พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ได้กระจายอำนาจการศึกษาให้สถานศึกษาในแต่ละท้องถิ่นสามารถออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาของตนเอง โดยส่วนกลางมีมาตรฐานการเรียนรู้ของประเทศ (Standard Based Education-SBE) เป็นมาตรฐานการเรียนรู้ให้สถานศึกษาได้ออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับบริบทในท้องถิ่นของตนเองแต่ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของประเทศ
ประเดิม Blog แรกของผมจึงขอนำเสนอขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ง่าย ๆ ตามสไตล์ Dr.Kaew โดยมีขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่ไม่ยากอย่างที่คิด เพียง 3 ขั้นตอนง่าย ๆ คือ
1. เลือกรูปแบบหลักสูตร
2. จัดทำโครงสร้างหลักสูตร
3. ออกแบบหน่วยการเรียน
เรามาเรียนรู้ในขั้นตอนที่ 1 กันก่อนว่า จะเลือกรูปแบบหลักสูตรได้อย่างไร
ในขั้นตอนแรก ผมขอให้คุณครูวางนโยบายในสถานศึกษาของท่านก่อนว่าต้องการหลักสูตรของโรงเรียนในรูปแบบใด คือ
1.หลักสูตรแบบแยกรายวิชา (Subject matter curriculum) หรือ
2. หลักสูตรแบบบูรณาการ (Integrated curriculum)
ท่านที่เลือกรูปแบบหลักสูตรที่ 1 คือ หลักสูตรแบบแยกรายวิชา จะมีลักษณะเป็นรายวิชาที่แยกออกมาของใครของมันหรือแยกกลุ่มสาระออกเป็น 8 หลักสูตร (แต่ไม่ใช่ว่าทุกสถานศึกษาจะต้องมีจำนวนหลักสูตร 8 หลักสูตรเสมอไป) เพียงแต่ผู้เรียนต้องเรียนตามสาระ มาตรฐาน และมาตรฐานชั้นปี/ช่วงชั้นได้ครบถ้วนทุกกลุ่มสาระในแต่ละช่วงชั้นหรือชั้นปี ซึ่งสถานศึกษาอาจออกแบบหลักสูตรให้มีจุดเน้นของสถานศึกษาที่ต้องการเน้นบางด้านที่ต้องการ (ภาษาธุรกิจเรียกว่า “หาจุดขาย” ของโรงเรียน) เช่น อาจแยกรายวิชาพลศึกษาออกจากกลุ่มสาระพลศึกษาและสุขศึกษา ในกรณีที่จะให้เด็กเอาดีทางด้านกีฬา หรือแยกรายวิชาทัศนศิลป์ กับ ดนตรี ออกจากกลุ่มสาระศิลปะ เพราะจะเอาดีทางดนตรีเป็นพิเศษ เป็นต้น
สำหรับรูปแบบหลักสูตรที่ 2 คือ หลักสูตรแบบบูรณาการ รศ.ดร.นาตยา ปิลันธนานนท์* ท่านเขียนในหนังสือ "จากหลักสูตรสู่หน่วยการเรียน" ว่า “ในสภาพการณ์ที่สังคมโลกปัจจุบันอยู่ในภาวะ "สำลัก" กับความรู้ที่มากมายมหาศาล จนคนเราไม่สามารถที่จะเรียนรู้อะไรได้ทุกสิ่งทุกอย่าง และการเรียนที่คอย "ไล่ตาม" ความรู้มากมายที่กระจัดกระจายกันอยู่ในกลุ่มสาระต่าง ๆ ผู้เรียนก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในการดำรงชีวิต ทิศทางการศึกษาในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาแบบบูรณาการมากขึ้นเรื่อย ๆ"
ซึ่งหลักสูตรแบบบูรณาการ แบ่งได้เป็น
1.หลักสูตรที่ใช้"วิชาการ"เป็นฐานของการบูรณาการ
2.หลักสูตรที่ใช้ "อาชีพ" เป็นฐานของการบูรณาการ
เรามาดูกันก่อนครับว่าหลักสูตรที่ใช้ "วิชาการ" เป็นฐานของการบูรณาการ เป็นอย่างไร ซึ่งเรายังแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1. Linked Course คือนำสองรายวิชามาบูรณาการกัน มีบางกิจกรรมทำร่วมกันและ Theme เดียวกัน แต่ Learning Outcome เป็นของแต่ละรายวิชา และตัดเกรดแยกแต่ละวิชา ถ้า “Drop” หรือ “ตก” ก็มีผลต่อทั้ง 2 วิชา
2. Cluster คือนำสามรายวิชามาบูรณาการกัน โดยมี Learning Outcome แยกเฉพาะวิชาและรวมกัน ทั้ง 3 รายวิชา โดยในแต่ละ Module จะมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งการให้เกรดจะแยกให้เกรดในแต่ละรายวิชา มีสัดส่วนที่ชัดเจน สิ่งสำคัญคือต้องหา Theme ร่วมให้ได้ว่าทั้ง 3 รายวิชานี้ต้องการ Learning Outcome อะไร?
3. Coordinated จะต่างไปจากการบูรณาการในรูปแบบอื่น คือมีบุคคลที่เป็นอาจารย์ที่เกิดความคิดร่วมกันมาร่วมมือกันสร้างรายวิชาใหม่ โดยให้ลืมเรื่องการแยกรายวิชา โดยให้ร่วมกันหา Theme ว่าจะสอนอย่างไร มี Course syllabus ร่วมกัน เนื่องจากมีการรวมหลาย ๆ วิชาเป็นวิชาเดียว หน่วยกิตก็จะมากขึ้น เวลาที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนจึงมากขึ้นด้วย ตัดเกรดร่วมกัน 1 เกรด ซึ่งแตกต่างจากแบบ Linked Course และ Cluster ซึ่งตัดเกรดแยกแต่ละวิชา
คุณครูที่รักครับ เริ่มคันไม้คันมืออยากจะไปนั่งคุยกับเพื่อนครูอีกรายวิชาให้มาทำหลักสูตรในรูปแบบ
"บูรณาการ โดยใช้วิชาเป็นฐานความคิด" กันหรือยัง ?
ใน Entry หน้า จะพาคุณครูไปรู้จักกับหลักสูตรที่ใช้ "อาชีพ" เป็นฐานของการบูรณาการ
ห้ามพลาดนะครับ !
....................................................................................................................................
*นาตยา ปิลันธนานนท์. 2546. จากหลักสูตรสู่หน่วยการเรียน. กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช.