การฟังธรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่เราท่านทั้งหลายจะต้องสนใจ แต่ธรรมะคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฏว่ามีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เราได้ศึกษาเล่าเรียนมาเป็นวิชาความรู้ เรียนจนชั่วชีวิตก็ไม่จบ เพราะคัมภีร์พระไตรปิฏกตัวบาลีมีถึง ๔๕ เล่ม ถ้าแปลคำต่อคำก็ได้ ๔๕ เล่มเหมือนกัน ถ้ารวมทั้งอรรถกถาฎีกาด้วยก็ได้หลายสิบเล่มวิชาความรู้ทั้งหลายที่มีจารึกในคัมภีร์พระไตรปิฏก เราจะทำความเข้าใจเพียงสักแต่ว่าเป็นทฤษฎีหรือเป็นวิชาที่ให้เราศึกษา เป็นเครื่องมือค้นคว้าหาความจริง ซึ่งคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ถ้าจะว่ากันแล้วเป็นเพียงหลักวิชา เป็นสูตร เป็นเครื่องมือให้เราเข้าไปหาสิ่งที่เรียกว่า สัจธรรมของจิต เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส แต่สิ่งที่เป็นของจริงหรือสัจธรรม เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด
ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ทุกข์ สมุหทัย ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และสิ่งที่มีอยู่จริงทั้งหลายเหล่านั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ คนที่เกิดก่อนพระพุทธเจ้าอย่างดีก็เพียงแต่รู้ว่าเรามีทุกข์ตามสัญญา และเรามีทุกข์เพราะความทะเยอทะยานตามสัญญา คือเป็นเพียงคำพูดที่พูดต่อๆกันมาเท่านั้น แต่ความรู้จริงเห็นจริงหรือซึ้งในจิตใจนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบและทรงบรรลุก่อนใครในยุคพุทธกาลนี้ สิ่งที่เป็นความจริงเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วประจำโลก ยกตัวอย่างเช่นคำว่า “บาป” เป็นชื่อของความชั่ว คำว่า “บุญ” เป็นชื่อของความดี ถ้าจะว่าโดยกฎของธรรมชาติแล้ว คำว่าบาป คำว่าบุญ เป็นชื่อของธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในโลก เป็นของจริงธรรมชาติคือ บาปกับบุญนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้น ประกอบขึ้น เรามีกายกับใจ ภายในกายของเรามีใจเป็นใหญ่ กายเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของใจ เมื่อใจบงการให้กายทำอะไร วาจาพูดอะไรลงไป ใจจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หมายถึงการทำบุญก็ดี ทำบาปก็ดี ในเมื่อใจสั่งการให้กายทำอะไรลงไปแล้ว ไม่ว่าสิ่งนั้นเป็นของดีหรือของไม่ดีก็ตาม จะมากลับจิตกลับใจว่าฉันทำเล่นๆ ไม่ต้องการผลตอบแทน แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะกฎของบุญและบาปนี้เป็นของจริง ใครทำแล้วต้องได้รับผลจริง ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ อันนี้ก็คือความจริง และความจริงอันนี้ไม่ใช่เป็นของพระพุทธเจ้าสร้างขึ้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างบุญ พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างบาป ดังเช่นคนบางพวกเขาเข้าใจกัน ถ้าหากใครกล่าวว่าพระพุทธเจ้าไม่ดี สร้างบาปไว้สำหรับลงโทษบุคคลที่ทำไม่ถูกใจ และสร้างบุญไว้สำหรับเป็นรางวัลบุคคลที่ทำถูกใจ ใครที่กล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า แต่แท้ที่จริงบุญบาปไม่ใช่พระพุทธเจ้าสร้าง หากเป็นกฎธรรมชาติที่มีอยู่แล้วประจำโลก พระพุทธเจ้าของเรานี้อย่างดีก็เพียงแต่รู้ อันนี้ก็คือความจริงอันหนึ่ง
