เก็บตกมาฝากอีกเช่นเคยนะครับเป็นเรื่องของความรู้ทั่วไปในการขับร้องประสานเสียง
ความรู้เกี่ยวกับการขับร้องประสานเสียง
ในการขับร้องประสานเสียง จะมีแนวเสียงใหญ่ๆ อยู่ 4 แนวด้วยกันคือ
1. แนวโซปราโน (SOPRANO) เป็นเสียงสูงสุด ได้แก่ เสียงของผู้ที่มีเสียงสูงและเด็กที่เสียงยังไม่แตกมีขอบเขตเสียงจาก โด-ซอล
2. แนวอาลโต (ALTO) เป็นเสียงที่ต่ำรองลงมาจากโซปราโน ได้แก่ เสียงของผู้หญิงที่มีเสียงต่ำกว่าโซปราโน มีขอบเขตเสียงจาก ซอล-โด
3. แนวเตเนอร์ (TENOR) ได้แก่ เสียงผู้ชายที่มีเสียงสูง มีขอบเขตเสียงจากโด-ซอล
4. แนวเบส (BASS) ได้แก่ เสียงผู้ชายที่มีเสียงต่ำ มีขอบเขตเสียงจากฟา-โดโดยธรรมชาติ คนเราจะมีขอบเขตเสียงของแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่างเช่นบางคนเสียงสูงมาก บางคนสูงไม่มาก บางคนต่ำ และบางคนก็ต่ำมากไม่เท่ากัน
ในการขับร้องประสานเสียงจึงต้องมีการจัดขอบเขตเสียงให้ผู้ร้อง ว่าคนไหนควรจะขับร้องในแนวใด ซึ่งในทางเทคนิคแล้วจะแบ่งขอบเขตเสียงของคนเราเป็น 4 ประเภทดังกล่าวแต่ในเมืองไทยนั้นหายาก ที่จะมีผู้ร้องที่มีขอบเขตเสียงดังกล่าว ฉะนั้นจึงวัดได้เฉพาะขอบเขตเสียงที่ใกล้เคียงเท่านั้นแต่บางคนมีขอบเขตเสียงเกินกว่าที่กำหนดไว้เหมือนกัน เช่น ในแนวโซปราโน บางคนอาจจะร้องได้สูงสุดถึง โด คาบเส้นน้อยที่ 2 และ เร เหนือเส้นน้อยที่ 2 แต่นั่นก็ถือว่าเป็นความสามารถพิเศษของแต่ละบุคคล
เมื่อจัดระดับเสียงของผู้ร้องที่จะขับร้องประสานเสียงได้แล้วก็มาถึงการจัดความกลมกลืนของเสียง (BALANT) การจัดกำลังคนไม่กำหนดว่าจะต้องมีกำลังคนเท่าใด โดยให้จัดตามกำลังเสียงที่ออกมา คือ แนวโซปราโน ส่วนมากจะร้องในแนวสูงสุดของบทเพลงไม่ต้องใช้ผู้ร้องจำนวนมากเพราะเสียงที่สูงจะมีกำลังอยู่แล้ว แต่ แนวเบส เป็นแนวที่มีกำลังเสียงและระดับเสียงที่ต่ำ ควรจะเพิ่มกำลังคนโดยจะใช้จำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับเสียงที่ออกมาจะต้องกลมกลืนพอดี
นอกจากจะปรับความกลมกลืนของเสียง (BALANT) ด้วยการปรับจำนวนของผู้ร้องแล้ว ยังสามารถที่จะปรับความกลมกลืนด้วยการควบคุมความดังเบาของกำลังเสียงได้อีกวิธีหนึ่ง เช่น ถ้าผู้ร้องแนวใดแนวหนึ่งมาก และมีเสียงร้องออกมาดังกว่าแนวอื่นก็แก้ไขด้วยการให้ร้องเบาลงเฉพาะแนวนั้นๆ
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า มนุษย์เรามีธรรมชาติการควบคุมการขับร้อง การพูด การออกเสียงมาด้วยกันทุกคน แต่โดยทั่วไปแล้วจะใช้ธรรมชาติเหล่านั้นไม่คล่องตัวหรืออาจจะเป็นเพราะความเผลอไผลในเวลาใช้ก็ได้ จึงมีการคิดค้นเทคนิคทางการออกเสียงขับร้องขึ้นมาโดยใช้ธรรมชาติเป็นหลักดังนี้
