วันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 เชิดชูวีรกรรมทหารไทย
สำหรับ วันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ประจำปี 2552 ซึ่งตรงกับวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบในการจัดงานวันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้กำหนดให้มีการจัดพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ทหารอาสาบริเวณท้องสนามหลวง ของผู้แทนจากส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคม มูลนิธิ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศ ตลอดจนทายาททหารอาสาสงคราม โลกครั้งที่ 1 และตัวแทนเยาวชนจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
และในเวลา 15.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์วางพวงมาลา นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการประวัติสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้ความรู้แก่ผู้มาร่วมงานด้วย
แผนที่ประเทศแสดงระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรในสีเขียว และฝ่ายมหาอำนาจกลางในสีส้ม และฝ่ายที่เป็นกลางในสีเทา
ขึ้นชื่อว่า "สงคราม" ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้ หรือผู้ชนะ ก็ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งความสูญเสีย!!
สงครามที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ที่มวลมนุษยชาติต้องจดจำ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นสงครามที่มีคนไทยเข้าไปร่วมด้วย โดยเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2457 ตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างออสเตรียกับเซอร์เบีย โดยคู่กรณีสงครามแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเยอรมนี มีพันธมิตรผู้หนุนหลังประกอบด้วย ออสเตรีย ฮังการี บัลแกเรีย และตุรกี และฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ รวม 25 ประเทศ
เมื่อสงครามอุบัติขึ้น ได้ขยายขอบเขตไปตามภูมิภาคต่าง ๆ จนมาถึงทวีปเอเชีย โดยประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับเยอรมนี สำหรับประเทศไทยซึ่งในขณะนั้นมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นองค์ประมุข พระองค์มิได้ทรงนิ่งนอนพระทัย มีพระบรมราชวินิจฉัยด้วยพระปรีชาญาณ ทรงตัดสินพระทัยร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร (ประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมนี) โดยทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศสงคราม เมื่อเวลาประมาณ 24.00 น. ของวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2460
หลังจากที่ประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วมสงครามแล้ว กระทรวงกลาโหมได้ประกาศรับสมัครทหารอาสา โดยในขั้นต้นได้คัดเลือกไว้จำนวน 1,385 คน จากนั้นมีการอบรมและทดสอบ เหลือกำลังปฏิบัติการ 1,284 นาย จัดเป็นกองทหารอาสา โดยมี พันเอก พระยาเฉลิมอากาศ หรือ สุณี สุวรรณประทีป เป็นผู้บังคับการ
ทหารอาสาของไทย โดยเฉพาะกองทหารบกรถยนต์ ได้มีโอกาสเข้าร่วมปฏิบัติการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารฝรั่งเศสอย่างกล้าหาญ และได้รับคำชมเชยอย่างมาก นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่กองทหารอาสาของไทยพักอยู่ในตำบลต่าง ๆ ในประเทศฝรั่งเศส ก็เป็นที่รักใคร่ชื่นชมของราษฎรในพื้นที่ จากการแสดงน้ำใจไมตรีให้การช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ กับประชาชนอยู่เสมอ ๆ
สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นยืดเยื้อยาวนานถึง 4 ปี จนกระทั่งในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 เยอรมนีได้ติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรขอเจรจาสงบศึก โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสัญญาสงบศึกบนรถไฟ ณ เมืองคองเปียน ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ 2461 วันสำคัญวันนี้ของทุกปีจึงถูกกำหนดให้เป็น "วันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1"
หลังสงครามยุติลง การเฉลิมฉลองชัยชนะเกิดขึ้นในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพิธีปฐมกรรมในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2461 มีการชุมนุมทหารที่สนามหลวง ส่วนฝ่ายสัมพันธมิตรได้กระทำพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะที่บริเวณลานประตูชัย กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 โดยกองทหารบกรถยนต์ของไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมเดินในขบวนสวนสนามฉลองชัยชนะ รวมทั้งยังได้เข้าร่วมเดินสวนสนามฉลองชัยชนะที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 และที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 22 กรกฎาคม ปีเดียวกัน อีกด้วย