ความจริงอีกอันหนึ่ง คือ นรกและสวรรค์ นรกเป็นแดนรองรับบุคคลที่ทำบาป สวรรค์เป็นแดนรองรับบุคคลผู้ทำบุญ ทำความดี อันนี้ก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้าสร้างขึ้น อย่างดีพระพุทธเจ้าก็รู้ว่านรกมีสวรรค์มี และรู้แนวทางที่จะเป็นเหตุให้มนุษย์และสัตว์ลงนรกหรือขึ้นสวรรค์เท่านั้น อันนี้เป็นความจริงที่มีอยู่ประจำโลก
ความจริงอีกอันหนึ่ง คือ มรรค ผล นิพพาน ก็เป็นของเก่าแก่โบราณ ใช่จะมีแต่ในสมัยของพระพุทธศาสนาของพระสมณโคดมไม่ แม้ในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ ที่นิพพานไปแล้วนับไม่ถ้วน พระพุทธเจ้าองค์ใดมาตรัสรู้ ก็มารู้อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ มรรค ไม่รู้แตกต่างกัน สิ่งที่พระองค์รู้ที่เรียกว่าเป็นสัจธรรมหรืออริยสัจ เป็นกฎธรรมชาติความจริงที่มีอยู่แล้วประจำโลก อย่างดีพระพุทธเจ้าก็เพียงแต่รู้และบรรลุสัจธรรมนั้นๆ
ดังนั้น ความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ บาป บุญ นรก สวรรค์ ไม่ใช่แต่ชาวพุทธจะยึดผูกขาดว่าเป็นของพระพุทธเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว แม้ศาสนาอื่นๆ เขาก็รับรองว่ามีบาป บุญ นรก สวรรค์ เขาสามารถที่จะค้นคว้าพบข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับเราชาวพุทธที่เป็นกรณีพิเศษก็คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบแนวทางที่จะปฏิบัติให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ในศาสนาพราหมณ์อย่างดีก็บำเพ็ญภาวนาไปได้แค่สมาบัติ ๘ ไม่มีใครสำเร็จพระนิพพานได้เลย ที่สำเร็จพระนิพพานได้ก็เฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียว ซึ่งเบื้องต้นก็ทรงอาศัยการศึกษาปฏิบัติตามแบบศาสนาพราหมณ์ แต่เพราะอาศัยที่พระองค์เป็นศาสดาที่มีสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม สามารถที่จะค้นคว้าสิ่งที่ละเอียดเหนือความรู้นักปราชญ์ในสมัยนั้น จึงสามารถค้นพบแนวทางปฏิบัติให้ถึงพระนิพพานได้ ดังนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นศาสดาเอกของโลก ไม่เฉพาะแต่ชาวพุทธ แม้ศาสนาอื่นๆ ก็ยอมรับว่าพระองค์เป็นศาสดาที่ประเสริฐที่สุด แต่ที่มีมติขัดแย้งกัน หรือไม่ยอมลงรอยกันก็เพราะว่าความมีทิฐิมานะ ไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง ก็น่าเห็นใจเพราะสติปัญญาของศาสนาอื่นเขามีกันแค่นั้น แต่สติปัญญาของพระพุทธเจ้าของเรานี้เลิศกว่าเขาทั้งหลาย จึงสามารถบัญญัติหลักคำสอนเอาไว้สูงสุดถึงนิพพาน ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม บัญญัติคำสอนสูงสุดเพียงแค่สวรรค์ ศาสนาพราหมณ์บัญญัติคำสอนสูงสุดเพียงแค่พรหมโลก แต่พระพุทธเจ้าบัญญัติคำสอนสูงสุดถึงพระนิพพาน ดังนั้น ในฐานะที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของเราทั้งหลาย พระองค์ได้นามว่าเป็นพุทโธ
คำสอนที่เราฟังกันมาทั้งหมด บางท่านเรียนจบพระไตรปิฏก ความทรงจำทางปริยัติหรือทางสัญญาไม่มีใครสู้ นั่งถกเถียงกันตลอดวันก็ไม่มีจบสิ้น ถ้าพิจารณาดูกันอีกครั้งหนึ่ง การเผยแพร่ศาสนาในเมืองไทย หรือการสอนธรรมะในเมืองไทย คล้ายกับว่าคำสอนนั้นมันเฟ้อ เฟ้อเสียจนผู้ฟังไม่สามารถจะจับต้นชนปลายถูก เปรียบเสมือนสินค้าที่ล้นตลาด เข้าใจว่าผู้ฟังผู้ศึกษามีความรู้มากพอสมควร แต่สิ่งที่น่าคิดมากก็คือ เราจะเอาธรรมะคำสอนนั้นมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันได้อย่างไร การเข้าถึงธรรมะ หรือการจะเอาธรรมะมาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันก็ไม่มีทางใดดียิ่งไปกว่าการภาวนา การภาวนาก็คือการเจริญกัมมัฏฐาน การเจริญสมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนากัมมัฏฐาน หลักของการเจริญกัมมัฏฐานมีอยู่ ๒ ขั้นตอน
