สำหรับนักพัฒนาเว็บหรือคนทำเว็บที่พอรู้เรื่องรู้ราวอยู่บ้างนั้น เว็บบราวเซอร์อย่าง ไออี 6 ของ ไมโครซอฟท์ เป็นบราวเซอร์ที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าที่สุด และแช่งชักหักกระดูกให้มันตาย ๆ ไปเสียที ด้วยเหตุที่มันไม่สอดคล้องกับมาตรฐานเว็บที่ชาวบ้านร้านช่อง ยอมรับกัน เป็นเหตุให้ในการทำเว็บที่ต้องการให้เว็บที่สร้างขึ้นมาสามารถเข้ากันได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือใช้บราวเซอร์อะไรก็เปิดมาใช้งานได้นั้น ต้องยุ่งยากขึ้นอีกมากมาย จนถึงบางกรณีทำไม่ได้เลยก็มี ต้องชั่งใจเลือกว่าจะเลือกข้างไหน
ไออีในเวอร์ชั่นหลังจาก 6 เริ่มสอดรับกับมาตรฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ไม่ทั้งหมด แต่ก็ยังดีกว่าไออี 6 อยู่หลายขุม
เว็บไซต์ใหญ่ ๆ ในประเทศบางแห่งประกาศเลยว่าเลิกสนับสนุนไออี 6 นั่นหมายความว่าถ้าผู้ใช้ยังขืนใช้ไออี 6 ต่อไป การใช้บริการบนเว็บนั้นก็อาจจะไม่สมบูรณ์ และช่วยไม่ได้ เพราะเขาจะไม่สนใจอีกแล้ว
เดิมทีไมโครซอฟท์มีกำหนดเลิกสนับสนุนไออี 6 แต่ตอนหลังกลับประกาศยืดระยะเวลาต่ออีกไปอย่างน้อยที่สุดกลาง ปีหน้า และกับวินโดวส์บางรุ่นอาจจะนานกว่านั้น นักพัฒนาเว็บครางกันระงม
อย่างไรก็ตามในแง่ของสภาพความเป็นจริงคงอีกไม่นานนัก ไออี 6 ก็น่าจะตายไปจริง ๆ เพราะสัดส่วนผู้ใช้น้อยลงเรื่อย ๆ จนปัจจุบันลงไปต่ำกว่าบราวเซอร์อย่างไฟร์ฟอกซ์เสียด้วยซ้ำ จากสถิติของ net application ในเดือนตุลาคม สัดส่วนการใช้บราวเซอร์ทั่วโลก ไฟร์ฟอกซ์ 24.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไออี 6 เหลือ 23.30 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่าโดยรวมทุกเวอร์ชั่นแล้ว ไออีจะยังนำหน้าบราวเซอร์อื่น ๆ ทั้งหมดอยู่ก็ตาม แต่บทบาทครอบงำเหมือนสมัยก่อนก็ลดลงมาก โดยมีสัดส่วน 64.64 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยครองตลาดอยู่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และส่วนแบ่งของไออีทั้งหมดก็ลดลงในเดือนตุลาคมเช่นกันสำหรับบราวเซอร์ตัวอื่น ๆ รองจากไฟร์ฟอกซ์ คือ ซาฟารี 4.42 เปอร์เซ็นต์ โครม 3.58 เปอร์เซ็นต์ โอเปร่า 2.17 เปอร์เซ็นต์
เว็บไทยมีอยู่มากที่อิงกับไออี 6 เป็นหลัก เว็บราชการ เว็บธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็ทำนองเดียวกัน หรือถึงไม่อิงไออี 6 ก็ยังอิงอยู่กับไออี ซึ่งรองรับมาตรฐานตัวเองมากกว่ามาตรฐานกลาง ทำให้ผู้ใช้บราวเซอร์อื่น ๆ ไม่สามารถใช้บริการได้
โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งโดนเสียงบ่นมากเป็นพิเศษ เพราะไม่สามารถใช้บราวเซอร์ตัวอื่นที่ไม่ใช่ของไมโครซอฟท์ทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้
หากพิจารณาจากสัดส่วนผู้ใช้บราวเซอร์ตามสถิติดังกล่าวนี้ นั่นหมายความว่า เว็บไซต์ที่ไม่รองรับมาตรฐานกลางนั้น ไม่แยแสกับลูกค้าที่ใช้บราวเซอร์อื่น ๆ อีกมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ใช่สัดส่วนน้อย ๆ เลย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