ไทยคดีศึกษาเปิดหลักฐานใหม่ ผงะ! "รัฐบาลทักษิณ" ดอดลงนาม "เอ็มโอยู" ร่วมกัมพูชาในปี 2544 แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางทะเล แต่คนไทยไม่รู้ "วัลย์วิภา"
ระบุต่อจิ๊กซอว์เหตุหนุนขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เพื่อเปลี่ยนแผนที่เขตแดนทางบกสู่เปลี่ยนเขตแดนทางทะเล เอื้อประโยชน์เขมรและบริษัทน้ำมันต่างชาติ
เมื่อวันพุธ ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิ ดร.ธวัช มกรพงศ์ ร่วมกับมูลนิธินิติศาสตร์ศิลปศาสตร์ รุ่นแรก จัดการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง "แผนการขยายอาณาเขตของกัมพูชาจากเขาพระวิหารสู่สะด๊อกก๊อกธม" โดยมีนายสมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยและอดีตทนายความต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารปี 2505 นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี นางทัศวี สุวรรณวัฒน์ อดีตหัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยเรื่องเขตแดน สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายสมิทธิ ศิริภัทร ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นวิทยากรร่วมเสวนา
ที่น่าสนใจในวงอภิปรายคือ ม.ล.วัลย์วิภาได้เปิดเผยข้อมูลใหม่โดยระบุว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา และมติของคณะกรรมการมรดกโลกขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นความพยายามในการรับรองแผนที่กัมพูชาทางบก ไม่ใช่แค่ปราสาทพระวิหารเป็นของใคร แต่เป็นไปเพื่อการเปลี่ยนเส้นเขตแดนทางบกเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางทะเล โดยเริ่มตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
"ล่าสุดพบหลักฐานใหม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้เดินทางไปลงนามร่วมกับกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 และนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นเดินทางไปลงนามรับรองเอ็มโอยู หรือบันทึกความเข้าใจที่ว่าด้วยการอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เพื่อรับรองแถลงการณ์ร่วม และให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) โดยไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นประธานร่วม และฝ่ายกัมพูชามีนายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นประธาน" ม.ล.วัลย์วิภากล่าว
ม.ล.วิลย์วิภากล่าวต่อว่า แต่ละฝ่ายประกอบด้วยผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีกรรมการอื่นอีก 10 คน ทำหน้าที่เจรจาแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาร่วมกัน บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และเจรจาในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาร่วม โดยเฉพาะการแบ่งปันผลประโยชน์ ตามมติ ครม.วันที่ 19 กันยายน 2544 โดยไม่ได้ผ่านรัฐสภา
ผอ.งานวิจัยด้านเขตแดน สถาบันไทยคดีศึกษา กล่าวว่า คณะกรรมการดังกล่าวมีข้อสรุปร่วมกัน 5 ข้อ ลงนามบันทึกการประชุมเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2544 คือ
1.ในขณะนี้ ไทยมีประเด็นเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชาเพียงประเทศเดียวเท่านั้น และเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกัมพูชานี้ เป็นเขตที่มีศักยภาพในด้านก๊าซธรรมชาติและน้ำมันสูงมาก ซึ่งบริษัทน้ำมันต่างชาติได้ให้ความสนใจที่จะมาลงทุนด้วย ซึ่งในเรื่องนี้รัฐบาลของไทยและกัมพูชาต้องพิจารณาตกลงแก้ไขประเด็นต่างๆ ที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นก่อน
2.การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการนำเอาบันทึกความเข้าใจระหว่างกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนที่ได้มีการลงนามกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 มาสู่การปฏิบัติ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา โดยฝ่ายไทยมี รมว.ต่างประเทศเป็นประธาน และฝ่ายกัมพูชามีนายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เป็นประธาน
3.ในส่วนของฝ่ายไทยมีหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการดังกล่าวด้วย เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เนื่องจากสาระของการหารือนั้นเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องการตกลงแบ่งเขตทางทะเลส่วนบนและการพัฒนาพื้นที่ร่วม เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในเรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