ขั้นแรก คือ การเจริญสมถะ คือการทำจิตตั้งมั่นให้สงบเป็นสมาธิ ให้เกิดมีปิติ มีความสุข ทำจิตให้สงบลงเป็นสมาธิอย่างแน่วแน่ เพื่อเป็นอุบายระงับนิวรณ์ ๕ ให้สงบลงไปชั่วขณะหนึ่ง เพื่อจะได้มีโอกาสทำจิตทำใจให้สงบนิ่ง
ขั้นที่สอง คือ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คืออุบายสำหรับใช้ความคิด ใช้ความคิดเพื่อฝึกจิตให้เกิดสติปัญญาเฉลียวฉลาด ในปัจจุบันนี้ก็น่าเห็นใจผู้ที่เริ่มตั้งใจปฏิบัติขอพูดกันตรงไปตรงมาว่าคณาจารย์สอนกัมมัฏฐานในปัจจุบันนี้มีหลายแบบหลายอย่างผู้บรรยายขอยืนยันว่าทุกแบบอย่างเป็นแบบที่ถูกต้องที่สุด และถ้าปฏิบัติตามแต่ละแบบแต่ละอย่างด้วยความจริงใจ ก็สามารถจะยังผลให้เกิดแก่ผู้ปฏิบัติได้โดยไม่ผิดหวัง แต่ถ้าท่านจะยังสงสัยอยู่ว่าแบบไหนดีแบบไหนไม่ดี แบบไหนทำให้ถึงพระนิพพานได้ง่าย แบบไหนถึงพระนิพพานช้า มัวแต่มีความลังเลสงสัยไม่แน่ใจอยู่ ท่านก็จะไม่พบจุดแห่งความสำเร็จ
การทำสมาธิภาวนาทุกแบบสามารถทำให้จิตสงบลงเป็นสมาธิได้เหมือนกันหมดขอเสนอแนะวิธีบำเพ็ญสมาธิแบบพุทโธ ขอทำความเข้าใจว่า คำกล่าวของบางท่านที่ว่าการภาวนาพุทโธ จิตของท่านจะถึงแค่สมถกัมมัฏฐาน ไม่ถึงวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้ที่ได้รับฟังอาจจะเกิดความกลัวว่าจะไม่ได้วิปัสสนากัมมัฏฐาน จะได้แค่สมถะ คือติดแค่ความสงบ คิดๆ ไปตามคำกล่าวนี้ก็น่าสงสารผู้คิดกลัว ความที่เรายังไม่เคยเห็น ถ้าหากท่านผู้ใดตั้งใจแน่วแน่ลงไป ลองดูว่าเมื่อเราตั้งใจภาวนาอย่างจริงจังแล้ว จิตของเราจะไปติดแค่สมถะเท่านั้นหรือ จะไม่มีโอกาสที่จะเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานได้เชียวหรือ แล้วก็ตั้งใจภาวนาพุทโธๆๆลงไป ภาวนาจนกระทั่งจิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกกัคคตา ดังตำราที่ท่านเขียนไว้ ทำจนคล่องตัว ทำให้คล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ จนสามารถจิตสงบได้ทันทีเมื่อตั้งใจทำสมาธิ หรือบางทีพูดคุยกันอยู่ จิตก็สงบลงเป็นสมาธิได้ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกอิริยาบถ ทำจิตเป็นสมาธิได้ ทำให้มันคล่องตัวจนถึงขนาดนั้นแล้ว พิจารณาดูว่าจะติดอยู่เพียงแค่สมถะเท่านั้นหรือ ใคร่จะให้ท่านพุทธบริษัทผู้คงแก่เรียนทั้งหลายได้ช่วยกันพิจารณาดู แต่เท่าที่มีประสบการณ์มาการภาวนาแบบไหน อย่างใด จะเป็นพุทโธก็ดี ยุบหนอ-พองหนอ หรือสัมมาอรหังก็ดี เป็นกัมมัฏฐานที่เนื่องด้วยการบริกรรมภาวนา เรียกว่าปฏิบัติตามแบบสมถกัมมัฏฐานทั้งสิ้น
หากเราพิจารณาตามพระโอวาทที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้ว่าศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต ในเมื่อเรามาพิจารณาถึงพระโอวาทในข้อนี้แล้วจะได้ความว่า ถ้าสมาธิไม่มี ฌานจะมีไม่ได้ เมื่อฌานไม่มี ญานจะมีไม่ได้ เมื่อญานไม่มี ปัญญาจะมีไม่ได้ ปัญญาไม่มี วิปัสสนาจะมีไม่ได้ ในเมื่อวิปัสสนาไม่มี วิชชาก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นคุณธรรมที่หนุนเนื่องกัน
พระพุทธองค์ทรงเป็นยอดของศาสดาทั้งหลาย คำสอนของศาสดาอื่นๆ มีผลไปเพียง สวรรค์ พรหมโลก แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าสูงสุด ไปถึง พระนิพพาน
books@mahamakuta.inet.co.th
มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
241 ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทร. (66) 02-6291417 , 2811085 Fax. (66) 02-6294015