1. การฝึกออกเสียง (VOCALIZE) มีความสำคัญมากเพราะการออกเสียงทุกครั้งต้องมีสิ่งที่จะต้องควบคุมหลายอย่าง เช่น การใช้ลมอักขระต้องให้ถูกต้อง เพราะเมื่อขับร้องหมู่ประสานเสียงแล้วจะเกิดความพร้อมเพรียงและถูกต้อง
2. เทคนิคทางการพูดและการแสดง การแสดงในที่นี้หมายถึงการใส่อารมณ์ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า SPEECH AND DRAMA การตีความหมายของบทเพลง ต้องใส่อารมณ์อย่างไร จึงจะถูกต้องตามความหมายของบทเพลง เช่น เพลงที่มีความหมายไปในทางเศร้า จะต้องแสดงอารมณ์ของบทเพลงอย่างไร บทเพลงที่มีเนื้อหาไปในทางที่สนุกสนานจะต้องแสดงอารมณ์อย่างไร
3. การปั้นรูปปาก (LIP TORMATION) เป็นสิ่งสำคัญมากในการขับร้อง การร้องคำต่างๆ เช่น คำที่อยู่ในสระ อี อา โอ อู จะปั้นรูปปากอย่างไร เมื่อนำเทคนิคในการพูดและการขับร้องต่างๆ มารวมกัน ก็จะทำให้มีการขับร้องที่ถูกต้อง ไม่ผิดลักษณะต่างๆ ตามธรรมชาติ ซึ่งสำคัญมากสำหรับหมู่ขับร้องประสานเสียง เพราะเป็นการขับร้องของคนจำนวนมาก ถ้าการขับร้องไม่เหมือนกันก็จะเป็นการยากลำบากในการขับร้อง
ที่กล่าวมาเป็นหลักใหญ่ ๆ ในการขับร้องประสานเสียง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้หลักการและวิธีการเหมือนการขับร้องเดี่ยวนั่นเอง
สำหรับการขับร้องประสานเสียง โดยทั่วไปจะมีหมู่ขับร้องที่ใช้อยู่คือหมู่ขับร้อง ประสานเสียง 4 แนว ได้แก่ แนว โซปราโน และแนว อาลโต ซึ่งจะเป็นผู้หญิงร้อง และ แนว เตเนอร์ กับ เบส เป็นหมู่นักขับร้องชาย ถ้าเป็นหมู่ขับร้องชายล้วน มีชื่อว่า “MALE CHOIR” ประกอบด้วยแนว เตเนอร์ 1 เตเนอร์ 2 และ แนว เบส ถ้าเป็นหมู่ขับร้องหญิงล้วน มีชื่อว่า “FEMALE CHOIR”ประกอบด้วยแนว โซปราโน เมซโซ โซปราโน และแนว อาลโต
การขับร้องประสานเสียง 4 แนว ในวงการเพลงของเรานั้นมีอยู่ไม่กี่แห่งที่มีคณะนักร้องประสานเสียงคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย, โรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และ โรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ นอกนั้นเป็นการขับร้องในการปฏิบัติศาสนกิจของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์
ส่วนที่มีการขับร้องบันทึกเสียงออกจำหน่ายโดยทั่วไปนั้นก็มักจะประสานเพียง 2 - 3 แนวเท่านั้น มี 4 แนวอยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อย นับว่าการขับร้องประสานเสียง 4 แนวยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร