครั้ง เปิดอ่าน 7,161 ครั้ง เปิดอ่าน 7,156 ครั้ง เปิดอ่าน 7,155 ครั้ง เปิดอ่าน 7,159 ครั้ง เปิดอ่าน 7,254 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,168 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 8,996 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,171 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,250 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,153 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,156 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,154 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 35,482 ครั้ง |
เปิดอ่าน 22,044 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,304 ครั้ง |
เปิดอ่าน 54,447 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,219 ครั้ง |
|
|