การเดินทางกลับสู่มาตุภูมิของวีรบุรุษทหารอาสาไทยเป็นไปอย่างอบอุ่นและ สมเกียรติ โดยเดินทางออกจากท่าเรือมาร์แซลล์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2462 มาถึงประเทศไทยในวันที่ 21 กันยายน ปีเดียวกัน เมื่อกองทหารบกรถยนต์เดินทางมาถึงท่าราชวรดิฐมีพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ทูตานุทูต และประชาชน มาให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก
กองทหารไทยในดินแดนเยอรมนี
กองทหารอาสาของไทยในครั้งนั้น แบ่งออกเป็น 3 หน่วยด้วยกัน คือ กองทหารบกรถยนต์ กองบินทหารบก และกองพยาบาล โดยทหารอาสาทั้งหมดนี้ได้กระทำพิธีสาบานตนต่อธงไชยเฉลิมพล ณ บริเวณหน้าวังสราญรมย์ และในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2461 กองทหารอาสาได้ออกเดินทางจากท่าราชวรดิฐ โดยเรือกล้าทะเลและเรือศรีสมุทรเพื่อไปขึ้นเรือเอมไพร์ ซึ่งประเทศฝรั่งเศสส่งมารับที่เกาะสีชัง เพื่อเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ ลังกา สุเอซ ถึงเมืองมาร์แซลล์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2461 หลังจากนั้นได้เดินทางไปเข้าที่ตั้งเพื่อรับการฝึกก่อนส่งตัวเข้าปฏิบัติการรบในสมรภูมิ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวต้อนรับกองทหารอาสาเสร็จแล้วทรงผูกเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พระราชทานแก่ธงไชยเฉลิมพล และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นต่าง ๆ แก่ทหารอาสาทุกนาย
นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่บริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสนามหลวง เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ระลึกถึงเกียรติประวัติของทหารอาสาไทยที่อาสาไปร่วมปฏิบัติการรบในทวีปยุโรป รวมทั้งเป็นที่บรรจุอัฐิของทหารหาญที่เสียชีวิตในขณะปฏิบัติการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 จำนวน 19 คน โดยมีพิธีบรรจุอัฐิ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2462 ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลาคารวะดวงวิญญาณของทหารกล้าด้วยพระองค์เอง
ในบรรดาทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ของประเทศไทย ร้อยตรียอด สังข์รุ่งเรือง คือ ทหารอาสาคนสุดท้ายที่มีอายุยืนยาวที่สุด เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2546 โดยมีอายุ 104 ปี เมื่อครั้งเป็นทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ถูกส่งไปร่วมรบกับกองทัพสัมพันธมิตร สังกัดหน่วยช่างอากาศของกองทัพฝรั่งเศส เมื่อสงครามยุติลงจึงเดินทางกลับประเทศไทยและได้รับพระราชทานเหรียญที่ระลึกสงครามยุโรปจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากนั้นในปี พ.ศ. 2542 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เลอ ลีเจียน เดอ ฮอร์นเนอร์ จากเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ ร้อยตรี เป็นกรณีพิเศษให้แก่ นายยอด ในฐานะที่ได้สร้างชื่อ เสียงให้กับประเทศชาติ
การตัดสินใจเข้าร่วมรบในฝ่ายสัมพันธมิตรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติหลายประการด้วยกัน อาทิ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในโลก โดยเฉพาะชาติสัมพันธมิตร ยุโรป และอเมริกาได้รู้จักประเทศไทย เนื่องจากทหารอาสาของประเทศไทยที่เข้าร่วมรบได้สร้างชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมีวินัย ความกล้าหาญ รวมทั้งมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สร้างความประทับใจแก่บรรดาชาติพันธมิตร
นอกจากนี้ยังส่งผลให้ชาติต่าง ๆ ในยุโรป 13 ประเทศ ที่เคยทำสัญญาผูกมัดประเทศไทย ยอมแก้ไขสัญญาที่ทำไว้เดิม โดยเฉพาะการยกเลิกอำนาจศาลกงสุล โดยให้ชาวต่างประเทศที่กระทำผิดในประเทศไทยมาขึ้นศาลไทย และยังได้อิสรภาพที่จะกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร ตลอดจนการที่ประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส และได้รับเชิญให้เข้าร่วมก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติอีกด้วย
วีรกรรมของทหารอาสาไทย ความกล้าหาญและความเป็นนักสู้ ได้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศ เสริมสร้างเกียรติภูมิและยังประโยชน์ให้บังเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล
ขอสดุดีเหล่าทหารอาสาผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทุกนาย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
(เดลินิวส์)
http://hilight.kapook.com/view/43374
http://www.naronk.org/uboard/show.php?Category=thai&No=1929