4.การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมเต็มคณะครั้งแรกในรอบ 25 ปี ที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยจริงใจ และไว้เนื้อเชื่อใจกัน หลังจากการประชุมดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่คณะกรรมการดังกล่าวต้องพิจารณาจำนวนมาก จึงได้พิจารณาจัดตั้งคณะอนุกรรมการ โดยมีนายกฤษณ์ กาญจนกุญชร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานฝ่ายไทย และนายวาร์ คิม ฮง ที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา เป็นประธานฝ่ายกัมพูชา
5.สาระสำคัญที่อนุกรรมการดังกล่าวต้องหารือกันคือ เรื่องเทคนิคทางกฎหมายในการแบ่งเขตทางทะเล เช่น การลากเส้นแบ่งเขต และรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ร่วม
"ดิฉันเพิ่งได้ข้อมูลบางชิ้นมา เป็นจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพได้อย่างต่อเนื่องยิ่งขึ้น อะไรคั่งค้าง ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตคือ ความผิดปกติในการทำเอ็มโอยูปี 2544 นั้น ถามว่าเรื่องนี้จะต้องมีการผ่านสภาให้เห็นชอบหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องเขตแดน มีผลต่ออาณาเขต แต่ประชาชนไม่เคยได้รับรู้"
ม.ล.วัลย์วิภากล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องผลกระทบด้านพลังงาน จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 51 ที่ผ่านมา นายปราสาท มีแต้ม อาจารย์ ม.สงขลานครินทร์ ได้นำเสนอบทความเรื่องปิโตรธิปไตย ท่านบอกว่ารัฐมนตรีพลังงานในสมัยรัฐบาลทักษิณ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ลงนามให้สัมปทานแหล่งพลังงานดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว มีการต่อสัญญาล่วงหน้าหลายปี และบางบริษัทที่ได้รับสัมปทานก็ได้จดทะเบียนที่เกาะเคย์แมนซึ่งเป็นเกาะที่คนไทยคุ้นเคยดีในการเป็นแหล่งฟอกเงิน มิหนำซ้ำในแผนที่นี้เป็นแผนที่เดียวกัน เป็นตัวที่แนบมากับที่มีการลงนามเอ็มโอยู
เธอบอกอีกว่า นอกจากนี้ ล่าสุดกัมพูชายังได้ลงนามร่วมกับทางคูเวต โดยกัมพูชาประกาศว่าจะเริ่มนำน้ำมันดิบขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ในปี 2554 หลังจากที่บริษัทเชฟรอนจากสหรัฐประกาศว่าการซื้อน้ำมันดิบในแปลงสำรวจอ่าวไทยในต้นปี 2548 ได้พบขึ้นแล้ว โดยแปลงสำรวจครอบคลุมพื้นที่ 5,559 ตารางกิโลเมตร ในเขตอ่าวไทยและเขตพื้นที่ที่เรียกว่าแอ่งปัตตานี
"คำถามคือ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ท่านประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐเดินทางมาเมืองไทย มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอะไรหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เอาไทยมาเป็นจุดศูนย์กลางที่จะแสดงสุนทรพจน์ ท่านคงไม่คิดว่าจะเลยไปดูโอลิมปิกที่จีนเท่านั้น เพราะมันคงมีอะไรมากกว่านี้ นอกจากนี้การที่ยังไม่สามารถขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาได้ เพราะยังติดปัญหาเรื่องแผนที่ทับซ้อนทางทะเล ที่ยังเป็นข้อพิพาทของทั้ง 2 ประเทศหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยหรือไม่" ม.ล.วัลย์วิภากล่าว
นายสมปองกล่าวว่า เป็นเรื่องตลกที่กัมพูชาต้องการได้ดินแดนของคนอื่นด้วยการสร้างแผนที่ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และประหลาดที่เราจะเอาดินแดนของเราไปแลกกับดินแดนของเราเอง เพราะหากรัฐบาลไทยจะยกให้คนอื่น ก็ขอให้คนไทยได้รู้ว่าเราได้ยกให้เขา แต่ไม่ใช่ให้เขาเอาไป โดยที่ให้เขาอ้างว่าเป็นของเขา อย่างไรก็ตาม ตนเพิ่งพบว่ารัฐบาลไทยในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณได้ไปทำเอ็มโอยูร่วมกับกัมพูชาในเรื่องข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งตนเห็นว่าการลากเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลจะต้องลากเส้นโดยเริ่มที่ชายทะเลตามหลักเขตแดน ที่ 63 ไม่ใช่เริ่มลากจากเกาะกูด ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนรับไม่ได้ และเราก็มีตัวอย่างที่รัฐบาลปัจจุบันน่าจะทำตาม จากการที่รัฐบาลในอดีตได้ตกลงเรื่องเขตแดนทางทะเลกับมาเลเซีย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงได้ทำ JDA เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน.