การเล่นเป็นธรรมชาติของเด็ก การเล่นเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็ก ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเล่นจะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กในด้านต่างๆ เพราะการเล่นเป็นการตอบสนองความต้องการของจิตใจและได้รับความสนุกสนานความพึงพอใจ เด็กจะได้พบกับการแก้ปัญหา การแบ่งปัน การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น รู้จักการเป็นผู้นำและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การเล่นยังช่วยให้เด็กได้ใช้พลังงานและจินตนาการ ของเล่นมีมากมายหลากหลายชนิดที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ และค้นพบว่าจะเล่นวิธีไหน อย่างไร เล่นแล้วออกมาเป็นรูปแบบใด ทำให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเล่นจึงมีบทบาททำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสุข และเต็มไปด้วยจินตนาการ
การเล่นมีผลต่อการพัฒนาสมอง การเล่นที่ให้เด็กได้รับประสบการณ์เองโดยตรง ได้แก่ การหยิบจับ สัมผัส จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางสมอง ให้มีคุณภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น การเล่นจึงเป็นการป้อนข้อมูลเข้าไปในสมอง แต่การเจริญเติบโตของตัวสมองเองนั้นได้มาจากอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็ก รวมทั้งการดูแลเอาใจใส่ในตัวเด็ก ได้แก่ ความรัก ความอบอุ่นจากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูด้วย การเล่นที่เหมาะสมต่อพัฒนาการเด็กในแต่ละวัยมีความสำคัญมาก สามารถกระตุ้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อทำให้สมองเกิดการพัฒนาการเติบโตได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอัฉริยะ
ความสำคัญของการเล่น
การเล่นช่วยส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ
ด้านร่างกาย (Physical Development) การเล่นช่วยพัฒนากล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย เกิดการทำงานที่ประสานสัมพันธ์กันระหว่างระบบประสาทและมัดกล้ามเนื้อ
ด้านสติปัญญา (Cognitive Development) การเล่นช่วยให้เด็กเกิดการปรับตัว พัฒนาเปลี่ยนแปลงความคิด เกิดการแก้ปัญหาจากการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ เปลี่ยนแปลงความคิดความเข้าใจในเนื้อหาที่มีต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก
ด้านภาษา (Language Development) การอ่านและการเขียน การเล่น เด็กจะรู้คำศัพท์ใหม่เพิ่มขึ้นจากการใช้ภาษาในการสื่อสารระหว่างผู้เล่น
ด้านสังคม (Social Development) การเล่นช่วยสอนให้เด็กรู้จักความอดทนและการรอคอย การแบ่งปันและรู้จักกฎเกณฑ์ของสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเสียสละ ความสามัคคีจะทำให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
ด้านอารมณ์ (Emotional Development) การเล่นช่วยให้เด็กเกิดการแสดงอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น กลัว โกรธ อิจฉา คับข้องใจ เครียด เป็นต้น ซึ่งอารมณ์ที่เป็นลบเหล่านี้จะแสดงออกผ่านการเล่น การเล่นสามารถทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองเด็กจะเกิดความสุขเมื่อการเล่นประสบความสำเร็จ
ด้านความคิดและจินตนาการ (Creativity and Imaginary Development) การเล่นสามารถต่อยอดและส่งเสริมจินตนาการให้เด็กได้อย่างแน่นอน
พ่อแม่นับเป็นเพื่อนเล่นคนแรกของลูกและเป็นเพื่อนเล่นที่ดีที่สุด เพราะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเลือกของเล่นและชนิดของการเล่นแต่ละประเภทให้แก่ลูก สอนวิธีการเล่นและแนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้แก่ลูก มีการศึกษาค้นคว้าว่า “เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด มักเป็นเด็กที่มีผู้ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในการเล่น”หมายความว่าพ่อแม่จะเป็นบุคคลที่ดีและสำคัญที่สุดที่จะเล่นกับลูก ยังรวมถึงญาติและคนอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการเล่นกับลูก การเล่นยังสามารถสร้างบรรยากาศที่เพลิดเพลินและก่อให้เกิดความสนุกสนานและความอบอุ่นภายในบ้านได้อีกด้วย สิ่งที่พ่อแม่ควรกระทำระหว่างเล่นกับลูกคือ ให้คำชมเชย แสดงออกถึงความภาคภูมิใจ จะทำให้การเล่นของเด็กเกิดประโยชน์สูงที่สุด
การเล่นควรคำนึงถึง
* ความปลอดภัย ตั้งแต่ของเล่น สถานที่ที่จะอนุญาตให้เด็กเล่น การร่วมเล่นของพ่อแม่หรือการเล่นอย่างเสรี เด็กควรจะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสนใจและแสดงความสามารถที่มีต่อการเล่น
* ความเหมาะสมต่อพัฒนาการตามวัย การเล่นต้องเหมาะกับระดับอายุและวัยของเด็ก เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเด็กไม่ควรเล่นกับของเล่นที่มีระดับความยากที่มากหรือน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับวัยของเด็กเอง เพราะของเล่นที่ซับซ้อนและยากเกินความสามารถตามวัยของเด็กก็จะบั่นทอนกำลังใจและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในตัวเด็กเอง หรือหากมีระดับความง่ายจนเกินไปก็อาจจะทำให้การเล่นน่าเบื่อ เด็กขาดความสนใจ เกิดความรู้สึกว่าไม่ท้าทายความสามารถ ไม่เกิดแรงจูงใจในการเล่น จึงทำให้รู้สึกว่าการเล่นไม่ก่อให้เกิดความสนุกสนาน
* การจัดสิ่งแวดล้อม บรรยากาศที่สบายๆ มีการเลือกจัดมุมบริเวณสำหรับการเล่น จัดหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบ มีระบบการจัดเก็บที่เป็นระเบียบ ก็จะทำให้เล่นได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ยังส่งเสริมฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ “ของเล่นที่ดีมีคุณภาพนั้นไม่ได้อยู่ที่ราคาแพง แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำของเล่นนั้นมาใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด”
* บุคคลที่เล่นกับลูกคือพ่อแม่ “พ่อแม่ควรเล่นกับลูก” ปฏิสัมพันธ์และสายใยรักที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดความผูกพัน รักใคร่ ซึมซับ และเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัวด้วย
ในเมื่อการเล่นต้องเหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็ก ดังนั้นพ่อแม่ที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กเป็นพื้นฐาน เพื่อช่วยประมาณและประเมินความสามารถของเด็กได้ว่ามีความพร้อมและวุฒิภาวะที่จะแสดงพฤติกรรมและเสนออะไรเบ้าง การเข้าใจระดับความสามารถของเด็กจะทำให้ “การเล่นเกิดประโยชน์สูงสุด” เด็กจะทำได้สำเร็จ เกิดความภาคภูมิใจ จะก่อผลดีต่อการพัฒนาบุคลิกภาพและพัฒนาการด้านอื่นๆ ตามมาเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ตารางแสดงการเล่นที่เด็กควรทำอย่างเหมาะสมในวัยทารก
อายุวัยทารก
|
การเล่น
|
1-3 เดือน
|
ของเล่นที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้สายตา เช่น โมบาย เครื่องเขย่าที่ก่อให้เกิดเสียง เป็นต้น |
3-4 เดือน
|
ของเล่นแตะจับสิ่งของต่างๆ ของเล่นชนิดนี้มีหลากหลาย ฝึกให้เด็กรู้จักการสังเกตด้วยการสัมผัสความแข็งความนุ่ม เช่น ลูกบอลแบบนิ่มมีระบบแสงเสียง เป็นต้น |
5-6 เดือน
|
วัยนี้ชอบนำสิ่งของเข้าปากและอมสิ่งของ ชอบปาของลงบนพื้น ของเล่นที่มีเสียงดนตรี ตุ๊กตามีเสียง รู้จักเล่นของเล่นเมื่อเห็นการสะท้อนในกระจก |
6-7 เดือน
|
ของเล่นประเภทมีเสียงป๋องแป๋ง ตุ๊กตาผ้า ตุ๊กตาล้มลุก รถลาก ตุ๊กตาไขลาน ฟังเพลงจังหวะง่ายๆ เมื่อเด็กได้ยินเสียงดังกล่าวก็จะหัวเราะพึงพอใจ |
7-8 เดือน
|
ของเล่นประเภทที่มีล้อเลื่อน มีสีสันลากไปมาได้ และตุ๊กตารูปสวยงาม แต่ต้องระวังของภายในบ้าน เช่น สายไฟ กลอนประตู บานพับประตู พัดลม วิทยุ โทรศัพท์ เป็นต้น |
8-9 เดือน
|
เด็กชอบเคาะกลอง เคาะระนาด เคาะดนตรี บางคนชอบให้จับโยนจะหัวเราะชอบใจ |
9-10 เดือน
|
ชอบเล่นอยู่คนเดียว สนใจการเล่นกับของใช้ เช่น เครื่องครัว ช้อน ชาม ปลั๊กไฟ สวิตช์ไฟและอื่นๆ |
10-11 เดือน
|
ชอบเล่นไม้บล๊อคและต่อบล๊อค ชอบเคาะทำให้เกิดเสียง ชอบต่อของเล่น ชอบดูรูปนิทานต่างๆ |
11-12 เดือน
|
เล่นของเล่นที่มีการสำรวจ อยากรู้อยากเห็น และดีใจเมื่อได้อยู่ในกลุ่มที่โตกว่าเล็กน้อย |
ตารางแสดงการเล่นที่เด็กควรทำอย่างเหมาะสมในเตาะแตะ (1-3 ปี)
อายุวัยเตาะแตะ
|
การเล่น
|
1-1ปีครึ่ง
|
ชอบเล่นชิงช้า กระดานลื่น รถเข็น ลูกบอล เล่นทราย สีและกระดาษเขียนตามใจชอบ ชอบตุ๊กตารูปคนและรูปสัตว์ รถยนต์ เครื่องบิน การอ่านหนังสืออย่างง่ายๆ เช่น หนังสือภาพ |
1ปีครึ่ง -2 ปี
|
ชอบเล่นออกแรง เช่น เตะลูกบอล ตอกด้วยค้อน ดึงออกมาสวมใส่แท่งไม้ที่ซ้อนกัน
ชอบดนตรีที่โยกตัวตามจังหวะเสียงเพลง
ชอบวาดรูปโดยใช้สีเทียน
ชอบหนังสือดูภาพสวยงาม และกระโดดโลดเต้นทั้งวัน |
2-3 ปี
|
ขี่จักรยาน
ต่อบล๊อค วาดภาพ ดูหนังสือประกอบ เล่นตุ๊กตา ต้องการเพื่อนเล่นมากกว่าของเล่น |
อุปกรณ์ของเล่นเด็กวัย 1-3 ปี
* บล๊อคไม้ขนาดใหญ่หรือเล็ก 5-6 ชิ้นหรือด้วยกล่องหลายๆ ใบจากไม้ พลาสติก หรือกระดาษแข็ง
* กระดานค้อนตอกอาจทำด้วยไม้
* ของเล่นเป็นชิ้นขนาดต่างๆ เล็กใหญ่หรือสั้นยาวไม่เท่ากัน
* ของเล่นที่ทำให้เกิดเสียง
* กล่องดนตรี
* ขั้นบันได
* ลูกบอลที่ทำด้วยพลาสติกหรือผ้า
* ตุ๊กตายางลอยน้ำได้
* ของลากจูง เช่น เรือ รถ หรือสิ่งของที่มีเชือกร้อยให้เด็กได้ลากจูงเล่น
* อุปกรณ์เล่นกับทราย เช่น พลั่ว ช้อน ที่ทำมาจากพลาสติก
* หนังสือ รูปภาพที่ทำด้วยกระดาษ ผ้า พลาสติก
* ภาพตัดต่อ 3-6 ชิ้น ทำด้วยไม้ พลาสติก หรือผ้า
การเล่นนอกจากจะเลือกของเล่นอย่างปลอดภัยแล้ว สิ่งสำคัญคือการใช้และการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม หากของเล่นชำรุดเสียหายเกินกว่าที่จะใช้งานได้ก็ควรทิ้งหรือเปลี่ยนใหม่ ควรสอนให้เด็กรู้จักการเก็บของเล่นเองหลังจากเล่นเสร็จ ผู้ใหญ่ไม่ควรคิดว่าของเล่นเด็กเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่การเล่นของเด็กมีคุณค่าอย่างมหาศาลในการพัฒนาเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้ผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และมีส่วนร่วมในการเล่นกับเด็กด้วย เด็กก็จะเกิดการพัฒนาการทางอารมณ์ มีความสุข ประสบความสำเร็จ สร้างเสริมความคิดริเริ่ม จินตนาการใหม่ๆ ออกมา นั่นคือในระหว่างเล่นกับลูกน้อย ลูกน้อยอาจจะฉายแววอัฉริยะให้คุณพ่อคุณแม่เห็นก็ได้ค่ะ
“วันนี้คุณเล่นกับลูกแล้วหรือยังคะ”
ที่มา : Healthtoday